คอมพิวเตอร์สำหรับบัณฑิตศึกษา .. อย่างไร ? และ ทำไม ?


และก็พร้อม หรือบ่มเพาะความกระหายที่จะหา ของเล่นใหม่ๆ มา สนุก กันต่อ แบบแมงเม่าบินเข้ากองไฟ ซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นวงจรไม่รู้จบ

     เมื่อพูดถึงเรื่องเครื่องมือที่เรียกกันว่าคอมพิวเตอร์  คงไม่มีใครสักกี่คนที่ต้องการคำอธิบายว่า  มันเก่งอย่างไร  และจะมาช่วยหนุนเสริมให้การทำภารกิจน้อยใหญ่ ทั้งในหน้าที่การงาน และชีวิตประจำวันของคนเราได้มากมายแค่ไหน  ยิ่งเมื่อได้เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายสากลที่เรียกว่า อินเตอร์เน็ตด้วยแล้ว  ยิ่งเห็นได้ชัดเจนถึงพลังมหาศาลที่จะช่วยขับเคลื่อนให้อะไรๆที่มนุษย์เคยทำ  มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล สูงกว่าที่เคยเป็นมาชนิดเรียกได้ว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ได้เต็มปากเต็มคำ


     แต่ผมขอสารภาพว่าหลายครั้ง ไม่สบายใจเลยที่เห็นการจัดการเรียนการสอน คอมพิวเตอร์ และ ICT ในสถานศึกษา ไม่ว่าในระดับใด  ไม่เว้นแม้ระดับปริญญา บัณฑิต  มหาบัณฑิต  ความไม่สบายใจดังกล่าวคือ  อาจารย์ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งระดับผู้บริหารหลักสูตร และผู้สอนจำนวนไม่น้อย หลงทางครับ  ความหลงดังกล่าวได้ระบาดไปถึงนักศึกษาก็มีให้เห็นกันอยู่เนืองๆครับ  แต่ขอออกตัวก่อนว่าที่จะพูดถึงต่อไปนี้ เป็นความรู้สึก และความเห็นส่วนตัวนะครับ  ใครเห็นแย้งก็ไม่ได้เป็นปัญหาแต่ประการใด  แต่อย่าลืมช่วยบอกให้เคลียร์ ให้ผมได้เข้าใจ  จนฉลาดเพิ่มขึ้นได้บ้างก็แล้วกัน


     ประเด็นที่ผมมองว่าเป็นความหลงก็คือ เราหลงสอน หลงเรียน คอมพิวเตอร์และ ICT แบบ "เล่น" กับมันมากไปหน่อยครับ  ที่มาของความหลงก็คือ อาจารย์ที่เก่งทักษะทางเทคนิคคอมพิวเตอร์เช่นใช้ Software บางตัว หรือหลายตัวได้อย่างคล่องแคล่วชำนาญก็จะ "มัน" กับการ พานักศึกษาให้เล่นและ "มัน" กับทักษะ แปลกใหม่เหล่านั้นจนเกินพอดี  เรียกว่าเรียนรู้กันมากเหลือเกิน  แถมยังมีประเภทยึดติดกับของยากๆ ยุ่งๆและซับซ้อนว่าเป็นของขลัง  ต้องฝึก ต้องเรียนให้เป็น ให้ทำได้  เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้สอนถนัด  จึงขอทำให้ดูขลัง  จะได้ใช้ทำมาหากินได้นานๆ  กรณีเช่นนี้เขามักจะดูถูก Software ที่ใช้ง่ายกว่าและสะดวกกว่า  กระจอกบ้าง  ง่ายเกินไปบ้าง   ของดีต้องยุ่งๆ  และซับซ้อน  ถ้าคนงงกันมากๆล่ะก็ใช่เลย  เป็นของชั้นสูง  ไม่เรียนไม่ได้ 


     เรื่องมันยิ่งไปกันไกลจนเรียกว่าบางทีถึงขั้น เข้าป่า ได้เลยทีเดียวครับ  เมื่อครูอาจารย์ดังกล่าวมาแสดงอิทธิฤทธิ์ ความคล่องของตนให้ผู้บริหารได้เห็น  โดยเฉพาะผู้บริหารที่สัมผัสคอมพิวเตอร์มาแบบ เฉียดๆ ลูบๆคลำๆมาบ้างเล็กๆน้อยๆ  คนพวกนี้จะมองสอดคล้องกับครูอาจารย์ผู้สอนประเภทที่กล่าวมาได้ง่ายมาก  พูดแบบไม่ต้องเกรงใจก็คือ เพราะความไม่รู้นั่นเอง  ไม่รู้ทั้งทักษะเชิงเทคนิค ที่ลูกน้องใช้ทำมาหากิน  และช่องทางการประยุกต์ใช้ให้เกิดคุณค่า  เรียกว่าถ้าไม่เออ ออตามก็ไม่รู้จะชี้แจงอะไรกับเขาได้  ก็ปล่อยให้การเรียนการสอนแบบ "เล่น" คอมพิวเตอร์ ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง  เรียนจบคอร์สแล้วผู้เรียนก็ได้แค่ความภูมิใจว่า โปรแกรมนั้น โปรแกรมนี้เป็นแล้วนะ  คือกดๆ จิ้มๆให้มันเกิดผลอย่างนั้นอย่างนี้ได้แล้ว และก็พร้อม หรือบ่มเพาะความกระหายที่จะหา ของเล่นใหม่ๆ มา สนุก กันต่อ แบบแมงเม่าบินเข้ากองไฟ ซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นวงจรไม่รู้จบ 

     ตัวชี้ว่าเป็นเช่นนั้นหรือไม่  ผมกำหนดเอาเองว่า ...  เขาเรียนแล้ว ต้องสามารถสร้างงาน (แม้จะชิ้นเล็กๆก็ตาม) ที่มีสาระ  มีแก่นสาร  เป็นประโยชน์แท้จริง  ยั่งยืน แก่ตัวเขา และ/หรือ คนอื่นๆได้  ให้เขาได้ภูมิใจและเห็นค่าของความรู้ที่เรียน


     ขอถามหน่อยเถอะว่า ท่านจะหัวเราะมั้ย   ถ้าพบว่าผมยังสอน ....

  • การรับ ส่ง e-mail แบบต่างๆ 
  • การสืบค้นข้อมูลอย่างมีเป้าหมาย  และจัดเก็บอย่างมีระบบ แบบแผนไว้เตรียมใช้งาน  
  • การใช้ข้อมูลดังกล่าวมาสร้างงานเอกสาร ด้วย Microsoft Word  
  • สร้าง Presentation ด้วย Powerpoint  
  • การใช้ Excel ช่วยงานคำนวณ และ Process ข้อมูล 
  • การสร้างสื่อ Multi-media e-book  ด้วย Software ใช้ง่ายเช่น FlipAlbum ..  และ
  • การเปิด Blog ที่ learners.in.th  และใช้ Blog เขียนบันทึกเพื่อสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ และบันทึกสาระที่นักศึกษาเห็นว่าควรนำมาแลกเปลี่ยนแบ่งปัน  เพื่อประโยชน์ของตนเองและผู้อื่น 

        ผมรู้สึกปวดใจครับ  เมื่อทั้งนักศึกษา และอาจารย์บางท่าน  บอกว่าไม่พอ จะเอาอีก ต้อง + Photoshop  ต้อง + Authorware  ต้อง + e-learning  ต้อง ฯลฯ และบางทีก็หนักถึงขั้น ให้สร้าง Website อีกด้วย  ทั้งที่ มันคือวิชา  เทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับครู  และ วิชา คอมพิวเตอร์สำหรับบัณฑิตศึกษา  
        แค่ทำงานตามที่กำหนดตอนต้น  ยังตามช่วยกันประคับประคองให้ได้ดี มีคุณภาพ และสำเร็จลำบากอยู่แล้ว  ผมเกรงเหลือเกินว่า อยากได้มากๆ  เดี๋ยวก็คง ไม่ได้อะไรเลยเป็นแน่แท้
    

หมายเลขบันทึก: 160365เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2008 23:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 15:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีีครับ อาจารย์ Handy

  • ก่อนอื่นต้องขออนุญาตหัวเราะ "แฮะ แฮะ" ก่อนครับว่า ผมก็ได้รับมอบหมายให้สอนวิชาพวกคอม ๆ ไอที ๆ เหมือนกันครับ
  • สิ่งที่อาจารย์สอน ผมก็สอนเหมือนกันครับ ... ผมเชื่อในเรื่องพื้นฐานครับ ส่วนใหญ่ผมเห็นนักศึกษาพื้นฐานเบาบางเหลือเกิน ถ้าพื้นฐานยังไม่แน่น ถ้าอนาคตอยากจะเรียนรู้ ต่อยอดความรู้เหล่านี้ล่ะ คงจะเหนื่อยน่าดู คงใช้เวลาในการเรียนรู้มากกว่าคนที่มีพื้นฐานที่แน่นกว่า นะครับ
  • ผมเชื่ออีกว่า เทคนิคหรือศาสตร์การใช้โปรแกรมต่าง ๆ เหล่านั้น ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองครับ หนังสือก็มี ซีดีสอนก็มี ผู้รู้ก็มี ไม่จำเป็นต้องสอนทุกอย่างในชั้นเรียน สอนบ้าง แล้วให้คำแนะนำถึงแหล่งเรียนรู้น่าจะเหมาะสมกับเวลา อีกประการต้องสอนให้รู้จักเรียนรู้ด้วยตนเองจะดีกว่าครับ เพราะอนาคตเขาไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป ผมคิดแบบนี้ครับอาจารย์
  • ผมคิดว่า ศิลปะการสร้างสื่อเหล่านี้สำคัญมากกว่าเืึทคนิคการใช้ครับ สร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนอย่างไรให้นักเรียนสามารถเีรียนรู้ได้เข้าใจมากที่สุด จัดวางหน้าจออย่างไร ใช้สีอย่างไร ภาพอย่างไรจึงจะเหมาะสม แบบนี้สิควรทราบ และมักจะยากต่อความเข้าใจของนักศึกษามาก แต่ต้องค่อย ๆ สอนเขาไปครับ
  • ดังนั้น อยากใช้ศิลปะแบบนี้ ใช้เทคนิคอะไรจึงจะเหมาะสม ก็ต้องลองไปเติมความรู้สิ ถึงจะได้อย่างที่เธอคิด
  • แฮะ แฮะ ... หัวเราะก่อนจบครับ ไม่ทราบว่า ตรงประเด็นหรือเปล่าครับนั้น
ขอบคุณครับ อาจารย์ Handy ซ๗

อาจารย์ Handy ครับ

เห็นหัวข้อนี้แล้วต้องแวะเข้ามาทันที เพราะตรงใจเหลือเกินครับ ผมว่าเราวิ่งตามเทคโนโลยีกันมากไป ซึ่งมันเป็นเรื่องที่แก้ยากครับ เราหวังให้เด็กออกไปแข่งขัน หางานกับคนอื่น ก็ต้องวิ่งตามตลาดงาน แม้ผมอยากจะเถียงว่า เราสอน Word 97 แล้วเด็กออกไปใช้ Word 2007 ได้ คงไม่มีใครเห็นด้วยนัก

ตรงนี้คงเป็นอีกมุมนะครับ คือไม่ได้มีแค่เด็กหรืออาจารย์ที่วิ่งตามเทคโนโลยี ตามหาโปรแกรมเลิศหรู บางทีมันเป็นการตอบโจทย์ทางการศึกษาเหมือนกัน

เราคงต้องคิดกันให้หนักว่าเราสอนอะไร สอนไปทำไม ว่าไหมครับ?

ขอบคุณอาจารย์มากครับ

อ่านแล้วได้ใจจริง ๆ ค่ะอาจารย์  ดิฉันและเพื่อนที่ร่วมงาน  ทั้งอบทั้งรม ความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาหลายครั้งแล้ว แต่คอมฯเป็นได้แค่พิมพ์ดีดเท่านั้น แต่เมื่อมาเรียนกับอาจารย์ (รุ่นจันทรา501) ดิฉันใช้ประโยชน์คอมฯ ได้เป็นมากขึ้น คุ้มค่าขึ้นและหวังว่าจะสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ไปถ่ายทอดให้กับเพื่อนครูที่ทำงาน  ต่อไป

ขอขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท