การเดินทางไกลเมื่อปลายปี 2550 ตอนที่1


ทำให้เราสร้างงานวิจัยที่มีมุมมองที่มีอคติและมายาคติน้อยลง สำคัญที่สุด ไม่ใช่ผู้กระทำ หรือผู้ถูกกระทำ แต่เป็นเพียงบันทึกหน้าหนึ่งของผู้ผ่านทางเท่านั้น และสำคัญอีกอันหนึ่งก็คือ จิตวิจัยของนักวิจัยรุ่นใหม่ ต้องเป็นจิตอาสา จิตเมตตา ไม่มีมายาคติทางวิชาการและไร้ซึ่งอคติ มองตนเองและผู้อื่นเป็นคนอย่างเท่าเทียม

การเดินทางไกลเมื่อปลายปี 2550 ตอนที่1

อิศรา ประชาไท

บทนำ

          อยากจะเขียนหลายเรื่องหลายราวให้คนรอบข้างได้รับรู้ เหมือนประหนึ่งว่าการบันทึกผ่านทางของตัวเรา อาจจะมีประโยชน์และคุณค่าให้คนอื่น ๆบ้าง อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการหวนคืนสู่อดีตที่ควรจดจำและไม่จดจำ แต่ดูประหนึ่งว่า อารมณ์ยังเป็นเครื่องกำหนดอะไรในตัวเราหลายอย่าง ทำให้เมื่ออยากจะเขียนอยากจะทำ แต่ภาวะวิสัยไม่เป็นใจ เลยไม่ได้เขียนไม่ได้ทำ แต่ครั้นความพร้อมทุกอย่างมี แต่อัตวิสัยกลับเมินเฉย ความอยากหายไปความเกียจคร้านเบื่อหน่ายเข้ามา  เรื่องบางเรื่องจึงเก็บอยุ่ในก้นบึ้งรอวันหายไปกับตนเอง และก็สาปสูญในที่สุดพร้อมกับอายุขัยของคน พอคิดขึ้นมาได้ก็ทำให้ห่วงหาขึ้นมาอีก และก็เกิดภาวะเช่นกาลก่อน ปุถุชนเป็นเช่นนี้เอง ผมก็คงไม่หนีไม่พ้นเช่นกัน

        วันนี้จึงหยิบกระดาษในโลกไซเบอร์ขึ้นมา หลายเดือนแล้วไม่มีอะไรก่อให้เกิดความเจริญทางปัญญาให้แก่ตนเอง การเขียนก่อให้เกิดกระบวนการคิด การออกกำลังมือ การออกกำลังสมอง ก่อให้เกิดจินตนาการ การกลั่นความคิดเป็นวัจนภาษา สมองมนุษย์ สติปัญญาช่างเป็นผลผลิตสุดมหัศจรรย์ยิ่ง ปราชญ์หลายท่านจึงบอกว่า ฉันคิด ฉันจึงมีอยู่ อะไรทำนองแบบนี้ หรือ คนไม่คิดคือคนที่ตายแล้ว สำหรับผมการได้คิด ก่อให้เกิดจินตนาการ เกิดพลังและเกิดการสร้างสรรค์มากกว่าการทำลายล้าง เป็นสองด้านเสมอสำหรับเรา

สองผู้นำ นักวิจัยไทย-ญี่ปุ่น รศ.ดร.สมศักดิ์ ศรีสันติสุข และ ศ.ดร.โนริยูกิ ซูซูกิ ผู้ทำให้เกิดเครือข่ายนักวิจัยไทย-ญี่ปุ่น

        ช่วงท้ายปี 2007 หรือ 2550 เมื่อต้นเดือนธันวาคม ผมมีโอกาสได้ไปนำเสนองานวิจัยชิ้นเล็ก ๆ ชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับผ้าไหมที่มหาวิทยาลัยริวกิว โอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น โดยความอนุเคราะห์ทุนวิจัยจาก JSPS ประเทศญี่ปุ่นร่วมกับนักวิจัยไทยที่มีชื่อเสียงหลายท่านร่วม 6 คน คือ  รศ.ดร.สมศักดิ์ ศรีสันติสุข นักวิจัยที่มีชื่อเสียงทางด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร.ประจญ กิ่งมิ่งแฮ จากสถาบันการพลศึกษาอุดรธานี ผศ.ดร.อนุชา นิลประพันธ์ และ   ผศ.ดร.สุขุมวิท ไสยโสภณ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นและ ผศ.ดร.ไชยยงค์ ขามรัตน์และผมจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม การเสนองานวิจัยครั้งนี้ภายใต้ชื่อของ การสัมนานานาชาติ หัวข้อ การศึกษาประชาคมอันเป็นพื้นฐานในขบวนการเกิดประชาสังคมกับการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือประเทศไทย โดยมีศาสตราจารย์ ดร.โนริยูกิ ซูซูกิ ผู้อำนวยการสถาบันเอเซียศึกษา มหาวิทยาลัยริวกิว เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย พร้อมกันนั้นก็มีนักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่สนใจเกี่ยวกับประเทศไทยและนักศึกษาไทยที่ศึกษาอยู่ในญี่ปุ่นได้นำเสนอผลงานวิจัยในครั้งนี้ด้วย โดยเหนือหาส่วนใหญ่ของงานวิจัยทั้งหมด จะเกี่ยวข้องกับ การศึกษา ประชาสังคม ในบริบทต่าง ๆ  ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งแต่ละหัวเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่งซึ่งผมจะนำเสนอในคราวต่อ ๆ ไป อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจในการวิจัยด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาร่วมถึงการศึกษาค้นคว้าและศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่นและร่วมถึงการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันของนักวิชาการไทยและนักวิชาการญี่ปุ่นแบบเท่าเทียมและพอเพียง

ส่วนหนึ่งของนักศึกษาไทยในญี่ปุ่นและนักวิจัยไทยเข้าร่วมสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ 8-9 ธันวาคม 2007 ณ สถาบันเอเซียศึกษา มหาวิทยาลัยริวกิว โอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น

       หัวหน้าทีมวิจัยครั้งนี้คือ ศาสตราจารย์ ดร.โนริยูกิ ซูซูกิ ซึ่งต่อไปผมขอเรียกท่านว่าอาจารย์ซูซูกิ ถือเป็นผู้เปิดโลกทัศน์การเรียนรู้โดยใช้เครือข่ายสร้างแบบนี้ร่วมกันมาไม่น้อยกว่า 20 ปี ท่านมีทีมวิจัยที่เป็นทั้งเพื่อน เสี่ยว ลูกศิษย์ทั้งไทยและญี่ปุ่นมากมาย ในมหาวิทยาลัยไทยและญี่ปุ่น ท่านเข้ามาศึกษาวิจัยครั้งแรกที่ภาคอีสาน และมีความซาบซึ้งในวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนอีสานอย่างยิ่ง จนอาจเรียกได้ว่า ชีวิตครึ่งหนึ่งของท่าน เป็นคนไทยอีสานไปแล้ว  อาจารย์กินข้าวเหนียว กินก้อย ลาบ น้ำตก ฟังหมอลำ ฟังผะหยารู้เรื่อง เข้าใจในวิถีชีวิตคนอีสานโดยไม่เคยดูถูกดูแคลน งานวิจัยของอาจารย์เกือบ สามในสี่ จึงเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคนไทยในอีสาน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับ ประชาสังคม ผมมีโอกาสได้เรียนรู้และเป็นเครือข่ายทางวิจัยและเป็นลูกศิษย์โดยการแนะนำของ ศาสตราจารย์ ดร.ซากุไร โยชิฮิเดะ แห่งมหาวิทยาลัยฮอกไกโด เมื่อได้เป็นผู้ช่วยวิจัยของ ศ.ดร.ซากุไร และเมื่อ ศ.ดร.ซูซูกิและเมื่อ ศ.ดร.ซากุไร ได้ทำโครงการวิจัยร่วมกัน โดยมีท่านอาจารย์รศ.ดร.สมศักดิ์ ศรีสันติสุข เป็นหัวหน้านักวิจัยฝ่ายไทยผมจึงได้รับเกียรติให้ร่วมทีมวิจัยครั้งนี้ด้วย ซึ่งถือเป็นความโชคดีของผมในฐานะนักวิจัยหน้าใหม่ ที่ได้ร่วมศึกษาเรียนรู้กับนักวิจัยญี่ปุ่นผู้ไม่หวงความรู้ และเก็บกำวิธีวิจัยจากท่านอาจารย์ รศ.ดร.สมศักดิ์ ศรีสันติสุข ผู้ที่ผมอยากจะเรียกท่านว่า  เจ้าสำนักสังคมวิทยาท้องถิ่นอีสาน                                                                                         

หอสมุดมหาวิทยาลัยริวกิว มหาวิทยาลัยของรัฐแห่งเดียวใน จังหวัดโอกินาวา ซึ่งแต่เดิมโอกินาวาเป็นที่ตั้งของอาณาจักรริวกิว ซึ่งอาณาจักรโบราณที่มีความสัมพันธ์กับไทยสมัยอยุทธยา

ซึ่งสร้างลูกศิษย์ออกมามีชื่อเสียงมากมายในบรรณวิจัยของไทยในสายสังคมวิทยา มานุษยวิทยาและวัฒนธรรมชุมชน อย่างมากมาย การที่ผมได้ร่วมงานกับท่านเหล่านี้ร่วมถึงทีมวิจัยทั้งไทยและญี่ปุ่นจึงเป็นการเปิดโลกทัศน์ทางวิจัยให้รอบด้านมากขึ้นและลดอคติทางวิชาการและมายาคติได้มากขึ้น ทำให้เราสร้างงานวิจัยที่มีมุมมองที่มีอคติและมายาคติน้อยลง สำคัญที่สุด ไม่ใช่ผู้กระทำ หรือผู้ถูกกระทำ แต่เป็นเพียงบันทึกหน้าหนึ่งของผู้ผ่านทางเท่านั้น และสำคัญอีกอันหนึ่งก็คือ จิตวิจัยของนักวิจัยรุ่นใหม่ ต้องเป็นจิตอาสา จิตเมตตา ไม่มีมายาคติทางวิชาการและไร้ซึ่งอคติ มองตนเองและผู้อื่นเป็นคนอย่างเท่าเทียม

"คันบ่ ออกจากบ้าน บ่เห็นด่านแดนไกล คันบ่ไปหาเฮียนกะบ่มีควมฮู้"
       ผมเป็นคนที่ชะตาชีวิตถูกกำหนดให้เป็นคนไม่ติดบ้าน มักจะได้ออกเดินทางตลอด ไม่เคยอยู่บ้านนาน ๆ ตั้งแต่เด็กแล้ว เรียนหนังสือที่บ้านเกิด มหาสารคาม ก็เพียงแค่ 4 ปี แล้วก็จับผลัดจับพลู ต้องมาเรียนชั้นประถม 5 ที่นครปฐม และกลายเป็นนักเรียนประจำตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนครบ ม.ศ. 5 รวม 8 ปี สอบเอ็นทรานซ์ได้ที่ประสานมิตรก็ห่างบ้านอีก 4 ปี รับราชการเป็นครูหรืออาจารย์ครั้งแรกที่ วิทยาลัยพลศึกษาศรีสะเกษ อีก 5 ปีกลับมารับราชการที่วิทยาลัยพลศึกษามหาสารคาม อีก 5 ปี สอบเข้าเป็นนักวิจัยที่ มศว.มหาสารคาม ได้ แต่โอนมาไม่ได้ ก็ต้องลาออก และบรรจุกลับเป็นนักวิจัย เป็นนักวิจัยอีก 15 ปี จึงกลับมาเป็นอาจารย์อีกครั้ง ชีวิตในวงราชการจึงมีทั้งรักทั้งชังทั้งหวานและขมขื่นแต่ก็ไม่คิดว่าเป็นความเลวร้ายแต่อย่างใด รู้แต่เพียงว่า นี่คือเส้นทางการเดินช่วงหนึ่งของชีวิต ซึ่งไม่ได้ยาวไกลเลย ห่างเทียบกับการเดินทางของโลกรอบดวงอาทิตย์ที่ยังดำเนินไปไม่เคยหยุดสักวัน ครั้นพอมาอยู่บ้านเกิดก็ได้พักอยู่ที่บ้านของตัวเองไม่ถึงปีก็ต้องเดินทางไปพักกับภรรยาที่บ้านพักครูที่โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ร้อยเอ็ด ตั้งแต่ปี 2541 ถึงวันนี้ทำลืม ๆ ไม่นึกถึง ปาไป10 ปีพอดี แต่ก็เป็นสิบปีที่คุ้มค่า เพราะได้ไปทำในสิ่งที่เรียกว่า จิตอาสา ไม่มีค่าจ้างไม่มีเงินเดือน สำนึกแต่เพียงว่า อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดายปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น ทำในสิ่งที่เป็นประสบการณ์ในโรงเรียนประจำ เคยสอนสั่งรุ่นน้อง เคยเป็นฟรีเฟ็กซ์ และเป็นเฮดฟรีเฟ็กซ์ มาในอดีตก็นำประสบการณ์มามอบให้ รุ่นลูกรุ่นหลาน ฝึกฝนให้รู้จักกีฬา ที่เรียกว่า รักบี้ฟุตบอล จนกลายเป็นที่ชื่นชอบของเด็ก ๆ เล่นทั้งโรงเรียน ทั้งนักเรียนชายและนักเรียนหญิงและมีชื่อเสียงมาจนถึงวันนี้
             เห็นแล้วก็ชื่นใจว่า เออเราทำได้อย่างไร จิตอาสา จิตเมตตา มันมีอยู่จริง และหากมีทุกคนน้อยบ้างมากบ้างไม่เป็นไร ขอให้มี โลกจะน่าอยู่กว่านี้เยอะ  ในขณะที่ดำเนินชีวิตไป งานประจำก็ต้องทำ การมีโอกาสได้เป็นนักวิจัยและครู อาจารย์ ทำให้ผมก็ต้องเดินทางตลอด เป็นประจำโดยมีภารกิจการเดินทางหลายนัย  โดยเฉพาะ การเดินทางเพื่อไปค้นคว้าวิจัย เสนองานวิจัย ทั้งเป็นการเดินทางในจังหวัด ต่างจังหวัดและต่างประเทศ การเดินทางไปในฐานะหัวหน้าผู้ฝึกสอน เพื่อพาทีมไปแข่งขันกีฬารักบี้ฟุตบอลทั้งในประเทศและต่างประเทศ การเดินทางพานิสิตออกภาคสนามทั้งในและต่างประเทศ และสุดท้ายก็คือการเดินทางกับครอบครัวเล็ก ๆ ของผม  ชีวิตของผม งานของผมจึงผูกพันยิ่งกับการเดินทางและคงเป็นอย่างงี้อีกยาวนาน ถามว่าชอบไหม ก็ต้องบอกว่า มันเป็นชีวิตที่มีค่ายิ่งเพราะมีผะหยาของ คนไท-ลาว บอกว่า "คันบ่ ออกจากบ้าน บ่เห็นด่านแดนไกล คันบ่ไปหาเฮียนกะบ่มีควมฮู้" ดังนั้นวิถีคนอีสานก็ต้องก้าวออกจากบ้าน จึงจะพบความหมายของชีวิต จึงไม่แปลกหรอกที่เห็น คนอีสาน มีทุกหนแห่ง ในประเทศไทย

จบตอนที่ 1

หมายเลขบันทึก: 157506เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2008 02:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • เข้ามาอ่านแล้วครับ
  • สวัสดีปีใหม่ครับอาจารย์
  • จะตามมาอ่านอีก
  • ปีนี้กำลังเก็บเงินไปเรียนการทอผ้าที่ญี่ปุ่นหลักสูตรสั้น ๆ ครับ อย่างไรน่าจะได้ขอข้อมูลเรื่องการเรียนทอผ้าที่ันั้น ขอบพระคุณล่วงหน้าครับ

สวัสดีค่ะ ท่านอาจารย์

มาเยี่ยมและติดตามอ่านบันทึก  และเก็บเกี่ยวความรู้ค่ะ

เรียน อาจารย์ค่ะ

เพิ่งมีโอกาสเข้ามาอ่านบทความของอาจารย์ค่ะ สืบเนื่องมาจากมีสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งให้จัดการศึกษาดูงานให้ที่มหาวิทยาลัยแห่งริวกิว โอกินาว่า จึงเข้ามาหาความรู้ เกี่ยวกับสถาบันแห่งนี้ ขอบคุณมากค่ะ สำหรับความรู้ที่ได้รับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท