สัมภาษณ์เรื่องการพัฒนาเด็กลงหนังสือพิมพ์มติชน


คลื่นลูกใหม่ต้องแรงกว่าคลื่นลูกเก่า เราต้องการสึนามิทางปัญญา
วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10851
ดร.อุดมศิลป์ ปิ่นสุข มือปั้นเด็กกิฟเต็ด


พนิดา สงวนเสรีวานิช เรื่อง ตวงศักดิ์ ชื่นสินธุ ภาพ


เป็นนักเรียนทุนตั้งแต่ชั้นมัธยม 4 ที่โรงเรียนบดินทรเดชาจนจบมัธยม 6 แล้วต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิทยาศาสตร์ ด้านฟิสิกส์ ก่อนจะเลือกไปศึกษาปริญญาโท/เอก สาขาวัสดุควบแน่น ที่สกอตแลนด์ กระทั่งจบดีกรีดอกเตอร์ในวัย 26 ปี

เจ้าของ 2 รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ คือรางวัลผลงานวิจัยประจำปี 2547 และผลงานประดิษฐ์คิดค้นประจำปี 2548

- รศ.ดร.อุดมศิลป์ ปิ่นสุข กล่าวได้ว่าเป็นตัวอย่างของเด็กกิฟเต็ด หรือผู้มีความสามารถพิเศษ ที่ประสบความสำเร็จแล้วกลับมาทำงานช่วยเหลือประเทศชาติ

จากเด็กชายตัวน้อยๆ ที่มีความซนเป็นที่ตั้ง รักการอ่านและใฝ่รู้ เคยเอาวิตามินซียัดใส่รูจมูกจนต้องใช้คีมคีบออก

เด็กชายอุดมศิลป์ เป็นลูกชายคนโตของ คุณพ่อศิลปชัย และ - คุณแม่สุริยา ปิ่นสุข มีน้องชาย 1 คน คือ ชัยยา ปิ่นสุข จบวิศวะ จุฬาฯ

ปัจจุบันด้วยวัยเพียง 34 ปี นอกจากเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่ภาคฟิสิกส์ จุฬาฯ และเป็นผู้ช่วยคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ อยู่ในคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์

ยังอยู่เบื้องหลังการพัฒนากำลังคน ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตำแหน่งที่ปรึกษาโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (Junior Science Talent Project หรือ JSTP)

"เด็กรุ่นใหม่ต้องเก่งกว่าผม...เพื่อที่จะตามสังคมโลกให้ทัน จอห์นนี่ วอล์คเกอร์ บอกว่า หยุดเดินก็เหมือนเดินถอยหลัง หรือเดินช้าก็เหมือนเดินถอยหลัง ฉะนั้นเราต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา" รศ.ดร.อุดมศิลป์ เล่าถึงความตั้งใจอย่างอารมณ์ดี

- ทำไมสนใจวิทยาศาสตร์?
ผมคิดไม่เหมือนคนอื่น (หัวเราะ) คิดหลายอย่าง อย่างหนึ่ง คือ ถ้าเราทำอาชีพอื่นก็อาจจะเป็นคนมีตังค์และมีความสุข แต่ถ้าวันหนึ่งเราจากไปคนก็ลืมเราหมด ถ้าเราเป็นนักวิทยาศาสตร์อย่างไอน์สไตน์ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นอะไรกับเราคนยังเรียกชื่อเขาทุกวัน เพราะเขาทำอะไรบางอย่างให้กับโลก อยากเป็นอย่างนั้นบ้าง

- มีไอน์สไตน์เป็นแม่แบบ?
ไม่เชิงครับ คือเวลาดูมวยหรือดูกีฬา ผมชอบเชียร์คนที่คนอื่นไม่เชียร์ แล้วอย่างไอน์สไตน์มีคนที่ชอบเยอะแยะแล้ว ก็เลยไม่ชอบ

- แล้วชอบใคร?
ชอบใครดี...ชอบอาจารย์ยงยุทธ (หัวเราะ)

- ครอบครัวค่อนข้างมีสตางค์?
พ่อแม่ผมก็เป็นชาวไร่ชาวนา พ่อรับราชการเป็นทหารได้เงินเดือนแค่ 2,000 บาท สมัยผมเด็กๆ และแม่มีร้านขายยาเล็กๆ ทีนี้เนื่องจากเป็นอาชีพที่ถูกควบคุมต้องมีเภสัชกร สุดท้ายก็ต้องเลิก
...มีอยู่ครั้งหนึ่ง พ่อต้องไปทำงานที่ซาอุฯ เมื่อก่อนไปซาอุฯเหมือนไปขายแรงงาน เขาไม่ค่อยบอก
ตอนพ่อไป หนังเรื่องซุปเปอร์แมนเข้าฉายพอดี พ่อซื้อตั๋วให้ และส่งเราเข้าไปดูซุปเปอร์แมน แต่พ่อไม่ได้เข้าไปด้วย ดูจบผมต้องกลับบ้านกับแม่ แต่ตอนนั้นเด็กมาก อายุ 8-10 ขวบ คิดว่าเขาน่าจะไปเป็นหัวหน้า เพราะพูดภาษาอังกฤษได้ เคยไปอยู่สิงคโปร์ แต่เป็นทหารรายได้น้อย ตอนหลังเลยออกมาหางานอย่างอื่นทำ

- พ่อเป็นคนยังไง?
ท่านก็ดุมาก มีแค่ตอนนั่งอ่านหนังสือจะไม่ดุ หนังสืออะไรก็ได้ หนังสือการ์ตูนก็ได้ ทำให้เราต้องซื้อหนังสือมานั่งอ่าน

- ตอนเด็กๆ เรียนเก่ง?
ธรรมดาๆ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ได้เกรดไม่ดี แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมบังเอิญมากๆ ที่สอบได้คะแนนดีแล้วครูก็เรียกไปชื่นชมหน้าชั้น เราก็รู้สึกว่ามันดี ทีนี้ก็เลยพยายามเรียน

- ได้เป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่ง?
ไปแข่งก็ไม่เหมือนสมัยนี้ ก็มีแข่งประปราย สัปดาห์วิทย์ ถึงแข่งก็ระดับท้องถิ่น ได้รางวัลบ้าง แต่ไม่ถือว่าเก่งมาก ผมคิดว่าเป็นความบังเอิญมากกว่า พอดีคำถามที่เขาถามตรงกับที่เราอ่านมาแล้ว (หัวเราะ)
สมัยเรียนมีอาจารย์อยู่คนบอกว่า สมองคุณต้องคิดตลอดเวลา ไม่งั้นจะฝ่อ พูดอย่างนี้ทุกวัน ตอนแรกก็รำคาญ ตอนหลังเหมือนโดนล้างสมอง ก็เลยต้องพยายามคิด บางทีนั่งรถเมล์กลับบ้านกับเพื่อน ก็แข่งกันบวกเลขในตั๋วรถเมล์ว่าใครบวกได้เร็วกว่ากัน

- คิดอย่างไรจึงขอทุน?
ช่วงนั้น ม.3-ม.4 มีครูเอาใบสมัครของ สสวท. (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) มาให้ เป็นโครงการที่อยู่ท้องฟ้าจำลอง ไม่ใช่โครงการ สวทช. บอกว่าถ้าเธอได้ทุนนี้เขาส่งให้เรียนจบถึงปริญญาเอกเลย เราก็เห็นว่าพ่อแม่จะได้ไม่ต้องเลี้ยงเรา แล้วก็ชอบวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว ก็เลยสมัคร

- ชอบอะไร?
เมื่อก่อนชอบอิเล็กทรอนิกส์ ชอบต่อวงจร ซื้อวงจรสำเร็จรูปจากสนามหลวงมาต่อ เช่น เครื่องจับขโมย พอทำเสร็จแล้วภูมิใจมาก เกือบไปเรียนทางด้านนั้นเหมือนกัน ต่อไปต่อมาก็รู้สึกว่าถ้าเก่งจริงต้องเป็นคนสร้าง เราก็มานั่งอ่านหนังสือว่าทำยังไงจะสร้างได้เอง พอศึกษาลงไปลึกๆ ก็รู้ว่าต้นตอคือฟิสิกส์ ก็เริ่มเปลี่ยนจากชอบอิเล็กทรอนิกส์มาเป็นฟิสิกส์ เพราะฟิสิกส์มันใช้อธิบายพวกนี้ได้หมด

- เพราะการอ่านหนังสือ?
จริงๆ ก็มีหลายอย่าง หนังวิทยาศาสตร์ผมก็ชอบดู เมื่อก่อนมีเรื่อง "คิด" รถพูดได้ (Knight Rider) ผมอยากสร้างรถแบบนี้ให้ได้สักคัน
แล้วก็ตอนเด็กๆ ผมซนมาก ตอน 5-6 ขวบ เคยเอานาฬิกาของคุณตามารื้อออกแล้วใส่เข้าไปใหม่ แต่ก็ใส่กลับไปได้ไม่หมด เหลือน็อตสปริงอยู่ 2-3 ตัว (หัวเราะ) ฝรั่งทำเกิน
อย่างวิตามินซีที่เด็กชอบกิน ผมก็เอามายัดจมูก สุดท้ายก็ต้องเอาคีมคีบออกมา

- เป็นจีเนียส?
ไม่มั้งครับ เป็นคนธรรมดาที่มีความเชื่อมั่น สมัยที่อยู่ ม.2-ม.3 มีอาจารย์คนหนึ่งบอกว่า การที่คนอื่นทำได้ เราเป็นคนก็ต้องทำได้ เพราะเราก็มีทุกอย่างเหมือนเขา

- ประดิษฐ์อะไรได้สำเร็จเป็นชิ้นแรก?
เครื่องดูฟิล์มสไลด์ คือในห้องเก็บของที่บ้านจะมีฟิล์มสไลด์ เป็นภาพจางๆ เราก็ไม่รู้ว่าเขาทำอย่างนี้ทำไม ผมก็ลองทำเครื่องดูฟิล์มสไลด์ แต่ก็ใช้ไม่ค่อยได้ เพราะหลอดไฟไม่ค่อยดี แต่มันเป็นกิจกรรมในครอบครัวเลยนะ น้องก็มาดู พ่อซื้อไฟฉายมาให้ แม่คอยให้กำลังใจ

- พ่อแม่ส่งเสริม?
ครับ แต่เขาก็ไม่ได้ตั้งความหวังว่าอยากให้เราเป็นอะไร เพียงแต่เราทำอะไรเขาก็ไม่ว่า ถ้าเห็นว่าเราทำแล้วมีประโยชน์เขาก็ส่งเสริม

- มาอยู่ สวทช.ได้ยังไง?
อ.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์ (นักวิจัยไทยผู้เชี่ยวชาญด้านโพลิเมอร์คอลลอยด์ และน้ำยางธรรมชาติ เจ้าของรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ สาขาเคมี (พอลิเมอร์) ประจำปี พ.ศ. 2539) ขอให้มาช่วย มาเป็นที่ปรึกษาฝ่ายพัฒนากำลังคนของ สวทช. ดูใน 2 เรื่อง คือ เรื่องผู้มีความสามารถพิเศษ และค่ายถาวรที่เรากำลังจะสร้าง คือมาทำกับเด็กที่มีความสามารถพิเศษโดยเฉพาะ

- ต้องมีความสามารถพิเศษ?
เรามีทัศนคติที่อยากพัฒนาคนตรงนี้ด้วย เพราะถ้าเด็กเกิดขึ้นมาปุ๊บเก่งเท่าเรา แต่สังคมเดินหน้าไปเรื่อยๆ แสดงว่าสังคมเราล้าหลังกว่าคนอื่น ฉะนั้นเด็กรุ่นใหม่ต้องเก่งกว่าผมเพื่อที่จะตามสังคมโลกให้ทัน จอห์นนี่ วอล์คเกอร์ บอกว่า หยุดเดินก็เหมือนเดินถอยหลัง หรือเดินช้าก็เหมือนเดินถอยหลัง ฉะนั้นเราต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา

- คัดเลือกเด็กอย่างไร?
ทำหลายอย่าง ดูทั้งเชิงลึกคือนำเด็กผู้มีความสามารถพิเศษจริงๆ มาพัฒนา และดูในเชิงกว้าง เปิดให้เด็กทั่วๆ ไปเข้ามาร่วมด้วย
เราเลือกเด็กโดยการส่งใบสมัครไปตามโรงเรียน หรือบางทีครูก็ส่ง และบางทีจัดกิจกรรมให้เกิดการแข่งขันเพื่อดูว่าเด็กคนไหนที่แสดงออกว่ามีความสามารถพิเศษ ก็คัดไว้ บางครั้งก็ไปเล็งตามโครงการต่างๆ เช่น เด็กโอลิมปิควิชาการ
ตอนนี้มีเด็กในโครงการประมาณ 100 กว่าคน มีทั้ง ม.ปลาย ปริญญาตรี ปริญญาโท
จริงๆ ไม่ได้คิดว่าจะหาเด็กที่พิเศษของพิเศษ แต่จะหาเด็กที่มีศักยภาพแล้วมาพัฒนาให้เป็นคนเก่งมากกว่า เพราะมีหลายครั้งที่พอเราชมว่าเขาเก่ง ปรากฏว่าเขาเห็นว่าเขาเก่งแล้วก็ไม่ทำอะไรอีกแล้ว เราจึงพยายามบอกว่า คุณมีศักยภาพที่จะพัฒนาให้เป็นเด็กเก่ง ซุปเปอร์เก่ง มากกว่า

- เป็นที่ปรึกษาให้จนถึงปริญญาเอก?
ตัวผมเป็นที่ปรึกษาโครงการ แต่เด็กจะมีที่ปรึกษาต่างหากเรียกว่า พี่เลี้ยง เรียนเหมือนกับเด็กทั่วไป พอว่างก็มาอยู่กับพี่เลี้ยงที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยีที่มีความสามารถ เด็กก็จะได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง เหมือนสมัยก่อนที่ว่าถ้าจะเป็นนักวาดรูปต้องไปปวารณาตัวเป็นศิษย์กับอาจารย์ นี่ก็เป็นแนวคิดเดียวกัน คือให้เด็กไปคลุกคลีกับนักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยีอยู่ในแล็บ เล่นไปเล่นมา แล้วก็เกิดการเรียนรู้

- เขามักจะบอกว่าคนอัจฉริยะ เราคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง
ต้องฝึกมั้งครับ จริงๆ แล้วผมไม่คิดว่าเด็กอัจฉริยะพูดไม่รู้เรื่อง เด็กทั่วไปก็พูดไม่รู้เรื่อง เพราะเขาไม่ได้ถูกฝึกให้พูด ถ้าเราอยากให้เยาวชนของเราพูดรู้เรื่อง เราก็ต้องฝึกให้เขาพูด

- เหมือนคิดเร็วกว่าปากพูด?
ครับ ส่วนหนึ่งก็คงต้องบอกเด็กว่า การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งมันไม่ใช่แค่กับนักวิทยาศาสตร์อย่างเดียว ถ้าวันหนึ่งเราขึ้นไปเป็นผู้นำก็ต้องมีทักษะในการสื่อสารที่ดีด้วยเช่นกัน คือเรามองว่าเขาต้องมีศักยภาพอะไรบ้าง เราจะมีการอบรมทุกปี

- เด็กไทยที่เก่งๆ มีเยอะ?
ผมว่ามีเยอะ แต่เราต้องทำให้สังคมของเราเอื้อต่อการเรียนรู้มากกว่านี้ ครูต้องกระตุ้นให้เด็กเกิดความคิด อย่าไปยึดติดกับเรื่องเนื้อหามากเกินไป ควรสนใจเรื่องกระบวนการว่าทำยังไงจึงจะได้ความรู้ อย่างผมดูรายการชั่วโมงโลกตะลึง ย้อนเหตุการณ์ตอนที่มีการปล่อยยานอวกาศขึ้นไปบนท้องฟ้า แล้วยานอวกาศระเบิด เขาสามารถสืบหาจนรู้ว่าเป็นเพราะผงเล็กๆ ที่ลอยมากระทบปีก แล้วฝุ่นชิ้นเล็กๆ นี้มันหล่นลงมาตอนที่ยานอวกาศมันไปสูงมากแล้ว ไม่รู้ค้นพบได้ไง

- เด็กไทยได้รับการส่งเสริมมากขึ้นหรือยัง?
ก็คงต้องมีการส่งเสริมกันต่อไป ถ้าพอแล้วเราก็น่าจะขึ้นมาอยู่ในระดับแนวหน้า

- เด็กในโครงการไอคิวเท่าไหร่?
ประมาณ 130-140 จริงๆ วัดไอคิวก็บอกอะไรไม่ได้
ไอคิว 180 ก็อาจจะมี คือเราไม่รู้ว่าระหว่างเขาทำข้อสอบมันซีเรียสแค่ไหน แล้วก็ไม่รู้ว่าข้อสอบไอคิวมีมาตรฐานหรือเปล่า มันอาจจะเหมาะกับเด็กฝรั่ง แต่ไม่เหมาะกับเด็กไทยก็ได้ และการจะประสบความสำเร็จ ไม่ได้มาจากไอคิวอย่างเดียว แต่อยู่ที่ว่าคิดแล้วทำเป็นหรือเปล่า ถ้าเอาแต่คิดไม่ได้ลงมือทำ...เส้นกั้นระหว่างเพ้อเจ้อกับคนที่ประสบความสำเร็จมันบางนิดเดียว

- ที่เรียกว่าฉลาดต้องไอคิวเท่าไหร่?
120 ก็ฉลาดแล้วครับ จริงๆ 135 ก็พิเศษแล้ว ถ้า 140 เข้าขั้นอัจฉริยะ

- นักเรียนทุนจบกลับมาไม่มีข้อผูกพัน?
ไม่ต้องใช้ทุน แต่เราก็หวังให้เขารู้สึกว่าต้องกลับมาทำอะไรบางอย่างเพื่อประเทศชาติ เนื่องจากเราเป็นศูนย์แห่งชาติ เราผลิตบุคลากรให้ประเทศ  ซึ่งจริงๆ แล้วการที่เขาไปทำงานอยู่เมืองนอก ไม่ใช่ว่าไม่ดีเสียทีเดียว ถ้าลูกศิษย์ของเราไปอยู่เมืองนอก แล้วไปอยู่ในองค์กรที่เป็นผู้ตัดสินใจ อย่าง ยูเอ็น สามารถตัดสินใจอะไรบางอย่างได้ เราก็มีเครือข่าย มีความร่วมมือได้ เขาก็สามารถกลับมาช่วยประเทศชาติในมุมมองหนึ่งได้ ฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสียทีเดียว
- ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องสมองไหล?
เป็นเรื่องที่เราต้องควบคุม แต่ไม่ใช่ต้องไปกีดกัน 100% เพราะบางประเทศอย่าง อินเดีย สิงคโปร์ก็มีปัญหาเรื่องนี้ แต่ปรากฏว่าคนของเขาเก่งขนาดที่ไปเป็นผู้มีอำนาจในองค์กรที่มีความสำคัญในระดับโลก การจะไปขอความช่วยเหลือเขาเป็นเรื่องที่ง่าย ซึ่งคนที่เก่งมากๆ แล้วกลับมาช่วยเหลือประเทศตัวเองก็มีให้เห็นอยู่เยอะแยะ

- ตัวอาจารย์มีปัญหาการทำงานร่วมกับคนอื่น?
ผมไม่ได้เป็นคนแข็ง ไม่ได้ถือว่าเป็นคนเก่งที่สุดในโลก แต่นอบน้อม ในแง่หนึ่งเราก็อยากให้ทุกคนชอบเรา ผมมีความเชื่อว่าถ้าเราทำความดี สุดท้ายมันต้องปรากฏ

- เด็กเหล่านี้ก็จะเป็นอย่างนั้น?
ผมไม่รู้ แต่หวังว่าเด็กจะดีกว่าผม เพราะคลื่นลูกใหม่ย่อมแรงกว่าคลื่นลูกเก่า ถึงจะเป็นสึนามิถ้าเป็นสึนามิทางปัญญา รับรองประเทศชาติเจริญแน่นอน แต่เก่งอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีคุณธรรมด้วย ซึ่งเราพยายามปลูกฝังให้เขาด้วย

- แต่เด็กวิทย์พอถามว่าอยากเป็นอะไร มักตอบว่าหมอ วิศวกร
มันต้องช่วยๆ กัน คนเราชอบความเสี่ยงต่ำสุด เป็นหมอมีความเสี่ยงต่ำสุด ได้เงินเดือนเยอะกว่าคนอื่น เป็นนักวิทยาศาสตร์กินอะไรก็ไม่รู้ แต่ผู้ใหญ่ในกระทรวงวิทยาศาสตร์ แม้แต่ใน สวทช.ก็พยายามที่จะปรับปรุงสิ่งที่เรียกว่าเป็นเส้นทางอาชีพของนักวิทยาศาสตร์ให้มีรายได้ที่พอเพียง

- เป็นนักวิจัยพอกิน?
ผมว่า...ผมพอครับ ถ้าเราอยู่อย่างพอเพียง

- ได้รางวัลนักประดิษฐ์คิดค้นปี"48 ตอนนี้เป็นนักประดิษฐ์แล้ว?
เป็นผลงานร่วมกับเด็กของ สวทช. ทำลำโพงจากกระดาษฟรอยด์ แต่หลังๆ ผมไม่ค่อยได้ประดิษฐ์ คือตอนที่ทำเรามีเป้าหมายอยู่ พอทำเสร็จเราพอใจแล้วก็เลิก ไปทำอย่างอื่นที่ท้าทายมากกว่า

- ไม่คิดเป็นนักประดิษฐ์แล้ว?
ไม่ล่ะครับ มีคนที่ทำเก่งกว่าผมเยอะ ผมก็ไปทำงานที่ผมเชี่ยวชาญ...ด้านดูแลเด็ก และก็มีงานวิจัยอยู่บ้าง เพียงแต่ว่ามันเป็นทฤษฎีมากๆ

- ปีนี้ สวทช.ครบ 10 ปี ยังจะมีโครงการนี้ต่อ?
แน่นอนครับ แต่ก็ต้องดูว่าเรามีอิมแพคกับสังคมมากน้อยแค่ไหน กำลังคุยกันเรื่องงบประมาณ ซึ่งปีหนึ่งรับได้ประมาณ 10-15 คน

หมายเลขบันทึก: 153844เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2007 23:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท