คำถาม ถึงคนในวง"องค์กรการเงินชุมชน"


ได้อ่านรายงานวิจัยโครงการ "การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน" ของ อ.ภีมและคณะจบแล้ว จุดประกายในความมืดหลายอย่าง ที่สำคัญที่เห็นว่าเป็นปัญหาของการจัดการตรงนี้คือ ตั้งเป้าว่าเป็นการ "ออมกู้" ไม่เคยคิดถึงการ "ออมบุญ" ซึ่งควรจะเป็นเป้าหมายหลักเพื่อแก้ปัญหาที่ชาวบ้านในพื้นที่นี้ประสบอยู่ได้

แต่ก็มีข้อสงสัยใคร่รู้หลายประการ เลยขอตั้งคำถามทางบันทึกนี้ เพื่อขอคำแนะนำและคำตอบที่ข้องใจค่ะ (บางคำถามอาจเป็นคำถามโง่ๆ สำหรับคนในวง แต่อยากรู้จริงๆ ค่ะ)

(๑) "การออมวันละบาท" นี้เป็นครอบครัวละบาท หรือสมาชิกทุกคนในครอบครัวคนละบาทคะ แล้วเวลาจัดสวัสดิการให้ เป็นระดับครอบครัว หรือสมาชิกแต่ละคนคะ ?

(๒) แล้วทำไมต้อง ๑ บาทคะ มากกว่านั้นเล็กน้อยได้ไหมคะ (ไม่ได้กวนนะคะ) แบบมีคำถามจริงๆ เพราะบางกลุ่มมีสมาชิกน้อย ก็กลัวว่าถ้าเพิ่งเริ่มก็จะมีเงินกองทุนน้อย เลยเสนอเป็น ๓-๕ บาท จะมีปัญหาในแนวคิดและการปฏิบัตอย่างไรบ้างไหมคะ?

(๓) สวัสดิการ ๙ อย่างที่ครอบคลุมตั้งแต่เกิด-ตาย ของครูชบ มีอะไรบ้างคะ อยากทราบเป็นแนวคิดเพื่อในการประชุมร่วมกับชาวบ้านค่ะ?

(๔) เมื่อรวมเงินได้แล้ว ที่ว่าแบ่งเป็น ๓ ส่วน ส่วนสุดท้าย ๒๐% เป็นเงินสำรอง เอาไว้ทำอะไรบ้างเหรอคะ?

(๕) ที่ว่าเป็นหลักการออมบุญ ไม่ใช่ออมกู้ แต่เผื่อชาวบ้านอยากกู้เพื่อจำเป็นส่วนตัวบ้าง จะกู้ได้ไหมคะ และกู้จากบัญชีไหนคะ (พยายามเข้าใจว่า เป็นจากส่วนที่ ๒ คือ ๓๐% ที่ใช้ตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนใช่ไหมคะ? )

(๖) แล้วเงิน ๑๓๐ บาทที่เป็นค่าตอบแทนคนทำงาน แล้วนำไปจัดสวัสดิการให้กู้ - ยืม ส่วนนี้เฉพาะสำหรับกรรมการ ไม่ใช่สมาชิกใช่ไหมคะ ? 

ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องการจัดการเงิน ๑๓๐ บาทนี้ ช่วยเพิ่มเติมสักนิดได้ไหมคะ เพราะประเด็นนี้เป็นเรื่องใหม่ของทางนี้ เดิมทีไม่เคยมีค่าตอบแทน อาศัยให้เป็นการสมัครใจ เมื่อยุค ๑๐ ปีก่อนก็ดีอยู่ แต่หลังๆ พออะไรเป็นเงินเป็นทอง ก็เลยไม่ค่อยมีใครสมัครใจเท่าไร แต่ก็กังวลเรื่องค่าตอบแทน กลัวเหมือนการจ้าง แต่ดูการจัดการตรงนี้แล้วไม่ใช่ แต่ไม่ค่อยเข้าใจนัก ช่วยอธิบายเพิ่มเติมสักนิดได้ไหมคะ?

รวบกวนถามเท่านี้ก่อนค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 150389เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2007 08:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 18:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • "ออมบุญ" น่าสนใจครับ
  • "สวัสดิการ 9 อย่าง" ตั้งแต่เกิดจนตายก็น่าสนใจครับ
  • จากประสบการณ์ หากพินิจดูที่มาและจุดประสงค์ในการออมของสมาชิก พอเป็นแนวเรียนรู้ได้อย่างนี้ครับ (ขอหอมปอย)
  • เงินที่นำมาออม : ออมส่วนเก็บ / ออมเงินกิน / ออมเงินเกิน
  • "ออมส่วนเก็บ" พวกนี้จะมีฐานะปานกลาง พอจะเจียดรายได้มาเก็บได้บาง ไม่ค่อยเหนื่อยในการออม
  • "ออมส่วนกิน" พวกนี้มีฐานะยากจน แต่จำเป็นต้องออม เพื่อสังคมและสวัสดิการ เหนื่อยมากในการออม บางเดือนไม่ได้ตามกำหนด
  • "ออมส่วนเกิน" พวกนี้มีฐานะดี ไม่มีปัญหาในการออม และมักจะออมมากกว่าสมาชิกอื่น ระวังจะมีอิทธิพลในองค์กรฯ
  • ส่วนจุดประสงค์ในการออมก็แตกต่างกัน : ออมเพื่อกู้ / ออมเพื่อกิน / ออมเพื่อกัน / ออมเพื่อสวัสดิการ
  • "ออมเพื่อกู้" นี่ก็ตามที่ทราบกันอยู่ทั่วไป ไม่เป็นสมาชิก(ออม)-ไม่มีสิทธิกู้
  • "ออมเพื่อกิน" กินดอกเบี้ย(หากมี)หรือกินเงินเฉลี่ยคืน
  • "ออมเพื่อกัน" กันเงินไว้เพื่อการใช้จ่ายในยามจำเป็นฉุกเฉิน หรือออมไว้ใช้ในอนาคต
  • "ออมเพื่อสวัสดิการ" ออมไว้เพื่อให้มีสิทธิรับสวัสดิการที่มี

 "การออมวันละบาท" นี้เป็นครอบครัวละบาท หรือสมาชิกทุกคนในครอบครัวคนละบาทคะ แล้วเวลาจัดสวัสดิการให้ เป็นระดับครอบครัว หรือสมาชิกแต่ละคนคะ ?

คนละ๑บาท ไม่ใช่ครอบครัวครับ

(๒) แล้วทำไมต้อง ๑ บาทคะ มากกว่านั้นเล็กน้อยได้ไหมคะ (ไม่ได้กวนนะคะ) แบบมีคำถามจริงๆ เพราะบางกลุ่มมีสมาชิกน้อย ก็กลัวว่าถ้าเพิ่งเริ่มก็จะมีเงินกองทุนน้อย เลยเสนอเป็น ๓-๕ บาท จะมีปัญหาในแนวคิดและการปฏิบัตอย่างไรบ้างไหมคะ?

มากกว่าก็ได้ เป็นสโลแกนเพื่อให้จำง่าย แต่หลักการของเจ้าตำรับคือ เพื่อให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ครูชบบอกว่าใครจะรวยไปรวยที่บ้าน แต่ที่กลุ่มทุกคนเท่ากันคือวันละ1บาท
หลักการคือ เงิน1บาทเป็นของน้อย เป็นการลดรายจ่ายด้วย ใครๆที่ต้องใช้เงินก็สามารถทำได้เพราะเป็นการลดรายจ่าย ไม่ใช่หารายได้เพิ่มขึ้น แล้วมาออม จึงสามารถทำได้ทุกคน และเมื่อนำมาผนวกกับแนวคิดออมบุญ ก็จะยกระดับจิตใจสมาชิกจากการรวมกลุ่มออมเพื่อหวังผลทั้งเรื่องการกู้และเรื่องอื่นๆ มาเป็นการตั้งสัจจะเพื่อทำบุญ ลดความเห็นแก่ตัวทุกวันเพียงวันละ1บาทเท่านั้น เป็นเครื่องมือวิเศษที่จะเปลี่ยนจิตของคนจากการหวังได้มาเป็นการให้ทาน ซึ่งคนในสังคมถูกเปลี่ยนไปมากแล้ว แต่อุดมการณ์เรื่องการบริจาคทานยังมีอยู่ เราใช้เงิน1บาทเป็นเครื่องมือ แล้วจะช่วยให้คนในชุมชนคิดเรื่องการแบ่งปันให้กันมากขึ้น ข้อนี้เป็นการใช้วัตถุกำหนดจิต คือเมื่อให้ทุกวันแม้เพียงวันละ1บาท ก็จะช่วยลดความเห็นแก่ตัวของผู้คนลงได้ อันนี้เป็นความเชื่อ ใครเห็นว่าดีต้องลองทำดู และชวนกันทำ ใครไม่เชื่อก็ไม่ต้องทำ เป็นเรื่องง่ายแต่อาจจะทำยาก เมื่อทำได้ยาก ที่ว่าเป็นเรื่อง่ายก็ไม่จริง เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องยาก

(๓) สวัสดิการ ๙ อย่างที่ครอบคลุมตั้งแต่เกิด-ตาย ของครูชบ มีอะไรบ้างคะ อยากทราบเป็นแนวคิดเพื่อในการประชุมร่วมกับชาวบ้านค่ะ?

ผมจะส่งระเบียบของกลุ่มที่ปรับปรุงไม่ให้มีปัญหาเรื่องบำนาญในอนาคตมาให้ คือกลุ่มตำบลกะหรอและเครือข่ายโซนใต้ที่ลำปางครับ ของครูชบ ตามสูตรจะมีปัญหาในอนาคต จะต้องมีการเปลี่ยนสูตรให้เหมาะสมกับฐานะการเงิน

(๔) เมื่อรวมเงินได้แล้ว ที่ว่าแบ่งเป็น ๓ ส่วน ส่วนสุดท้าย ๒๐% เป็นเงินสำรอง เอาไว้ทำอะไรบ้างเหรอคะ?

ที่จริงงานที่อ่านเป็นการสังเคราะห์รวมจาก5พื้นที่ มีรายละเอียดในงานวิจัยของแต่ละพื้นที่ จึงไม่ได้ให้รายละเอียดในรายงานสังเคราะห์ไว้

เงิน20% หลักการเก็บไว้เผื่อขาดครับ

(๕) ที่ว่าเป็นหลักการออมบุญ ไม่ใช่ออมกู้ แต่เผื่อชาวบ้านอยากกู้เพื่อจำเป็นส่วนตัวบ้าง จะกู้ได้ไหมคะ และกู้จากบัญชีไหนคะ (พยายามเข้าใจว่า เป็นจากส่วนที่ ๒ คือ ๓๐% ที่ใช้ตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนใช่ไหมคะ? )

ครูชบแยกแนวคิดออกกู้ออกต่างหากเลย ไม่ให้ปนกันเพราะการกู้ที่มีดอกเบี้ยจะกลายเป็นปัญหาในอนาคต ศาสนาจึงไม่ให้มีดอกเบี้ย พื้นที่น่าจะจัดการ2แนวแบบของพระอาจารย์สุบิน คือ กลุ่มออกกู้ก็ตั้งขึ้นมา ออมเท่าไรก็ได้ตามกำลัง ปล่อยกู้หมุนเวียนมีผลกำไรแบ่งครึ่ง ตั้งเป็นกองทุนสวัสดิการ ปล่อยกู้ให้เกิดดอกผลนำมาจัดสวัสดิการ จัดสรรเงินกำไรของกลุ่ม50%สมทบเข้ากองทุนสวัสดิการทุกปี กองทุนสวัสดิการใช้เฉพาะดอกเบี้ยจัดสวัสดิการ ทำไปเรื่อยๆบริหารดีๆอย่าให้เกิดการเบี้ยวหนี้ก็จะเติบโตขึ้น เงินออมบุญวันละ1บาทนำมาฝากกองทุนสวัสดิการไว้ ก็จะกลายเป็นเงินกระเป๋าซ้ายมาฝากกระเป๋าขวาเพื่อหมุนเวียน ไม่ได้ปล่อยกู้โดยตรง เหมือนกับเอาไปฝากธนาคาร ซึ่งนักวิชาการ(ศดร.ดิเรก ปัทมศิริวัฒน์)เสนอให้รัฐบาลออกพันธบัตรชุมชนท้องถิ่นดอกเบี้ยสูงกับเงินกองทุนส่วนนี้ของกลุ่ม

เงินที่ใช้เพื่อวิสาหกิจเป็นเงินยืมทั้งนั้น ไม่คิดดอกเบี้ยครับ

(๖) แล้วเงิน ๑๓๐ บาทที่เป็นค่าตอบแทนคนทำงาน แล้วนำไปจัดสวัสดิการให้กู้ - ยืม ส่วนนี้เฉพาะสำหรับกรรมการ ไม่ใช่สมาชิกใช่ไหมคะ ? 

ใช่ครับ เป็นรูปแบบของกะหรอ เพื่อเป็นสวัสดิการภายในคณะกรรมการ เพื่อฝึกดูคนที่เป็นตัวแทนของกลุ่มในเรื่องคุณธรรมที่ไม่มีผลกระทบกับกลุ่ม ถ้ามีกรรมการ10คน เดือนนึง1,300บาทปล่อยกู้หมุนเวียนในกลุ่มคณะกรรมการ คืนเงินต้นและดอกเบี้ยทุกเดือน ผลกำไรนำมาจัดสวัสดิการค่าน้ำชากาแฟในการทำงานหรือช่วยเหลือกันตามระเบียบที่วางไว้ครับ

ต้องขอโทษด้วยที่รายงานอาจขาดรายละเอียดไปมาก เพราะมีรายงานวิจัยย่อย5เรื่องอยู่แล้ว ถ้าสนใจจะทยอยส่งไปให้ครับ

 

เจอครูชบอยู่บ่อยๆ

ไม่เคยเอ่ยปาก คุยกัน เรื่องต่างๆ นี้เลย

ขอบคุณ อ.ภีม มากค่ะ ที่กรุณาตอบมาอย่างละเอียด ช่วยให้กระจ่างมากขึ้นอีกหลายประเด็น

ดิฉันเองก็พยายามอ่านรายงานวิจัยของ อ.อย่างละเอียดเช่นกันค่ะ โดยเฉพาะใน ๓ พื้นที่แรก คือของพระอาจารย์สุบิน ของครูชบ และก็ของลำปาง

แต่ก็เพิ่งทราบว่ามีรายงานแบบละเอียดกว่าที่อ่านแล้วอีก ถ้าอาจารย์จะกรุณาส่งมาให้ก็จะเป็นพระคุณมากค่ะ โดยเฉพาะในเรื่องวิธีการจัดการของแต่ละพื้นที่ค่ะ

 ขอบคุณ อ.ภีมล่วงหน้าค่ะ แล้วดิฉันจะส่งที่อยู่ให้ทาง e-mail นะคะ

เอ.. ไม่ยักรู้ว่า อ.แหวว ก็มีโอกาสเจอครูชบบ่อยๆ ด้วยเหมือนกัน ไม่เห็นพาไปให้รู้จักบ้างเลยค่ะ

ก็เจอครูชบ กับรู้จักครูชบ มันคนละเรื่องนี่นา

เจอใน กมธ.เด็กฯ ของครูหยุย

ขอความกรุณาส่งระเบียบการกลุ่มออมวันละบาท ด้วยนะคะ ขอบคุณล่วงหน้าคะฤ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท