ก่อนถึงยุคองค์กรการเงินชุมชน (1): บทบาทของสินเชื่อในมุมเศรษฐศาสตร์


โดยลักษณะเหล่านี้ สินเชื่อที่เป็นเรื่องของการกู้ยืมเพื่อการผลิต (หรือแม้แต่เพื่อการบริโภค) จึงเข้าข่ายของมาตรการที่มีผลต่อสวัสดิการของคนในชุมชนโดยตรง ทั้งยังน่าจะเป็น “สวัสดิการพื้นฐาน” ด้วย คือเรื่องของอาชีพและความมั่นคงทางปากท้องของผู้คนที่ต้องกินต้องอยู่

บทความนี้ ตั้งใจจะเล่าให้ฟังว่า เศรษฐศาสตร์กระแสหลักมองเรื่องสินเชื่อในชนบทอย่างไร  โดยตัวละครหลักคือ ปัจเจกบุคคลในระบบตลาด (เช่น เกษตรกร พ่อค้า) กับ รัฐ  เรื่องชุมชนนั้น ค่อยเข้ามาสู่ระบบการวิเคราะห์ในช่วงหลังๆ  (คิดว่าต้องเขียนหลายตอน  แต่คงเขียนตามความสะดวกของผู้เขียนเอง)

*************

มุมมองในทางเศรษฐศาสตร์จะมองภาคเกษตรเป็นภาคการผลิตที่เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจแบบตลาด  สินเชื่อมีความสำคัญต่อภาคเกษตรและชนบทด้วยเหตุผลสามประการ คือ  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต  เพื่อลดความเสี่ยงด้านรายได้  และเพื่อลดปัญหาการกระจายรายได้

 

 สินเชื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต  เพราะสินเชื่อทำให้ชาวบ้านมีเงินเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต   เพื่อลงทุนในการผลิตและการตลาด จึงช่วยลดข้อจำกัดจากการขาดแคลนปัจจัยการผลิตบางอย่าง   สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการตลาดของตนได้

 

         ความเสี่ยงเป็นลักษณะสำคัญของการผลิตโดยเฉพาะในพื้นที่การเกษตร  ความเสี่ยงจากการผลิตมีผลต่อความผันผวนของปริมาณผลผลิตและราคา   ซึ่งส่งผลต่อความแปรปรวนของรายได้   ในปีที่ราคาตกต่ำเพราะผลผลิตมากทำให้รายรับไม่พอกับรายจ่าย  หรือในปีที่ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เช่นประสบภัยพิบัติ  เกษตรกรก็สามารถกู้ยืมเงินมาใช้จ่าย  เพื่อลดปัญหาจากความผันผวนของรายได้แล้วค่อยชำระคืนในปีที่ผลผลิตดีและมีรายได้เพียงพอหรือมีรายได้ส่วนเกิน

 

ด้านการกระจายรายได้    ถ้าไม่มีสินเชื่อ   เฉพาะเกษตรกรมีฐานะจึงจะทำการผลิต (เพื่อขาย) ได้  เนื่องจากการมีสินเชื่อที่ช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงปัจจัยการผลิต และการลดความเสี่ยงจากความผันผวนของรายได้   จึงเป็นการบรรเทาปัญหาการกระจายรายได้อีกด้วย

 

          โดยลักษณะเหล่านี้   สินเชื่อที่เป็นเรื่องของการกู้ยืมเพื่อการผลิต (หรือแม้แต่เพื่อการบริโภค)  จึงเข้าข่ายของมาตรการที่มีผลต่อสวัสดิการของคนในชุมชนโดยตรง  ทั้งยังน่าจะเป็นสวัสดิการพื้นฐานด้วย  คือเรื่องของอาชีพและความมั่นคงทางปากท้องของผู้คนที่ต้องกินต้องอยู่     การกู้ยืมเงินจึงจำเป็นสำหรับภาคชนบทที่มีการผลิตและการบริโภคผ่านระบบตลาด

          เศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ต่อไปว่า  ตลาดสินเชื่อในชนบทเองมีปัญหาซึ่งสัมพันธ์กับลักษณะการผลิตในภาคเกษตร  ด้วยเหตุนี้รัฐจึงเข้ามาแก้ไข (แทรกแซง)    ปัญหาคือ รัฐตั้งโจทย์ผิดมองสาเหตุของปัญหาไม่ค่อยตรงจุดนัก    การแทรกแซงของรัฐจึงไปสร้างปัญหาอีกอย่างหนึ่ง   

คราวหน้าจะบอกว่า ตลาดสินเชื่อในชนบทมีปัญหาอย่างไรในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์

(ยังมีต่อ)

หมายเลขบันทึก: 157048เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2008 18:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 08:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีคะ อาจารย์ปัทมาวดี

ความสัมพันธ์ของ สินเชื่อ กับสวัสดิการในชนบท กับโจทย์ที่รัฐมองพลาดจนสร้างปัญหา...

รออ่านตอนต่อไปคะ

---^.^---

  • น่าสนใจมากครับอาจารย์จะตามติด
  • มีหลายประเด็นที่อยากแลกเปลี่ยนครับ เช่น ระบบที่สินเชื่อเพื่อการเกษตรในภาคปฏิบัติจริงๆนั้นมีความหลายหลายมาก ทั้งในแง่หลักการให้สินเชื่อ จำนวนเงิน กระบวนการพิจารณา การควบคุมการใช้สินเชื่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์การกู้ยืม  การติดตามการใช้ประโยชน์ ฯลฯ
  • สาเหตุหลักของความล้มเหลวระบบสินเขื่อในภาคเกษตรในชนบท มีประเด็นที่สำคัญๆหลายประเด็น และสร้างปัญหาใหญ่ในปัจจุบันของระบบกองทุนเงินล้าน ท่านอาจารย์คงทราบดีนะครับว่านี่คือระเบอดลูกใหญ่ที่รอรัฐบาลใหม่มาแก้ หากไม่เช่นนั้นการเดินขบวนครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นอีก เพราะนโยบายประชานิยทที่ดี หลักการดี แต่กระบวนการที่จะให้เงินกู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้นไม่มี หรือล้มเหลว
  • หากปล่อยให้ภาวะหนี้สินอันเกิดจากระบบสินเชื่อเป็นไปเช่นนี้ จะส่งผลกระทบมากมายเป็นลูกคลื่นที่ผมเห็นก็คือ

                - กระทบต่อการศึกษาของลูกหลานชาวชนบท เขาเรียนได้ไม่เต็มที่เพราะพ่อแม่ไม่มีเงินส่งเรียน  หลายคนลูกกำลังเรียนในระดับอุดมศึกษา 

               - กระทบต่อหลักการเศรษฐกิจพอเพียง ที่รัฐไปโฆษณา ประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านอย่างนั้นอย่างนี้ มันไม่ได้ เขาเป็นหนี้ก็ต้องไปทำงานหาเงินมาใช้หนี้ หรือหนักเข้าไปอีกคือ กู้ ก. ไปคืน ข. แล้วก็วนกันอย่างนี้ ท่านอาจารย์ทราบเรื่องนี้ดีนะครับ

              - กระทบต่อระบบกลุ่ม  องค์กรในชุมชน หลักการกลุ่มมีอย่างไร คณะกรรมการบ้าง สมาชิกบ้าง มุ่งแต่จะแก้ปัญหาหนี้สินที่มาก การดำเนินชีวิตต่อระบบกลุ่มจึงไม่ราบรื่นและจะสร้างให้กลุ่มเข้มแข็งก็ยากมาก

              - กระทบต่อระบบความสัมพันธ์ในครอบครัว พ่อบ้านจากแม่บ้าน จากลูกเล็กๆเพื่อไปหางานทำเงิน...     

             - กระทบต่อระบบทุนทางสังคมเดิมที่มีวัฒนธรรมประเพณี เป็นเครื่องร้อยรัด สะสมทุนทางสังคมทีละเล็กละน้อยฝังอยู่ในจิตใจคนชนบท  แต่ไม่มีแล้ว เพราะต่างคนมุ่งหาทางทำงานหาเงิน การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมน้อยลงมากๆ มากๆ  ส่วนนี้ผมว่าร้ายที่สุด ส่งผลทั้งทางตรงและอ้อม เมื่อสังคมชุมชนมีทุนทางสังคมบกพร่อง นานเข้าลัทธิปัจเจกนิยมก็ก้าวเข้ามาแทนที่ ความสัมพันธ์ระหว่างสายตระกูลยังคลอนแคลน ระบบเจ้าโคตรที่เคยทรงคุณค่าก็จางหายไปหมดสิ้น  คนไม่เหลืออะไรเป็นรากเป็นแก่นแก่ชีวิต

             ระบบการผลิตแบบตลาดนี้ ผมก็กระโดดเข้ามาจับได้ 2 ปี ก็หนักหนามากจริงๆ ขนาดเรามีเครื่องมือมากมายจะใช้เพื่อการขับเคลื่อนกิจกรรมการผลิตให้พอไปได้  เมื่อเราห่างออกมาแล้วชาวชนบทที่มีจุดอ่อนในเรื่องความสามารถในด้านการตลาดก็เป็นเบี้ยล่างตลอดกาล  แม้หน่วยงานที่ไม่น่าเอาเปรียบชาวบ้านเลย ก็ยังเอาเปรียบชาวบ้าน เอาตัวเองรอดไว้ก่อน ทิ้งภาระให้ชาวบ้าน  สงสารเขาจริงๆ

      อย่างไรก็ตามหลักการทางวิชาการก็ต้องเรียนรู้ครับ แต่ต้องเอาไปดัดแปลงให้สอดคล้องกับสภาพจริงของคน และสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมต่างๆในชนบทนั้นๆ

       งานชิ้นนั้นผมทำ Risk Management Analysis แต่ก็ไม่สามารถผลักดันให้กระบวนการอุดช่องว่าง ช่องความเสี่ยงลดลงได้มากเท่าที่ควรจะเป็น มันก็เลยเกิดความรู้สึกว่า รู้ทั้งรู้ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ นักธุรกิจเกษตรเขามีความคล่องตัวและพร้อมต่อการเสี่ยงมากกว่า และสร้างเงื่อนไขลดความเสี่ยงโดยโยนมาให้ชาวบ้าน  ชาวบ้านจะไปรู้เรื่องอะไรครับ เขาว่าอะไรมาก็ทำตามเขาทั้งสิ้น ...

ผมจะตามงานของอาจารย์ครับ น่าสนใจมากครับ

สวัสดีค่ะคุณ wwibul และคุณพิมพ์ดีด

หวังว่าบันทึกคงจะเป็นประโยชน์บ้าง   คิดเห็นอย่างไรเล่าให้ฟังด้วยนะคะ

สวัสดีปีใหม่ค่ะ คุณบางทราย

ขอบคุณที่แลกเปลี่ยนด้วยข้อเท็จจริงซึ่งเป็นประโยชน์มากค่ะ   คุณบางทรายได้ช่วยตอบโจทย์บางประเด็นที่กำลังจะตั้งคำถามในบันทึกฉบับต่อไปพอดีเลยค่ะ

ประเด็นเชิงทฤษฎีต้องการการทดสอบหรือการยืนยันจากภาคปฎิบัติมากเลยค่ะ    เพื่อปรับกรอบคิดและมุมมองให้ถูกต้อง    ก่อนที่จะนำไปสู่ข้อเสนออื่นๆ  

ทฤษฎีช่วยให้การคิดเป็นระบบ แต่ต้องไม่ติดกรอบมากนัก   บางทีนักวิชาการที่มองเชิงทฤษฎีแล้วเสนอแนะโน่นนี่ก็ผิดพลาดและเป็นวิธีการแบบ Top-down เหมือนกันนะคะ   ตรงนี้คือสิ่งที่ตัวเองต้องระวังมากๆ 

สวัสดีค่ะทุกท่าน

ขอบคุณสำหรับทุกความรู้ที่มีให้มา แต่หนูอย่างทราบถึง ความสำคัญของปัญหาที่ทำให้เกิดสินเชื่อ หน่อยค่ะ อยากทราบว่าทำไมถึงจะต้องสินเชื่อเกิดขึ้น ของความกรุณาช่วยตอบขอสงสัยหน่อยนะค่ะ

ขอบพระคุณอย่างมากค่ะ

ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

สวัสดีค่ะคุณกระต่ายน้อย

สินเชื่อเกิดเพราะความต้องการในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับเงินทุนที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ต้องการเงินไว้ใช้จ่าย ไว้ลงทุน แต่ไม่มีเงิน ก็ต้อง "ยืมเงิน" เงินที่กู้หรือยืมมานั้นเป็น "สินเชื่อ" ค่ะ เงินกู้ต้องจ่ายดอกเบี้ย เงินยืมไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ยเป็นศูนย์ค่ะ

ในสมัยโบราณที่ระบบเงินตรายังไม่เข้มแข็ง ก็มีการ "ยืมของ" มาก่อน แล้วค่อยใช้คืนเป็นสิ่งนั้นหรือสิ่งอื่น (เช่น ตอบแทนบุญคุณ)

ปัทมาวดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท