วิวัฒนาการ .. แนวความคิดที่จะนำ "มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ" ของไทย (2)


รู้ที่มากันก่อน แล้วค่อยพิจารณาว่า ทำไมถึงได้ทะเลาะกัน

บันทึกนี้ เป็นภาคจบของ วิวัฒนาการ .. แนวความคิดที่จะนำ "มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ" ของไทย (1)

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx 

ภายหลังจากการจัดประชุมทางวิชาการแล้ว มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้พิจารณาทางเลือก แล้วตัดสินใจแจ้งความจำนง ที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ที่ไม่เป็นส่วนราชการ 18 แห่ง ทบวงมหาวิทยาลัยจึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาแนวทางการพัฒนาระบบบริหารสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ไปสู่ความเป็นอิสระ เพื่อจัดทำแผนและขั้นตอนในการดำเนินงานดังกล่าว โดยคาดว่า จะนำร่างพระราชบัญญัติ ทั้ง 18 ฉบับ เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ภายในเดือนตุลาคม พ.ศ.2534 เนื่องจากไม่แน่ใจว่า รัฐบาลชุดต่อไปจะให้ความอิสระหรือไม่ เพราะประสบการณ์ 30 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีแต่จะควบคุมมหาวิทยาลัยให้เป็นส่วนราชการมากขึ้น

 

คณะอนุกรรมการดังกล่าว ได้ประชุมเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2534 กำหนดหลักการและสาระสำคัญของมหาวิทยาลัย ในกำกับของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการไว้ อย่างชัดเจน พอสมควร

วันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2534 คณะอนุกรรมการได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำรายละเอียดการปรับเปลี่ยนระบบขึ้นมา ทั้งด้านการบริหารงานบุคคล การเงิน และทรัพย์สิน การจัดองค์กรการบริหาร รวมทั้งการปรับปรุงกฏข้อบังคับต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย

ทบวงมหาวิทยาลัยได้เสนอร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการพัฒนาระบบบริหารสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ไปสู่ความเป็นอิสระ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา 16 ฉบับ วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2534 และวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2534 เพื่อพิจารณาอนุมัติในหลักการ และนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป พร้อมทั้งขออนุมัติในหลักการที่จะสนับสนุนเงินงบประมาณให้แก่มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ในการปรับเปลี่ยนระบบดังกล่าวทั้งนี้นอกเหนือจากการเสนอปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับ วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2534

คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบในหลักการของแนวทางการพัฒนาระบบบริหารสถาบันอุดมศึกษา ให้มีความเป็นอิสระและคล่องตัวดังกล่าว ตามหนังสือสำนักงานราชเลขาธิการ คณะรัฐมนตรี ที่ นร 0206/10750 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2534 รวมทั้งมีมติให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 16 ฉบับ กับร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับ ตามหนังสือสำนักงานเลขาธิการ คณะรัฐมนตรี ที่ นร 0203/2953 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 และให้ส่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป ซึ่งก็ได้มีการประชุมให้ความเห็นชอบในหลักการ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 และส่งให้คณะกรรมาธิการศึกษาและวัฒนธรรม พิจารณาตรวจร่าง พ.ร.บ. เหล่านั้น ซึ่งได้เสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2535 แต่ไม่ได้รับการพิจารณา เนื่องจากที่ประชุมเห็นว่า เรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบ จึงมีมติให้เลื่อนการพิจารณาออกไป และโดยที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้หมดอายุลง จึงทำให้ร่างพระราชบัญญัติทั้งหมดตกไป โดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม จากนโยบายด้านการบริหารของแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี ของทบวงมหาวิทยาลัย ใน พ.ศ.2535 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ พ.ศ.2541 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จึงมีรูปแบบการบริหารเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐไม่เป็นส่วนราชการ เพิ่มขึ้น ทิศทางการพัฒนาความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัย ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 36 ได้กำหนดให้สถานศึกษาของรัฐ ที่จัดการศึกษาระดับปริญญา เป็นนิติบุคคล มีทางเลือกระบบบริหารได้ 2 ทาง คือ
  • อาจจัดเป็นส่วนราชการ
  • หรือเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐได้

โดยให้สถานศึกษาดังกล่าว ดำเนินการได้โดยอิสระ สามารถพัฒนาระบบบริหาร และการจัดการที่เป็นของตนเอง มีความคล่องตัว มีเสรีภาพทางวิชาการ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแล ของสภาสถานศึกษา ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถานศึกษานั้น ๆ 
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวันที่ 27 มกราคม พ.ศ.2541 คณะรัฐมนตรีได้มีมติใหความเห็นชอบเงื่อนไขในการกู้เงินจากธนาคารเอเชีย ซึ่งมีกรอบนโยบายที่สำคัญ 2 ประการ คือ
  • ประการแรก .. มหาวิทยาลัยได้รับมอบอำนาจการบริหารงบประมาณ ในส่วนงบดำเนินการ ที่ไม่ใช่เงินเดือนในปีงบประมาณ พ.ศ.2542 แต่ต้องพร้อมที่จะรับการตรวจสอบ
  • ประการที่สอง .. มหาวิทยาลัยของรัฐทุกแห่ง จะได้รับการพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยอิสระ หรือ มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล ใน พ.ศ.2545
ทบวงมหาวิทยาลัย ได้เตรียมการ 2 อย่าง ได้แก่

 

  • ประการแรก .. ทำความเข้าใจกับประชาคมมหาวิทยาลัย โดยทำสมุดปกขาว เรื่อง หลักการและแนวปฏิบัติ มหาวิทยาลับในกำกับรัฐบาล และจัดสัมมนาระดับชาติ วันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2541 ซึ่งในเบื้องต้น ก็ได้รับการสนองตอบในทางบวกค่อนข้างมาก แม้จะยังมีความกังวลในความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลบางส่วน เช่น ด้านการบริหารงานบุคคลและงบประมาณ
  • ประการที่สอง .. ขอให้มหาวิทยาลัยจัดทำแผนปฏิบัติการ ในการปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการที่ทบวงมหาวิทยาลัยเสนอ วันที่ 25 พฤษภาคม และวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2543 ซึ่งระบุว่า จะได้รับร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล ระหว่าง พ.ศ.2542 ถึง พ.ศ.2545

และเพื่อรับรองความมีอิสระของมหาวิทยาลัย ตามมติรัฐมนตรี วันที่ 27 มกราคม พ.ศ.2541 ทบวงมหาวิทยาลัยได้ออกระเบียบโอนเงินประจำงวดของมหาวิทยาลัย วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2542 มอบอำนาจทางการเงิน และงบประมาณให้มหาวิทยาลัย สามารถโอน หรือ เปลี่ยนแปลงรายการงบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่มิใช่เงินเดือน กับมอบอำนาจการบริหารงานบุคคลให้มหาวิทยาลัย สามารถดำเนินการได้เอง ในเรื่องการกำหนดตำแหน่ง การบรรจุ การจ้าง การแต่งตั้ง การโยกย้าย การจ้างบุคคลเข้าทำงาน และแต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการ จนถึงรองศาสตราจารย์

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยของรัฐได้เสนอร่างพระราชบัญญัติต่อทบวงมหาวิทยาลัย เพื่อปรับเปลี่ยนสถานภาพ จากมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล 11 แห่ง ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการแล้วส่วนใหญ่

 

นี่คือ เนื้อความตอนจบ เรื่องราวของวิวัฒนาการ ... แนวความคิดที่จะนำ "มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ" ของไทย

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมหิดล ออกนอกระบบ และเกิดการประท้วงภายในกันสนุกสนาน 

นำเสนอทำไม ... อยากให้ทราบว่า แนวคิดนี้ มีมาเกือบ 40 ปีแล้วล่ะครับ

เพียง "ผลประโยชน์ส่วนตัวไม่ลงตัว" ทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันทุกสถาบัน

  • ผู้บริหาร กลัวไม่ได้บริหารจัดการอย่างอิสระ (คนดี หรือ คนไม่ดี มีผลต่อความคิดของมวลชน)
  • ข้าราชการ กลัวความไม่มั่นคง กลัวไม่ได้สวัสดิการเท่าเดิม
  • พนักงานมหาวิทยาลัย กลัวว่า ไม่ได้สวัสดิการเท่าเดิมหรือดีกว่าเดิม
  • นักศึกษา กลัวขึ้นค่าเทอม

 

อีกนานกว่าจะสำเร็จเหมือนเมืองนอกเขา .. รอข้าราชการที่ไม่เห็นด้วยหมดมหาวิทยาลัยก่อนล่ะมั้ง รอผู้บริหารเปลี่ยนจากคนบ้าอำนาจ เป็น คนดีก่อน .. FOR LONG TIME

ขอบคุณแหล่งอ้างอิงนี้ ครับ

แหล่งอ้างอิง

ทินพันธุ์ นาคะตะ.  (2546).  มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล.  กรุงเทพฯ: สหายบล็อกและการพิมพ์.

หมายเลขบันทึก: 154487เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2007 16:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

"ผลประโยชน์ทับซ้อน" จริงๆ ในการออกนอกระบบนี้ การจัดการความขัดแย้ง (ทางผลประโยชน์) อันนี้น่าจะเป็นวิชาหนึ่ง ในมหาวิทยาลัยนะ 555   ^^

"วิชาสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน" ดีไหมครับอาจารย์ ครูgisชนบท 555

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท