เพลินกับตลาดนัดนวัตกรรมเล็กๆ (๓)


* ครูต้องชัดเจนในสิ่งที่จะสอน… ก่อนนำเด็กสู่การเรียนรู้

อีกตัวอย่างหนึ่งที่นำมาเล่าแลกเปลี่ยนกันในวันนั้นคือประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนของคุณครูแหม็ก-มารศรี ธรรมวิเศษ คุณครูหน่วยวิชามานุษกับโลก ช่วงชั้นที่ ๑

คุณครูแหม็กเล่าว่า ก่อนจะจัดการเรียนรู้ในแต่ละเรื่องนั้น ตัวครูต้องเข้าใจและมองให้เห็นว่าสิ่งที่จะสอนคืออะไร สื่อที่จะใช้มีอะไรบ้าง พร้อมทั้งมองเห็นภาพการจัดการเรียนการสอนทั้งกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศการเรียนการสอน หรือการมีปฏิสัมพันธ์ของเด็กกับเพื่อนและกับครู แล้วนำข้อมูลทั้งหมดนี้มาพูดคุยกับครูคู่วิชาเพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจนตรงกันก่อน

ส่วนใครจะจัดการเรียนการสอนอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับเทคนิคและความถนัดของครูแต่ละคน แต่สุดท้ายปลายทางแล้วเด็กจะเกิดการเรียนรู้และพัฒนาตรงตามที่วางไว้เหมือนกัน

ใบงานทบทวนความรู้ จึงเป็นเครื่องมือที่ดีในการสร้างให้เด็กเกิดความคิดรวบยอดในเรื่องที่เรียนรู้ และยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญตัวหนึ่งที่จะช่วยให้ครูที่สอนต่างห้องจะพากันเดินไปสู่เป้าหมายเดียวกันได้โดยไม่หลงทาง

ในการออกแบบใบงาน ครูจะต้องออกแบบอย่างรอบคอบ และต้องคิดอยู่เสมอว่านอกจากกระบวนการเรียนรู้ที่ดีแล้ว ใบงานคือเครื่องมือสำคัญอีกตัวหนึ่งที่จะช่วยนำพาให้เด็กค่อยๆเข้าสู่วิธีคิดในเรื่องที่กำลังเรียนรู้ และต่อยอดไปสู่การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้

ครูกลุ่มวิชามานุษกับโลก (วิทยาศาสตร์+สังคมศึกษา) โรงเรียนเพลินพัฒนา เห็นพ้องกันตั้งแต่ปีแรกว่า การออกแบบที่ได้ผลที่สุด คือการออกแบบให้เด็กคิดเป็นภาพ

จุดเริ่มต้นของการคิดเป็นภาพมาจากการที่เด็กในวัยประถมต้นยังเขียนสื่อความเข้าใจได้ไม่คล่องนัก คุณครูจึงหาเครื่องช่วยให้เขาได้สื่อสารความเข้าใจผ่านการวาดภาพประกอบคำอธิบาย และเมื่อพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ก็พบว่าทั้งครูและเด็กต่างก็เก่งขึ้น จนกระทั่งใบงานเกือบทุกใบมีลักษณะเป็นการสร้างผังมโนทัศน์ที่งดงาม ที่เกิดจากการสร้างฐานความเข้าใจในเรื่องที่เรียนไปทีละลำดับขั้น และจะเสร็จสมบูรณ์ต่อเมื่อเด็กเติมเต็มความรู้ความเข้าใจของพวกเขาลงไป

ใบงานชุดนี้ปรับปรุงมาแล้ว ๕ ปี บัดนี้ได้กลายเป็นงานที่ก่อให้เกิดขุมปัญญาที่เกิดจากการได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ของทั้งตัวครูผู้สอน และผู้เรียน ที่สะท้อนออกมาให้เห็นทั้งในขั้นตอนของการออกแบบ การทำแบบฝึก และการตรวจงาน

จนท้ายที่สุดแบบฝึกทั้งชุดก็กลายเป็นขุมทรัพย์ในเรื่องการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ของผู้สอน และประมวลความรู้ของผู้เรียน ที่แตกต่างกันไปตามความสนใจของผู้เรียนแต่ละคนได้อย่างน่าสนใจ


* กระบวนการเรียนรู้ที่ “เพลิน” ทั้งเด็กและครู

คุณครูตั๊ก-รัตดารา มกรมณี คุณครูหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทยช่วงชั้นที่ ๑ เล่าถึงกิจกรรมการเรียนรู้หนึ่งในภาคจิตตะที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความเพลิดเพลินให้ทั้งครูและเด็ก นั่นคือ “กิจกรรมการจัดสวนถาด” ในหน่วยวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยีของชั้น ๓ ที่เด็กๆ จะต้องใช้ความรู้ด้านการเกษตรผสานคู่ไปกับการออกแบบสร้างสรรค์สวนเล็กๆ ภายในถาดขนาดย่อมๆ

วิทยากรรับเชิญคือ คุณครูโก้-บุญเพชร พึ่งย้อย คุณครูหน่วยวิชากีฬาช่วงชั้นที่ ๒ ที่มีความสามารถในการจัดสวนถาด มาช่วยสอนให้ ในขณะที่เด็กๆ กำลังจัดสวนถาดอย่างสนุกสนานอยู่นั้น คุณครูท่านอืนๆก็ได้เรียนรู้และได้ลงไม้ลงมือจัดสวนถาดไปพร้อมกับเด็กๆ ด้วย เรียกได้ว่าเพลิดเพลินกันทั้งเด็กและครู

เมื่อจัดสวนถาดจนออกมาสวยงาม ก็มีการนำความรู้ปฏิบัตินี้มาถ่ายทอดสู่นักเรียนและผู้ปกครองที่สนใจ โดยเปิดเปิดตลาดความรู้ขนาดย่อมข้างอาคารประถมต้น จำหน่ายไม้ประดับหลายชนิด ถาดหลากรูปแบบ พร้อมด้วยดิน และอุปกรณ์ตกแต่งสวนชิ้นเล็กๆ ที่สามารถเลือกซื้อเลือกหากันได้ตามใจชอบ

หลังจากที่เลือกซื้ออุปกรณ์ครบตามต้องการแล้ว เด็กๆ ชั้น ๓ จะช่วยสอนการจัดสวนถาดให้กับลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือคุณพ่อคุณแม่ของเด็กๆ นั่นเอง สร้างความเพลิดเพลินให้ทั้งกับคนขาย (นักเรียนชั้น ๓) และคนซื้อ (นักเรียนและผู้ปกครองเพลินพัฒนา) ไปพร้อมกัน

รายได้จากการจำหน่ายอุปกรณ์การจัดสวนถาดนี้ได้นำมาจัดซื้อต้นไม้และอุปกรณ์ตกแต่งสวนหย่อมขนาดย่อม ซึ่งในการจัดทำนั้นก็ต้องใช้ทักษะเดียวกันกับการจัดสวนถาด สิ่งที่แตกต่างไปก็คือเรื่องขนาดของต้นไม้ ขนาดของเครื่องตกแต่ง และขนาดของพื้นที่ที่ขยายใหญ่ขึ้น เป็นการฝึกให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากง่ายไปยากอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ผลจากการทำงานครั้งนี้ ได้สร้างให้พื้นที่โถงอาคารเรียนชั้น ๓ กลายเป็นพื้นที่สร้างความเพลินตา รื่นรมย์ใจให้กับทุกคน อีกทั้งยังเป็นการงานที่ก่อประโยชน์แก่ชุมชนเล็กๆของพวกเขาได้อย่างน่าภาคภูมิใจ

หมายเลขบันทึก: 158794เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2008 20:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

"จุดเริ่มต้นของการคิดเป็นภาพมาจากการที่เด็กในวัยประถมต้นยังเขียนสื่อความ เข้าใจได้ไม่คล่องนัก คุณครูจึงหาเครื่องช่วยให้เขาได้สื่อสารความเข้าใจผ่านการวาดภาพประกอบคำ อธิบาย"

ผมว่าถ้าเอามาใช้สำหรับผู้ใหญ่ก็ยิ่งเข้าใจได้ง่ายเข้าไปใหญ่

ผมเห็นมีหนังสือเกี่ยวกับภาษา computer ที่บอกว่า brain-friendly

ผม อ่านดูก็เข้าใจง่ายดีครับ เพราะเขาใช้รูปช่วย และอยากจะเขียนคำอธิบายเพิ่มเติมตรงจุดไหนก็เขียนแทรกเข้าไปเลย

สวัสดีครับ ขออนุญาตเข้ามา ลปรร ดว้ยครับ

         ผมชอบตรงนี้มากครับ

         ก่อนจะจัดการเรียนรู้ในแต่ละเรื่องนั้น

     *  ตัวครูต้องเข้าใจและมองให้เห็นว่าสิ่งที่จะสอนคืออะไร

     *   พร้อมทั้งมองเห็นภาพการจัดการเรียนการสอนทั้งกระบวนการ

     *  ส่วนใครจะจัดการเรียนการสอนอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับเทคนิคและความถนัดของครูแต่ละคน แต่สุดท้ายปลายทางแล้วเด็กจะเกิดการเรียนรู้และพัฒนาตรงตามที่วางไว้เหมือนกัน

      ผมว่าหัวใจของการจัดการเรียนการสอน  ก็คงอยู่ในประเด็นเหล่านี้นะครับ

      ขอบคุณครับ

สวัสดีวันครูค่ะ คุณคริส และคุณ small man เป็นจริงอย่างที่ทั้งสองท่านว่าไว้ และเห็นด้วยอย่างที่สุดค่ะ

ครูใหม่
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท