พัฒนาไปพัฒนามา เหลือตารางวาละ 15 บาท


อยากรู้ว่าชาวระโนดที่ได้ดิบได้ดีอยู่ที่อื่นจะรู้สึกอย่างไรกับวันนี้ของระโนด...วันที่ราคาที่ดิน 1 ตารางวายังซื้อข้าวกินสักมื้อไม่ได้เลย......

ดูข่าวโทรทัศน์  รายงานราคาประเมินของที่ดินที่สูงที่สุดของภาคใต้อยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา  ราคาตารางวาละ 400,000 บาท   ส่วนราคาประเมินที่ดินต่ำที่สุดของภาคใต้ ก็อยู่ในจังหวัดเดียวกันคือ ที่อำเภอระโนด บ้านเกิดของเราเอง  อยู่ที่ตารางวาละ 15 บาท

หลับตานึกถึงภาพพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาที่อุดมสมบูรณ์ในอดีต  จำได้ว่าได้ทานอาหารทะเลสดๆ  กุ้งตัวเท่าข้อมือ  ในพื้นราบมีทุ่งนากว้างขวาง  หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในจังหวัดใกล้เคียง  ต้นตาลเป็นทิวแถว  ที่ริมคลองออกสู่ทะเลสาบมีป่าลำพูเขียวขจี    โรงสีขนาดเล็กขนาดกลางหลายโรงเรียงรายริมลำคลองกว้าง  ท่าเรือคึกคักด้วยเรือเมล์วิ่งเข้าออกขนส่งผู้คน พ่อค้าแม่ค้า สินค้า ระหว่าง ระโนด พัทลุง สงขลา ปากพนัง หัวไทร  ชาวบ้านเป็นเชื้อสายจีนบ้าง ไทยบ้าง ลูกผสมบ้าง

ชาวระโนด "อวดศักดา" กันด้วยการประดับรูปถ่ายของลูกหลานที่ได้ไปร่ำเรียนกันมาสูงๆ อยู่เต็มฝาผนังบ้าน  ชาวระโนดลงทุนเรื่องการศึกษาอย่างมาก   พระเถระชั้นผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯปัจจุบันหลายรูปเป็นชาวระโนด   เป็นที่พึ่งพิงของลูกหลานระโนดหลายคนที่มาเรียนในกรุงเทพฯโดยอาศัยอยู่วัด ....แต่เมื่อเรียนจบแล้ว   พวกเขาเหล่านี้ ไม่ค่อยได้กลับไปถิ่นกำเนิด 

วันดีคืนดี  ก็มีโครงการชลประทานเข้ามาจัดการน้ำ คิดว่าจะดีสำหรับการปลูกข้าว   แต่ผลคือ ระบบนิเวศเริ่มเปลี่ยน

วันดีคืนดี  รัฐก็ตัดถนนตรงจากปากพนัง หัวไทร ข้ามไปสะทิ้งพระ  สิงหนคร เกาะยอ   การเดินทางทางเรือเริ่มไร้ความหมาย  ความเจริญย้ายจากริมคลองไปอยู่ริมถนน

จากที่เคยเป็นศูนย์กลางการค้า การศึกษา  ระโนดกลายเป็นไส้ติ่งที่ผู้คนข้ามผ่านเลย  ประจวบเหมาะกับราคาข้าวตกต่ำ  ระบบนิเวศเริ่มเสีย  ผู้คนที่ดำรงชีวิตด้วยข้าว ด้วยปลา ด้วยการค้า เริ่มอยู่ยาก

คนที่มีที่ไป ก็เริ่มอพยพออกนอกพื้นที่แบบถาวร

แล้วบริษัทซีพีกับนากุ้งก็เข้ามา   ชาวบ้านที่ยังอยู่ในพื้นที่เริ่มมี "ความหวัง" ...  นาข้าวเปลี่ยนเป็นนากุ้ง

แต่ก็เพียงวูบเดียวก่อนที่ทันจะเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการแบบยั่งยืน สิ่งแวดล้อมก็เสีย  น้ำในคลองที่ไหลออกสู่ทะเลสาบเป็นสีดำสนิทในบางฤดู  ลำคลองตื้นเขินไม่มีเรือวิ่งสักลำ   นากุ้งเสื่อมโทรมเริ่มร้าง

นั่นคือที่มาของราคาที่ดินตารางวาละ 15 บาท...

เราเกิดและอยู่ที่นั่นเพียงสามปีครึ่ง  ย้ายไปอยู่ตรังและกลับมาเยี่ยมบ้านตอนปิดเทอมปีละครั้งอยู่ 10 ปี   ตอนนี้แทบไม่มีใครอยู่ที่นั่นแล้วนอกจากกระดูกของบรรพบุรุษ และความทรงจำ

หากจะกลับไปทำอะไรเพื่อบ้านเกิด  ควรจะเริ่มอย่างไร.... อยากรู้ว่าชาวระโนดที่ได้ดิบได้ดีอยู่ที่อื่นจะรู้สึกอย่างไรกับวันนี้ของระโนด...วันที่ราคาที่ดิน 1  ตารางวายังซื้อข้าวกินสักมื้อไม่ได้เลย...... 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 156461เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2007 23:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 16:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • สวัสดีครับ
  • เพื่อนผม ก็คนระโนด
  • เขาบอกผมว่า...
  • "ตอนนี้ นากุ้งที่ล่ม เขาก็ขายให้ซีพีกันเป็นการใหญ่"
  • ไม่ได้บอกว่า ขายตารางวาละ 15 บาทหรือเปล่า...
  • ไม่ได้บอกว่า คนที่ขายที่ ตั้งคำถามตัวเองในใจว่า "คนซื้อโง่หรือฉลาด ?"
  • โชคดีที่ไม่ได้บอก...

 

 

  • บันทึกนี้อ่านแล้วอึ้งเหลือเกินค่ะ แต่มันก็คือความจริงแท้ ชาวบ้านเป็นทั้งผู้ถูกกระทำ และเลือกที่จะกระทำ
  • ปลาเป็นเท่านั้นจึงว่ายทวนน้ำ แต่ก็เหนื่อยเหลือเกินนะคะ ในยุคสมัยอย่างนี้
  • สวัสดีปีใหม่(ล่วงหน้า)ค่ะ อาจารย์ปัทมาวดี

สวัสดีค่ะอาจารย์ปัท

ที่ดินในอีกหลายพื้นที่ในหลายจังหวัดก็เป็นเช่นที่อาจารย์เล่าค่ะ

เคยวิวาทะกับครูในประเด็น Land Speculation  ก่อนที่ฟองสบู่เมืองไทยจะแตกเมื่อตอนปี ๒๕๔๐

ครูเล่าให้ฟังถึงกฏหมายที่ดินที่เรียกว่า Pre-Emption ที่ยุโรปใช้ ซึ่งน่าจะประยุกต์ใช้ในบ้านเราได้

ตัวเองคิดว่ากระบวนการ "เปลี่ยนผ่าน" การเป็นเจ้าของที่ดินในเมืองไทยต้องแก้ไขในอีกหลายประเด็นทีเดียวค่ะ  

อีกทั้งวิธีประเมินราคาที่ดินที่รัฐไทยทำอยู่ยังคงใช้ตัวชี้วัดที่คิดขึ้นภายใต้กระบวนทัศน์การพัฒนากระแสหลัก ที่ดินอยู่ไกลเมืองหรือใกล้เมือง ...โอกาสการพัฒนาเป็นชุมชนเมือง ภาคพาณิชย์ ภาคบริการ ...ฯลฯ ซึ่งทำให้ "ราคา" ของที่ดินแตกต่างกันอย่างมาก (คำว่า "ราคา" มีความหมายและมีที่มาจากรากศัพท์คำว่า "ราคะ" ค่ะ) ดังนั้นเมื่อที่ดินเป็น "สิ่งที่ต้องการ" ที่ดินจึงเข้าสู่กฏแห่ง Demand-Supply และเมื่อกลไกนี้ทำงาน และตามด้วยเหตุปัจจัยเรื่องพัฒนาการของท้องที่และการอพยพย้ายถิ่นของผู้คนในชุมชน จึงส่งผลให้ราคาที่ดินที่ระโนดอยู่ที่ตารางวาละ ๑๕ บาท....

เคยมีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับคุณมาร์ติน หนุ่มเมืองอังกฤษที่มามี "Home Sweet Home" อยู่ที่บ้านคำปลาหลาย จังหวัดขอนแก่น เมื่อเกือบสิบปีมาแล้ว..หากคนไทยได้รับรู้และได้เรียนรู้ในสิ่งที่มาร์ตินคิดและทำ...อาจทำให้หลายคนอยากกลับไปใช้ชีวิตในวิถีที่ "พอเพียง" ที่ชุมชนชนบทมากขึ้นค่ะ

และอาจมีคน "สำนึกรักบ้านเกิด" กันมากขึ้นนะคะ

คุณ wwibul  สวัสดีค่ะ

ซีพีทำอะไรได้ตั้งหลายอย่างที่เราไม่คิดว่าจะทำได้  เช่น  เป็นผู้มีสิทธิออกใบรับรอง coc ให้โรงเพาะกุ้งแทนกระทรวงเกษตรฯ (ได้สิทธินี้มาอย่างไร ?)

ทีดีอาร์ไอบอกว่า  ที่ดินต่อคนในภาคเกษตรใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ   (เพราะคนออกนอกภาคเกษตร)  ตัวเองหลับตานึกภาพว่า  ที่ดินเกษตรเปลี่ยนมือไปสู่ธุรกิจเกษตร  เกษตรกรรายย่อยหายไป   อีกหน่อยคนหนุ่มสาวก็คงกลับมาสู่ภาคเกษตรเองโดยทำงานเป็น "ลูกจ้างบริษัท" ..... นึกไม่ออกว่า  จะดีจะร้ายเพียงใด...

สวัสดีปีใหม่ค่ะคุณดอกไม้น้อย

ตัวเองก็ "อึ้ง" สุดๆเมื่อเห็นสภาพบ้านเกิดหลังจากที่ไม่ได้กลับไปหลายปีค่ะ

ถ้าเราเป็นชาวบ้าน  ภายใต้สภาพการณ์หลายๆอย่างที่เปลี่ยนไป  ก็อาจจะตัดสินใจอย่างเขาก็ได้  

น่าเสียใจที่คนมีโอกาสมากกว่า  มีข้อมูลความรู้มากกว่า  คิดหวังเพียงประโยชน์เฉพาะตน....

เรียนอาจารย์ตุ้ม..สวัสดีปีใหม่ค่ะ

ถ้ามีโอกาส คงได้คุยยาวๆกับอาจารย์นะคะ

เศรษฐศาสตร์โดยตัวทฤษฎีจะบอกอยู่แล้วว่า  เมื่อที่ดินนั้นมีคุณค่าต่อระบบนิเวศ  กลไกตลาดจะล้มเหลวในการจัดสรรทรัพยากร  เพราะปัจเจกบุคคลจะนึกถึงเพียงประโยชน์ส่วนตัวแต่มักไม่คำนึงถึงประโยชน์ของสังคม   

...และมีอีกหลายๆกรณี โดยเฉพาะกรณีสินค้าเกษตรที่กลไกตลาดไม่มีประสิทธิภาพ  เพราะประโยชน์ของปัจเจกต่ำกว่าประโยชน์ของสังคม    ต้นทุนของปัจเจกต่ำกว่าต้นทุนของสังคม 

แต่ในทางปฏิบ้ติ  นโยบายต่างๆกลับถูกกำหนดออกมาโดยละเลยประเด็นเหล่านี้  ปล่อยให้ตลาดทำงานของมันไป   การพัฒนาจึงล้มเหลวมาโดยตลอด

 

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท