ประชานิยม=สวัสดิการ


ถึงตรงนี้ผมคงไม่ได้สรุปว่าประชานิยมดีหรือไม่ ผมว่าขึ้นอยู่กับเป้าหมายและความตั้งใจมากกว่าว่าสุดท้าย เราอยากให้ชุมชนเรียนรู้ที่จะพึ่งตนเอง ด้วยความรู้และภูมิปัญญาของชุมชนเอง หรือกลับไปเป็นชุมชนผู้กระหายอยากได้อยากมี แล้วร้องขอความช่วยเหลือจากผู้มีอำนาจ เพื่อแลกกับคะแนนเสียงอย่างไม่รู้จักจบสิ้นต่อไป

  คะแนนเสียงของพรรคพลังประชาชนที่ล้นหลามในภาคเหนือและภาคอิสานคงทำให้หลายต่อหลายคน  คงประจักษ์แก่สายตาว่า กระแสนโยบายประชานิยมมีผลต่อสังคมไทยเป็นอย่างสูง แม้ในช่วงปีที่ผ่านมามีความพยายามเป็นอย่างสูงในการที่จะลบล้างกระแสประชานิยม แต่ทว่ามิได้ทำให้ความรู้คิดถึงการรับ การได้ในสังคมไทยลดลงเลย แท้ที่จริงแล้วกระแสนโยบายประชานิยมทั้งสูตรต้นตำรับ สูตรพิเศษ ที่ทางพรรคพลังประชาชนชูเป็นแนวทางหลักในการหาเสียงนั้น แม้จะสร้างมูลค่าประเดี๋ยวประด๋าว มิได้สร้างคุณค่าอย่างมั่นคงให้กับสังคมไทยก็เถอะ แต่มันก็พอเหมาะพอเจอะกับสังคมไทยที่เหนียวแน่นกับระบบอุปถัมภ์มาอย่างช้านาน 
    ดร.ม.ร.ว. อคิน รพีพัฒน์ ได้ให้มุมมองต่อระบบอุปถัมภ์ไว้อย่างน่าสนใจว่าเป็นระบบความสัมพันธ์ ที่บุคคลสองฝ่ายที่มีสถานภาพ ทางสังคมไม่เท่าเทียมกันแต่อยู่ด้วยกันได้เพราะลักษณะต่างตอบแทน กันและกัน มีผลประโยชน์ร่วมกัน และมีความเป็นเพื่อนระหว่างกันอยู่ด้วย จึงไม่น่าแปลกใจว่ากระแสประชานิยมจึงได้รับการตอบรับเป็นอย่างสูงจากคนไทยในช่วงที่ผ่านมา เพราะแท้ที่จริงแล้วนโยบายประชานิยมก็คือ สวัสดิการที่รัฐพึงให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะคนยากคนจนให้โงหัวขึ้นมาได้ โดยได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นเป็นการตอบแทน ซึ่งสวัสดิการจากรัฐเป็นเพียงแนวทางหนึ่งในการจัดสวัสดิการของสังคม แต่บนฐานความยั่งยืนแล้วอาจต้องสร้างภาพของคำว่าสวัสดิการใหม่ให้กับสังคมไทย อาจต้องมองมากกว่าการรับ  หรือไม่ต้องจ่าย หรือพูดง่าย ๆ คือการมุ่งเป้าปลายทางไปที่ตัวเงินนั่นเอง เช่น กองทุนหมู่บ้าน หวยบนดิน เอสเอ็มแอล เบี้ยยังชีพ 30บาทรักษาทุกโรค
ความพยายามในการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม

    ระบบสวัสดิการท้องถิ่นและระบบสวัสดิการชุมชนในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างโดดเด่นในกระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ภายใต้เจ้ากระทรวงที่ชื่อไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม กับ รมช. นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ที่พยายามสื่อสารคำว่าสวัสดิการให้ครอบคลุมทุกมิติ ภายใต้นโยบายหลัก สังคมไม่ทอดทิ้งกันโดยมุ่งเน้นให้คนในชุมชนดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกันมากกว่าการรอรับจากภาครัฐ เพียงอย่างเดียว ประกอบกับการประสานความร่วมมือกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ตลอดจนหาลักษณะเฉพาะพื้นที่ไม่ใช่พิมพ์เขียว เหมือนกันทั่วประเทศ

    จากแนวคิดระดับนโยบายนี้ทำให้ผมเห็นรูปธรรมเล็ก ๆในชุมชนแพรกหนามแดง ตำบลเล็กๆ ในอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งพยายามก่อรูปก่อร่างระบบสวัสดิการชุมชนให้เข้มแข็ง ภายหลังจากเคยประสบความสำเร็จจากการศึกษารูปแบบการจัดการน้ำในคลองตำบลแพรกหนามแดง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานภาค ควบคู่กับการใช้กระบวนการเรียนรู้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในการพัฒนากลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ตำบลแพรกหนามแดง จนสามารถเป็นองค์กรการเงินที่เป็นหลักประกันความมั่นคงของชุมชน สามารถจัดสวัสดิการชุมชนภายใต้แนวคิดการช่วยเหลือกันระหว่างญาติมิตรและเพื่อนพ้องในชุมชน เช่นการเบิกค่ารักษาพยาบาล การเปิดบัญชีสัจจะสะสมทรัพย์ให้เด็กแรกเกิด การมอบเงินช่วยเหลือกรณีเสียชีวิต  กองทุนข้าวสาร และน้ำมันพืชราคาถูก ฯลฯ

    แม้จะเป็นการจัดสวัสดิการพื้นฐานให้กับประชาชนได้มีศักดิ์ศรีทัดเทียมผู้ที่มีสวัสดิการ เช่น ข้าราชการหรือนักการเมือง ถือได้ว่าเป็นการโงหัวขึ้นมาอย่างภาคภูมิใจของคนแพรกหนามแดง                และด้วยกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่มุ่งเน้นการใช้อำนาจของความรู้  ใช้ข้อมูลในการต่อรองสร้างการเรียนรู้สร้างความสัมพันธ์บนวิถีการหาอยู่หากินของคนในชุมชน ทำให้นักวิจัยเริ่มมองเห็นคุณค่าของคำว่าสวัสดิการชุมชนที่มากกว่าเงินสนับสนุน  คุณภาพน้ำดีทำมาหากินได้สมบูรณ์ โจรผู้ร้ายไม่มี ปลอดภัยในทรัพย์สิน มีอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ คนเฒ่าคนแก่มีคุณค่า   เป็นสวัสดิการที่รัฐเองไม่สามารถจัดให้ได้ทั้งหมด ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ จึงเป็นหน้าที่ของคนในชุมชนต้องร่วมกันจัดการ                 

    แล้วเราจะจัดสวัสดิการชุมชนที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนตำบลแพรกหนามแดงได้อย่างไร เป็นคำถามสำคัญที่ทีมนักวิจัยตั้งขึ้นหลังจากพบว่าคุณค่าของสวัสดิการชุมชน มีมากกว่าตัวเงิน และผลประโยชน์ทางตรงที่แต่ละบุคคลจะได้รับ

    สิ่งหนึ่งที่ต้องเร่งรีบทำความเข้าใจคือคำว่าสวัสดิการในความเข้าใจ ของชาวบ้าน รวมไปถึงความคาดหวังของผู้จะได้รับสวัสดิการ คิดว่าแค่เรื่องนี้คงใช้เวลาเถียงกันเป็นเวลานาน เพื่อจะหาความหมาย และทำความเข้าใจให้ตรงกัน เรื่องง่ายๆ ในงานวิจัยแบบชาวบ้าน ชาวบ้านนี้คือก็ไปถามชาวบ้านนั่นแหละ ชวนย้อนอดีตให้เห็นความอยู่ดีมีสุขในอดีต จนบางทีคุยไปคุยมาจนหลงลืมไปว่าตกลงเราต้องการอะไรจากรัฐหรือคนนอก

     การพูดคุยแบบนี้ทำให้ชาวบ้านหลายคนต่างเห็นเรื่องราวในอดีตข้อค้นพบเบื้องต้นแม้จะยังมิได้ขับเคลื่อน โครงการนี้แบบจริงจังก็พบว่า คนแพรกหนามแดงในสมัยก่อน น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ กุ้งปลาชุกชุม ทำนาก็ได้ผลดี อย่างนี้ก็คงไม่ต้องการให้รัฐจัดสวัสดิการอะไรให้ เพราะหากย้อนอดีตของจังหวัดสมุทรสงครามไปเกือบ30 ปีจะพบว่าคนที่นี่ไม่ค่อยพึ่งพาราชการหรือหน่วยงานภายนอก ถึงขนาดเขาว่ากันว่า คนเป็นข้าราชการชอบมาทำงานที่แม่กลองเพราะสบายไม่ค่อยมีเรื่องปวดหัว 

    เมื่อชาวบ้านคุยกันก็จะสร้างความรู้ร่วมกัน สร้างการยอมรับร่วมกัน แล้วค่อยมาช่วยกันคิดช่วยกันหาว่าระบบสวัสดิการที่สอดคล้องกับชุมชนแพรกหนามแดงน่า จะเป็นอย่างไร               

    ถึงแม้ว่างานวิจัยของชาวบ้านที่แพรกหนามแดงยังไม่สามารถตอบคำถามสำคัญ อย่างเป็นรูปธรรมได้แต่สิ่งที่น่าสนใจในกระบวนการเรียนรู้คือกระบวนการใช้ข้อมูล ความรู้ เป็นอำนาจในการตัดสินใจ เป็นอำนาจในการพูดคุยทดแทนอำนาจ เงิน อิทธิพลในระบบอุปถัมภ์ การยอมรับด้วยความรู้ มากกว่าการยอมรับด้วยความกลัวเป็นการจำนนอย่างแล้วใจ ทำให้เกิดกระบวนการคิดที่ต่อยอดและไม่มีวันจบสิ้น จนพัฒนาไปถึงระบบสวัสดิการชุมชนที่ช่วยดูแล คนในชุมชนและช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมและพลังงานของประเทศ           ตัวอย่างชัดเจนในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ ฯ ในปี 2551 ซึ่งจะมีการพิจารณาวาระการเพิ่มประเภทการจัดสวัสดิการช่วยเหลือค่าไฟฟ้ากับสมาชิก ครัวเรือนละ 50 บาท พร้อมทั้งจัดอบรมให้ความรู้การใช้พลังงานอย่างประหยัด แก่สมาชิกอีกทางหนึ่ง รวมไปถึงการผลิตไบโอดีเซลเพื่อลดการใช้น้ำมันในเครื่องจักรการเกษตรของสมาชิก และยังมีแนวโน้มการจัดสวัสดิการในการดูแลรักษาคูคลองอีกด้วย เรียกว่าเป็นการจัดสวัสดิการที่ยังประโยชน์แก่สมาชิกและเอื้อประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน               

    ก็คงไม่ผิดนักหากจะเปรียบชุมชนแพรกหนามแดงว่าเป็นการใช้นโยบายประชานิยม ในระบบอุปถัมภ์ เพราะเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทนระหว่างสมาชิกและกองทุนสวัสดิการของชุมชน สมาชิกได้ประโยชน์มากเท่าไรก็จะช่วยกันดูแลรักษากลุ่มกองทุนสวัสดิการมากขึ้นเท่านั้น เป็นระบบการอุปถัมภ์ช่วยเหลือกันระหว่างคนในชุมชน ที่ใช้เงินเป็นเครื่องมือแล้วกำกับด้วยธรรมมะ คือสัจจะของคน นำไปสู่การพัฒนาระบบความสัมพันธ์ของคนในชุมชนแพรกหนามแดง เป็นระบบสวัสดิการที่มุ่งเน้นการดูแลคน เพื่อให้คนดูแลกัน เผื่อแผ่ไปยังสิ่งแวดล้อม และประเทศชาติ ให้กลับมาดูแลคนอีกที เป็นมิติของ เงิน คน ธรรมะ และธรรมชาติ เป็นประชานิยมที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตมากกว่าการตอบแทนด้วยคะแนนเสียง เพราะความยั่งยืนอยู่ที่ชุมชนจะเกิดการเรียนรู้ในการดูแลตนเอง และเกรงกลัวต่ออำนาจความรู้มากกว่าอำนาจอื่นใด               

    ถึงตรงนี้ผมคงไม่ได้สรุปว่าประชานิยมดีหรือไม่ ผมว่าขึ้นอยู่กับเป้าหมายและความตั้งใจมากกว่าว่า สุดท้ายเราอยากให้ชุมชนเรียนรู้ที่จะพึ่งตนเองด้วยความรู้และภูมิปัญญาของชุมชนเองหรือ กลับไปเป็นชุมชนผู้กระหายอยากได้อยากมีแล้วร้องขอความช่วยเหลือจากผู้มีอำนาจ เพื่อแลกกับคะแนนเสียงอย่างไม่รู้จักจบสิ้นต่อไป

หมายเลขบันทึก: 157990เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2008 20:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 09:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีครับ
  • พิมพ์ติดกัน ดูแน่นไปหน่อย จะพอเคาะแตกเป็นพารากราฟเล็ก ๆ ได้ไหมครับ จะได้อ่านง่ายขึ้นนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท