การบริหารการเงินและการระดมทุนเพื่อการบริหารอุดมศึกษา


          ในหลักสูตรการพัฒนาผู้บริหารระดับสูงมหาวิทยาลัย  รุ่นที่ 17  ของ สกอ. ที่ กทม.  เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2550  ศ.บุญเสริม วีสกุล  อธิการบดีกิตติคุณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  ได้ให้เกียรติมาบรรยายเรื่อง การบริหารการเงินและการระดมทุนเพื่อการบริหารอุดมศึกษา

          นับเป็นบุญวาสนาของดิฉัน  ที่ถูกกำหนดให้เป็นผู้สรุปบทเรียน ตลอดการบรรยาย 3 ชั่วโมงดังกล่าว 

          ดิฉันพยายามเก็บความมาโดยละเอียด ทั้งด้วยหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายและด้วยความประทับใจในการบรรยายครั้งนี้เป็นอย่างมาก  เพราะมีเรื่องลึกๆ หลายเรื่อง ที่กลั่นจากประสบการณ์จริงของผู้บริหารการศึกษาระดับสุดยอดปรมาจารย์  จะหาฟังที่ไหนคงไม่ได้ง่ายๆ  ดิฉันขอถ่ายทอดให้กัลยาณมิตรทุกท่านได้ทราบด้วย  ดังนี้


   
เรื่องที่บรรยาย มี 6  เรื่อง คือ
1. การเงินในบริบทของการบริหารองค์กร
2. หลายมิติของการบริหารจัดการเงินเพื่อการศึกษา
3. การบริหารเงินภายในแต่ละสถาบัน
4. เม็ดเงินในระบบอุดมศึกษา
5. การจัดการเงินเพื่ออุดมศึกษาตามความต้องการของชาติ
6. ทรัพยากรการศึกษาที่ขาดแคลน  และการระดมทรัพยากรเพื่ออุดมศึกษา

1. การเงินในบริบทของการบริหารองค์กร
          การบริหารการเงิน  เป็นหนึ่งในหลาย ๆ ส่วนของการบริหารสถาบันอุดมศึกษา ที่ประกอบด้วย
- การบริหารด้านวิชาการ (Academic Management)
• การเรียนการสอน
• การวิจัย
• การฝึกอบรม
• การให้บริการวิชาการแก่สังคม
- การบริหารงานทั่วไป (General Administration)
- การบริหารและการพัฒนาบุคคล โดยเฉพาะอาจารย์ซึ่งต้องพัฒนาอยู่เสมอ
การบริหารการเงิน  การตั้งงบประมาณ  การควบคุม การหาทรัพยากรมาเพิ่มเข้าสู่ระบบ  เงินเปรียบเสมือนเลือดที่ใช้หล่อเลี้ยงองค์กร
- การบริหารกิจการเกี่ยวกับนักศึกษา
- การตลาดและการประชาสัมพันธ์ (Marketing Communication)

องค์ประกอบสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหาร 
1. ต้องมีความรู้ด้านวิชาการ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องมีความรู้ดีในสาขาของตน และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ จะต้องมีความสำนึกและความตระหนักของความสำคัญของความรู้ทางวิชาการ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ทำงานด้วยกันตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ตามกันไป

2. ต้องมีความสามารถในการบริหารและเข้าใจในระบบบริหาร  ผู้บริหารที่ดีต้องเข้าใจทั้งระบบ  Key word คือคำว่า “ระบบ”  ต้องรู้ว่าการบริหารมีองค์ประกอบอะไรบ้าง และแต่ละองค์ประกอบมีความสัมพันธ์กันอย่างไร

3. ต้องมีความสำนึกในหน้าที่ต่อสังคม  สังคมในที่นี้ หมายถึงสังคมภายในมหาวิทยาลัย  สภามหาวิทยาลัย  ตลอดรวมถึงสังคมภายนอก ระดับประเทศ  เศรษฐกิจ  การเมือง 

4. ต้องมีความซื่อตรงต่อตัวเองและวิชาการ ไม่อาศัยเรื่องวิชาการไปหลอกลวงผู้อื่น 
5. ต้องมีความซื่อตรงและโปร่งใสในการบริหาร โดยยึดหลัก  good  governance

6. ต้องมีวิสัยทัศน์ (Vision)  มีความกล้าที่จะมองไปข้างหน้า

7. ต้องมี Sense of Mission คือมี sense ที่จะทำฝันให้เป็นจริง คนที่มีแต่ vision อย่างเดียวแต่ทำไม่ได้ เรียกว่า เพ้อเจ้อ ผู้บริหารจะต้องเป็นคนที่มี sense of mission

การบริหารงาน  - เปรียบเทียบ
          (1) การบริหารธุรกิจ เราใช้คำว่า Manage คนที่ทำงานอย่างนี้เรียกว่า manager หรือ managing director  คนที่ทำงานอย่างนี้เป็นคนที่ทำกับมือ  ธุรกิจเป็น Objective oriented มี Profit Motive เป็นแรงผลักดัน  มีลักษณะฉกฉวยโอกาส และใช้สามัญสำนึก

          (2) การบริหารรัฐกิจ  เราใช้คำว่า Administer  คนที่ทำงานแบบนี้มือไม่ต้องคลุกฝุ่น เพราะเป็น  Procedure oriented มีแรงผลักเป็น Power / Survival / Promotion  motive  ทำยังงัยถึงจะมีอำนาจ หรือเงินเดือนขึ้น บริหารงานตามตัวบทกฎหมาย  ระเบียบ  นโยบายรัฐบาล  มติ ครม. มติที่ประชุม  การบริหารใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นหลัก  บางที director ไม่รู้งาน และไม่เรียนรู้งานด้วย การบริหารแบบไทยๆ จะเป็นการบริหารแบบพรรคพวกด้วย  ถ้าพวกเดียวกันก็ดำเนินการได้ง่าย ถ้าคนละพวก ก็จะอ้างระเบียบ ดำเนินการยาก ทำให้เกิด double standard

          (3) การบริหารสถาบันอุดมศึกษา  เหมือน (2)  แต่มีความเป็นอิสสระ แบบ (1) ได้บ้าง   การเงินมีทั้งงบแผ่นดินและงบพิเศษ (กฎหมายเอื้อภายใต้เสรีภาพทางวิชาการ) ปัจจุบันมีแนวโน้มที่มหาวิทยาลัยจะเป็นรัฐธุรกิจ มากขึ้น  การบริหารบุคคลทำได้ยากกว่า  เพราะแต่ละคนมีความรู้

          (4) การบริหารรัฐวิสาหกิจ  เป้าหมาย คือ แบบ (1) แต่ต้องปฏิบัติตาม (2) จึงไม่คล่องตัวเท่า   มีลักษณะผูกขาด  เป็นฐานเงินและอำนาจของนักการเมือง  บางแห่งยอมขาดทุนเพราะบริการประชาชน  มีการเอื้อประโยชน์ระหว่างองค์กรของรัฐด้วยกัน


2.   หลายมิติของการบริหารจัดการเงินเพื่อการศึกษา
      การเงินเพื่อการศึกษา อาจพิจารณาได้หลายมิติ  ดังนี้
      2.1 มิติในระดับสถาบัน  (โรงเรียน / วิทยาลัย / มหาวิทยาลัย )  เช่นเมื่อพิจารณาในฐานะผู้บริหารเงินในมหาวิทยาลัย)

      2.2 มิติภาพรวมเป็นราย sector  (ภาพรวมระหว่างสถาบัน)  เช่นเมื่อพิจารณาในฐานะ กระทรวง  สกอ. ฯลฯ

      2.3 มิติรูปแบบการบริหารจัดการการเงินที่มีประสิทธิภาพ (methodology /model ต่างๆในการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ)

      2.4 มิติระดับครัวเรือน  เมื่อพิจารณาในฐานะพ่อ แม่ ผู้ปกครอง

      2.5 มิติการจัดการเงินและการลงทุนเพื่อการศึกษาในระดับมหภาค  เป็นการพิจารณาการใช้เงินเมื่อแข่งขันกับ การใช้เงินเพื่อการอื่นๆ เช่น การคมนาคม การทหาร ในแต่ละปี เรามีงบประมาณของรัฐอยู่ก้อนหนึ่ง เราจะดึงมาใช้เพื่อการศึกษามากน้อยแค่ไหน 

    2.1  มิติระดับสถาบัน 
          ขึ้นอยู่กับว่าท่านดำรงตำแหน่งอะไร เช่น เจ้าหน้าที่การเงิน คณบดี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร หรืออธิการบดี  จริงๆ แล้วผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องมีความรู้ในกิจกรรมการบริหารเงินในมหาวิทยาลัย เหล่านี้ คือ
(1) การกำหนดนโยบายการเงินและการบัญชี  อันนี้สำคัญมาก  ต้องรู้ code ของบัญชีทำยังงัย  structure ของการทำบัญชีเป็นอย่างไร เพราะจะบอกให้เราทราบว่า เวลาบริหารงานจะคุมการเงินในหน่วยงานไหน อย่างไร เรื่องนี้ผู้บริหารส่วนใหญ่ไม่ทราบ
(2) การตั้งงบประมาณและการควบคุมงบประมาณ 
(3) กระบวนการอนุมัติและเบิกจ่ายตามระเบียบ และการควบคุมเอกสาร เป็นข้อกำหนดของกระทรวงการคลัง  ส่วนใหญ่จะทราบเรื่องนี้กันดี ปัจจุบันก็ใช้ระบบอิเล็คทรอนิกส์กันมากขึ้น
(4) การเก็บรักษาเงิน และการควบคุมการไหลของกระแสเงิน
(5) การทวงหนี้  ในระบบราชการไม่ค่อยมีคนเบี้ยวหนี้เหมือนธุรกิจ
(6) การทำบัญชีงบดุลและการแสดงผลประกอบการทางการเงิน  เรื่องนี้ราชการก็ทำไม่เป็น เพราะไม่มีบัญชี สกอ.พยายามที่จะให้หน่วยราชการทำบัญชีงบดุล  แจงกำไรขาดทุน ราชการใช้เงินเท่าที่ได้ เพราะไม่รู้จะกำไรไปทำไม  ถ้าไม่พอก็โอนหมวดเงิน ฯลฯ
(7) การคำนวณและการวิเคราะห์ต้นทุนผลิต  เรื่องนี้ราชการก็ไม่ทำ  เพราะไม่ทราบว่าจะทำไปทำไม ไม่ต้องคิดว่าทำแล้วจะคุ้มมั้ย

การใช้ระบบและกระบวนการทางการเงินและงบประมาณ เพื่อควบคุมการดำเนินงานภายในมหาวิทยาลัย

          ธุรกิจทุกชนิด ใช้กระบวนการทางการเงิน การบัญชี  เพื่อควบคุมการดำเนินงาน ข้อมูลต่างๆ มีความสำคัญต่อการตัดสินใจมาก

(1) การทำบัญชีครุภัณฑ์และทรัพย์สิน  ฝ่ายราชการบริหารเรื่องนี้ได้แย่มาก  แม้ว่าจะมีการทำบัญชี  เพราะมี สตง. มาตรวจทุกปี  บัญชีต้องมีของครบแม้ว่าจะซื้อมานานหลายปีแล้วก็ตาม  ถ้าจะทิ้งก็เป็นเรื่องยุ่งยาก ความจริงเหล่านี้เป็นภาพลวง ทำเพื่อไม่ให้ผิดกฎหมายเท่านั้น บัญชีครุภัณฑ์และทรัพย์สินเป็นเพียงส่วนหนึ่งของบัญชี ซึ่งจะต้องแทงครุภัณฑ์เป็นศูนย์ หรือแทงค่าเสื่อมราคา ทุกปี 
(2) การสร้างเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การระดมเงินจากแหล่งบริจาค  ส่วนนี้ราชการพอมี  แต่เงินจะกระจัดกระจาย ไม่เป็นระบบ  ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหนบ้าง แอบอยู่ในมูลนิธิ  คณะ  ภาควิชาต่างๆ  ทำให้ไม่เห็นภาพรวม  แต่ก็มักไม่เปิดเผย โดยถือเป็นประเพณีปฏิบัติว่าไม่เปิดเผย  เมืองนอกจะเปิดเผยอย่างเป็นทางการว่ามีเงิน endowed มี asset อยู่เท่าไหร่  เงินเหล่านี้สามารถนำมาหมุนเวียนและก่อให้เกิดการพัฒนามหาวิทยาลัยได้อย่างมาก
(3) การหาแหล่งลงทุนเพื่อดอกผลสูงสุดและไม่มีความเสี่ยง 
(4) การตรวจสอบภายใน และภายนอก  เพื่อความโปร่งใส ถามเมื่อไหร่ก็ตอบได้

     2.2  มิติภาพรวมเป็นราย sector
- อนุบาล  ประถม  มัธยม
- อาชีวศึกษา
- อุดมศึกษา
- การศึกษาเฉพาะอาชีพที่ต้องการความชำนาญพิเศษ
- การอบรมเพื่ออาชีพ
- การศึกษาตามอัธยาศัย
- การศึกษานอกโรงเรียน
- คนพิการ
         การจัดเงินไปตาม Sector  ต่างๆ เป็นนโยบายสำคัญระดับชาติที่เกี่ยวพันกับเศรษฐกิจและสังคม ความชอบธรรม และความเสมอภาคในสังคม  เป็นมิติที่จะต้องพิจารณาว่าจะแบ่งให้ sector ไหน เท่าไรจึงจะเหมาะสม 
        

          ที่เห็นชัดๆ คือ คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่มีการศึกษา  ถ้าจะเอาเงินส่วนใหญ่ไปให้อุดมศึกษา ก็จะเป็นการไม่ยุติธรรม เพราะผู้ที่เรียนจบสามารถประกอบอาชีพ  ได้เงินเดือนสูงๆ จึงควรที่จะจ่ายค่าเล่าเรียนเอง นี่คือตัวอย่างของความเหลื่อมล้ำในการอุดหนุนการศึกษา

    2.3  มิติรูปแบบการบริหารจัดการการเงินที่มีประสิทธิภาพ
           Model หนึ่ง เชื่อว่า  โครงสร้างการบริหารการเงินมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จในการจัดการศึกษา รูปแบบหนึ่งของโครงสร้างการบริหารการเงินที่เชื่อว่าจะเป็นระบบที่เอื้อให้เกิดประสิทธิภาพ  คือ
1. การให้ความเป็นอิสระในการบริหารเงิน
- ระดับโรงเรียน โดยมอบอำนาจให้กับผู้อำนวยการโรงเรียน
- ระดับอุดมศึกษา  โดยให้ออกนอกระบบ และมีสภาของสถาบันควบคุม ให้ความเป็นอิสสระแก่อธิการบดีและสภาฯ
- ระดับพื้นฐาน  โดยมอบอำนาจให้ อบต./เทศบาล และมอบอำนาจให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)


*ในความเป็นจริงมักจะมีปัญหาเมื่อพยายามเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารใดใด*

2. การระดมเงินจากแหล่งเงินกู้  ภาคเอกชน  และภาษีท้องถิ่น 
          Model ที่เกี่ยวกับการคิดค่าเล่าเรียน เพื่อระดมทุนเข้าสู่ระบบ
 มีข้อความที่ทำให้เกิดการขัดกันในทางปฏิบัติ อยู่ใน พรบ.การศึกษาฯ เรื่องหนึ่ง ที่กำหนดว่า การศึกษาภาคบังคับ 12 ปี (ป.1 – ม. 6) ต้อง free  แต่กำหนดไว้อีกที่ว่า ให้ระดมทุนมาจากทุกภาคส่วน  ทีนี้ ครูจะระดมทุนจากผู้ปกครองก็ไม่ได้เพราะบอกว่าต้องฟรีหมด  คนเขียนก็เขียนแล้วบริหารไม่ได้  เพราะไม่ชัดเจนว่าให้ฟรีในมาตรฐานไหน ต้องฟรีหมดหรือไม่ ถ้าจะให้ดี ต้องระบุว่าฟรีในมาตรฐานไหน  มีกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำไว้  ถ้าผู้เรียนต้องการมาตรฐานที่สูงกว่า ก็ต้องจ่ายเพิ่มเอง ตัวอย่างเช่น โรงเรียน สพฐ. ทั่วไป ค่าใช้จ่ายต่อหัวประมาณปีละ 15,000 บาท  ถ้าเป็นโรงเรียนเตรียม ประมาณ 40,000 บาท ซึ่งโรงเรียนทั้ง 2 แบบ มีมาตรฐานต่างกัน  แต่รัฐอุดหนุนเหมือนกัน ทั้งหมด สรุปว่าโรงเรียนมาตรฐานต่ำๆ รัฐอุดหนุนน้อยคนจนได้เรียนฟรี  ส่วนโรงเรียนมาตรฐานสูงๆ รัฐอุดหนุนมาก  คนรวยได้เรียนฟรีเหมือนกัน 

 3.  การจัดระเบียบการบริหาร
ปัญหาการบริหาร logistic  ตำแหน่งที่ตั้ง  การกระจายที่ตั้งของสถานศึกษา  การคมนาคม  การใช้สื่อทางไกล  และการร่วมเป็นเครือข่าย  คนอยากเรียนดีๆ ต้องเดินทางจากตำบลเข้าสู่จังหวัด  ฯลฯ  เป็นเรื่องที่ยากมาก ว่าจะจัดระเบียบอย่างไร

4.  การเชิญชวนให้เอกชนมาลงทุนเพื่อการศึกษาในสภาวะการขาดแคลน
เป็นเรื่องยากเช่นกัน  เพราะรัฐ (ในระดับปฏิบัติซึ่งควบคุมหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน)  มักจะมองว่าเอกชนเป็นคู่แข่ง และรัฐจะทำตนเหนือเอกชนเสมอ  จนบทบาทของเอกชนน้อยลงไปเรื่อยๆ  ทั้งที่รู้ดีว่าเอกชนจะช่วยระดมทุนได้ในสภาวะการขาดแคลน

นโยบายการเงินที่ดี และการบริหารจัดการการเงินที่ดี จะเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารการศึกษาทั้งระบบ  จำเป็นต้องมีระบบข้อมูลทางการเงินและบัญชีที่ดี

     2.4  มิติระดับครัวเรือน
           ผู้ปกครองจากหลายฐานะทางเศรษฐกิจ ลงทุนเพื่อการศึกษาของบุตรหลานที่แตกต่างกัน เกิดความเหลื่อมล้ำของการศึกษาในมิติระดับครัวเรือน
- พ่อแม่ทุกคนมีความปรารถนาสูงส่ง
- สติปัญญาไม่พอที่จะช่วยลูก
- ไม่มีเวลาเพียงพอ  ไม่ได้ให้ความสนใจ
- ไม่มีทรัพยากรสำรอง  กลับต้องให้ลูกช่วยหาทรัพยากรมาเพิ่ม
- การคุ้มกับการลงทุนเพื่อการศึกษาของลูก
 
          คนรวยสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ง่ายกว่า ดังนั้นรัฐบาลต้องจัดหาทุนอุดหนุนครอบครัวยากจน เพื่อให้โอกาสทางการศึกษา  คนจนได้เข้าถึงการศึกษาที่ดีด้วยการลงทุนเพียงเล็กน้อย

     2.5  มิติการจัดบริหารเงินและการลงทุนเพื่อการศึกษาในระดับมหภาค
           การศึกษาเป็นการลงทุนมนุษย์  ประเด็นพิจารณาในเรื่องนี้ คือ ในระดับประเทศ
- รัฐควรจะลงทุนเพื่อการศึกษาเท่าไร เมื่อเทียบกับการลงทุนใน sector อื่น  จะลงทุนอย่างไร  และได้ผลตอบแทนอะไร ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม
- การส่งเสริมให้เอกชนและองค์กรอื่นมีส่วนร่วมลงทุนเพื่อการศึกษา
- ประเทศมีความต้องการกำลังคนอย่างไรเพื่อจะสามารถจัดทรัพยากร เพื่อการศึกษาได้สอดคล้อง หน้าที่การจัดสรรเป็นของสำนักงบประมาณ ส่วนกระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารเม็ดเงิน


3.  การบริหารเงินภายในแต่ละสถาบัน
สถิติของสถาบันอุดมศึกษา (ปี 2005)

มหาวิทยาลัยจำกัดรับ 23 แห่ง  นักศึกษา   

300,000

คน 
มหาวิทยาลัยเปิด   2 แห่ง  นักศึกษา 

600,000

คน
มหาวิทยาลัยราชภัฏ 41 แห่ง  นักศึกษา  

300,000

คน  
มหาวิทยาลัย.ราชมงคล   9 แห่ง  นักศึกษา  

100,000

คน 
มหาวิทยาลัยเอกชน 59 แห่ง  นักศึกษา  

300,000

คน 
วิทยาลัยอาชีวะของรัฐ (ปวส.) 412 แห่ง  นักศึกษา  

200,000

คน
วิทยาลัยอาชีวะเอกชน (ปวส.) 381 แห่ง   นักศึกษา 

160,000

คน 
วิทยาลัยอื่น ๆ  90 แห่ง  นักศึกษา  

  70,000

คน  
รวมนักศึกษา   

 2,030,000

คน 
  

 ระบบอุดมศึกษาป้อนโดยผู้จบมัธยมปลายปีละประมาณ 500,000 คน และจบจาก กศน. 160,000 คน


4. เม็ดเงินในระบบอุดมศึกษา
เงินหมุนเวียนในระบบอุดมศึกษา
ภาคปกติ
เงินอุดหนุนจากงบแผ่นดินไปที่สถาบันของรัฐ     48,000  ล้านบาท
(เป็นงบดำเนินการผลิตบัณฑิต 68%)
ค่าเล่าเรียนส่วนที่ผู้เรียนจ่าย        25,000  ล้านบาท
(เป็นส่วนของสถาบันเอกชน 15,000 ล้านบาท)
มหาวิทยาลัยมีรายได้อื่น (ส่วนใหญ่จากโรงพยาบาล)   20,000  ล้านบาท
เงินลงทุนจากภาคเอกชนสร้าง/พัฒนาสถานศึกษา      3,000  ล้านบาท

ภาคพิเศษ
หลักสูตรพิเศษทั้งระดับตรี/โท/เอก  มีนักศึกษา  350,000 คน
เงินรับจากค่าเล่าเรียน         10,000 ล้านบาท
รวมเงินหมุนเวียนทั้งหมดประมาณ     100,000 ล้านบาท
อื่นๆ
 เงินกู้ กยศ. ประมาณ        25,000 ล้านบาท
 บวกค่าใช้จ่ายส่วนตัวระหว่างเรียนอีก    100,000 ล้านบาท


5. การจัดการเงินเพื่ออุดมศึกษาตามความต้องการของชาติ
มหาวิทยาลัยรัฐ-ราชการ
   มีงบประมาณ 4 แบบ
1. งบประมาณแผ่นดินอนุมัติโดยรัฐสภา
2. “งบพิเศษ” อนุมัติโดยสภามหาวิทยาลัย
3. เงินโครงการพิเศษซึ่งอยู่นอกงบพิเศษ
4. เงินจากมูลนิธิ และเงินบริจาค

มหาวิทยาลัยรัฐในกำกับ 
- รับ  Block  grant  ตามผลผลิต  บวกรายได้จากค่าเล่าเรียน และจากแหล่งอื่น ๆ
- ตั้งงบประมาณ อนุมัติโดยสภามหาวิทยาลัย

การบริหารการเงินที่แตกต่างกัน
สถาบันเอกชน
a. ไม่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐ  เพราะถือเป็นธุรกิจ
b. มีรายรับจากค่าเล่าเรียน
c. ตั้งงบประมาณประจำปีการศึกษา  อนุมัติโดยสภามหาวิทยาลัย
d. จัดการด้านการเงินและทำบัญชีแบบบริษัทโดยทั่วไป
e. กฎหมายกำหนดให้  70% ของกำไรเบื้องต้นใช้เพื่อ การพัฒนา  ส่วนที่เหลือ 30% จึง ให้ปันผล

การบริหารการเงินในปัจจุบันของรัฐ
1. การเงินของสถาบันของรัฐมิได้ทำครบทุก functions
2. ไม่ต้องทำบัญชี  ไม่ต้องปิดงบแสดงกำไรขาดทุน
3. ไม่รู้ต้นทุนผลิต
4. มีปัญหาปีงบประมาณ ไม่ตรงกับปีการศึกษา
5. “งบแผ่นดิน”  กับ “งบพิเศษ” บริหารด้วยกฎหมายคนละฉบับ
6. การเงินไม่ครบถ้วน  กระจัดกระจาย และอาจไม่โปร่งใส
7. งบแผ่นดินเป็นงบด้าน supply side อุดหนุนไปที่มหาวิทยาลัย ตามกำลังผลิต (50% เป็นงบบุคลากร)

การปฏิรูปการเงินอุดมศึกษา
 มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ  เพื่อการพัฒนาคุณภาพอุดมศึกษา
- นำเงินจากทุกแหล่งมารวมเป็นรายได้เพื่อการจัดการที่เป็นเอกภาพ
- ส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีระบบบัญชีรับจ่ายตามมาตรฐานสากล
- สามารถปิดงบแสดงผลประกอบการทางการเงิน
- สกอ. ออกแบบบัญชี 3 มิติ  (มิติหน่วยงาน   มิติแผนงาน  และมิติกองทุน)
- เปลี่ยนวิธีการทางงบประมาณอุดหนุนแบบ Supply side เป็น Demand side  เพื่อการผลิตบัณฑิต 

โดยคาดหวังว่า  ระบบบัญชีและการเงินที่ดีและคล่องตัวจะนำไปสู่การบริหารการเงินและการบริหารจัดการภายในมหาวิทยาลัยอย่างมีประสิทธิภาพ  และจะเกิดการแข่งขันระหว่างมหาวิทยาลัยเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ

การเงินเพื่อการอุดมศึกษาในระดับชาติ
นโยบายรัฐบาล

   - เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในเวทีโลก
   - การอยู่ดี มีสุขของประชากร
ยุทธศาสตร์  
  (1)  ผลิตคนในสาขาที่ชาติต้องการเพื่อการแข่งขัน
  (2)  สร้างงานให้แก่บัณฑิต
  (3)  ควบคุมปริมาณผลิตและมาตรฐานบัณฑิต
  (4)  สร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในอุดมศึกษา
  (5)  ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต
  (6)  เปลี่ยนวิธีการอุดหนุนอุดมศึกษา
  (7)  เพิ่มทรัพยากรเพื่อการอุดมศึกษา
วิธีอุดหนุนอุดมศึกษา
 Demand Side Finance  และ Block Granting
 Demand Side Finance  จ่ายเงินอุดหนุนโดยรัฐ  ตามหัวของผู้เรียน Block Granting จ่ายโดยไม่ต้องคำนึงว่าเป็นเงินหมวดใด  จำนวนเท่าไร  แตกต่างจากวิธีการทางงบประมาณปัจจุบัน  เรียกว่า Supply–side Finance คือจ่ายตามรายการ  (Line  Item)  และจ่ายเพื่อสร้าง Facilities  โดยไม่คำนึงผลผลิต  จ่ายตามหมวดงบประมาณ  ส่วนใหญ่ 50% อยู่ในหมวดเงินเดือนและค่าตอบแทน  เมื่อใช้หลัก Demand  Side Finance รายรับของสถาบันจะขึ้นกับผลผลิต  และต้องบริหารให้รายรับเกินรายจ่าย  อธิการบดีจะต้องรับผิดชอบมากขึ้น  จะต้องตระหนักถึงค่าใช้จ่าย  แต่จะมีอิสระในการจัดการทรัพยากรของตัวเอง


Demand  Side Finance จะเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารเงิน


6.  ทรัพยากรการศึกษาที่ขาดแคลนและการระดมทรัพยากรเพื่ออุดมศึกษา
          กรรมการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการศึกษา (Higher Education Funding Commission)  ทำหน้าที่เจรจากับรัฐบาลเพื่อของบประมาณเพื่ออุดมศึกษา  นำมาแบ่งให้สถาบันต่าง ๆ ตามจำนวนผลิตและคุณภาพผลผลิตตามที่ตกลงกัน 

มาตรการในการควบคุม (ปริมาณและคุณภาพ)
1. มีแผนกำลังคนของชาติที่ดี
2. กรรมการจัดสรรงบประมาณที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิผล  (จัดสรรเงินและกำหนด ปริมาณผลิต)
3. สำนักงานทดสอบมาตรฐาน  (วัดมาตรฐานผู้เข้าและผู้จบ  กำหนดมาตรฐานผู้ที่จะ มีสิทธิเข้ามหาวิทยาลัยได้)
4. สำนักงานมาตรฐานการศึกษา สมศ. (ประเมินภายนอกเป็นรายสถาบัน) จัด ranking   สถาบันต่าง ๆ

งบประมาณเพื่อการศึกษา

 ส่วนใหญ่มาจากงบแผ่นดิน (รวม ปี 2550) 280,000 ล้านบาท

เป็นส่วนของอุดมศึกษา 

48,000 ล้านบาท 

ส่วนของอาชีวะ         

14,000 ล้านบาท 

กศน. 

4,000 ล้านบาท 

พื้นฐาน 

160,000 ล้านบาท 

อื่น ๆ............   
   
งบประมาณเพื่อการศึกษา ปี 49 =  4%    ของ  GDP

 ปี 50  =

 4.8% ของ  GDP


สัดส่วนการจัดสรรเหมาะสมดีแล้วหรือ ?


คนไทยส่วนใหญ่เป็นคนจน (2548)
ร้อยละ 10 ของครัวเรือน  รายได้ต่ำกว่า   70,000 บาทต่อปี
ร้อยละ 50 ของครัวเรือน  รายได้ต่ำกว่า 150,000 บาทต่อปี
ร้อยละ 80 ของครัวเรือน  รายได้ต่ำกว่า 240,000 บาทต่อปี
ร้อยละ 90 ของครัวเรือน  รายได้ต่ำกว่า 300,000 บาทต่อปี

จำนวนนักเรียน ป.1 รุ่นละประมาณ 1,000,000 คน
เรียนถึง ม.1  830,000 คน  หายไปร้อยละ 17
เรียนถึง ม.4  570,000 คน  หายไปร้อยละ 43
เรียนจนจบ ม.6  550,000 คน  หายไปร้อยละ 45
ผู้ที่ผ่าน ม.6 ไปแล้ว ร้อยละ 90 เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา

งบเพื่อการอุดมศึกษา 48,000 ล้านบาท
 - งบประมาณการมีน้อย ไม่พอกับการพัฒนาคุณภาพ
 - การบริหารงานภายในไม่มีประสิทธิภาพ
 - ไม่ได้มีการระดมเงินที่มีอยู่เพื่อการพัฒนา
 - การจัดสรรที่ไม่เป็นธรรม
 - ต้องการเงินเพิ่มเข้าสู่ระบบอย่างน้อยปีละ 20,000 ล้านบาท
 ใช้เพื่อการผลิตบุคลากร เพิ่มเงินเดือนอาจารย์ เพิ่มงบวิจัย  ทุนนักศึกษาอัจฉริยะ ทุนนักศึกษายากจน

ความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรเงิน
           มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงดี  กิจการดี  ได้รับงบประมาณมาก  ทำให้คุณภาพดี  สามารถคัดเอาคนเก่งเข้าเรียนก่อน  ส่วนมากเป็นลูกคนรวย  อาจารย์ทำงานภายใต้สภาพที่ดีกว่า คือ ภาระงานสอนน้อยและสอนคนเรียนเก่ง  ความดียิ่งเพิ่มขึ้น
           ส่วนมหาวิทยาลัยที่ยากจน ได้รับงบประมาณน้อย คุณภาพด้อย  ผู้สมัครเข้าเรียนยากจน  และมีคุณภาพต่ำกว่า ต้องหาเงินมาเจือจุนด้วยการรับนักศึกษาเพิ่มในภาคพิเศษ  ทำให้คุณภาพที่ด้อยอยู่แล้ว ยิ่งด้อยลงไปอีก
           ผู้เรียนที่คุณวุฒิต่ำ ไม่สามารถสอบเข้าสถาบันของรัฐได้  ต้องเรียนในสถาบันเอกชน ซึ่งไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐเลย  ส่วนมากเป็นคนยากจน และค่าเล่าเรียนในสถาบันเอกชนสูงกว่าของรัฐ 3-6 เท่า เฉลี่ยปีละ 45,000 บาท เกิดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน คนรวยเรียนในมหาวิทยาลัยที่จ่ายน้อย คนจนเรียนในมหาวิทยาลัยที่ด้อยกว่าแต่จ่ายมาก ซึ่งยังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในคุณภาพของผลผลิตอีกด้วย

เปรียบเทียบความเหลื่อมล้ำ
นักศึกษาใน มหาวิทยาลัย จำกัดรับ 300,000 คน    = 14 %  ของนักศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งหมด
ได้รับงบประมาณอุดหนุน 33,980 ล้านบาท   = 77% ของงบอุดมศึกษาทั้งหมด
งบประมาณของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  (นักศึกษา 30,000 คน)  แห่งเดียวประมาณ  6,000 ล้านบาท มากกว่ามหาวิทยาลัยราชภัฎทั้ง 41 แห่ง รวมกัน  (มีนักศึกษา 450,000 คน)

การอุดหนุนที่แตกต่างกัน
สถาบันรัฐ   
 -  โดยเฉลี่ยได้รับงบประมาณแผ่นดิน 75% ของค่าใช้จ่ายผลิต
 -  มีรายได้จากค่าเล่าเรียน และจากแหล่งอื่น ๆ 25%
 -  ได้รับงบประมาณแผ่นดินเพื่อการลงทุน

สถาบันประเภทต่าง ๆ ได้รับการอุดหนุนในปริมาณที่แตกต่างกัน
 - มหาวิทยาลัยจำกัดรับ           85-90%
 - มหาวิทยาลัยราชภัฏ  70%
 - มหาวิทยาลัยราชมงคล   75%
 - วิทยาลัยอาชีวะ  (ปวส.)  85%
 - มหาวิทยาลัยเอกชน    0%

          ต้นทุนผลิตในมหาวิทยาลัยชั้นนำอาจสูงเป็น 5 เท่าของมหาวิทยาลัยชั้นรอง เช่น สาขาบริหาร ต้นทุนผลิตที่จุฬา 150,000 บาท/ปี  ของมหาวิทยาลัยราชภัฎ 30,000 บาท ดังนั้นสถาบันต่าง ๆ  จึงถูกแบ่งอันดับงบประมาณที่ได้รับโดยไม่ตั้งใจ

โจทย์การจัดการการเงินอุดมศึกษา
           ทำอย่างไร จะให้เกิดความเป็นธรรมในระบบ  ขณะที่ยังรักษาคุณภาพที่ดีของสถาบันที่ดีให้ดียิ่งขึ้นไป และยกระดับคุณภาพของสถาบันที่ยังด้อยคุณภาพ  จะหาเงินมาจากไหนมาใช้เพื่อยกระดับการศึกษาของชาติ
           ทำอย่างไร  ผู้เรียนที่ยากจนได้เข้าถึงอุดมศึกษาที่มีคุณภาพด้วยโอกาสที่เท่าเทียมกันความจำเป็นในการเพิ่มทรัพยากรเพื่ออุดมศึกษา 
          ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าต้องหาทรัพยากรมาเพิ่มเพื่อการอุดมศึกษา  ก่อนอื่นต้องพิจารณาสัดส่วนที่เหมาะสมว่าจะจ่ายเท่าไหร่ ระหว่างผู้เกี่ยวข้องต่อไปนี้
  (1)  รัฐบาล (เงินให้เปล่า และเงินกู้เพื่อการศึกษา)
  (2)  ผู้เรียน/ผู้ปกครอง (ค่าเล่าเรียน)
  (3)  เอกชน (ลงทุนสร้างสถานศึกษา)
  (4)  ภาคธุรกิจ (ผู้จ้างบัณฑิต)
  (5)  ภาคธุรกิจ และภาครัฐ (ผู้ซื้อบริการวิชาการ)
  (6)  สถาบันการศึกษา (ดอกผลกองทุนต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย มูลนิธิ  เงินบริจาค และบริการวิชาการ)

ปัจจุบัน  สัดส่วนค่าใช้จ่ายโดยรัฐ : ผู้เรียน ประมาณ 75 : 25  สัดส่วนลงทุนโดยรัฐ : เอกชน   ประมาณ  5 : 1  และพบว่าทรัพยากรเพื่อการอุดมศึกษาจาก แหล่งในข้อ (4)  (5) และ (6) ยังมีน้อยมาก

ในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย  ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการของมหาวิทยาลัย มีสัดส่วนดังนี้
   รัฐบาล :   ผู้เรียน  :  ขายบริการวิชาการ
      1    :     1        : 1

แหล่งเงินเพื่อการบริหารสถาบันอุดมศึกษา
ยุทธศาสตร์การเพิ่มทรัพยากรมีดังนี้

  1. เพิ่มทรัพยากรด้วยการเพิ่มค่าเล่าเรียน เป็น 2 เท่าหรือเพิ่ม 3 เท่าจากปัจจุบัน ปัจจุบันเฉพาะค่าดำเนินการ รัฐอุดหนุน 75%  ผู้เรียนจ่าย 25%   รัฐจัดจะให้ผู้เรียนกู้จากกองทุน กยศ. เพื่อจ่ายค่าเล่าเรียนกว้างขวางขึ้น เงินเพิ่มเข้าสู่ระบบ 10,000  ล้านบาท หรือ 20,000 ล้านบาท  ถ้าเพิ่มค่าเล่าเรียน 2 หรือ 3 เท่า
  2. อุดหนุนผู้เรียนในสถาบันเอกชน  เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสเลือกเรียนในสถาบันเอกชนมากขึ้น  และรัฐจะลดเงินลงทุนเพื่อการก่อสร้าง สถาบันของรัฐ
  3. สร้างความแข็งแกร่งทางวิชาการให้แก่มหาวิทยาลัย  แล้วให้มหาวิทยาลัยขายบริการวิชาการแก่ภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมและรัฐบาล
  4. สร้างสิ่งประดิษฐ์  หารายได้จากลิขสิทธิ์
  5. เก็บค่าเล่าเรียนแบบเต็มตามต้นทุนผลิต จากผู้เรียนบางกลุ่มที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี  รวมไปถึงการเปิดหลักสูตรพิเศษต่าง ๆ ที่เก็บค่าเล่าเรียนสูง
  6. ส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยรัฐทำธุรกิจอุดมศึกษามากขึ้น
  7. หาเงินบริจาคจากภาคอุตสาหกรรม และผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีด้วยการให้ tax incentive


ประสิทธิภาพการบริหารจัดการการเงิน

  1. การเงินที่ครบถ้วนไม่กระจัดกระจายไม่รั่วไหล
  2. Full accountability ภายใต้การควบคุมที่ดี
  3. ระบบบัญชีที่ดีมีมาตรฐาน
  4. วิเคราะห์การเงินอย่างต่อเนื่อง
  5. เปิดเผยและโปร่งใส
  6. การบริหารเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะเปรียบเสมือนมีเงินเพิ่มในระบบ
หมายเลขบันทึก: 152450เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2007 23:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ขอบคุณมากครับสำหรับข้อมูลที่บุคลากรส่วนใหญ่มาก ๆ ไม่ค่อยมีโอกาศได้รับรู้  สงสัยผมต้องใช้เวลาย่อยอีกหลายวันครับ

จะเห็นได้ว่า พรบ. ของมหาวิทยาลัยที่มีการแก้ไขและเตรียมนำเสนอนั้น ยังมีข้อบกพร่องที่ยังต้องแก้ไขหลายอย่าง การทำอะไรจะต้องพิจารณาให้รอบคอบและถี่ถ้วน  ซึ่งเราสามารถนำข้อมูลจากมหาวิทยาลัยที่ได้ออกนอกระบบและอยู่ระหว่างดำเนินการมา SWOT  เพื่อทราบข้อดี ข้อเสีย โอกาส และภาวะคุกคาม เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำ  หรือควรทำวิจัยปัจจัย ความเป็นไปได้  ปัญหาฯ ของการออกนอกระบบและจัดทำพรบ.  ซึ่งมหาวิทยาลัยตั้งเป้าหมายเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย  ทำไมไม่ใช้เป็นประโยชน์ในการดำเนินงาน เพื่อเป็นฐานข้อมูลเพื่อทราบถึงปัญหา และแนวทางแก้ไข เพื่อให้การดำเนินงานรัดกุมยิ่งขึ้น ลดข้อบกพร่องต่าง ๆ และลดความรุนแรงของปัญหาที่จะเกิดขึ้น  ทุกอย่างมีข้อดีและข้อเสีย  ข้อดีของการเกิดปัญหาคือ ทำให้การดำเนินงานมีความระมัดระวัง และรอบคอบมากยิ่งขึ้น อย่าคิดว่าปัญหาเป็นเรื่องวุ่นวาย

สิ่งที่ควรคำนึง

     มหาวิทยาลัยและคณะต้องมีการวางแผนการหารายได้  เพื่อให้สามารถเลี้ยงตนเองได้ โดยกระทบต่อนิสิตน้อยที่สุด  เนื่องจากประชากรของประเทศก็ยากจนอยู่แล้ว  การเพิ่มเงินค่าเทอม 2 ถึง 3 เท่า ก็เป็นเหมือนการรีดเลือดจากปู  จะเห็นได้ว่าประชากรในแต่ละรุ่นมีการสูญเสียทรัพยากรที่ควรจะได้รับการศึกษาจนจบปริญญาตรีเกือบครึ่งหนึ่ง   ถ้าเพิ่มค่าเทอมอีกอาจมีเด็กไม่ได้เรียนต่อมากยิ่งขึ้น เราอาจต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากขาดโอกาสทางการศึกษา  เนื่องจากคนที่จบระดับอุดมศึกษาก็จะมีโอกาสได้รับเงินเดือนมาก  ซึ่งเมื่อได้รับเงินเดือนตรงส่วนนี้ รัฐก็จะได้รายได้จากการเสียภาษี หรือการที่เค้ามีโอกาสประกอบธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มด้านต่าง ๆ  ถ้าคนส่วนใหญ่ของประเทศจบแค่การศึกษาภาคบังคับ เพราะไม่มีเงินเรียนต่อ รัฐก็จะสูญเสียรายได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น GDP  เงินหมุนเวียนภายในประเทศ  ความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ฯลฯ  ซึ่งหากเค้ามีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในครอบครัวที่ยากจน คนที่จบแล้วก็สามารถมีเงินเพื่อส่งเสียน้องคนต่อ ๆ ไป ในครอบครัวได้ ทำให้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของครอบครัวได้   แต่ไม่ค่อยเห็นด้วยน่ะค่ะที่จะให้เงินสนับสนุนสถาบันเอกชน เพราะเอกชนมีเป้าหมายการดำเนินงานคือ ผลกำไร  เพราะสถาบันของรัฐบาลก็ไม่ค่อยมีเงินพอใช้อยู่แล้ว  

     สำหรับการจ่ายผลตอบแทนแก่บุคลากรในมหาวิทยาลัยต้องไม่เกิดจากการเพิ่มค่าเทอม  เบียดเบียนเงินทองมาจากนิสิต ผู้ปกครอง เพื่อสนองความต้องการของตนเองน่ะค่ะ  ควรเกิดจากความสามารถในการหารายได้ของตนเอง

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท