สภามหาวิทยาลัย : วิธีคิดเชิงรังสรรค์


ความสัมพันธ์ระหว่างสภามหาวิทยาลัยกับฝ่ายบริหาร

 

          หนังสือ Governance as Leadership : Framing the Work of Nonprofit Boards แต่งโดย Richard P. Chait, William P. Ryan, Babara E. Taylor, 2005  เสนอวิธีคิด ๓ แบบในการทำหน้าที่ บอร์ด ขององค์กรไม่ค้ากำไร    คือ (๑) หน้าที่ดูแลทรัพย์สิน (fiduciary)  (๒) หน้าที่เชิงยุทธศาสตร์ (strategic)  และ (๓) หน้าที่เชิงรังสรรค์ (generative) คือทำให้มีการระดมปัญญา การมองการณ์ไกล และความริเริ่มสร้างสรรค์ ที่มีอยู่ภายในองค์กร ออกมาทำงานในโอกาสใหม่ๆ ภายใต้กระบวนทัศน์ใหม่ให้แก่สังคม

          มหาวิทยาลัยที่ทำงานแบบย่ำเท้าอยู่กับสิ่งเดิมๆ วิธีการเดิมๆ กระบวนทัศน์เดิม ถือว่าไม่ได้ ทำหน้าที่อย่างถูกต้อง     มหาวิทยาลัยมีหน้าที่เชื่อมต่อศิลปะวิทยาที่สังคมมีอยู่เดิม กับโอกาสสร้างสรรค์ใหม่ๆ     เป็นผู้สร้างรอยต่อที่เคลื่อนไปเรื่อยๆ ไม่มีวันหยุดนิ่ง     ถ้าหยุดนิ่ง หรือยึดมั่นถือมั่นอยู่กับอดีตโดยไม่แสวงหาลู่ทางและสร้างสรรค์ศิลปะวิทยาใหม่ๆ ถือว่ามหาวิทยาลัยละเลยหน้าที่ของตน

          มหาวิทยาลัยที่สร้างสรรค์ศิลปะวิทยาใหม่ๆ เชื่อมโยงแต่กับสังคมภายนอก ไม่ทำหน้าที่เชื่อมโยงกับสังคมภายใน (ประเทศ/ท้องถิ่น) ถือว่าไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อสังคม/ท้องถิ่นนั้นๆ อย่างถูกต้อง

          สภามหาวิทยาลัยต้องมี “ภาษา” ที่ใช้สำหรับสื่อสารแลกเปลี่ยนความเห็นในการทำหน้าที่เชิงรังสรรค์นี้     ทั้งเพื่อการสื่อสารภายใน (มหาวิทยาลัย) และเพื่อสื่อสารกับภายนอก   

          หน้าที่เชิงรังสรรค์ คือหน้าที่ “โยนลูกบอลล์” (ภาษาของโตโยต้า) หรือโยนหินถามทาง    หรือ “วาดมโนทัศน์” หรือ สร้างความฝันร่วมกัน     ที่ไม่ใช่เป็นการที่สภามหาวิทยาลัยเป็นผู้ฝัน    แต่จัดกระบวนการให้สมาชิกของมหาวิทยาลัยร่วมกันฝัน     ผมคิดว่าเหตุการณ์ตามบันทึก  http://gotoknow.org/blog/council/156155  เป็นตัวอย่างที่ดีในการทำหน้าที่ดังกล่าว      โดยที่การประชุมคราวนั้นริเริ่มโดยฝ่ายบริหาร

          ในการทำหน้าที่ของ บอร์ด หรือสภามหาวิทยาลัย ต้องทำงานใกล้ชิดกับฝ่ายบริหาร     โดยมีความสัมพันธ์ระหว่างสภาฯ กับฝ่ายบริหาร ๔ แบบ จำแนกเป็นตาราง ๒x๒ ตามระดับของ Board (Trustees) Engagement กับระดับของ Executive Engagement ดังนี้

                        อ่านได้ตาม link (click)  

 

ซึ่งสภาพความสัมพันธ์ที่พึงประสงค์คือ ความสัมพันธ์ตามพื้นที่บนขวา (หมายเลข II) - บอร์ดและฝ่ายบริหารร่วมมือกัน     สภาพที่เลวร้ายมากคือพื้นที่ล่างซ้าย (หมายแลข III) – บอร์ดและฝ่ายบริหารต่างก็ไม่ทำงานทั้งคู่    ส่วนสภาพที่ “มีเหมือนไม่มี” คือมีบอร์ดเหมือนไม่มี (ล่างขวา หมายเลข IV)   และสภาพมีฝ่ายบริหารที่ไม่รังสรรค์ (บนซ้าย หมายเลข I)  ต่างก็เป็นสภาพที่ไม่พึงประสงค์

     
           ผมมีความเห็นเพิ่มเติม (และแตกต่าง) จากหนังสือที่อ้างถึงว่า พื้นที่หมายเลข II ซึ่งทั้ง บอร์ด และฝ่ายบริหารต่างก็เอาจริงเอาจังทั้งคู่ แต่ความเห็นไม่ตรงกัน ไม่ลงรอยกันหรือทะเลาะกัน เป็นสภาพที่เลวร้ายที่สุด     ดังนั้นพื้นที่หมายเลข II อาจส่งผลดีที่สุดก็ได้ หรือร้ายที่สุดก็ได้    แล้วแต่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างบอร์ดกับฝ่ายบริหารเป็นไปในทางสร้างสรรค์และร่วมมือกันหรือไม่ 

          สภาพที่พึงประสงค์คือ มีการสนธิพลัง (synergy) ระหว่าง บอร์ด กับฝ่ายบริหาร ในการทำหน้าที่เชิงรังสรรค์

          บอร์ดทำหน้าที่เชิงรังสรรค์ได้ด้วยปัจจัย ๓P  คือ Power, Plurality และ Position

          Power  วิธีคิดและการดำเนินการเชิงรังสรรค์มีพลัง     และบอร์ดก็มีอำนาจในการใช้วิธีคิดและการดำเนินการแนวนี้    ยิ่งใช้วิธีคิดและการดำเนินการแนวนี้มากก็ยิ่งมีอำนาจ
          Plurality   การทำหน้าที่เชิงรังสรรค์ยิ่งมีพลังหากสมาชิกของบอร์ดมีความแตกต่างหลากหลาย    มีมุมมองจากต่างมิติต่างแง่มุม    ในขณะที่ในการทำหน้าที่กำกับด้านการเงินและทรัพย์สินต้องการสมาชิกบอร์ดที่คิดสอดคล้องกัน    การทำหน้าที่เชิงรังสรรค์ต้องการสมาชิกบอร์ดที่คิดแตกต่างกัน
          Position  ตำแหน่งหรือจุดยืนของสมาชิกบอร์ดอยู่ที่ขอบขององค์กร    คือใกล้ชิดพอที่จะรับรู้และเข้าใจเป้าหมาย การดำเนินการ และวัฒนธรรมขององค์กร     แต่ก็ห่างพอที่จะมีมุมมองต่อองค์กรที่กว้าง มองจากระยะห่าง และมองอย่างไม่ยึดมั่น เพราะตนไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวพันด้วยมากนัก    ทำให้สามารถมองเห็นภาพใหญ่ และภาพเคลื่อนไหวได้ดีกว่าฝ่ายบริหาร

 

วิจารณ์ พานิช
๒ ม.ค. ๕๑


 
         

หมายเลขบันทึก: 157872เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2008 11:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:15 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ตามมาอ่านแต่ภาพบอร์ดมันไม่ขึ้นครับ
  • ไม่ทราบว่าโหลดในไฟล์อัลบั้มหรือยังครับ
  • ไปดูแล้วแต่ไม่พบครับ
  • ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท