(1) โอกาสในการเรียนรู้ ศิลปะการแสดงท้องถิ่น


ให้โอกาสคนทำงานด้านนี้ได้เดินหน้าต่อไป เมื่อนั้นแหละครับ ถึงเวลาที่เราคนไทยทั้งหลาย จะได้ภาคภูมิใจกับเด็ก ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ที่เขามีความพร้อมที่จะแสดงความสามารถในการเล่นเพลงโบราณอย่างชนิดที่ไม่น่าเชื่อว่า เขาจะทำได้

 

(1) โอกาสในการเรียนรู้

ศิลปะการแสดงท้องถิ่น

กับความจำเป็น

ความโดดเด่นที่ถามหา

          โอกาสในการเรียนรู้ศิลปะการแสดงของท้องถิ่น ที่ผมต้องนำเอาเรื่องนี้มาเล่าซึ่งอาจจะเป็นการพูดซ้ำซากในหัวข้อเรื่องเดิม ๆ เพียงแต่ในบทความนี้ ผมได้จับเอามุมมองที่มืดมิด มาฉายแสงส่องสว่างให้ท่านผู้อ่านบทความในตอนที่ 1 นี้ได้มองเห็นว่า ในประเด็นนี้มีทางเลือกหรือมีทางเดินที่หลากหลายหรือไม่ เยาวชนในยุคปัจจุบันมีความเข้าใจ มีความรับผิดชอบต่อสังคมในภาพรวมอย่างจริงจังหรือละเลยไปโดยไม่ตั้งใจประเด็นหลัก ๆ คือมีผู้ที่เรียกร้องและถามหาความเอกลักษณ์ของชาติของแผ่นดินกันมาก ทุกคนล้วนแล้วแต่มีความปรารถนาดีต่อประเทศชาติของเราโดยแท้ แต่คนในบ้านเมืองของเรามีมาก เราคงไม่อาจที่จะไปสั่งสอนอบรมผู้ใหญ่ให้เดินตามทางของเรา ผู้ซึ่งมีความปรารถนาดีด้านนี้ได้เพราะกลุ่มคนอย่างพวกเราที่ทำงานภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่มีความรู้อย่างพวกเขา เรามีความรู้แบบสั่งสมกันมาจากดั้งเดิม ความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคนแล้วนำเอาวิธีการเก่า ๆ มาถ่ายทอดสู่เยาวชนอย่างได้ผล และเป็นรูปธรรมมายาวนาน

           แต่คนรุ่นใหม่ ๆ อย่างเยาวชนที่เรามีหน้าที่จะต้องรับผิดชอบพวกเขา คนกลุ่มนี้ ยังพอมีโอกาสทีจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปรับเปลี่ยนนิสัย ค่านิยมได้บ้าง ผมขอใช้คำว่าได้บ้างจึงจะเหมาะกว่าที่จะใช้คำว่า ปรับเปลี่ยนค่านิยมได้ ผู้ที่ไม่ได้โดดเข้ามาทำงานอย่างผมและน้อง ๆ อีกหลายคนในจังหวัดสุพรรณบุรี ที่กำลังดำเนินงานกันอย่างจริงจังแบบไม่คิดชีวิต ท่ามกลางกระแสการหยุดยั้ง ต่อต้านเพื่อเปลี่ยนวิธีการของพวกเราไปสู่วิธีการในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมันมองไม่เห็นความสำเร็จ มองเห็นเพียงวิธีการ มองเห็นระบบของการทำงานที่น่าเชื่อถือ  แต่ไม่มีทางที่จะมองเห็นผลงานที่เป็นผลผลิตจริง ๆ แบบมีตัวตนเป็นรูปธรรมแบบตัวตายตัวแทนได้เลย

         

          เพราะอะไร ผมจึงกล่าวอย่างนั้น ทั้งนี้ก็เพราะผมเล่นเพลงและทำวงเพลงพื้นบ้าน เพลงฉ่อย เพลงอีแซว ลำตัด เพลงพวงมาลัย  เพลงแหล่ ทำขวัญนาคมาเป็นเวลา 20-40 ปี ยังไม่มีคนมองเห็นจุดเด่นของการทำงานเลย (น่าคิดมาก) ขอเก็บเอาคำว่า ความโดดเด่น ไว้ทีหลัง มามองกันที่โอกาสในการเรียนรู้ศิลปะการแสดงท้องถิ่นก่อนนะครับ  ในกรณีที่จะสร้างหลักสูตรท้องถิ่นขึ้นมา ผมเห็นด้วยและขอเอาใจช่วยครู อาจารย์ที่กล้าทำงานชิ้นนี้ (ยังไม่ต้องพูดถึงความสำเร็จ) การที่จะให้นักเรียนหันมาสนใจศิลปะการแสดงของท้องถิ่นนั้น มิใช่เรื่องง่ายนะ ครับ ในยุคนี้ ยิ่งถ้าเป็นการสมัครใจเรียนด้วยแล้ว หากจะมีเด็ก ๆ มาสมัครเรียนกับครูที่เปิดสอนวิชาเพิ่มเติมก็จะต้องเป็นเด็กที่ไม่มีคุณครูท่านอื่นต้องการให้ไปเรียนในรายวิชาที่ท่านว่า สำคัญกว่าแล้ว จึงจะเหลือมาเลือกรายวิชาอย่างเราได้ นั่นหมายความว่า ท่านจะได้เมล็ดพันธ์ที่ด้อยคุณภาพที่สุด มาเพาะเป็นด้นกล้าให้เจริญงอกงาม

           ถ้าถามว่า อ้าว แล้วคุณครูมีความสามารถไหม ที่จะเพาะพันธ์เจ้าต้นกล้าที่มีคุณภาพน้อยให้มีคุณภาพสูงขึ้นมา  ผมตอบแทนครูท่านอื่น ๆ ได้ ครับว่า ทำได้ ทั้งนี้ก็เพราะว่า ภาพของการแสดงที่ท่านได้เห็นที่หน้าเวทีการแสดงเพลงพื้นบ้านของผมและอีกหลาย ๆ วงนั้น เด็กบางคน (หลายคน) เป็นเด็กที่เรียนอ่อน (นิสัยดี) ความประพฤติพอใช้-ดี เราจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งในวิชาเรียน ในวิชาเลือกเพิ่มเติม วิชาโครงงาน วิชากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน แล้วนำเอาผู้ที่มีความสนใจมารวมกลุ่มจัดตั้งเป็นวงเพลงพื้นบ้าน จนเด็กมีความสามารถสูงได้มาตรฐาน รับงานแสดงอยู่ในทุกวันนี้ (มีงานจองล่วงหน้าหลายเดือน) แต่ถ้าถามว่าเด็กทั่ว ๆ ไป เขามีโอกาสอย่างนี้ไหม ตอบยาก ครับ เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง 

             

โอกาสในการเรียนรู้ศิลปะท้องถิ่น (ในสถานศึกษา) 

1. เป็นไปได้บ้างที่จะมีครูเปิดสอนให้นักเรียนได้เรียนรู้เอกลักษณ์ที่แท้จริงของท้องถิ่นนั้น ๆ

2. ถึงแม้ว่าจะมีครูเปิดสอนให้ได้เรียนรู้แต่ก็ยังมีตัวแปร ที่เข้ามาเกี่ยวข้องทำให้งานสะดุด

3. มีนักเรียนเข้ามาเรียน แต่ไม่ใช่ตัวแทนกลุ่มผู้เรียนที่แท้จริง (เป็นเด็กกลุ่มอ่อนทั้งหมด)

4. นักเรียนไม่มีโอกาสได้ฝึกหัดทักษะท่ามกลางความพร้อม ความสมบูรณ์ในวัสดุอุปกรณ์

5. ขาดการส่งเสริมสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการมีการกระตุ้น แถมยังมีกลุ่มต่อต้านอีกมาก

6. ผู้ที่มีอำนาจ มีโอกาสที่จะผลักดันได้  ยังไม่เห็นความสำคัญของศิลปะการแสดงด้านนี้

7. เวทีที่จัดให้มีการแสดงมีมาก แต่โอกาสในการผลักดันให้ได้ขึ้นไปแสดงแทบจะไม่มีเลย

8. ผู้จัดได้รับงบประมาณจากผู้ให้การสนับสนุนมา แต่ใช้ไปในทางสร้างงานระยะสั้นไม่ยั่งยืน

9. เด็กได้เรียนรู้จากตำรา ชุดฝึกจากครูผู้สอน ซึ่งไม่ใช่ครูเพลงที่เล่นเพลงได้จริง

         

                 ทั้งหมดนั้นเป็นภาพจริงที่มองเห็นได้ สัมผัสได้ในวิถีชีวิตของสังคมในยุคปัจจุบัน  คงต้องบอกว่า โอกาสที่นักเรียนจะได้เรียนรู้ยังพอมี  นักเรียนได้ฝึกทักษะศิลปะการแสดงยังมีให้เห็น น่าจะเป็นส่วนน้อย (กลุ่มเล็ก ๆ) แต่ถ้าต้องการมองเห็นภาพตัวตายตัวแทน อาจจะสร้างไม่ทันเวลาเสียแล้ว เนื่องจากต้นแบบ (ครูเพลงตัวจริง) เหลือน้อยลงไปทุกวัน สิ่งที่ยังเหลืออยู่มากมายเป็นตำนาน เป็นเรื่องราวที่ถูกบันทึกเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้โดยการอ่าน ทำความเข้าใจ เมื่อได้รับความรู้มาแล้ว ไม่อาจที่จะเป็นตัวแทนคนรุ่นปู่ ย่า ตา ยายได้ จึงเป็นที่มาของการเรียกหา กลัวว่าจะสูญ ผมว่าอย่ามัวแต่เรียก ร้องหรือเรียกหากันอยู่เลยครับ หันไปมองที่ ความจำเป็น กันดีกว่า ช่วยกันคิดว่า ศิลปะการแสดงของท้องถิ่นยังมีความจำเป็นบ้างไหม (มาก ปานกลาง น้อย ไม่ต้องจัดลำดับคุณภาพ) ถ้ามีความจำเป็น โปรดได้ให้โอกาสคนทำงานด้านนี้ ได้เดินหน้าต่อไปอย่างคล่องตัว ไม่มีติดขัด

           เมื่อนั้นแหละครับ จะถึงเวลาที่เราคนไทยทั้งหลาย จะได้ภาคภูมิใจกับเด็ก ๆ อีกเป็นจำนวนมากที่เขามีความพร้อมที่จะแสดงความสามารถในการเล่นเพลงโบราณให้คนรุ่นใหม่ดูอย่างชนิดที่ไม่น่าเชื่อว่า เขาจะทำได้  หากขืนรอช้าต่อไป คงได้ยินเพียงคำว่า น่าเสียดาย แล้วจะได้อะไรขึ้นมา

โดย ชำเลือง มณีวงษ์      

- รางวัลชนะเลิศ  ประกวดเพลงอีแซวสุพรรณฯ    ปี 2525

- รางวัลราชมงคลสรรเสริญ สาขาการแสดงเพลงพื้นบ้าน ปี 2547

- โล่รางวัล ความดีคู่แผ่นดิน รายการโทรทัศน์ ททบ. ช่อง 5  ปี 2549

 

หมายเลขบันทึก: 154897เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2007 09:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 เมษายน 2012 13:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท