ป่าพรุสิรินธรหรือป่าพรุโต๊ะแดง


ป่าต้นน้ำที่มีความสำคัญในประเทศที่เหลือนจ้อยเต็มที
ป่าพรุสิรินธรหรือป่าพรุโต๊ะแดง
                ป่าพรุโต๊ะแดง เป็นป่าพรุที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  ครอบคลุมพื้นที่ของ 3 อำเภอ คือ อ.ตากใบ อ.สุไหงปาดี และอ. สุไหงโกลก อยู่ห่างจากสุไหงโกลกประมาณ 10 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางสุไหงโกลก-ตากใบ กิโลเมตรที่ 5 เลี้ยวซ้ายตรงแยกชวนะนันท์เข้าไปประมาณ 3 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการของ "ศูนย์ศึกษาป่าพรุธรรมชาติสิรินธร" ป่าพรุโต๊ะแดงเป็นป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์ป่า และป่าไม้ธรรมชาติที่หาดูได้ยากซึ่งมีสัตว์ป่ากว่า 200 ชนิด และมีอีกหลายชนิดที่ใกล้จะสูญพันธุ์ เช่น เสือดำ กระรอก 7 สี หนูสิงคโปร์ กระรอกบินแก้มแดง ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีพืชพรรณต้นไม้อีกกว่า 400 ชนิด เช่น  บัววิคตอเรียหรือบัวกระด้ง  ต้นโกงกางใบใหญ่  ต้นจาก  ต้นหลุมพี  ต้นหมากแดง ฯลฯ 
ความเป็นมา
                        ป่าพรุจัดอยู่ในจำพวกป่าไม่ผลัดใบ เกิดอยู่ในบริเวณที่เป็นแอ่งน้ำขัง  สำหรับป่าพรุสิรินธรแต่เดิมมีชื่อเรียกว่า ป่าพรุโต๊ะแดง ตามชื่อคลองโต๊ะแดงที่ไหลผ่านพรุแห่งนี้  ในอดีตป่าผืนนี้เคยมีพื้นที่ป่าสมบูรณ์ดังเดิมนับแสนไร่ และได้เอื้อประโยชน์มากมาย  แต่จากการใช้พื้นที่อย่างผิดๆด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในอดีต เป็นสาเหตุให้ป่าพรุถูกทำลายลงไปอย่างรวดเร็ว ทางกรมพัฒนาที่ดินและกรมป่าไม้ภายใต้โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้ดำเนินการแก้ไข  โดยประกาศจัดตั้งเป็นเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี และจัดตั้งศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร เพื่อให้การดำเนินงานศึกษาวิจัยระบบนิเวศป่าพรุเป็นไปอย่างได้ผลอีกทั้งจัดสร้างเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ
ป่าพรุเพื่อประชาสัมพันธ์ความรู้ด้านต่างๆที่เกี่ยวกับธรรมชาติของป่าพรุไปสู่ประชาชนในวงกว้างซึ่งเริ่มขึ้นในช่วงปลายปี พ.ศ. 2529
                        สำหรับพื้นที่ในเขตอนุรักษ์ประมาณ 125,000 ไร่ โดยยังคงมีป่าสมบูรณ์ดังเดิมหลงเหลืออยู่ประมาณ 57,000 ไร่ จัดว่ามีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดและมีความหลากหลายของพืชและสัตว์มากที่สุด
                        ในป่าพรุแห่งนี้ มีพืชพรรณไม้ดอกอาศัยอยู่ประมาณ 109 วงศ์ จำนวน 450 ชนิด พืชไร้ดอก จำพวกเฟิร์นประมาณ 15 วงศ์ จำนวน 40 ชนิด และยังไม่รวมพืชชั้นต่ำจำพวกมอสอีกมากมาย และยังมีพวก เห็ด รา ที่คาดกันว่าอาจมีอยู่อีกหลายร้อยชนิด
                        การที่ป่าพรุโต๊ะแดงอยู่ค่อนมาทางส่วนปลายของคาบสมุทรมลายูทำให้ได้รับอิทธิพลของ พรรณพืช เขตมาเลเซีย ต้นไม้หลายชนิดจึงพบเห็นได้เฉพาะในป่าพระแห่งนี้เท่านั้น เช่น หมาก แดง พืชในวงศ์ปาล์มที่สวยงามและหาชมได้ยาก ปาหนันช้าง พืชในวงศ์กระดังงาที่มีดอกใหญ่ และยังกล้วยไม้กับพืชเล็กๆ แปลกตาอีกมากมาย
                        พื้นที่ของป่าพรุส่วนใหญ่เป็นหล่มเลนไม่เหมาะให้สัตว์ขนาดใหญ่มาอยู่อาศัย ดังนั้นสัตว์ขนาดโตที่สุดจึงได้แก่ หมีหมา และ เสือดำ นอกจากนั้นส่วนมากเป็นสัตว์ขนาดเล็กอื่นๆ ซึ่งเป็นจำพวกที่สามารถเกาะไต่อยู่ตามเรือนยอดไม้ได้ เช่น ลิงแสม ค่างแว่นถิ่นใต้ กระรอก เป็นต้น แต่ที่นับว่าน่าสนใจก็คือ นกที่หายากชนิดต่างๆ ตลอดจนสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และแมลงแปลกๆ อีกนานาชนิด
                        ซึ่งจากการสำรวจชนิดและสถานภาพของทรัพยากรสัตว์ป่า ในบริเวณป่าพรุสิรินธรพบว่ามีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 50 ชนิด นก 195 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 30 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำ สะเทินบก 14 ชนิด และยังไม่รวมสัตว์น้ำ กับแมลงที่อาจมีอยู่อีกมากมาย ในความหลากหลายนี้มี สัตว์ที่หายากจำนวนหลายสิบชนิด อย่างเช่น เสือไฟ นากเล็กเล็บสั้น กระรอกบินแก้งแดง อีเห็นน้ำ เหยี่ยวปลาใหญ่หัวเทา นกตะกรุม กิ้งก่าบิน และจระเข้น้ำเค็มเป็นต้น แต่ที่นับว่าเป็นสัตว์หายากยิ่ง ซึ่งคาดว่ายังคงมีหลงเหลืออยู่ในป่าพรุแห่งนี้ ก็คือ แมวป่าหัวแบน สัตว์ป่าคุ้มครองที่หายากอีกชนิดของไทย
                        ทางเดินศึกษาธรรมชาติของป่าพรุสิรินธร ประกอบด้วยอาคารศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติ ป่าพรุสิรินธร ซึ่งเป็นส่วนที่มีการจัดแสดงนิทรรศการที่เป็นแผนภาพและแบบจำลอง ต่อด้วยเส้นทางเดินป่าที่มีความยาวประมาณ 1,200 เมตร เป็นสะพานไม้มีรั้วกัน หลังจากนั้นจะเป็นแนวป่าทึบ ในขณะเดียวกันก็จะได้ศึกษาถึงสภาพของดิน ระบบของราก-การดูดซึม น้ำ สัตว์ป่าและพืช พรรณไม้ในป่าพรุ และสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการส่องกล้องมองดูนกก็ไม่ควรพลาดขึ้นไปชมนกบนหอคอย  ซึ่งต้องข้ามพ้นสะพานแขวนไปเล็กน้อย
                        สำหรับฤดูกาลที่เหมาะแก่การมาเที่ยวชม คือ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน เพราะมีฝนตกน้อยกว่าเดือนอื่นๆ  สำหรับเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธรนี้จะเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมทุกวันโดยไม่เก็บค่าบริการ ตั้งแต่ 8.00 น-16.30 น. สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร โทร 01-7150159 หรือจะสอบถามได้ที่สำนักงาน ททท.ภาคใต้เขต 3 โทร (073)612126,615230
                        ที่มาของข้อมูล :คู่มือท่องเที่ยวธรรมชาติ ป่าพรุสิรินธร จังหวัดนราธิวาส จัดทำโดย สำนักงาน ททท. ภาคใต้เขต 3(นราธิวาส ยะลา ปัตตานี)
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15311เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2006 10:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 18:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท