ข้อเสนอเชิงนโยบาย “3 ปีสึนามิ สานพลัง พลิกฟื้นอันดามัน”


พลิกฟื้นอันดามัน

หลังภัยสึนามิ ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน การไม่ปกป้องคุ้มครอง การไม่ได้รับสิทธิพื้นฐาน คุณภาพชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์ปกติของชาวเลและคนไทยพลัดถิ่น ความไม่มั่นคงในที่ดินและที่อยู่อาศัย แม้หลายแห่งมีประวัติศาสตร์มายาวนานถึง 100 ปี

27 ธันวาคม 2550

จากวิกฤตคลื่นยักษ์สึนามิ 6 จังหวัด เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ชายฝั่งอันดามัน เกิดผลกระทบทั้งชีวิตและทรัพย์สินหลังสึนามิพวกเราร่วมกันพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เราร่วมกันออกแบบบ้าน สร้างชุมชนใน 19 แห่ง ถึง 1,030 หลังคาเรือน เราช่วยกันสร้างและซ่อมเรือกว่า 2,000 ลำ เกิดอู่ซ่อมเรืออีกหลายแห่ง มีการฟื้นฟูกลุ่มอาชีพกว่า 350 กลุ่ม เกิดกิจกรรมรวมกลุ่ม เช่น กลุ่มเยาวชน กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน  กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้หญิง กลุ่มผู้ป่วยจากสึนามิ กลุ่ม อปพร. เตรียมพร้อมภัยพิบัติ กว่า 300 กลุ่ม   เกิดการออมทรัพย์ กว่า 150 ชุมชน และมีการจัดสวัสดิการดูกันเองในพื้นที่กว่า 50 ชุมชน  มีเงินกองทุนหมุนเวียนที่ชุมชนจัดการบริหารเอง กว่า 100 ล้านบาท      มีการฟื้นฟูศิลปินอันดามัน วัฒนธรรมพื้นถิ่นที่หลากหลาย กว่า 30 แห่ง เช่น รองแง็ง เพลงมอแกน  ขับโย่ง หนังตะลุง มโนราห์ ลิเกป่า รำมะนา บทเพลงของชุมชน ศูนย์วัฒนธรรมชาวเล บ้านทุ่งหว้า   บ้านวัฒนธรรมของชุมชนทับตะวัน ลานรองเง็งและหอชาติพันธุ์ของชาวเลเผ่าอุรักลาโว้ย    พิพิธภัณฑ์ชาวเกาะลันตา ที่สำคัญ เราเชื่อมพลังชุมชน เรามีการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ หนุนช่วยกัน และเสนอการแก้ปัญหาในระดับนโยบายร่วมกันจนเป็น เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิคือเครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาเมืองภูเก็ต 30 ชุมชน เครือข่ายฟื้นฟูเกาะลันตา 15 หมู่บ้าน เครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น 20 หมู่บ้าน   เครือข่ายชุมชนจังหวัดพังงา 30 หมู่บ้าน ดังเช่น    เครือข่ายชุมชนจังหวัดพังงาพัฒนาศูนย์ประสานงานบ้านน้ำเค็ม การจัดตั้งกองทุนหมุนเวียน พัฒนาที่อยู่อาศัยของคนไร้บ้าน  ทำแผนป้องกันภัยพิบัติ และการร่วมกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติ เชื่อมโยงกับ ชุมชนบ้านทุ่งหว้า   บ้านทับตะวัน บ้านทับยาง บ้านในไร่ กลุ่มปัญหาที่ดินอำเภอคุระบุรีกว่า 20 หมู่บ้าน และองค์กรการเงินและสวัสดิการในจังหวัดพังงา เกิดกลไกร่วมในการแก้ปัญหาต่างๆ ในระดับจังหวัด  โดยมีผู้แทนของเครือข่าย เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการฯ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกันในระยะต่อไป    เครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาเมืองภูเก็ตมีการพัฒนาที่อยู่อาศัยใน 5 ชุมชน และแก้ปัญหาที่ดินที่สะสมมานาน มีการสำรวจข้อมูลจัดทำแผนที่ทางอากาศและผังชุมชน จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ทั้ง 30 ชุมชน การผลักดันให้มีคณะกรรมแก้ไขปัญหาในระดับจังหวัดและระดับอำเภอที่เครือข่ายมีส่วนร่วม เครือข่าย ฯ มีการแบ่งคณะทำงานออกเป็น 4 ด้าน คือ (1.) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและชายฝั่ง มีการลงนามความร่วมมือปลูกป่าชายเลน จำนวน 1,000,000 ต้น ในเวลา 3 ปี (2.) องค์กรการเงินสมาชิกเครือข่ายทั้ง 30 ชุมชนมีการออมทรัพย์และพัฒนาระบบสวัสดิการ (3.) การฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรมและแก้ปัญหาที่ดินชาวเล (4.) การแก้ปัญหาที่ดินและปัญหาสาธารณูปโภค โดยคณะกรรมการแก้ปัญหาระดับจังหวัด และระดับอำเภอ ที่ผู้แทนของเครือข่ายเข้าร่วม ซึ่งมีการประชุมติดตามงานร่วมกันทุก 3 เดือน ทำให้ปัญหาต่างๆเริ่มคลี่คลายลง        เครือข่ายแก้ปัญหาการคืนสัญชาติคนไทยหรือคนไทยคืนถิ่นไทยถิ่นพลัดในจังหวัดระนอง จังหวัดชุมพร และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไร้สัญชาติเพราะอังกฤษขีดเส้นแดนไทยกับพม่าใหม่ เรากลับมาอยู่ในไทยกว่า 30 ปีแล้ว ไม่มีบัตรประชาชน ถูกจำกัดสิทธิทุกด้าน เราได้รวมตัวกันเป็น เครือข่ายได้ 5 ปี มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ทำกิจกรรมส่วนรวม  ฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมภูมิปัญญา พัฒนาเด็กเยาวชน สำรวจ ตรวจสอบข้อมูล มีทะเบียนประวัติแล้ว 6,231 คน 1,473 ครอบครัว มีเด็กเยาวชนในวัยการศึกษา 2,500 คน มีการออกบัตรสมาชิกเครือข่าย ฯ  มีกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพใน จ.ระนอง และทุนการศึกษาเด็กเยาวชน กว่า 500 คน การฟื้นฟูวัฒนธรรมและการแสดงพื้นถิ่นที่หลากหลาย ทั้งลิเกป่า ขับโย่ง มโนราห์ หนังตะลุง และรำวงโบราณ การจัดทำสื่อเผยแพร่สู่สังคมและสาธารณะ เครือข่ายฯ เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้แก้กฎหมายให้มีการคืนสัญชาติให้คนไทยพลัดถิ่น    เครือข่ายชุมชนฟื้นฟูเกาะลันตาชุมชน 15 หมู่บ้าน 4 ตำบล ในเกาะลันตา รวมตัวกันหลังสึนามิ มีกลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มเรือ กลุ่มอาชีพ กลุ่มเด็กเยาวชน กลุ่มกีฬา กลุ่มร้านค้าชุมชน กลุ่มชุมชนพิทักษ์ป่าชายเลน กระจายอยู่ในทุกชุมชน เกิดระบบชุมชนสวัสดิการ เกิดต้นแบบการจัดการระบบน้ำ การจัดการป่าชายเลนมีการลงนามในบันทึกความร่วมมือในการปลูกป่าชายเลนและอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง 1,300 ไร่ ร่วมกับภาคีทั้งภาครัฐและภาคเอกชน  มีการจัดทำพิพิธภัณฑ์ชุมชนชาวเกาะลันตา เพื่อทำหน้าที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของกลุ่มชนดั้งเดิมเกาะลันตา 3 ชาติพันธุ์ ชาวเล มุสลิม และจีนที่อยู่ร่วมกันฉันท์พี่น้องมายาวนาน ศาลารองแง็งและหอชาติพันธ์ชาวเล การฟื้นฟูเมืองเก่า   การผลักดันการแก้ปัญหาที่มาจากการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน   รวมทั้งการแก้ปัญหาที่ดิน  และมีการเสนอการพัฒนาเกาะลันตาโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน สามปีสึนามิ....ปัญหาที่เครือข่ายเสนอให้รัฐบาลใหม่ร่วมแก้ไขกับพวกเราเรื่องที่ดินมีการแก้ปัญหาที่ดิน ที่ได้ข้อยุติไปแล้ว 13 หมู่บ้าน ยังไม่ประกาศเป็นชุมชนถาวร มีกรณีพิพาทเรื่องที่ดิน 122 หมู่บ้าน จำนวน 12,669 ครอบครัว พื้นที่จำนวน 34,264 ไร่ มีกรณีฟ้องขับไล่และขึ้นศาล จำนวน 407 กรณี ใน 28 ชุมชน ผลกระทบ 2,258 ครัวเรือนข้อเสนอ(1.) เสนอให้เร่งนำมติ ของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ธรณีพิบัติ 6 จังหวัด ซึ่งได้มีมติเห็นชอบให้ชุมชนอยู่ในที่ดินรัฐได้ 13 หมู่บ้าน เข้าครม. หรือ กระทรวง เพื่อให้เกิดผลทางนโยบายและเกิดความมั่นคงในการอยู่อาศัยของชุมชนอย่างแท้จริง   (2.) เสนอให้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ที่เป็นกลาง ประกอบด้วยนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญทางแผนที่   ผู้แทนชุมชน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ ตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ ของพื้นที่ที่มีกรณีพิพาท  (3.) เร่งรัดให้คณะกรรมการแก้ปัญหาที่ดินระดับชาติ ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน(4.) เสนอให้แต่ละจังหวัดยุติการจับกุม การตัดโค่นต้นไม้ และให้ชาวบ้านเข้าไปเก็บผลผลิตเพื่อทำกินได้ รวมทั้งตั้งกรรมการแก้ปัญหาระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ที่มีเครือข่ายเข้าร่วมเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน คนไทยพลัดถิ่น...ขอคืนสัญชาติไทยข้อเสนอ(1.) เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมในการแก้ไขปัญหาทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ ซึ่งมี ตัวแทนคนไทยพลัดถิ่นเข้าร่วม เพื่อสำรวจและ ตรวจสอบการขึ้นทะเบียนผู้ไม่มีสถานะ(2.) เสนอเพิ่มเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.สัญชาติ โดยบรรจุเนื้อหา บุคคลที่เคยมีสัญชาติไทยแต่เสียสัญชาติไทยด้วยการเสียดินแดน และเดินทางกลับไทยหลัง พ.ศ.2411 และมีการรวมกันเป็นกลุ่ม  ตรวจสอบได้จะต้องได้รับสิทธิในการคืนสัญชาติไทย(3.) รับรองสิทธิขั้นพื้นฐาน ก่อนการได้รับบัตรประชาชน โดยออกบัตรรับรองสิทธิบุคคลหรือ บัตรรับรองความมั่นคงมนุษย์ให้ผู้ถือบัตรมีสิทธิรักษาพยาบาล สิทธิด้านการศึกษา สมัครเข้าทำงานได้ เดินทางได้ทั่วประเทศ แจ้งเกิด แจ้งตาย แจ้งความ จดทะเบียนสมรสได้   (4.) สนับสนุนกองทุนเพื่อการฟื้นฟูพัฒนาและแก้ปัญหา ชาวเล กับอนุรักษ์พื้นที่ทางวัฒนธรรมและการปกป้องสิทธิ  ชายฝั่งอันดามันมีกลุ่มชาวเล ทั้งเผ่ามอแกน มอแกลนและเผ่าอูรักลาโวยประมาณ 10,000 คน กระจายตัวตามที่ต่างๆ ประมาณ 30 ชุมชน ปัญหาของชาวเล การถูกรุกรานจากการพัฒนาสมัยใหม่อย่างรุนแรง การแย่งชิงและเบียดที่ดินชายทะเลผลักดันให้ชาวเลออกจากพื้นที่ มีดังนี้ชาวเลที่มีปัญหาความมั่นคงในที่ดิน คือ บ้านทุ่งหว้า บ้านทับตะวัน จ.พังงา บ้านสังกะอู้ บ้านแหลมตง จ.กระบี่ บ้านราไวย์ บ้านแหลมหลา บ้านสปำ จ.ภูเก็ต เกาะเกลา หมู่เกาะสุรินทร์   ชาวเล ประมาณ 724 คน ไม่มีบัตรประชาชน ปัญหาการทำมาหากิน ไม่สามารถเข้าไปหากินในที่เคยทำกินได้เพราะการประกาศเขตอุทยานและการทำโรงแรมที่พักเพื่อการท่องเที่ยว ประมงเรือใหญ่ทำลายเครื่องมือประมง ทำให้ต้องไปรับจ้างเป็นแรงงานราคาถูก ชาวเลที่ไปรับจ้างดำปลิงที่อินเดีย ถูกจับ และเกิดอุบัติเหตุน้ำหนีบ จนตายและพิการแล้วหลายคน ข้อเสนอ(1.) เสนอให้มีมติครม.ออกบัตรประชาชน แก่กลุ่มชาวเลที่ตกค้าง ซึ่งผ่านการรับรองการสำรวจและการทำข้อมูลร่วมหลายองค์กร จำนวน 724  คน (2.) ประกาศพื้นที่ที่มีชาวเลพักอาศัยและทำมาหากิน เป็นพื้นที่ วัฒนธรรมพิเศษเป็นพื้นที่ซึ่งชาวเล ตั้งถิ่นฐานมาเป็นเวลานาน สนับสนุนงบประมาณในการฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตและวัฒนธรรม การพัฒนาเด็กและเยาวชน เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่อันดามัน ตรวจสอบกระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ และสิทธิการครอบครองและการใช้ประโยชน์จริงในพื้นที่ของชาวเลทุกแห่ง  ปัญหาผลกระทบจากนโยบายและโครงการขนาดใหญ่ที่ผ่านมา นโยบายและแผนพัฒนาของรัฐที่มีผลกระทบต่อชายฝั่งอันดามัน โครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจึงกระทบวิถีชีวิตชาวเล ชาวประมง และวิธีการทำมาหากินโดยรวมและเกิดความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากร ไม่ยอมรับกติกาการอนุรักษ์ทรัพยากรของชุมชนตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เช่น การออกโฉนดน้ำ การประกาศพื้นที่ขององค์กรบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว (อพท.)    การสัมปทานเหมืองแร่ในทะเล บ้านน้ำเค็ม จ.พังงา การสร้างสนามบินน้ำ เกาะลันตา จ.กระบี่      โครงการนิคมอุตสาหกรรมทุ่งค่าย จ.ตรัง โครงการนิคมอุตสาหกรรมท้ายเหมือง จ.พังงา    โครงการท่าเรือน้ำลึกและพาณิชย์นาวี อ.ละงู จ.สตูล โครงการผังพื้นที่เฉพาะเกาะลันตาใหญ่   โครงการสร้างเขื่อน-อ่างเก็บน้ำเขาหลักลำรู่ข้อเสนอ(1.) ทบทวนและชะลอโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต วัฒนธรรมชุมชน โดยทำการศึกษาอย่างรอบด้าน(2.) แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมในการแก้ไขปัญหา ซึ่งมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ตัวแทนชุมชน และองค์กรเอกชน โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากชุมชนทุกกระบวนการ(3.) ยกเลิกโครงการที่มีผลกระทบและก่อความเสียหายแก่ชุมชนและท้องถิ่นอย่างรุนแรงเช่น อพท.โฉนดน้ำ ชุมชนเตรียมพร้อมจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติตลอดระยะเวลา 3 ปี กว่า 400 หมู่บ้านที่ประสบธรณีพิบัติภัยสึนามิในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน มีภาพของการช่วยเหลือและการฟื้นฟูชุมชนสู่ระดับปกติเพียงร้อยละ 10 ของชุมชนที่ประสบภัยสึนามิ อันเนื่องมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างนโยบายที่ยังไม่ครอบคลุมและไม่มีประสิทธิภาพที่จะสร้างความมั่นใจให้กับชุมชน เช่น ระบบเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ นโยบายและแผนชาติ รวมทั้งกลไกรัฐทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นที่จะเอื้อและสนับสนุนชุมชน ดังนั้นภาคประชาชนจึงมีข้อเสนอที่ควรให้พิจารณาและร่วมมือกันสร้างชุมชนเกิดความพร้อมเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ(1.) นโยบายการจัดการและบรรเทาสาธารณภัยโดยใช้ประชาชนเป็นฐาน ผ่านการผลักดันการบังคับใช้มติรัฐมนตรีและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง(2.) ขยายผลภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ใช้ในการเตือนภัยพิบัติให้กว้างขวางควบคู่ไปกับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ร่วมกับชุมชน โรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ(3.) สนับสนุนให้เกิดคนทำงาน หนึ่งตำบลหนึ่งกู้ภัยให้เกิดการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานและระบบสื่อสารการเตือนภัยรองรับการช่วยเหลือและอพยพหลบภัย ความรุนแรงต่อผู้หญิง เด็กในบริบทสึนามิจากรายงานการศึกษาวิจัยเรื่อง ความรุนแรงต่อผู้หญิงในบริบทสึนามิพบว่า ความรุนแรงในบ้านมีหลายกรณี บางกรณีไม่รุนแรงมาก แต่บางกรณีก็ถึงขั้นรุนแรงและสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ มีบางรายที่รุนแรงมากจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งสาเหตุของความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นเพราะผลกระทบจากสึนามิ เมื่อการทำมาหากินเริ่มลำบากมากขึ้น ทำให้รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายจึงทำให้บางคนหันไปหาทางออกด้วยการดื่มสุรา และสุดท้ายก็ต้องมาระบายอารมณ์กับภรรยาโดยการดุด่าและทุบตี บางรายก็มาระบายกับลูกอีกด้วย จากสถานการณ์ดังกล่าว จึงมีข้อเสนอต่อการป้องกันและแก้ไขความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ดังนี้(1.) สนับสนุนให้มีอาสาสมัครในชุมชนเพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวังปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น รวมถึงการให้ข้อมูลแก่ผู้หญิงและเด็กที่ประสบปัญหาให้สามารถได้เข้าถึงการคุ้มครองตามกฎหมาย(2.) สนับสนุนให้มีสวัสดิการระดับชุมชนแก่ครอบครัวที่ประสบปัญหาความรุนแรงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว บทสรุปการการละเมิดสิทธิชุมชน ปัญหาที่สะสมมายาวนาน จะเห็นได้ว่าหลังประสบภัยสึนามิ ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกลุ่มต่างๆ การไม่ปกป้องคุ้มครอง การไม่ได้รับสิทธิพื้นฐาน คุณภาพชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์ปกติของชาวเลและคนไทยพลัดถิ่น  ความไม่มั่นคงในที่ดินและที่อยู่อาศัย แม้หลายแห่งมีประวัติศาสตร์มายาวนานถึง 100 ปี นโยบายและแผนพัฒนาของรัฐที่มีผลกระทบต่อชายฝั่งอันดามัน แผนพัฒนาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจะกระทบวิถีชีวิตชาวเล ชาวประมง และวิธีการทำมาหากินโดยรวมและเกิดความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากร    สึนามิเป็นภัยพิบัติจากธรรมชาติ แต่เปิดให้เห็นถึงสิ่งที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ จะเห็นได้ว่าในที่สุดแล้วกลับกลายเป็นปัญหาความไม่เป็นธรรมในการพัฒนาที่ไปละเมิดสิทธิของชุมชน ที่อยู่ก่อนสึนามิมานับร้อยปี คุณภาพชีวิตของคนชายฝั่งอันดามันจึงทุกข์ยาก ตกต่ำลงทุกวันในขณะที่ทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์กลับตกอยู่ในมือของนักธุรกิจทั้งไทยและต่างประเทศ    ที่ดินชายหาด ทั้งบนฝั่งและพื้นที่เกาะ แม้กระทั่งป่าชายเลน ก็ตกไปเป็นทรัพยากรส่วนบุคคลแทบทั้งหมด ซึ่งในการแก้ไขปัญหานี้  ต้องเป็นการแก้ไขในระดับนโยบายที่เปิดโอกาสให้ชุมชน ประชาชนคนเล็กๆ ทุกชาติพันธุ์ มีส่วนร่วมเป็นตัวหลักในการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศ การดำเนินงานของเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ ที่ผ่านมาจึงเป็นการฟื้นฟูและก่อให้เกิดองค์กรชุมชนพื้นฐานที่เข้มแข็ง พึ่งตนเอง เป็นแกนหลักในการพัฒนา ซึ่งเป็นแนวทางที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง.      
คำสำคัญ (Tags): #สึนามิ#อันดามัน
หมายเลขบันทึก: 158351เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2008 22:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 14:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท