ต้องลงมือทำจริง...ถึงจะรู้วิธีตั้งข้อกำหนด


แต่ปกติคนตั้งกฎเกณฑ์มักจะไม่ใช่คนปฏิบัติ และคนทำก็ไม่ค่อยมีสิทธิมีเสียง

สัปดาห์นี้รับหน้าที่อยู่ในจุดที่เรียกว่า เป็นตัวแทนคนขาด กับช่วยลงทะเบียนช่วงเช้า 2 วันที่ผ่านมาทำหน้าที่ตรวจทดสอบอิเล็คโตรไลท์แทนพี่ดา พี่ใหญ่ของเราที่ป่วยเป็นไข้หวัดลงคอ จุดนี้เป็นจุดที่เราจะมีโอกาสที่จะต้องโทรศัพท์แจ้งค่าวิกฤตบ่อยที่สุด

ค่าวิกฤต นั้นหมายถึง ค่าการทดสอบที่มีค่าผิดปกติในระดับที่อาจมีผลต่อชีวิตของผู้ป่วยซึ่งแพทย์จำเป็นต้องมาดูแลและให้การรักษาทันที โดยทางหน่วยได้เสนอผ่านภาควิชาไปให้แพทย์ที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาเห็นชอบแล้ว จึงกำหนดออกมา จะมีการทดสอบในกลุ่มนี้อยู่ 6 การทดสอบ ซึ่ง 4 อย่างในนั้นก็คืออิเล็คโตรไลท์นั่นเอง

ในทางปฏิบัติ พอเราตรวจได้ผลการทดสอบอยู่ในช่วงค่าวิกฤตที่กำหนดไว้ คนทำก็จะต้องโทรศัพท์แจ้งไปทางคลินิกหรือหอผู้ป่วยที่แสดงในใบสั่งตรวจ พร้อมทั้งจดบันทึกข้อมูลในแบบฟอร์มว่า โทรเวลาเท่าไหร่ แล็บเบอร์อะไร ลงชื่อและเลขประจำตัวคนไข้ พร้อมทั้งผลแล็บ แล้วก็จดชื่อคนที่เราแจ้งและลงชื่อคนแจ้งเอาไว้ด้วย

ลองนึกภาพว่า โดยปกติเราจะมี sample ประมาณ 10-20 รายต่อชุด ซึ่งเราจะต้องนำไปวางในเครื่อง คีย์ตัวเลขแล็บเพื่อที่จะสั่งให้เครื่องทำงานและส่งผลผ่านคอมพิวเตอร์เครือข่าย จากนั้นก็ต้องตรวจสอบว่าผลที่ออกมามีค่าสูง ต่ำที่ต้องตรวจเช็คซ้ำหรือไม่อย่างไร

ในแต่ละวันเรามี sample ที่ส่งตรวจอิเล็คโตรไลต์ทั้ง 4 ชนิดคือโซเดียม โปตัสเซียม คลอไรด์และไบคาร์บอเนต อย่างละประมาณ 150-200 ราย และพบว่ามีค่าอยู่ในช่วงวิกฤตประมาณ 2-3 % ก็คือต้องโทรศัพท์แจ้งกันวันละประมาณ 2-5 ราย แต่ละรายก็ใช้เวลาไม่น้อยทีเดียว ในขณะที่มี sample รอให้เอาเข้าเครื่องและออกผลรออยู่อีกมากมาย ซึ่งก็คงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันหากของรายไหนมีผลเป็นค่าวิกฤตอีกเหมือนกัน

หลังจากที่เรามีการรายงานค่าวิกฤตอย่างเป็นเรื่องเป็นราวมาตั้งแต่ต้นปี และพบว่ามีหลายกรณีที่เสียเวลาทั้งทางเราและทางผู้รับแจ้งซึ่งปกติก็จะเป็นพยาบาลที่งานก็ยุ่งไม่ต่างไปจากเรา จึงได้เกิดโครงการวิจัยเพื่อประเมินการรายงานผลค่าวิกฤตของหน่วยที่กำลังดำเนินการอยู่

สัปดาห์นี้ได้ลงมือโทรแจ้งค่าวิกฤตเองหลายราย ได้คิดว่ากฎเกณฑ์ต่างๆนั้น คนคิดกำหนดขึ้นมักจะเป็นคนดูแลงาน ไม่ใช่คนทำงานเอง ซึ่งเมื่อลงมือทำจริงๆจึงจะรู้และเข้าใจข้อจำกัดหรือความเป็นไปได้

 หากคนทำงานเอง รู้และเข้าใจบทบาทของตนเอง เชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองทำ ก็จะสามารถเสนอแนะแนวทางปฏิบัติที่ควรจะเป็นได้ และทำงานได้อย่างมีความสุข และงานทุกงาน ทุกระดับก็ต้องการความคิด ความเห็นจากคนทำงานนั้นจริงๆ เราจึงจะได้กฎเกณฑ์และระเบียบปฏิบัติที่เอื้อทั้งต่องาน และต่อคนทำงาน ถ้าเราทำให้ความคิดนี้เกิดขึ้นในทุกองค์กร เราคงจะได้เห็นองค์กรที่คนทำงานมีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองทำ และมีการพัฒนางานอย่างต่อเนื่องแน่นอน   

หมายเลขบันทึก: 151464เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2007 23:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท