จิตตปัญญาเวชศึกษา 42: คนสวน ผู้หล่อเลี้ยง ครู หมอ


คนสวน ผู้หล่อเลี้ยง ครู หมอ

ชีวิตคนแต่ละคน จะต้องดำเนินไปด้วยตนเองฉันใด เสมือนเมล็ดพันธุ์พืชเป็นผู้งอกงามเอง นักเรียนเป็นผู้ "รู้" เอง และคนไข้ก็เป็นคนเยียวยาตนเองในขั้นสุดท้ายก็ฉันนั้น ทว่างานของคนสวน ผู้หล่อเลี้ยง ครู และหมอ ที่จะต้องเตรียมดิน ใส่ปุ๋ย ให้น้ำ ประคบประหงม ดูแล ให้กำลังใจ ชี้แนะ ชี้นำ ตักเตือน และสร้างเสริมให้การเดินทางและการเติบโตสมบูรณ์แบบ ก็มีความสำคัญไม่น้อยกว่ากันเลย

ถามตนเองสิว่า "เรายอมรับได้ไหม" ในลักษณะที่เมล็ดพันธุ์นี้จะงอกงามของมันเอง เป็นต้นไม้ใหญ่ตามธรรมชาติ เป็นนักเรียนที่เติบโตทางปัญญาที่สอดคล้องกับวาระของตัวเด็กเอง เป็นหมอที่ยอมปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ไปตามบริบทของคนไข้ เพื่อ empowerment ที่แท้จริง 

คำถามที่น่าสนใจเพิ่มเติมก็คือ "ถ้ายอมรับไม่ได้ เพราะอะไรเราจะยอมไม่ได้?"

คนสวน ผู้หล่อเลี้ยง ครู หมอ จะต้องไม่กินพื้นที่เกินไป ไม่ก้าวก่าย มีศรัทธาในศักยภาพของคน หรือสิ่งที่ตนเองทำหน้าที่หล่อเลี้ยงเสียก่อน

สามารถมองเห็นความสวยงามของความไม่สมบูรณ์

ชื่นชมข้อบกพร่องเล็กๆน้อยๆ

เห็นธรรมชาติของความขาดตกบกพร่องว่าเป็นไปเพราะเหตุผลอะไรบางอย่าง

 

ที่จริงทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรที่จะสมบูรณ์แบบ หรืออีกนัยหนึ่ง ความสมบูรณ์แบบนั้น เป็นสัญญา เป็นความหมาย ที่เราเป็นคนกำหนดเอง ขณะที่กรอบบางอย่างเป็นความจำเป็น อาทิ กฏหมายบ้านเมือง การอยู่ร่วมในสังคม แต่การสร้างกรอบไปหมดทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับการเปลี่ยนแปลงพัฒนาของ "ชีวิต" เป็นการดูถูกธรรมชาติ เป็นการเทิดทูนอะไรที่เป็น artificial และเป็นการผูกติดกับความต้องการที่จะควบคุม (control)

จิตวิญญาณของผู้หล่อเลี้ยงอยู่ที่กระบวนการ ไม่ได้อยู่ที่ outcome หรือ output เท่านั้น การมี focus ใส่ใจ มีสมาธิกับกิจกรรมพรวนดิน แนะนำ ชี้นำ ค้นหาบริบทที่จะเป็นความเหมาะสมที่สุดที่จะเติบโต งอกงาม เป็นความท้าทายที่สุนทรีย์ เป็นความสุขที่ดื่มด่ำได้ ณ ขณะเวลาที่กำลังทำกิจกรรมนั้นๆ โดยไม่ต้องรอผล ตัวกิจกรรมการหล่อเลี้ยงนั้นเอง ที่จะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงตัวคนทำ เหมือนคนสวนพรวนดิน เพื่อพรวนดิน ครูเขียนกระดาน จิตอยู่ที่ชอล์ก ที่เนื้อหา ที่ต้องการจะสื่อ หมอใช้สมาธิกับความทุกข์ กลไกแห่งการเกิดทุกข์ และการดับทุกข์ ไม่ได้ติดอยู่ที่สถิติ หรือ chart หรือ performance ของตนเอง

สิ่งที่ผู้หล่อเลี้ยงยึดได้เป็นสรณะ ก็คือ ความรักไร้เงื่อนไข (unconditional love) ความเมตตา กรุณา นั่นเอง เป็น selfless act ที่จะทำให้เรามีสมาธิอยู่ที่กิจกรรม ไม่ข้าม shot ไปถึง outcome output


 

หมายเลขบันทึก: 154565เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2007 23:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท