ภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติ เรื่องคำพ่อสอน


ขอเชิญชมภาพยนต์เฉลิมพระเกียรติ เรื่อง คำพ่อสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา โดยโปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการวันที่ 19 ธันวาคม 2550 ณ หอประชุมใหญ่ มรอ.

          ภาพยนตร์สั้นเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคล เฉลิมพระชนม์พรรษา 80 พรรษา เรื่อง คำพ่อสอน บ้านอาโย๊ะ ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่จัน (ในขณะนั้น ปัจจุบันคืออำเภอ แม่ฟ้าหลวง) จังหวัดเชียงราย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฏรในหมู่บ้านแห่งนั้น ทรงมีพระราชดำรัส และพระราชทานโครงการหลวงต่าง ๆ แก่ราษฎร บ้านอาโย๊ะ และมีพระราชปฏิสันถารโดยทั่วถึง ยังความปลาบปลื้มแก่ชาวเขาเผ่าอาข่าแห่งนั้นเป็นอย่างยิ่ง
            อาเหย่ว เยอส่อ เด็กหนุ่มชาวชนเผ่าอาข่า คือ คนหนึ่งที่ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในวันนั้น พ.ศ. 2549
            บ้านอาโย๊ะ 30 ปีต่อมา อาเหย่ว เยอส่อ คือครูผู้สร้างและรักษาจิตวิญญาณสุดท้ายเพื่อเด็กบนดอย 30 ปีที่ผ่านมา อาเหย่ว ได้พบเห็นความหายนะที่เข้ามาทำลายชีวิตของเพื่อนบ้าน ญาติที่น้อง บ้านอาโย๊ะวันนี้ ไม่มีใครปลูกฝิ่นอีกแล้ว แต่ยาเสพติดชนิดอื่นก็เข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่อยู่ห่างไปไม่ไกล บนขุนเขายอดดอยที่ไปมาหากันโดยง่าย และแล้วความโลภ ความเชื่อที่ถูกหลอกโดยง่าย ความหลงไหลในแสงสี ชีวิตสมัยใหม่ ที่ถาโถมเข้ามาบนยอดดอยนี้ พัดพาผู้คน ชนเผ่าอาข่า ต่างพากันค่อย ๆ ลืม "คำพ่อสอน" ไปทีละน้อย
           ยาเสพติด โรคเอดส์ค่อย ๆ พราก พี่น้อง เพื่อนฝูงเผ่าอาข่าของอาเหย่ว ไปทีละคน สองคน จิตวิญญาณบนดอยค่อย ๆ ถูกกลืนหายไป ประจักษ์พยานที่น่าตกใจ อาเหย่ว พบว่ามีเด็กชนเผ่าเดียวกันกับเขา กลายเป็นเด็กกำพร้า ไม่มีพ่อแม่ เด็ก ๆ เหล่านี้คือเหยื่อทางสังคม ที่เกิดจากพ่อ แม่ ที่ลืม "คำพ่อสอน"

           คำพ่อสอน  ที่พ่อฟ้าหลวง พระราชทานไว้ในโครงการฝึกอาชีพด้านต่าง ๆ เพื่อให้ชนเผ่าอาข่าเลิกปลูกฝิ่น และได้รับการศึกษาที่ดีขึ้นเพื่อสร้างโอกาสไม่ต้องลงไปขายบริการในเมือง พระราชกระแสที่พ่อฟ้าหลวง เน้นย้ำให้พึ่งพาตนเอง และพอเพียงตามขบวนวิถีชนเผ่าของตน 30 ปีผ่านไป วันนี้ลูกหลานกลับหลงลืม ไม่ให้ความสำคัญเหมือนบรรพบุรุษ ปัญหาในอดีต กลับมาอีกครั้งและรุนแรงกว่าเดิม
         อาเหย่วไม่มีที่จะถอยหนี เด็กกำพร้าเหล่านี้ไม่มีที่จะไป อาเหย่วยังจำคำพ่อสอนได้ และเห็นว่าจะต้องยืนหยัดต่อสู้ เพื่อสร้างภูมิค้มกัน ป้องกัน ปลูกฝังให้เด็กน่าสงสารเหล่านี้ ไม่ให้ตกไปในวังวนของความชั่วร้ายเหล่านั้น เขาจะสร้างและรักษา "จิตวิญญาณบนยอดดอย ตามคำพ่อสอนให้ได้ แม้จะโดดเดี่ยวบนยอดดอย
          ด้วยเหตุนี้ อาเหย่ว ส่อ ชายวัยกลางคน ชนเผ่าอาข่า ผู้นี้ จึงสร้าง "ศูนย์พระพร เพื่อพัฒนาเยาวชน" ขึ้น ศูนย์พระพร พระพรจาก พ่อฟ้าหลวงที่เขายังจำได้ ศูนย์แห่งนี้ สร้างขึ้นเพื่ออุปการะ เด็กกำพร้า เกือบยี่สิบชีวิต ให้มีอาหารกิน มีที่อยู่อาศัย ที่สำคัญคือ อาเหย่ว ผู้นี้จะเป็นครู ที่อบรมสั่งสอน ให้เด็กกำพร้าเหล่านี้ เรียนรู้ คำพ่อสอน เพื่อชีวิตที่ดีในอนาคต
          ยามเย็นเด็ก ๆ จะมานั่งล้อมลง หัดและร้องเพลงของชนเผ่า ที่เล่าถึงวิถีชีวิต อันงดลาม แม้ทุกข์ยากก็ช่วยปกป้องดูแลกันมายาวนาน ของชนเผ่า ยามมีเวลา อาเหย่ว ช่วยสร้างและฟื้นจิตวิญญาณสุดท้ายบนดอยนี้ เพื่อเด็กกำพร้าเหล่านี้ เขาจะพาเด็ก ๆ ขึ้นเขาไปดูตาน้ำ แหล่งที่มาของน้ำที่หล่อเลี้ยงผู้คนบ้านอาโย๊ะ และสอนให้รักษา และช่วยกันรักษา พาไปดูแลช่วยกันซ่อมฝายกั้นน้ำ ปลูกฝังการอยู่กับธรรมชาติ โดยไม่ทำลายธรรมชาติ เด็ก ๆ ได้เข้าร่วมพิธีอันเก่าแก่และงดงามของชนเผ่า ที่นับวันจะเลือกหาย สอนให้รัก เคารพบรรพบุรุษ สอนให้ไม่หลงใหลไปกับสิ่งจอมปลอมที่ทำให้ชีวิตไม่รู้จักพอเพียง สอนให้รักและบูชา พ่อฟ้าหลวง ผู้ประทาน คำพ่อสอน แก่ชนเผ่า สอนให้รักประเทศไทย ที่ชนเผ่าอาศัยอยู่ในพระบรมโพธิสมภาร อันร่มเย็นยาวนาน ทุก ๆ เช้า เด็กน้อย ๆ ชาวอาข่า พากันร้องเพลงชาติไทย อย่างภาคภูมิใจ เด็กชนเผ่าอาข่าเหล่านี้ แม้ยากจน ด้อยโอกาส แต่ก็ยังมีประเทศให้อยู่ ประเทศที่ให้สัญชาติ มีสิทธิเท่าเทียมกับคนไทยทุกประการ ลนที่ลาดเอียง ขอบหุบเขา กระท่อมน้อยจวนพัง แวดล้อมด้วยต้นไม้เล็ก ๆ และสวนครัว ที่ครูและเด็กแห่งศูนย์พระพรช่วยกันปลูก คือ "บ้าน" อันผาสุกของเด็ก ๆ ชนเผ่าอาข่าเหล่านี้

            ศูนย์พระพรเพื่อพัฒนาเยาวชนแห่งนี้ คือ ที่มั่นสุดท้ายของ อาเหย่ว เยอส่อ ครูผู้สร้างและรักษาจิตวิญญาณสุดท้ายเพื่อเด็กบนยอดดอย อาเหย่ว เยอส่อ ผู้อุทิศชีวิตให้กับการทำตาม คำพ่อสอน อาเหย่ว เยอส่อ ผู้พิทักษ์เด็กกำพร้าชนเผ่าอาข่า คนเล็ก ๆ คนหนึ่งในสังคม แต่ยิ่งใหญ่ในเจตนารมย์อันสูงส่ง ครูผู้ยากจน ชนเผ่าอาข่าบนยอดดอย ห่างไกล แต่ไม่ไกลเกินกว่าพระเนตร พระกรรณของพ่อฟ้าหลวง เราไม่ทราบได้ว่า ขนเผ่าอาข่า มาจากไหนและอยู่ในที่ใด ๆ มานานเท่าไรแล้ว แต่วิถีชีวิต วัฒนธรรมอันเก่าแก่ งดงามของชนเผ่านี้ แสดงออกถึงการมีวัฒนธรรมสูง ไม่แน่นัก วัฒนธรรมอาจเก่าแก่ มาพร้อมกับกาลเวลา ที่เกิดขึ้นของเทือกเขาลับที่โอบอุ้มก็ได้
         ชนเผ่านี้ แสดงออกถึงการมีวัฒนธรรมสูง ไม่แน่นัก วัฒนธรรมอาจเก่าแก่ มาพร้อมกับกาลเวลา ที่เกิดขึ้นของเทือกเขาลับที่โอบอุ้มก็ได้ ชนเผ่าอาข่าผู้รักสงบ อย่างน้อยก็มีผู้จุดประกายไฟแห่ง คำพ่อสอนให้ลุกโชนขึ้นอีกครั้ง แม้จะเป็นประกายไฟที่เล็ก เกิดจากคนตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งก็ตาม คำพ่อสอน อาจจะเป็นเช่นเดียวกับหุบเหวและเทือกเขา ชายแดน ราชอาณาจักร คือ อาจเกิดมาในกาลเวลา แต่จะคงอยู่ตลอดกาลเช่นเดียวกับกาลเวลา

         " ผมเพียงพยายามสร้างโอกาสและรักษาที่มั่นสุดท้าย เพื่อไม่ให้วงจรอุบาทว์มาพรากเด็ก ๆ ในหมู่บ้านไปจากวิถีอาข่าดั้งเดิม" นี่คือคำพูดของอาเหย่ว เยอส่อ ครูดอยคนนั้น

ปัจจุบัน อาเหย่ว เยอส่อ มีชื่อตามบัตรประชาชนไทยว่า ชำนาญ เยอส่อ ศูนย์พระพรเพื่อพัฒนาเยาวชน ตั้งอยู่ เลขที่ 19/3 หมู่ 7 บ้านอาโย๊ะใหม่ ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย 57110

 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท