เรื่องเล่าอุดมศึกษา .. ธุรกิจศึกษาในสหรัฐอเมริกา


บทความนี้ทำให้ผมได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับ "ระบบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยของประเทศสหรัฐอเมริกา"

ผมได้มีโอกาสอ่านบทความ ชื่อ "ธุรกิจศึกษาในสหรัฐอเมริกา" เขียนโดย อาจารย์ โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

อยากให้ "นักการศึกษา" และ "ผู้สนใจ" ได้มีโอกาสอ่านครับ

 

ผู้เขียนมีประสบการณ์ในการไปศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา 2 ช่วง ที่มีระยะเวลาห่างกันร่วม 30 ปี กล่าวคือ ผู้เขียนไปเรียนในระดับปริญญาตรี-โท ที่มลรัฐอิลลินอยส์ในช่วง พ.ศ.2510 - 2515 และไปเรียนปริญญาโททางกฏหมาย (LL.M.) ที่มลรัฐอลาบามาอีกในช่วง พ.ศ.2543 - 2544

ทำให้เข้าใจในเรื่องธุรกิจศึกษาในสหรัฐอเมริกาดีพอใช้ เนื่องจากมีประสบการณ์ตรงจากการสัมภาษณ์เชิงพูดคุยกับผู้บริหารการศึกษาชาวอเมริกันหลายคน และค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยตนเองอีกพอสมควร

จึงอยากถือโอกาสแชร์ประสบการณ์และความรู้กับบรรดาเพื่อนร่วมทุกข์ทั้งหลายในมหาวิทยาลัยของรัฐที่ต้องออกจากนอกระบบ ทั้งบรรดามหาวิทยาลัยที่ออกไปก่อนแล้ว และเพิ่งถูกออกไปหมาด ๆ ก่อนการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ด้วย

ในสหรัฐอเมริกาเขามีปรัชญาความเชื่อว่า การศึกษาเป็นเครื่องจักรกลที่นำไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย และนำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้า

ดังนั้น การศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปีแรกของเด็กอเมริกันทุกคนนั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐ 100 % เป็น การศึกษาฟรี จริง ๆ รวมทั้งหนังสือตำราเรียนก็ฟรีด้วย เพื่อที่จะให้เด็กอเมริกันได้รับการปลูกฝังความเป็นประชาธิปไตยไปพร้อม ๆ กับความรู้ที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาตัวเองและสังคมไปด้วยกัน

การศึกษาอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งนักศึกษาส่วนมากมีโอกาสเรียนฟรีได้ที่สหรัฐอเมริกาก็คือ การศึกษาในระดับปริญญาเอก ซึ่งโดยมากแล้วจะได้รับทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั้งของภาครัฐและเอกชน

เนื่องจากถือว่า งานวิจัยที่เป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกนั้นเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยและของสังคมโดยส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ที่จะเกิดแก่ตัวนักศึกษาระดับปริญญาเอกเอง เพราะเรียนจบปริญญาเอกแล้วก็ไม่แน่ว่า จะทำให้สามารถหารายได้ได้เพิ่มมากขึ้น ดีไม่ดีจะกลายเป็นมีคุณสมบัติเกิน หางานทำไม่ได้ หรือถูกลดเงินเดือนซ้ำ

สำหรับการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในสหรัฐอเมริกานั้น ถือเป็นธุรกิจศึกษาอย่างแท้จริง เนื่องจากเหตุผลที่ว่า การศึกษาขั้นพื้นฐาน รัฐได้ประโยชน์ รัฐจึงต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ส่วนการศึกษาระดับอุดมศึกษานั้นผู้เรียนจะได้ประโยชน์คือ สามารถออกไปทำงานได้เงินเดือนสูงกว่าผู้ที่เรียนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังนั้น ผู้เรียนจึงต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายในการศึกษาเองทั้งหมด

การศึกษาระดับอุดมศึกษาในสหรัฐอเมริกาจึงเป็นธุรกิจศึกษาเต็มรูปแบบไม่มีการเสแสร้งอะไรทั้งสิ้น โดยสถาบันอุดมศึกษาในแต่ละมลรัฐ (สหรัฐอเมริกา ประกอบด้วย 50 มลรัฐ) นั้นจะมีทั้งมหาวิทยาลัยของมลรัฐและมหาวิทยาลัยเอกชน

โปรดสังเกตว่า ในบรรดาอารยะประเทศในปัจจุบันจะเกิดมี มหาวิทยาลัยเอกชน ขึ้นก่อนมหาวิทยาลัยของรัฐทั้งสิ้น (ประเทศเหล่านี้ คือ อิตาลี ฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น ฯลฯ)

มลรัฐต่าง ๆ นั้นก็มีระบบมหาวิทยาลัยของทุกมลรัฐ ซึ่งมหาวิทยาลัยเหล่านี้สร้างขึ้นเด้วยเงินภาษีอากรของประชากรในมลรัฐนั้น ๆ ดังนั้น ประชาชนของมลรัฐแห่งนั้นเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยจะเสียค่าเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายต่ำกว่าชาวต่างชาติและชาวต่างมลรัฐที่ข้ามรัฐมาเรียน (เช่นเป็นคนมีภูมิลำเนาอยู่ในมลรัฐนิวยอร์กแต่มาเรียนที่มลรัฐอิลลินอยส์ เป็นต้น) อย่างน้อย 1 เท่าตัว เพราะว่าเสียภาษีให้มลรัฐแล้วนั่นเอง)

โดยทั่วไปแล้วมหาวิทยาลัยของเอกชนจะคิดค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายของนักศึกษาในราคาที่สูงกว่ามหาวิทยาลัยของมลรัฐมาก และการศึกษาในมหาวิทยาลัยเอกชนนี้มักจะเป็นแบบ "ยอดไปเลย-คือทั้งแพงทั้งยาก" กับ "แย่ไปเลย-คือแพงแต่ง่าย" ตลอดจนพวกมหาวิทยาลัยเอกชนแบบขายปริญญาที่มาให้ปริญญากันตามโรงแรมเมืองไทยนั่นแหละ

สำหรับมหาวิทยาลัยของมลรัฐนั้นจะมีมาตรฐานรับรองจากองค์การเอ็นจีโอ (ตลกดีนะ คือ องค์การเอกชนออกใบรับรองมาตรฐานให้หน่วยงานของรัฐ) ซึ่งการรับรองมาตรฐานของมหาวิทยาลัยนั้น เขาจะดูที่จำนวนและชนิดของหนังสือในหอสมุด อัตราส่วนของนักศึกษาต่ออาจารย์หนึ่งคน อัตราส่วนของอาจารย์ที่จบปริญญาเอกต่อจำนวนอาจารย์ทั้งหมด ฯลฯ ซึ่งมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีมาตรฐานก็ได้รับการรับรองจากองค์การเอ็นจีโอดังกล่าว

(สำนักงาน ก.พ.ของประเทศไทยก็ยึดมาตราฐานนี้สำหรับผู้จบการศึกษาของสหรัฐอเมริกาในการรับบุคคลเข้ารับราชการเช่นกัน)

สิ่งที่น่าสนใจในการศึกษาของนักศึกษาอเมริกัน คือ ความรับผิดชอบต่อตัวเอง กล่าวคือ อาจารย์มักจะให้การบ้านแบบมีทางเลือก (optional) คือ ให้การบ้านไป นักศึกษาจะทำการบ้านก็ได้ ไม่ทำก็ได้ แต่อาจารย์จะเฉลยคำตอบของการบ้านก็ได้ ไม่ทำก็ได้ แต่อาจารย์จะเฉลยคำตอบของการบ้านติดบอร์ดให้ไปเช็คเอาเอง ซึ่งวิบากกรรมก็จะแสดงออกเองในยามสอบ วิธีการนี้เรียกว่า "The Cream always rises to the top" นักศึกษาที่ไม่มุ่งมั่นในการศึกษาก็จะถูกกำจัดให้ออกไปในช่วง 2 ปีแรก ประมาณหนึ่งในสามเสมอในมหาวิทยาลัยระดับท๊อป เท็น ของสหรัฐอเมริกา

นักศึกษาอเมริกันต้องแข่งขันกันให้เรียนจบในระดับสูงขนาด ท็อป 5 % หรือ 10 % ของรุ่น ไม่เช่นนั้นจะหางานดี ๆ เงินเดือนแพง ๆ ยาก ดังนั้น เรื่องการร่วมมือกันทุกจริตในการสอบจึงมีน้อยเพราะนักศึกษาทุกคนต้องรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง

ในขณะเดียวกันอาจารย์ก็จะให้เกียรติและให้ความนับถือต่อนักศึกษาด้วยการยอมรับความจริงว่า ในชั้นเรียนหนึ่ง ๆ มักจะมีนักศึกษาที่ฉลาดกว่าอาจารย์เสมอจึงได้มีระบบให้คะแนนแบบ A+ คือ 4.5 คือให้คะแนนเกินร้อยเปอร์เซ็นต์นั่นแหละ

กล่าวคือ อาจารย์จะออกข้อสอบคณิตศาสตร์ 5 ข้อ คะแนนเต็มร้อยคะแนน และจะมีโจทย์เองก็ทำไม่ได้ ซึ่งหากนักศึกษาผู้ใดทำเลขถูกทั้ง 5 ข้อ และทำเลขข้อที่หกได้ นักศึกษาผู้นั้นก็จะได้เกรด A+

บรรดามหาวิทยาลัยประเภทท็อป เท็นของสหรัฐอเมริกาเขาทำกันอย่างนี้แหละ

 

ที่ท่านอ่านผ่านมาครับ เป็นบทความ หรือ ข้อเขียน ของ อาจารย์ โกวิท  วงศ์สุรวัฒน์ ...

ขอบคุณบทความดี ๆ จาก หนังสือพิมพ์มติชน ครบรอบปีที่ 31 วันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2551

 

เกิดมายังไม่เคยได้มีโอกาสไปเหยียบประเทศสหรัฐอเมริกากะเค้าสักที เกิดจากสาเหตุ 2 อย่าง คือ บุญไม่มี กับ เงินไม่มี

บทความนี้ทำให้ผมได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับ "ระบบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยของประเทศสหรัฐอเมริกา"

ถือเป็น "ความรู้" ครับ และน่าจะเป็นการเปิดมุมมองของนักการศึกษาของไทยได้ดีทีเดียว ยกเว้นคนที่ไม่สนใจ ครับ

เห็นผมเอามาให้อ่าน กรุณาอย่านึกว่า ผมน่ะ คลั่งไคล้พวกต่างชาติ นะครับ ...

"รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง"

ผมไม่ Conservative อนุรักษ์นิยมจ๋า .. หรือรับวัฒนธรรมต่างชาติจ๋า เช่นกัน

ทุกอย่างต้องมีเหตุมีผล .. ไม่เอียงซ้าย และ ไม่เอียงขวา

เป็นไปตามหลัก "ทางสายกลาง" ซึ่งเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า

 

ยินดีที่มารับรู้เรื่องราวเหล่านี้ครับ

คิดยังไงบ้าง ก็แลกเปลี่ยนกันนะครับ

บุญรักษา ทุกท่านครับ :)

หมายเลขบันทึก: 158310เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2008 19:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 16:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ

อ่านบันทึกนี้แล้วมีประโยชน์มากค่ะ คงต้องขอบคุณเจ้าของบทความ อาจารย์โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ ที่ได้ถ่ายทอดมุมมองหนึ่งออกมาให้ได้ทราบเกี่ยวกับการศึกษาในสหรัฐอเมริกา

ดิฉันอ่านแล้วก็รู้สึกว่าการเรียนเช่นนี้ มุมมองหนึ่งก็สนุกและมันดีค่ะ เรียนแบบเอามัน ถ้าเรียนเก่งจริงก็สามารถแสดงความรู้ความสามารถได้อย่างเต็มที่ และระบบการให้รางวัลก็จูงใจให้แสดงออกได้ดีเช่นกัน (หมายถึงเกรด 4.5 คะ) 

แต่อีกมุมหนึ่งก็มองว่าเหมือนสภาพการเรียนที่ต้องแข่งขันกันมากๆ ก็ทำให้นักศึกษาขาดบางอย่างไป เช่น การแบ่งปัน การพึ่งพาอาศัยกัน เป็นต้น ในส่วนนี้คงเป็นทางสังคม แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจจะมีอยู่บ้างแล้วนะคะ

ขอบคุณมากค่ะ ที่นำบทความมาแบ่งปัน รู้เขา รู้เรา แต่ยังไม่อยากไปรบค่ะ :)

 

  • แวะมาหาความรู้ค่ะ
  • แต่กลัว ขำน้องมะปรางเปรี้ยว
  • แต่ด้วยเหตุผลที่ต่างออกไปค่ะ กลัวได้ A++ เพราะรู้มากในเรื่องที่ไม่ควรรู้ อิอิ
  • วันนี้อาจารย์พกกุญแจมาด้วยไหมคะ โจรอยากขอปั๊มกุญแจค่ะ

สวัสดีครับ คุณ มะปรางเปรี้ยว

  • ยินดีครับ คุณ มะปรางเปรี้ยว อย่างที่บอกครับ Gotoknow ทำให้ผมต้องอ่านหนังสือพิมพ์มากขึ้นครับ
  • มุมมองและประสบการณ์ของท่านผู้เขียนนี่ ดีจริง ๆ ครับ ทำให้เราต่อความคิด หรือการนำกลับมาใช้ที่บ้านเราได้ ถ้าดี หรือ เหมาะสมนะครับ
  • อิ อิ รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง .. หมายถึง ไม่ต้องไปรบครับ แต่แอบไปรู้ข้อมูลของคู่แข่งซะก่อน คร้าบพี่น้อง :)

ขอบคุณนะครับ :)

สวัสดีครับ คุณ naree suwan

  • อิ อิ ขอหัวเราะก่อนเลย แหม .. หาโจรยังไม่พบเลยครับตอนนี้ ว่าจะเอากุญแจไปฝากคุณ naree suwan  ไว้ก่อนครับ ดีไหมเอ่ย
  • รู้มาก ก็อาจจะมีภัยได้ครับ เหมือนหนังสืบสวนสอบสวนครับ ใช่ไหมครับ

ขอบคุณนะครับ แหม แวะมาแซวกัน 555

ผมเองยังไม่เคยไป เมกา กะเขาเลย คือ "เงินไม่มี" แต่บุญหนะพอมีครับ 555
แต่ผมเคยเห็นว่า บางครั้ง ทาง ยุโรป เขามาศึกษา ประเทศทางตะวันออก แล้วเอาไปเขียนเป็นทฤษฎี ใช้ภาษาของเขา เราก็เดินตามแบบไม่ลืมหูลืมตาครับ ทั้งๆ ที่เป็นของเรา เรียกว่า รับแต่วัฒนธรรมตะวันตกแบบเต็มๆ

ผู้ใหญ่บนหอคอยงาช้างโน้นไงครับ ท่านอาจารย์ ครูgisชนบท ;)...

ไปดูงานมา แล้วก็ว่าดี พอว่าดี ก็ทำเป็นนโยบายมาระดับล่าง

แต่บริบทไทย มันคงเหมือนต่างประเทศเขาหรอก

ล้มไม่เป็นท่ามาไม่รู้กี่โครงการ

สิ่งที่ได้เรียนรู้ คือ "อ๋อ มันไม่ได้ผล ทำโครงการใหม่ดีกว่า" เท่านั้นเองครับที่เห็นประโยชน์

ขอบคุณครับอาจารย์ ;)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท