หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

เหรียญสองด้านของการโค๊ชเรื่องเบาหวาน


กรณีของเรา เราลืมไปว่า เหรียญมี 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือความปลอดภัย และอีกด้านหนึ่ง คือ ความไม่ปลอดภัย ดังนั้นต่อไป เราต้องรอบคอบและใส่ใจที่จะลดความเสี่ยงจากการสื่อสาร ที่เป็น root cause สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้ป่วย

20-21 ธันวาคม ทีม ร.พ.กระบี่ได้จัดกิจกรรม Day Care คนไข้เบาหวานเป็นเวลา 2 วันติดต่อกัน โดยเราได้นำเอาเทคนิคการทำ KM ไปใช้ร่วมกับการบรรยายทวนสอบ-เติมความรู้ ของหลักการให้คำปรึกษา ในการทำกิจกรรมครั้งนี้ เราได้เรียนรู้ว่า เมื่อเราบอกให้คนไข้เขาทำอะไร เขาจะปฏิบัติตามเสมือนคำบอกเหล่านั้นเป็นยาที่เราสั่งให้เขา

จากวงสุนทรีย์สนทนาร่วมกันระหว่างกลุ่มคนไข้ที่เราจัดขึ้น โดยเราทำหน้าที่คุณอำนวย เราได้รับรู้ข้อมูลที่เราคาดไม่ถึงหลายอย่างจากการสั่งยา (คำแนะนำ) ของเรา เช่น คนไข้ที่เป็นเบาหวานส่วนใหญ่จะเลิกพฤติกรรมการกินอาหารนอกบ้าน  หันมาปรุงอาหารกินเอง   บางคนก็อมน้ำตาลหรือลูกอมบ่อยขึ้นเพราะจำคำเตือนที่เราแนะนำไว้ว่า ถ้ามีอาการไม่ค่อยสบาย เวียนหัว ตาลาย ใจสั่น ให้รีบอมน้ำตาล ถ้าอมช้า จะทำให้โคม่าได้   เพราะกลัวโคม่า เกิดอาการคล้ายๆกันขึ้นกับที่ให้คำแนะนำไว้ จึงทำตามคำแนะนำ  ยิ่งอมบ่อยก็ยิ่งเอาค่าน้ำตาลให้ต่ำลงไม่ได้  เรื่องเล่าของคนไข้เหล่านี้ ทำให้เรารู้ว่า เราเป็นโค้ชที่ต้องปรับปรุงตัวในเรื่องของการฝึกสอน   จากการเป็นโค้ชฟุตบอลลักษณะแรก คือ ตะโกนฝึกสอนไปตลอดตั้งแต่เริ่มเขี่ยลูก บางครั้งสอนคนเดียวไม่พอ ยังมีผู้มาช่วยตะโกนสอนอีกหลายคน จนผู้เล่นก็ลำบากใจว่าจะฟังใครดี  ก็เลยไม่คิดเอง รับฟังไปปฏิบัติทั้งหมด เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดว่า การฝึกสอนฟุตบอลจะต้องตะโกนเสียงดังเข้าไว้ เพื่อให้เด็กมีเรี่ยว มีแรง และ มีกำลังใจที่จะเล่น ถ้าสอนเงียบๆ เด็กจะเล่นไม่ออก  เป็นการเป็นโค้ชลักษณะที่สอง คือ สอนเงียบๆ พูดกับเด็กเบาๆ ขณะเล่นก็ปล่อยให้เด็กเล่นไปเอง โดยไม่ตะโกนส่งเสียง แต่คอยติดตามการเล่นอย่างใกล้ชิด เห็นท่าไม่ดี ก็ขอเวลานอก เรียกเข้ามาสอน และสอนด้วยน้ำเสียงที่นุ่มๆ เงียบๆ เสร็จแล้วก็ปล่อยเด็กให้ออกไปเล่น ถ้าเห็นท่าไม่ไหวจริงๆ จึงค่อยขอเวลานอกเรียกเข้ามาแก้ไข ปรับปรุง แผนการเล่น  เพื่อให้เราได้คนไข้ที่เหมือนเด็กที่รู้จักเล่นฟุตบอลเอง วางแผนเอง แก้ปัญหาเองที่เล่นถูกใจเรา คนไข้ก็จะสามารถดูแลตนเองเป็น มีความสุขตามวิถีชีวิตของเขา  ไม่มีภาวะแทรกซ้อนคืนกลับมาให้เราดูแลซ้ำซาก   โดยที่คนไข้สั่งยา(ให้คำแนะนำ) ตัวเขาเอง

หมายเลขบันทึก: 155353เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2007 13:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เห็นด้วยกับคุณหมอครับ  โคชต้องมีจิตวิทยาสูงมากๆ  ขืนใช้วิธีตะคอกจบเลยครับ 

สวัสดีครับ คุณหมอ ศิริรัตน์

พี่โต้ง รพ.พุทธชินราช แนะนำให้เข้ามาอ่านครับ

เห็นด้วยเหมือน คุณลุงเอกเลยครับ  ถ้าทำงานอย่างนี้ น่าสนุกมากเลยครับ เพราะมีเรื่องท้าทาย หลายอย่าง

จะเข้ามาอ่านบ่อย ๆ นะครับ

สวัสดีค่ะ ทั้งคุณลุงเอกและคุณหมอจิ้น ดีใจที่ได้คุยด้วยค่ะ  ในวันเสาร์-วันอาทิตย์ที่ภูเก็ตและกระบี่จะมีกระแสบางอย่างที่ฮอตมากในคนกลุ่มหนึ่ง คือ การนังเฝ้าคอยดูละครสงครามเรื่อง จูมง  ถ้าถึงเวลาจูมง กำลังจะฉาย ลองชวนไปทำอะไรเถอะ แฟนคลับทั้งหลายล้วนปฏิเสธ หรือถ้าเสียไม่ได้ ตอนเช้าวันจันทร์ ก็จะวิ่งโร่มาถามกันว่า เป็นอย่างไร แล้วก็มีเรื่องเล่าสู่กันฟังอย่างน่าสนุก    ถ้าลองกลับมาเปรียบเทียบกลับกับการเป็นโค้ชดู  จูมงก็กำลังแสดงบทบาทโค้ชที่บูรณาการ 2 ลักษณะเข้าด้วยกัน ซึ่งทำให้โค้ชเป็นผู้ที่มีคนนับถือ เพราะในที่สุด เมื่อคนพิสูจน์ได้ว่า โค้ชเก่งจริง   ทำอย่างนี้ จูมงจึงมีคนจงรักภักดี จนยอมยกย่องและช่วยให้ได้เป็นพระราชาแห่งแคว้น  สิ่งหนึ่งที่จูมงแสดงให้เห็น คือ ความอดทนต่อเป้าหมายความสำเร็จของการโค้ช  บางช่วงก็ใช้ลักษณะแบบแรก คือ สั่ง  บางช่วงก็ใช้ลักษณะแบบหลัง คือ ปล่อยให้เรียนรู้เอง หาประสบการณ์ แต่คอยเฝ้าระวังความผิดพลาดไว้ด้วย โดยให้ข้อมูลก่อนให้ฝึกเอง  หันกลับมาดูกระบวนการที่เราทำกับคนไข้ เราจะพบว่า จุดอ่อนของเราส่วนใหญ่ อยูที่ใช้การโค้ชแบบลักษณะแรกมากๆๆๆ ไม่ใช้ลักษณะที่ 2 เลย  ถ้าเราอยากให้คนไข้ดูแลตนเองได้ เราต้องเริมคิดว่า เราจะสอนอย่างไรให้เขาคิดเป็น  การทำ KM ระหว่างคนไข้เป็นเรื่องดี ถ้าเขาเชื่อกันและกัน แต่ถ้าเขาไม่เชื่อกัน เราต้องแทรกบทโค้ชร่วมไปด้วย  การโค้ช คือ ย้ำเคล็ดลับที่เป็นประโยชน์ในการดูแลที่ได้จากกลุ่ม และเพิ่มเติมช่วยแต่งเคล็ดลับนั้นให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ณ เวลานั้น  เวทีที่เราทำที่กระบี่  มีคนไข้บางคนมาเข้ากลุ่ม บอกกินกระท่อมแล้วเบาหวานดีขึ้น เราก็เพิ่มเติมในช่วงของการบรรยายว่า  กระท่อมดีที่ทำให้เกิดการถ่ายปัสสาวะบ่อย แต่ไม่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดเลย กินแล้วสบายเพราะได้ขับน้ำออก แต่ต้องตรองดูว่า จะแลกกับการผิดกฎหมายดีไหม แล้วเราก็จบการพูด  ไม่ต่อปากเป็นคนๆไป   คนบางคนกินหวาน เราก็ไม่โต้แย้ง เราก็ไปเอา D5W มาใส่แก้วให้ชิมเป็นน้ำเชื่อมเปล่าบ้าง ผสมเกลือบ้าง ผสมมะนาวบ้าง และน้ำเชื่อมจริงๆที่หวานกว่า D5W มาวางให้ชิมทีละแก้ว แล้วให้เขาบอกเองว่า กินหวานไหม แล้วเราก็เฉลย เขาก็รู้ตัวเองแล้วว่าเขากินหวานแค่ไหน เมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น  ทำให้เขาระวังตัวเองมากขึ้น คนที่เคยดื้อกับเรา ก็หายดื้อ เพราะเราหาเครื่องมือมาให้เขาวัดตัวเองด้วยตัวเขาเอง เป็นต้น ลองเอาไปเล่นปนสอนกับคนไข้ดูซิค่ะ สนุกดี

   

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท