ชีวิตที่พอเพียง : 415. นิวยอร์ควันที่ 7 (29 ต.ค. 50) Museum of Modern Art


วันนี้แต้วรีบมารายงานตั้งแต่เช้า ว่าอุณหภูมิ 40 องศาฟาเรนไฮต์ ทำให้ไม่เสียเที่ยวที่ไปอเมริกาทั้งที ได้สัมผัสอากาศหนาวเสียหน่อย

วันนี้ผมจะไปชม MoMA (Museum of Modern Art) คนเดียว หมออมรากับแต้วเป็นห่วงมากว่าผมจะหลง พาไปส่งถึงสถานีรถใต้ดิน และซักซ้อมวิธีกลับให้เป็นอย่างดี ผมรู้แกวว่าตัวเองความจำสับสนง่าย ได้จดเอาไว้ และได้ใช้ประโยชน์ตอนขากลับจริงๆ ที่จริงนั่งรถใต้ดินสาย 6 จากสถานี 33rd Street ที่ Park Avenue ไป 2 สถานีก็ถึง

ปรากฎว่าคิวซื้อตั๋วยาวออกมานอกถนน ใช้เวลาประมาณ 20 นาทีจึงได้ซื้อ แล้วไปยืมเครื่อง audio guide โดยใช้บัตรเครดิตเป็นประกัน ไม่ต้องเสียเงินอย่างที่ AMNH แต่เครื่องที่นี่สะดวกสู้ที่ AMNH ไม่ได้

ผมได้เรียนรู้ว่า modern art นั้น ศิลปินเขาวาดหรือนำเสนออกมาตามที่เขาเห็น ไม่ใช่ตามที่คนทั่วไปเห็น ดังนั้น modern art จึงเป็นศิลปะที่ให้ความเป็นอิสระ ทั้งต่อศิลปิน และต่อผู้ชม ผู้ชมจะตีความหมายของศิลปะนั้นอย่างไรก็ได้ และยอมรับการตีความที่แตกต่างกัน

ศิลปินบางคนไปไกลกว่านั้น ถึงขนาดเอาตัวเข้าไปอยู่กับงานศิลปะที่ตนสร้างสรรค์ขึ้น ไม่ใช่ให้ตนเองสร้างงานศิลปะ แต่ให้ตนเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงานนั้น ศิลปินคนนี้คือ Jacksom Pollock ลองดูภาพวาดของ Pollock ดูนะครับว่าท่านเห็นอะไร ผมเห็นแค่เส้นสียึกยือ ผมสงสัยว่าที่ผมมองภาพนี้ไม่ออกอาจเป็นเพราะผมตาบอดสี แต่เอาให้คนอื่นอีกหลายคนดู ก็ดูไม่ออกว่ารูปอะไร

ศิลปินบางคน modern ในด้านวิธีการทำให้เกิดรูปภาพ ไม่ใช้สีน้ำหรือสีน้ำมันตามแบบ ที่นักวาดภาพใช้กันอยู่ คนสำคัญคือ Georges Seurat ซึ่งเขามีนิทรรศการพิเศษและห้ามถ่ายภาพ แต่ผมมาพบภายหลังว่าเราใช้พลังของยุค ICT เข้าไปอ่านประวัติและชมภาพของเขาได้ที่ http://www.moma.org/exhibitions/exhibitions.php?id=3960 ชีวิตของ Seurat น่าสนใจมากในความอุตสาหะและความดิ้นรนสร้างสรรค์ศิลปะที่ฉีกแนว ผลคือเขาตายไปเมื่ออายุเพียง 34 ด้วยความยากจน หลังตายไปแล้วนั่นแหละความนิยมในศิลปะ ที่เขาสร้างสรรค์ จึงเกิดขึ้น ตำนานชีวิตของผู้สร้างสรรค์ล้ำยุคแบบนี้เราคุ้นเคยกันดี ผมได้ลองค้นภาพที่วาดโดย Georges Seurat โดย Google ได้มามากมาย ท่านที่สนใจลองค้นดูนะครับ โลกยุคปัจจุบันนี่น่ารื่นรมณ์จริงๆ อยากรู้อะไรค้นได้จากอินเทอร์เน็ต

modern art ที่ดูยากสุดๆ สำหรับผม คือภาพ cubism ผมได้เรียนรู้ว่าภาพ cubism ไม่ใช่เอา cube มาต่อกัน แต่เป็นแบบมี plane ทำให้จินตนาการเห็นการเคลื่อนไหวได้ นี่ก็ว่าตามที่ฟังมาจาก audio guide นะครับ ในความเป็นจริงผมมองหลายๆ ภาพอย่างไรก็ไม่เห็นตามที่เขาอธิบาย คือตาไม่ถึงนั่นเอง มองมุมหนึ่ง ศิลปินก็คือนักสื่อสารกับผู้คนวงกว้าง โดยสื่อออกมาเป็นภาษาของศิลปะ ไม่ใช่เป็นถ้อยคำ modern art มีการสื่อออกมาเป็นศิลปะหลากหลายแบบ มีแนวทางที่เปิดกว้าง เป็นอิสระ มีความเป็น abstract สูงมาก เปิดโอกาสให้ผู้รับสารตีความได้หลากหลายแบบ ไม่ทราบว่าผมตีความอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่

อย่างที่กล่าวแล้วว่าคนมาชมมาก อาจเป็นเพราะวันจันทร์พิพิธภัณฑ์อื่นปิดหมด มีเปิดอยู่ที่นี่ที่เดียว ผมดูตั้งแต่ 11 โมงเศษๆ แบบ non-stop จนบ่ายสามโมงเศษ ก็พอใจ น่าจะดูได้ประมาณ 70 – 80% เพราะ MoMA นี้เล็ก เล็กกว่า AMNH มาก ผมขึ้นรถใต้ดินกลับไปกินข้าวเที่ยงและพักผ่อนที่บ้าน เพราะพรุ่งนี้ก็จะกลับแล้ว

ใต้บอกว่าคืนนี้ที่ทำงานมีประชุมตอน 19 – 21 น. โปรดสังเกตนะครับว่าวงการ investment management นี้คนทำงานต้องไม่เห็นแก่นอน และไม่สนใจการพักผ่อน เพราะการไหลของเงินมันไม่หยุด เขาได้เงินเดือนสูงมากก็จริง แต่ก็ต้องทำงานให้บริษัทจนคุ้ม นี่วันที่ 2 พ.ย. (2 สัปดาห์หลังเริ่มทำงาน) เขาก็ต้องบินไปประชุมที่ไต้หวัน และต่อไปฮ่องกง และได้ข่าวว่าไม่ช้าก็จะต้องไปสิงคโปร์ ซึ่งหมายความว่าเขาต้องปล่อยให้สามีอยู่นิวยอร์คคนเดียว

มูราลี่ก็เดินทางบ่อย ตอนใต้ตกงานอยู่ 5 เดือนใต้จึงมีโอกาสติดตามไปเที่ยว เพราะบริษัทให้เดินทางโดยตั๋วเครื่องบินชั้นธุรกิจ และสายการบินให้ตั๋วฟรีอีก 1 คน กลายเป็นได้เที่ยวฟรี แต่เมื่อทำงานทั้ง 2 คน โอกาสใช้สิทธินี้ก็ไม่มี หรือทำได้ยาก

ภาพชื่อ Les Demoiselles d'Avignon วาดโดย Pablo Picasso, 1907 เป็นภาพภายในซ่องโสเภณี

ภาพชื่อ Ma Jolie (My pretty girl) โดย Pablo Picasso, 1910 - 1911 เป็นรูปผู้หญิงกำลังเล่นเครื่องดนตรีที่เป็นเครื่องสาย

ภาพชื่อ The Bather โดย Paul Cezanne, c 1885

ภาพชื่อ Turning Road at the Montgeroult, 1898

ภาพชื่อ One Number 31 1950 โดย Jackson Pollock, 1950

ประติมากรรมชื่อ Head โดย David Smith, 1938

ภาพชื่อ The Japanese Footbridge โดย Claude Monet, c 1920 - 1922

ส่วนหนึ่งของภาพชื่อ Reflections of Clouds on the Water-Lilly Pond โดย Claude Monet, c 1920

ภาพชื่อ The Channel at Gravelines, Evening โดย Georges-Pierre Suerat, 1890

ภาพชื่อ The Moon and the Earth โดย Paul Gauguin, 1893

ภาพชื่อ Luxe, calme et volupte โดย Henri Matisse

ภาพชื่อ The Piano Lesson โดย Henri Matisse, 1916

วิจารณ์ พานิช
29 ต.ค. 50
นิวยอร์ค
ปรับปรุง 23 พ.ย. 50

หมายเลขบันทึก: 151013เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2007 09:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 เมษายน 2021 08:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ขอบพระคุณท่านอาจารย์มากครับกับบันทึกนี้
  • ชาวศิลปินร่วมสมัยของไทยมีฝีมือมาก หากเชิชวนมาเขียนคงจะดีไม่น้อย
  • เสียแต่เรื่องศิลปะร่วมสมัยใน G2K ไม่มากเท่าไหร่
  • ฝากท่านอาจารย์ช่วยกระตุ้นเพิ่มด้วยนะครับ
  • ขอบพระคุณอีกครั้งครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท