ก่อนถึงยุคองค์กรการเงินชุมชน (2): ตลาดสินเชื่อชนบทกับดอกเบี้ย


ปัจจัยใดกันแน่ที่ทำให้ดอกเบี้ยสินเชื่อนอกระบบในชนบทมีอัตราสูง

บทความนี้ เป็นมุมมองเชิงวิชาการ    แต่หวังว่าจะช่วยเสริมวิธีคิด  มุมมองของนักปฏิบัติ (ถ้าไม่รีบปิดเครื่องรับปฏิเสธ นักวิชาการ เสียก่อน)   ผู้เขียนในฐานะคนใกล้ภาคทฤษฎีมากกว่าภาคปฏิบัติ ก็อยากฟังเสียงสะท้อนของผู้ปฏิบัติที่ผู้เขียนเองยกให้เป็น ครู  ด้วยความเคารพเสมอ

  

ก่อนจะวิเคราะห์บทบาทของรัฐ   น่าจะเข้าใจธรรมชาติของ  ตลาดสินเชื่อชนบท เสียก่อน   (โดยยังไม่มีการแทรกแซงของรัฐ  ยังไม่มีการรวมกลุ่มออมทรัพย์)

 

 

 ตลาดสินเชื่อชนบท 

 

ตำราฝรั่งบอกว่า  ระบบสินเชื่อเข้ามาสู่ประเทศกำลังพัฒนาในสมัยอาณานิคม  พร้อมๆกับการขยายบทบาทของ เงินตรา  ตลาดสินเชื่อเกิดขึ้นโดยธรรมชาติระหว่างผู้ต้องการเงินตราแต่ไม่มีเงินกับผู้มีเงินพอให้คนอื่นหยิบยืม    ก่อนรัฐเข้ามาแทรกแซง    ตลาดสินเชื่อในชนบทส่วนใหญ่เป็นตลาดนอกระบบที่เกิดขึ้นระหว่างญาติพี่น้อง หรือพ่อค้านายทุนที่ติดต่อกับชาวบ้าน   จึงเป็นตลาดที่ทำงานได้บนฐานความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล 

     

เป็นที่เชื่อกันว่าสินเชื่อชนบทมีอัตราดอกเบี้ยสูงเพราะ การขูดรีดของพ่อค้านายทุน    การขูดรีดจะเกิดขึ้นได้เพราะมีอำนาจในการผูกขาดอยู่บางระดับ   การผูกขาดเกิดขึ้นได้เพราะมีความหายาก    เพื่อลดการผูกขาดและหายาก  รัฐก็ต้องเข้ามาปล่อยสินเชื่อแข่งกับนายทุนหรือเพิ่มแหล่งเงินกู้ทางเลือกให้กับชาวบ้าน    ปี 2512  รัฐจึงตั้ง ธกส. และออกพระราชบัญญัติกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องสำรองเงินฝาก 14% ไว้สำหรับเป็นสินเชื่อชนบท  (ถ้าไม่กำหนดแบบนี้  ก็ไม่มีธนาคารพาณิชย์อยากให้ชนบทกู้)  

  

ที่ว่าดอกเบี้ยชนบทแพงเพราะการขูดรีดและหายากนั้น หลักฐานจากการศึกษาเชิงประจักษ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในประเทศไทยและในหลายประเทศนั้นกลับไม่ยืนยันข้อสรุปนี้     แต่มองว่ามีปัจจัยอื่นๆที่สำคัญกว่าที่ทำให้ดอกเบี้ยในชนบทมีอัตราสูง (และรัฐควรไปแก้ตรงนั้นมากกว่า)

  

ดอกเบี้ย

 

 

โดยปกติ  ตลาดสินเชื่อเกี่ยวข้องกับ การบริโภคข้ามเวลา  หมายถึง  คนออมและผู้ให้กู้เป็นผู้สละการบริโภคในปัจจุบันเพื่อจะบริโภคในอนาคต   คนกู้เป็นคนที่ยืมเงินในอนาคตมาบริโภค  กู้ตอนนี้จึงต้องสละการบริโภคในอนาคตลงบางส่วน      หรือไม่เช่นนั้น  หากไม่อยากสละการบริโภคในอนาคต  ก็ต้องกู้เพื่อไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนในอนาคตมากพอที่จะคืนเงินที่กู้มา      ด้วยเหตุนี้  การออม การให้กู้  การกู้จึงเป็นเรื่องที่มีต้นทุน  ไม่ว่าจะเป็นการเสียสละการบริโภคในปัจจุบัน  หรือการเสียสละในการบริโภคในอนาคต หรือ ยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุน 

     

ดอกเบี้ย คือ ราคาของเงินที่สะท้อนต้นทุนเหล่านี้บวกต้นทุนการบริหารจัดการบวกกำไร(ถ้ามี)ของผู้ให้กู้      การกู้ยืมที่มีเหตุมีผลจึงเป็นเรื่องที่ต้องมีข้อมูล มีวินัยและมีการวางแผนทั้งในเรื่องการใช้จ่ายในปัจจุบัน ในอนาคต หรือวางแผนการลงทุน

 

 

ปัจจัยที่กำหนด อัตราดอกเบี้ย

 

 

มี 4  ประการคือ   ต้นทุนการบริหารจัดการสินเชื่อ    ค่าเสียโอกาสของเงิน (ทางเลือกอื่นๆของการนำเงินไปใช้ไปลงทุน)   ความเสี่ยงที่จะได้เงินคืน    และ ความหายากของเงิน

 

 

ลองมาค่อยๆดูทีละประเด็นว่า  ปัจจัยใดกันแน่ที่ทำให้ดอกเบี้ยสินเชื่อนอกระบบในชนบทมีอัตราสูง   

    

จากนั้น อยากให้ลองวิเคราะห์ดูว่า   มาตรการของรัฐแบบตั้ง ธกส.  แบบออก พรบ.บังคับธนาคารพาณิชย์  แบบตั้งกองทุนหมู่บ้าน  หรือ วิธีการของกลุ่มองค์กรการเงินชุมชน  ใช้จุดอ่อนจุดแข็ง และแก้โจทย์ 4 ข้อนี้ตรงไหนบ้าง    มาตรการหรือวิธีการเหล่านี้สร้างผลข้างเคียงอื่นๆอะไรบ้าง   ลองพิจารณาดูนะคะ

  

(ยังมีต่อ)

 
หมายเลขบันทึก: 157157เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2008 11:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 10:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท