เกี่ยวกับ Islamic Education (๕)


ในตอนที่ ๔ ของบันทึกในชื่อเดียวกันนี้ ผมได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับผลผลิตของการศึกษาปัจจุบัน ที่พบว่า นักศึกษาได้รับเอาวัฒนธรรมที่นำเข้ามาจากภายนอก แม้ว่า มันจะมีส่วนดีอยู่ แต่สิ่งที่เราพบก็คือ มีแนวโน้มว่า จะเป็นที่นิยมในส่วนอื่นจากนั้น ซึ่งมันได้ก่อให้เกิดช่องว่างและความแปลกแยกขึ้นกับคุณค่าและวัฒนธรรมอันดีงาม ซึ่งนับวันช่องว่างและความแปลกแยกนั้นจะยิ่งถางกว้างขึ้นเรื่อยๆ

ในมุมมองของอัลกุรอาน ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่อัลลอฮฺ พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงประทานลงมาแก่มวลมนุษยชาติ โองการแรกสุดที่อัลลอฮฺประทานลงมาแก่ท่านศาสดามุหัมมัดนั่นคือ โองการที่ 1-5 ของซูเราะฮฺ อัลอะลัก ที่ทรงตรัสความว่า

ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงปรานี
[96.1] จงอ่าน ด้วยพระนามแห่งพระเจ้าของเจ้าผู้ทรงบังเกิด 
[96.2] ทรงบังเกิดมนุษย์จากก้อนเลือด 
[96.3] จงอ่านเถิด และพระเจ้าของเจ้านั้นผู้ทรงใจบุญยิ่ง 
[96.4] ผู้ทรงสอนการใช้ปากกา 
[96.5] ผู้ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้ 

จากโองการดังกล่าวข้างต้นเมื่อเราใช้ในการตรวจสอบ "ผลผลิต" ของการศึกษาปัจจุบันและโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จัดและดำเนินการโดยมุสลิมเอง เราจะพบว่า มีสิ่งสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องควรทบทวนและนำมาปรับปรุงแก้ไข นั่นคือ

  • จากคำบัญชาที่ทรงตรัสว่า "อิกเราะ" หรือ "จงอ่าน" ในความเข้าใจของผมก็คือ "ผลผลิต" ของการศึกษานั้น จะต้องมีความเป็น "นักอ่าน" ที่เหมาะสมกับวัย ระดับพัฒนาการ สติปัญญา และระดับการศึกษา เพราะ "การอ่าน" นั้นเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากตลอดประวัติศาสตร์อารยธรรมมนุษย์ แต่อย่างที่หลายๆท่านได้บันทึกไว้ในบล็อก gotoknow.org นั่นแหละครับว่า โดยภาพรวมแล้ว "ผลผลิต" ของการศึกษาที่ผ่านมาและแม้ปัจจุบัน ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในการ"ผลิต" นักเรียนนักศึกษา ให้เป็น"นักอ่าน" อย่างแท้จริง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่จบการศึกษามาและจบนานแล้ว บางคนบางท่านได้ทิ้งการอ่านไปเลย อาจจะมียกเว้นบ้างก็เหล่าบรรดาบล็อกเกอร์ในโกทูโนนี่แหละ
  • หลายๆครั้งที่ผมได้มีโอกาสไปประเทศมาเลเซีย ทุกครั้งหากโอกาสอำนวยผมมักจะแวะร้านหนังสือเสมอ และพบว่าที่ร้านหนังสือจะเต็มไปด้วยนักเรียนนักศึกษาเข้าไปเลือกซื้อหนังสือจนแน่นร้าน เป็นบรรยากาศที่ไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนักที่เมืองไทย
  • การที่"ผลผลิต" ของการศึกษาในระดับต่างๆ ไม่"รักหรือกระหาย" ต่อการอ่านหนังสือ สำหรับผมแล้ว มันคือจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ปลายอุโมงค์ที่มืดมน แปลกนะครับ นี่คือสิ่งที่ตะวันตกมีและดีเด่นที่สุด แต่ "ทำไม เพราะอะไร" "นักเรียนนักศึกษา" ของเราไม่ "ตามตะวันตกในเรื่องนี้
  • การที่อัลลอฮฺบัญชาให้อ่านนั้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า "การอ่านนั้นสำคัญ" และควรที่โรงเรียนของมุสลิมทุกโรงจะได้หันมาทบทวนการผลิต "นักอ่าน" ควบคู่กันไปกับการเรียนการสอนอื่นๆ
หมายเลขบันทึก: 154413เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2007 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์อาลัมที่เคารพ ขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยครับ ในเรื่องของการอ่าน จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของผมเอง ผมพบว่าชาวพุทธเองก็ไม่ค่อยอ่านครับ ผมขออนุญาตวิเคระห์นะครับว่าที่เราไม่ค่อยอ่าน มันน่าจะเป็นปัญหาในระดับวัฒนธรรมเลยละมั้งครับ วัฒนธรรมของสังคมไทย เป็นสังคมที่ให้เชื่อฟังผู้มีความรู้ ครูบาอาจารย์ และผู้อาวุโส  ดังนั้น การอ่าน จึงไม่น่ามีความจำเป็น เพราะอ่านไปก็เท่านั้น ยังไงๆ ก็ต้องรับฟังคำตอบที่ถูกต่้องจากครูบาอาจารย์หรือผู้อาวุโสอยู่ดี สู้ฟังความรู้ แล้วจำความรู้นั้นไปใช้เลยดีกว่า ที่จะอ่านเอง ซึ่งก็ไม่มีความแน่นอนว่าอ่านแล้วจะได้อะไร  ครับ ก็เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวความคิดหนึ่งเท่านั้นนะครับ..ขอบคุณครับ

  • ผมเห็นด้วยครับกับท่าน ผอ. small man
    ที่ว่าเรามีปัญหาบางปัญหาที่เหมือนกันและมันหยั่งรากลึกลงไปในระดับ "รากเหง้าทางวัฒนธรรม" เช่นในเรื่องของ "การอ่าน" ที่เราอ่านกันน้อยมาก จริงๆ
  • การฟังเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้เราได้รับความรู้ ฟังมากรู้มาก อย่างไรก็ตาม "การฟัง" ของ"ผู้ฟัง" ที่มีต้นทุนของการอ่านน้อย หรือไม่มีเลย บวกกับ ขาดวิธีที่เหมาะสมในการฟัง ก็อาจทำให้ได้รับประโยชน์จากการฟังพร่องไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "นักเรียน-นักศึกษา" ที่เรียนโดยการฟังจากการสอนในห้องเรียนจากครู-อาจารย์อย่างเดียว ซึ่งไม่น่าจะเพียงพอ สำหรับการนำความรู้เหล่านั้นไปใช้ในบริบทของชีวิตจริง ซึ่งมีมิติของปัญหาและกลไกที่ซับซ้อน และการคอยถามครูบาอาจารย์ ผู้รู้แม้จะเป็นสิ่งที่สมควรทำอย่างยิ่ง แต่ในบริบทของการทำงาน ณ สนามของการทำงานและการเผชิญหน้ากับปัญหาก็อาจจะไม่สามารถคอยถามครู-อาจารย์ก่อนเสมอไป
  • หรือแม้แต่ "การอ่าน"แต่เฉพาะหนังสือเรียน หรือแบบเรียนอย่างเดียว ก็เช่นเดียวกัน
  • ส่วน"การเชื่อฟัง" หรือ"การฏออัต"นั้น ในอิสลามใหความสำคัญมาก แต่ก็ไม่ส่งเสริมให้"เชื่อและปฏิบัติตามอย่างมืดบอด" หรือตามสำนวนของมุหัมมัด อับดุฮฺ นักคิดและนักวิชาการชาวอียิปต์ท่านกล่าวว่า  "อัตตักลีด อัลอะฮฺมา"  (อ้างจาก "ศาสนาอิสลามกับการพัฒนาการศึกษา : แนวความคิดของมุหัมมัด อับดุฮฺ(1849-1905) เขียนโดย ผศ.ดร.หะสัน หมัดหมาน) เข้าไปดาวน์โหลดอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.kaekae.pn.psu.ac.th/psuhsej/viewarticle.php?id=221 
  • และเกี่ยวกับที่ ผอ.เขียนว่า "วัฒนธรรมของสังคมไทย เป็นสังคมที่ให้เชื่อฟังผู้มีความรู้ ครูบาอาจารย์ และผู้อาวุโส ดังนั้น การอ่าน จึงไม่น่ามีความจำเป็น เพราะอ่านไปก็เท่านั้น ยังไงๆ ก็ต้องรับฟังคำตอบที่ถูกต่้องจากครูบาอาจารย์หรือผู้อาวุโสอยู่ดี สู้ฟังความรู้ แล้วจำความรู้นั้นไปใช้เลยดีกว่า ที่จะอ่านเอง ซึ่งก็ไม่มีความแน่นอนว่าอ่านแล้วจะได้อะไร  " ทำให้ผมนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่เคยอ่านนานมากแล้วชื่อหนังสือคือ "Thai Culture and Behavior" เขียนโดย Ruth Benenedict แปลโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์ ที่ผมชอบคือที่ท่านอาจารย์ อานันท์ กาญจนพันธ์ แห่งมหาวิทยาลัยเชียง ใหม่เขียนไว้ในบทกล่าวนำ ของหนังสือฉบับแปลท่านเขียนว่า "...รูธ เบเนดิคต์เห็นว่าไม่มีการต่อต้านในสังคมไทยทุกคนยอมรับความคิดคุณค่าของผู้หลักผู้ใหญ่..."และอีกตอนหนึ่งท่านเขียนไว้ว่า"...แต่เมื่อได้พิจารณาเนื้อหาของวัฒนธรรมไทยที่รูธ เบเนดิคต์บรรยายมาแล้วจะพบว่าวัฒนธรรมเช่นนี้มีลักษณะไม่ต่างจากภาพตุ๊กตาน่ารักตัวหนึ่งที่เจ้าของอยากเก็บไว้ในตู้โชว์อย่างถนุถนอมให้นานแสนนานโดยไม่อยากให้มีอะไรมาเปลี่ยนแปลงได้..."

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท