ผู้บริหารคนลักษณ์เก้าสอนน้อง


เป็นแง่งาม ของการศึกษาตนเองตามแนวทางนพลักษณ์ และยังสามารถเชื่อมโยงกับทักษะการบริหาร อันเป็นมุมมองที่เป็นประโยชน์ให้กับเพื่อน “ร่วมลักษณ์เดียวกัน” ได้อีกด้วย

            ในแวดวงนพลักษณ์บ้านเรา มักจะมีความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในการทำหน้าที่เป็น กัลยาณมิตร หรือ สหธรรมิก ซึ่งกันเพื่อเอื้อกันและกันในการเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพตนเอง พร้อมๆ ไปกับการทำความเข้าใจเพื่อนร่วมโลกอีก 8 ลักษณ์          

ข้อความต่อไปนี้ เป็นจดหมายจากผู้บริหารลักษณ์ 9 ท่านหนึ่ง เป็นอดีตผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ เขียนบอกเล่าแง่มุมของความเป็นคนลักษณ์ 9 ให้กับ ลักษณ์ 9 รุ่นน้องท่านหนึ่งซึ่งเพิ่งได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์กรด้านการศึกษาแห่งหนึ่ง          

เป็นแง่งาม ของการศึกษาตนเองตามแนวทางนพลักษณ์ และยังสามารถเชื่อมโยงกับทักษะการบริหาร อันเป็นมุมมองที่เป็นประโยชน์ให้กับเพื่อน ร่วมลักษณ์เดียวกัน ได้อีกด้วย  

ขอออกตัวก่อนว่าขณะนี้ผมไม่ได้ทำ operation ในงานใดๆ เป็นจังหวะหลังจากวิกฤตการณ์ฟองสบู่เมื่อ 2540 เมื่อผมไปสู่จุดสูงสุดในฐานะผู้นำองค์กรแล้วในห้วงอายุ 40 ปี ปัจจุบันมีคนอื่นทำหน้าที่อยู่ ผมเลย reserve ตัวเองไว้ ยอมรับว่าส่วนหนึ่งเป็นกิเลสที่เนื่องจากความเฉื่อยเนือยและไร้เป้าหมาย แต่อีกส่วนก็คิดว่ามีเหตุผลในเรื่อง succession แต่ก็พร้อมที่จะลุกขึ้นไปนำธงหากมีความจำเป็น 

 ก่อนเรียนนพลักษณ์ผมเคยเชื่อว่าตนเองเป็นคน "ดีก็ไม่เต็มที่ ทำชั่วก็ไม่กล้า" แต่ตอนหลังเข้าใจตนเองแล้วว่าอยู่ในฝ่ายธรรมะมากกว่าหรืออาจเป็นอิทธิพลของลักษณ์เก้าตามก็ได้ คราวใด ที่ภารกิจจบสิ้นลง ผมเดินออกจากตำแหน่งผู้บริหารหลายกิจการกับกล่องใส่ของ 2-3 ใบอย่างเบาตัว ไม่ต้องจดจำเรื่องราวต่างๆ ที่ทำมาทั้งสิ้น 

ข้อเด่นอีกข้อคือ กล้าทำในเรื่องที่ตนไม่ถนัด และเรื่องใหญ่เล็กไม่สำคัญ เพียงได้รับแรงผลักดันไม่ว่าทางบวกหรือทางลบ เสมือนกับว่ารับน้ำหนักได้เกินตัวอย่างไม่จำกัด   มันเป็น mental capacity ที่ไม่กลัวล้มเหลว ไม่กลัวผิดพลาด (ก็เป็นคนศูนย์ท้องนี่ครับ ความกลัวไม่เป็นประเด็นสักเท่าไร)

 ในขณะเดียวกันก็ มีความอดทนในลักษณะเข็นครกขึ้นภูเขา ค่อยๆ คลำไปโดยหวังว่าจะสำเร็จในที่สุด (ตอนหลังเวลาจะรับงานจากใครเลยทำให้ต้องคิดหาเหตุผลเสียก่อน ทำให้ชัดเจนกับตนเองมากขึ้น อีกทั้งต้องระวังไม่ให้สิ้นเปลืองตนเองเกินความจำเป็นเหมือนในอดีต)  

ข้อเด่นสุดท้ายในช่วงนี้คือความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนว่าจะ Convince คนอื่นได้ เรื่องนี้ผมรู้สึกแปลกเหมือนกันหากเปรียบเทียบกับคนที่เชื่อมั่นว่าตนเองจะทำได้สำเร็จ มันกลับเป็นพลังที่จะ deal กับ mass ด้วยภาพที่ตนเองเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อพวกเขา คล้ายๆ กับลุ้นให้เขาไปสู่ความสำเร็จแทนที่ตนเองเป็นผู้ไปสู่ความสำเร็จเสียเอง อันนี้ดูแล้วคล้ายลักษณ์สองแต่ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนเท่า 

ข้อด้อยที่นึกออกคือ ความดื้อ ความไม่รู้ ไม่เปิดปาก ความดันทุรัง นำไปสู่ ความไม่ชัดเจน การไม่วางแผน การคาดเดาที่ไม่มีข้อมูลแล้วทึกทักเอาเอง การไปตายเอาดาบหน้า เรื่องนี้อธิบายกับตัวเองได้ว่า เมื่อมีคนให้ความ สำคัญ จะดีใจ เรื่องที่ไม่รู้ก็จะพยายามเสาะแสวงหาให้รู้ แต่ทั้งหมดดำเนินไปตามปฏิกิริยาสัญชาติญาณมากกว่าการคิดวิเคราะห์ตามลำดับด้วยรายละเอียดเหตุผล โดยเฉพาะความใส่ใจที่มุ่งไปภายนอกมากกว่าตนเอง

 หลายครั้งเมื่อเจอโจทย์ที่ยากจะคิดเป็นรายละเอียดในเชิงวิเคราะห์บ้างแต่ผลักดันด้วยท้อง (สัญชาติญาณ) เสียส่วนใหญ่มากกว่าการใช้หัว (คิด วิเคราะห์ เหตุผล จินตนาการ) บางครั้งก็ออกมาดีบางครั้งก็ไม่เป็นที่ยอมรับ แต่ก็ไม่ติดใจอะไรมาก เมื่อเสร็จก็สบายใจแล้ว อุปมากับเรือเอี้ยมจุ๊นที่ขยับยาก น้ำหนักมากไหวตัวรับรู้ช้า ขยับหรือไม่ขยับไม่มีใครรู้ใครเห็น แต่เมื่อขยับจะหยุดยาก แม้ต้องชนสิ่งที่ขวางหน้าก็หยุดไม่ได้ อันเป็นพลังสัญชาติญาณของคนเก้า

  ข้อด้อยที่มักถูกต่อว่าแต่ตนเองไม่ค่อยยอมรับ คือ การตัดสินใจช้า โดยเฉพาะเรื่องที่จะไปกระทบฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นิยมใช้การประชุมหาฉันทามติ หรือให้กลุ่มร่วมกันกำหนดมาตรฐานที่บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น บ่อยครั้งทำให้ติดกับอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนดูเหมือนกับเข้าข้าง ในขณะที่ปล่อยให้เวลาผ่านไปก็มีความหวังว่าจะหาข้อยุติที่ดีที่สมใจได้ ข้อดีคือเวลาที่เนิ่นช้าเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ทบทวน ข้อเสียคือทุกข์ใจ และทำให้มีบุคลิกไม่ Decisive เป็นคนที่บางคนไม่ชอบและตำหนิว่าใจดีเป็นผู้นำไม่ได้    

         ผมคิดว่าข้อด้อยทั้งสองข้อนั้นสามารถนำลูกศรของลักษณ์เก้า คือเรื่องเป้าหมาย(ลักษณ์ 3) และการคิดโดยใช้หัวจริงๆ (ลักษณ์ 6)มาใช้ อาจเป็นการ Imitation โดยนำองค์ประกอบมาร่วมเป็นปัจจัย เช่น พิจารณาถึงความกลัวที่จะล้มเหลว ข้อผิดพลาด ความระวังล่วงหน้า การวางลำดับความสำคัญ การจัดลำดับก่อนหลัง การชั่งน้ำหนักความเป็นไปได้ รายละเอียดจุดสำคัญที่จะเกิดความบกพร่อง อันเป็นคุณลักษณะของลักษณ์หกซึ่งเก้าไม่ชอบหรือบางครั้งรังเกียจ หรือการให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ขององค์การ ของหมู่คณะ ภาพความสำเร็จเป็นที่ยอมรับของคณะกรรมการ ความภาคภูมิใจในตนเองที่ลึกๆแล้วคนลักษณ์เก้าก็ใฝ่หาอยู่ อันเป็นคุณลักษณะของคนลักษณ์สามที่ปกติคนเก้าจะไม่ค่อยยี่หระเท่าไร   

สุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือการสังเกตตนเองทุกขณะถึงกลไกที่กำลังทำงาน ว่า ศูนย์หัว ศูนย์ใจ และศูนย์ท้อง อะไรกำลังทำงานอย่างไรอยู่ การสังเกตเห็นแล้ว Balance ด้วยส่วนที่ใช้น้อยก็อาจเป็นอีกวิธีที่ master ตัวเราเองได้ อย่าลืมนะครับว่า เกือบตลอดเวลาเราอยู่กับความไม่รู้ตัว ปล่อยให้กลไกของลักษณ์ครอบงำโดยที่ไม่รู้ตัวอยู่ ดังนั้นการกลับมาอยู่กับตัวเองแล้วตั้งหลักให้พลังทั้งสามสมดุล จึงเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่างเสมอ

 แต่เฉพาะคนลักษณ์เก้า ต้องระวังว่า การอยู่กับตนเอง กับ การหลับใหล อยู่ใกล้กันมาก ตรงนี้ระวังแยกและปลุกตัวเองให้ดี และท้ายสุดคือ ให้เวลาหรือขอเวลาเพื่อพิจารณาเรื่องนั้นๆ ให้ชัดเจนก่อนที่จะตัดสินหรือรับปากใคร …..ขอให้โชคดีครับ     

ข้อเขียนนี้เป็นข้อเขียนที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนธันวาคม 2550 ค่ะ

สนใจติดต่อฝึกอบรมศาสตร์นพลักษณ์ได้ที่

สมาคมนพลักษณ์ไทย  โทร 02-224 5999 หรือ 081 9229161ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ใน www.enneagramthailand.comหรือหนังสือเกี่ยวกับนพลักษณ์ ติดต่อ มูลนิธิโกมล คีมทอง www.Komol.com
หมายเลขบันทึก: 159121เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2008 10:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
สวัสดีค่ะ..อาจารย์อัญชลี หายไปนานนะคะ..อาจารย์สบายดีมั๊ยคะ.. แวะมาทักทาย..ด้วยความคิดถึงค่ะอาจารย์ ดูแลสุขภาพด้วยนะคะ.

สวัสดีปีใหม่ทุกท่านค่ะ

และสวัสดีปีใหม่คุณครูแอ๊ว P ผู้น่ารัก เปลี่ยนภาพใหม่ดูเป็นผู้ใหญ่และสวยขึ้นค่ะ ....... ยังคิดถึงอยู่ค่ะ แต่ไม่ได้แวะไปทักทายเลย ได้แต่แอบอ่านข้อเขียนค่ะ

 

ขอให้คุณครูแอ๊ว มีสุขภาพแข็งแรง มีความสุข สนุกกับชีวิตและเด็กๆ ตลอดไปค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท