การจัดการความรู้ในสถานศึกษา:16(ครูแอน เล่าเรื่อง)


การจัดการความรู้ไม่ทำไม่รู้ ...ไม่ยากอย่า่งที่คุณคิดคะ่

การจัดการความรู้ในสถานศึกษา

วันนี้ผมขออนุญาตนำข้อเขียนของครูแอน  น้องผู้น่ารักคนหนึ่ง(น่ารักทุกคนเลย)ของโรงเรียนมาเล่าประสบการณ์ด้านการจัดการความรู้และการสร้า้งองค์กรแห่งการเรียนรู้ของโรงเรียนเรามาเล่าสู่เพื่อน ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เชื่อว่าจะสร้างประโยชน์แก่หน่วยงานโดยเฉพาะด้านการศึกษาบ้าง อาจกำลังศึกษาช่องทางในการนำการจัดการความรู้และการสร้า้งองค์กรแห่งการเรียนรู้ไปใช้ในสถาบันครับ

ครูแอน: รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นตัวแทนของโรงเรียนมาร่วมพูดคุยบอกเล่าประสบการณ์  ซึ่งดิฉันถือว่าการเล่าเรื่องราวแบบนี้เป็นการเรียนรู้อย่างนึง  ขออนุญาตเรียนแทนตัวเองว่าแอนนะคะ  ก็มีความกังวลอยู่เหมือนกันว่าจะถ่ายทอดประสบการณืออกมายังไงให้พี่ๆ น้อง ๆ มองเห็นภาพได้ชัดมากที่สุด  เพราะมันค่อนข้างเป็นเชิงวิชาการ  เราเอาทฤษฎีมาสู่การปฏิบัติ  แล้วอีกอย่างเรื่องมันก็เกิดมาหลายปีจนกลายมาเป็นวัฒนธรรมการทำงานของพวกเราไปแล้ว  พอให้ย้อนกลับไปตอบว่าแล้วเริ่มต้นยังไงก็เลยอึ้งไปเหมือนกัน   ก็เลยคิดว่าจะนำมาในส่วนที่ตัวเองลงมือปฏิบัติจริง ๆ ด้วยตัวเองและส่วนที่ตัวเองได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับฝ่ายต่าง ๆ มาเล่าให้คุณครูฟัง  ขอเริ่มเลยนะคะ

    ขอย้อนเวลาไปสัก 4 ปี ที่แล้ว ประมาณปลายปี 46 ช่วงที่เราเพิ่งรู้ว่าได้รับคัดเลือกเป็นโรงเรียนในฝัน  พอดีช่วงนั้น บ่อไร่มีการเปลี่ยนผู้บริหารพอดี  ก็คือท่าน ผอ. คนปัจจุบันนี้ถ้าจะบอกว่าท่านเป็นผู้นำคำว่า  LO  มาให้พวกเรารู้จักเป็นครั้งแรกก็ว่าได้  พวกเราพบท่านครั้งแรกในการประชุมประจำสัปดาห์  ท่านแจกหนังสือเล่นนึงให้เอาไปอ่าน  เป็นหนังสือเชิงวิชาการสุด ๆ   LO คะ  ก็ไม่ได้อ่านหรอกคะ  แต่คำว่า LO ก็ยังได้ยินอยู่เรื่อง ๆ เวลาประชุม  ผอ. จะชอบพูดแล้วก็ค่อย ๆ มีศัพท์แปลก ๆ  วินัยทั้ง 5 ประการ  (การมีวิสัยทัศน์ร่วม, การทำงานเป็นทีม, การคิดเชิงระบบ, การใฝ่เรียนใฝ่รู้, .......................) 

         พูดบ่อย ๆ เข้าไม่พอก็เริ่มมีการให้ครูออกมาพูดเรื่อง LO บางก็ต้องอ่านโดยปริยาย  เด็ก ๆ ก็เริ่มคุ้นชินคำนี้มากขึ้นเพราะ ผอ. เอาไปพูดหน้าเสาธงบ่อยครั้งก็ฟังมังไม่ฟังมั้งตามประสา  แต่เด็ก ๆ ก็จะเริ่มเข้าใจคำว่าบุคคลแห่งการเรียนรู้มากขึ้น   ประจวบกับช่วงนั้นเป็นช่วงเริ่มต้นของการเรียนรู้การทำงานร่วมกับหน่วงงานเอกชนอย่าง ปตท.คุณครูทุกท่านก็ต้องปรับตัวปรับวิธีการทำงานกันอย่างทั่วหน้า  วินัย 5 ประการก็เลยได้ยินบ่อยเป็นพิเศษ  โดยเฉพาะการทำงานเป็นทีม  การมีวิสัยทัศน์ร่วม  และใฝ่เรียนใฝ่รู้   ช่วงนั้นรู้สึกว่าสมองจะทำงานมากเป็นพิเศษเพราะต้องคิดอย่างเป็นระบบ  ไม่นานก็คุ้นเคยกับคำเหล่านั้นขณะเดียวกันเราก็ลงมือทำตามวินัย 5 ประการแบบหลงกลให้ทำบาง  เต็มใจทำบาง  รู้ตัวบ้าง ที่เราไม่รู้ตัวบ้าง  

       แล้ววันหนึ่ง LO ปริศนาคาใจของแอนก็ถูกเฉลยเมื่อ อ. ประชุมโพธิกุล  กับ อ. อนุกูล  เยี่ยงพฤกษาวัลย์  มาอบรมการพัฒนาองค์กรเพื่อสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้  ( Learning  Organization) ให้พวกเรา  จากการอบรมครั้งนั้นแอนรู้สึกว่า  LO  มันก็คือสิ่งที่เราปฏิบัติกันอยู่แล้วนี่น่า  เช่น  ทุกคนรู้เป้าหมายของโรงเรียนเหมือนกัน  ทุกคนทำงานร่วมกันเป็นทีมอยู่แล้ว  ทุกคนมีการวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบอยู่แล้ว  จะเพิ่มขึ้นมาก็คือความสนใจใครรู้เรื่องต่าง ๆ ของครูแต่ละคน  แล้วก็การรู้วิธีคิดของตัวเอง  เท่านั้นที่ยังดูใหม่ ๆ เริ่มมีแสงสว่างขึ้นมานิด  พอดีกับกำหนดการประเมินรอบแรกก็แจ้งมาพอดี  แอนไม่แน่ใจว่าเราประเมินโรงเรียนในฝันรอบแรกก่อนอบรม LO รึป่าว 

      ถัดจากนั้นไม่นานเราก็ได้ยินคำว่า  Benchmarking  เพิ่มขึ้นมาอีก  มันก็ทำให้เรางง ๆ ๆๆ กันไปเล็กน้อยว่าคืออะไร  ผอ.  ก็เอาเกร็ดความรู้เรื่อง Benchmarking สั้นๆ มาให้อ่านอีกก่อนประชุม ก็พอรู้ขึ้นมาว่า  อ๋อ!  ที่แท้ก็คือการไปดูงานจากที่อื่นแล้วนำมาเปรียบเทียบกับการทำงานของเรา  ปรับส่วนที่ดีให้เข้ากับบริบทของตัวเองแต่ไม่ใช่ลอกเค้าไปซะหมด   ช่วงนั้นเราก็ Benchmarking ถี่ขึ้นเรื่อย ๆ ก็สลับสับเปลี่ยนกันไป แล้วก็ต้องมาเล่าให้คนที่ไม่ได้ไปฟังด้วย  (แบบสั้น ๆ ก่อนประชุม)  เวลาก็ผ่านไปเรื่อย ๆ พร้อมกับความเหนื่อยเพราะว่าเราจะต้องรับการประเมินโรงเรียนในฝันโดยท่านปิยะบุตร  ชลวิจารณ์  ที่หนักใจที่สุดก็คือเค้าให้เด็กดำเนินการทั้งหมด คิดว่าทุกท่านคงจำความรู้สึกนั้นได้ดีนะคะ  ตอนที่เราฝึกเด็กนี้ละคะเราก็เริ่มค่อย ๆ เห็นประโยชน์ของ LO ขึ้นมาลาง ๆ   เด็กต้องทำงานเป็นกลุ่ม  เด็กต้องวางแผนการทำงาน  เด็กต้องอ่านข้อมูลและเสาะแสวงหาข้อมูลให้มากที่สุด  วินัยทั้ง 5 ประการก็เลยถูกลงสู่เด็กอย่างชัดเจน   ใครรับหน้าที่อะไร?  มีใครร่วมทีมบ้าง?  ต้องรู้อะไรบ้าง?  จะวางแผนนำเสนออย่างไร? เด็กเค้าก็ต้องพูดคุยกันภายใต้การดูแลของครูที่รับหน้าที่นั้น ๆ  ก็ผ่านไปได้ด้วยดี  เป็นที่ประทับใจของทุกคน   หลังการประเมินไปแค่วันเดียวคุณครูทุกคนก็ถูกเรียกไปช่วยกันสรุปการประเมิน  ซึ่งรูปแบบการสรุปที่แปลกแตกต่างไปจากเดิม  คือทุกคนมีโอกาสได้พูดในส่วนที่ตนรับผิดชอบทั้งทางดีและไม่ดีภายใต้เป้าหมายเดียวกันคือ  เพื่อการพัฒนาที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป  ครั้งนี้จึงได้รู้ว่าการสรุปแบบนี้เขาเรียกเป็นภาษาอังกฤษแบบย่อ ๆ ว่า  AAR  การวิเคราะห์หลังการปฏิบัติงาน  ในการสรุปครั้งนี้เรามีท่านศึกษานิเทศเป็นวิทยากรกระบวนการพาเราทำ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาการทำ AAR ก็กลายเป็นวัฒนธรรมการทำงานของเราไปโดยปริยาย    และขยายวงสู่เด็กนักเรียนทุกคนเมื่อเด็กเข้ารวมการอบบรมหรือร่วมงานของโรงเรียนงานใด ๆ ก็แล้วแต่ต้องทำการประเมินให้ครูหรือเจ้าของโครงการทุกครั้ง  สำหรับดิฉันนำเข้าสู่บทเรียนด้วยในส่วนของการเรียนแบบโครงงานหลังจากที่นักเรียนนำเสนอผลงานเรียนร้อยแล้วทุกคนก็จะได้เสนอความคิดเห็นต่อการจัดกิจกรรมในเรื่องนี้  ทั้งพูดที่ละคน  และเขียน  ก็แล้วแต่เวลาจะอำนวย

     การประเมินจบแต่ดูเหมือนการเรียนรู้ของพวกเรายังไม่หยุดเพราะคำว่า  KM  ก็เข้ามาเยื่อนพวกเรา  การจัดการความรู้เขาว่าอย่างนั้น  แล้วมันคืออะไร....  ผอ. คนเดิมก็เอาบทความเกี่ยวกับการจัดการความรู้มาให้พวกเราอ่านก่อนเริ่มประชุมประจำสัปดาห์อีกเช่นเดิม  ก็พอรู้ขึ้นมาบ้างแต่ก็งง  จนกระทั่งการสัมมนาครั้งที่ 1  ของพวกเราที่ จ.กาญจนบุรีในวันที่  27-28  ธ.ค. 48  ก่อนหน้านั้นหนึ่งวันพวกเราแวะศึกษาดูงานและเทียบเคียง เรื่ององค์กรแห่งการเรียนรู้และการจัดการเรียนรู้  ณ สถานบันพัฒนาครู  คณาจารย์  ที่วัดไร่ขิง ก็งงเหมือนเดิมแต่มีการพูดคุยกันในกลุ่มย่อย ๆ เรื่อง KMมากขึ้นกับเพื่อนครู   ช่วงนั้นก็ยอมรับว่าเกิดความรู้สึกเหนื่อยล้ากันพอสมควร  มีความรู้สึกเหมือนรถยนต์ที่เครื่องจะไม่ไหวแล้วแต่คนขับก็ยังเร่งเครื่องอยู่ตลอดเวลา  มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในกระบวนการทำงาน  ผอ.ก็จะพูดเสมอว่าเราต้องบริหารการเปลี่ยนแปลงให้ได้มีการประชุมในระดับหัวหน้างานและผู้ปฏิบัติกันบ่อยมาก ๆ  แล้วต้นปี 49  25 -26 ก.พ. ก็ได้เข้าอบรมการบริหารการเปลี่ยนแปลง  (Change  Management)    โดยอ.ประชุม  และอ.อนุกูล  จากวัดไร่ขิง ท่านเดิม  เพื่อสร้างภาวะผู้นำและการเปลี่ยนแปลงแก่ครู   การอบรมครั้งนั้นแอนประทับใจเพราะมีคำพูดบางที่โดนใจเราและจำให้เราทำงานได้อย่างมีความสุขมากขึ้น   “ เปลี่ยนความคิด  ชีวิตจะเปลี่ยน ”  และความคิดนั้นต้องเป็นความคิดเชิงบวก  (Positive  thinking)  คิดบวก ๆ ก็เลยเป็นคำติดปากของพวกเราผู้ปฏิบัติเวลาจะให้กำลังใจกัน  KM  ก็ยังคงพูดถึงกันอยู่เริ่มมีคุณอำนวย  คุณเอื้อ  คุณกิจ,  โมเดลปลาทูก็เริ่มคุ้นหูมากขึ้น  จนกระทั้งวันที่  25-26  ส.ค.49  ปีเศษ ๆ ที่ผ่านมาโชคดีของพวกเรามาก ดร.ประพนธ์  ผาสุขยืด  ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการสื่อสารพัฒนาการเรียนรู้ ให้กับสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)    การอบรมครั้งนี้สนุกมากเพียงแค่2 วัน ทุกคนตื่นตัวและเริ่มเห็นแนวทางและเข้าใจ KM มากขึ้น  ทฤษฎีพอรู้แล้วคงเหลือเพียงลงมือทำเท่านั้น  พวกเราก็ไป  Benchmarking กับโรงเรียนจิระศาสตร์  และโรงเรียนเพลินพัฒนา    เมื่อวันที่  12 ก.ย. 49  ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนทั้งคู่  เป็นการศึกษาดูงานที่แปลกในความรู้สึกของแอนคือเราไม่ได้เพียงแค่ไปเดินดูบริเวณ  บรรยากาศของโรงเรียนแล้วก็มานั่งฟังตัวแทนโรงเรียนมาบรรยายให้ฟัง  คราวนี้เราต้องนำข้อดีของโรงเรียนเราไปร่วมแลกเปลี่ยนกับเขาด้วยเรียนว่าพูกันทีละคนเลยก็ว่าได้  เราแนะเขา  เขาแนะนำเรา  ส่วนโรงเรียนจิระศาสตร์ก็แปลกเหมือนกันนำพนักงานขับรถมาเล่าถึงการทำงานในหน้าที่ของเขาให้ฟัง  เราได้แนวทางการดำเนินงานมาค่อนข้างชัดขึ้น  พอกลับมาถึงโรงเรียนก็ตามทำเนียมมาเล่าให้เพื่อนครูฟัง  บังเอิญหลังจากกลับจาก รร.เพลินไม่นานก็มีโรงเรียนขอเขามาศึกษาดูงานพวกเราก็เลยลองให้กระบวนการเยี่ยมชมแบบที่เราไปสัมผัสมาทดลองใช้ก็ดีค่ะ  รับทราบความรู้สึกของครูทุกคนที่มาเยี่ยมชมโดยทำ  AAR  หลังจากนั้นมาก็ทำมาเรื่อย ๆ   

        ณ  ปัจจุบันวิถีการทำงานของโรงเรียนเราก็เปลี่ยนไปพอสมควร  พูดคุยกันมากขึ้น  ถี่ขึ้นเป็นประจำสม่ำเสมอ  เช่นประชุมกลุ่มสาระ  แต่หลังจากนั้นทางวิชาการก็จัดตารางให้ครูในกลุ่มสาระว่างตรงกันและจัดเป็นชั่วโมงประชุมกลุ่มสาระไปเลยอันนี้ดีมาก ๆ   การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างฝ่ายต่าง ๆ  มากขึ้น  ออกมาเล่าเรื่องราวประสบการณ์การเดินทางไปศึกษาดูงานให้เพื่อน ๆ ฟัง   การจัดบรรยากาศแบบเปิดให้น้อง ๆ มาเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้พี่ ๆ   ให้โอกาสน้อง ๆ เป็นผู้นำหรือเป็นผู้จัดการโครงการ  และตอนนี้กำลังดำเนินการจัดมุมค้นคว้าสำหรับครูโดยเฉพาะ  จะทำงานอะไร  หน้าที่ไหนก้แล้วแต่จะมาวางแผนร่วมกันตลอด  ช่องว่างระหว่างน้องกับพี่ในการแสดงความคิดเห็นน้อยลง  แต่สิ่งสำคัญทุกครั้งที่มีการพูดคุยกันควรมีการบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ไว้เพื่อเป็นฐานข้อมูลเสมอเพื่อใช้ในอนาคต

      และนี้ก็คือทั้งหมดที่แอนพอประมวลได้ตั้งแต่เริ่มได้ยินคำว่า  LO ( 2546 – ปัจจุบัน ) ขอบคุณค่ะ

หมายเลขบันทึก: 151807เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2007 15:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท