หวั่นพิษซับไพรม์ลามภาคอุตฯ ชงขาดดุลเพิ่ม 6 หมื่นล. ครม.สั่งอัดงบอุ้มจีดีพี


หวั่นพิษซับไพรม์ลามภาคอุตฯ ชงขาดดุลเพิ่ม 6 หมื่นล. ครม.สั่งอัดงบอุ้มจีดีพี
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปี 50 เฉลี่ย 80.9 ต่ำสุดในรอบ 5 ปี ลุ้นปี 51 ขยายตัวขึ้น ส.อ.ท.ใจเต้นลุ้นวิกฤติซับไพรม์ คาดส่งผลไตรมาส 2 ด้านคลังเสนอรัฐบาลใหม่ทำงบขาดดุล 6 หมื่นล้าน ขณะที่ ครม.กระตุ้นเศรษฐกิจเต็มที่ สั่งอัดฉีดงบประมาณไม่ยั้งนายอดิศักดิ์  โรหิตะศุน  รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ยปี 50 อยู่ที่ระดับ 80.9 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2546 โดยดัชนีอุตสาหกรรมเดือน ธ.ค.50 อยู่ที่ 79.8 ลดลงจากเดือน พ.ย.อยู่ที่ 85.9 เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในต่างประเทศลดลง        ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงจากปัญหาซับไพรม์ของสหรัฐอเมริกา ประกอบกับเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณการผลิตและผลประกอบการลดลง ขณะที่ต้นทุนปรับขึ้นเล็กน้อย จากราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ดัชนีอุตสาหกรรมในปีนี้น่าจะดีขึ้น แม้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่ความเชื่อมั่นด้านการเมืองดีขึ้น          ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศดีขึ้น  ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เสนอให้ภาครัฐเร่งสร้างความเชื่อมั่นและเสถียรภาพทางการเมืองออกมาตรการกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชน เร่งการใช้จ่ายงบประมาณปี 51 ดูแลราคาวัตถุดิบและราคาน้ำมันไม่ให้ผันผวน ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพและชะลอการขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ในประเทศนายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ปัญหาซับไพรม์ในสหรัฐจะไม่ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมทันที แต่จะค่อย ๆ ส่งสัญญาณ และเริ่มเห็นผลในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าปัญหาซับไพรม์จะกระทบต่ออุตสาหกรรมไทยรุนแรงแค่ไหนแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้จัดเตรียมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการขาดดุลงบประมาณในปี 51 เพิ่มเติม เพื่อเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณาโดยเบื้องต้นจะเสนอให้มีการขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติมอีก 60,000 ล้านบาท จากเดิมที่ขาดดุลงบประมาณอยู่แล้ว 165,000  ล้านบาท  แม้จะสามารถขาดดุลได้ถึง  80,000  ล้านบาทก็ตาม  แต่เห็นว่าการขาดดุลที่ 60,000 ล้านบาท เป็นระดับที่ดำเนินการได้มากที่สุดเพราะเหลือเวลาที่จะใช้จ่ายงบประมาณจริงอีกไม่มากนัก จึงไม่ควรขาดดุลมากจนเกินไป   ทั้งนี้ การขาดดุลดังกล่าวจะช่วยทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 0.3%-0.5% จากที่ปัจจุบันคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปี 51     จะขยายตัวได้ในระดับ 5% แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะมีปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งราคาน้ำมัน ปัญหาวิกฤติซับไพรม์ของสหรัฐ หากไม่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอาจทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้

ด้านนายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน โดยเห็นชอบให้มีมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงิน เพื่อให้เม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว จึงเห็นควรให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2551 พร้อมทั้งเงินงบประมาณที่กันไว้เป็นการเบิกเหลื่อมปีของปีงบประมาณ 2546 และ 2550 พร้อมทั้งเร่งงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ  ทั้งนี้ ที่ประชุมมีการรายงานว่า 3 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2551 มีการเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 4.39  แสนล้านบาท  หรือประมาณ  30%  ของเป้าหมายการเบิกจ่ายงบประมาณในปี  2551 สูงกว่าปีก่อน 10%

 ไทยโพสต์  23  ม.ค.  51
หมายเลขบันทึก: 160894เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2008 11:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท