Buckman Laboratory


บริษัท บัคแมน แลบอราทอรี เป็นบริษัทเคมีภัณฑ์ ก่อตั้งขึ้นในปี 1945 โดยผู้เชี่ยวชาญในการผลิตเคมีภัณฑ์สำหรับระบบอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับน้ำ  บริษัทได้รับการจัดตั้งบนพื้นฐานของความสามารถพิเศษเฉพาะตัว  ในการคิดค้นและผลิตสารตัวทำละลายใหม่ๆที่ใช้ในการควบคุมการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์  ปัจจุบัน บัคแมน แลบอราทอรี ทำงานให้กับอุตสาหกรรมทั้วโลก โดยได้จัดการเทคโนโลยีการบำบัดทางเคมีขั้นสูง และขยายการให้บริการทางเทคนิค  เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาทางอุตสาหกรรมที่ซับซ้อน
เช่น กระบวนการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษ  การบำบัดน้ำเสีย  เครื่องหนังและการเกษตร  ปัจจุบันได้มีการควบรวมกิจการของบริษัทใหญ่หลายบริษัท ในขณะที่ลูกค้าลดลงทำให้มีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ส่งผลให้บริษัท บัคแมน แลบอราทอรี ได้ตระหนักถึงการจัดการความรู้
ในปี 1989 Bob Buckman ได้แสดงวิสัยทัศน์และให้คำมั่นสัญญาว่า ความรู้จะเป็นรากฐานและข้อได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัท และอีก 3 ปีต่อมา เครือข่ายความรู้ K’Netix ได้ประสบความสำเร็จ


ความรู้ที่มีการถ่ายทอดในบริษัทแบ่งได้เป็น 2 ประเภท
1. ข้อเท็จจริง ประกอบด้วย ความรู้ด้านเทคโนโลยีและความรู้ด้านการตลาด ซึ่งเกิดจากการเก็บสะสมของข้อมูลด้านโครงสร้าง และเป็นความรู้ที่ถ่ายทอดเป็นกระบวนการอย่างเป็นระบบ
2. พฤติกรรม เป็นความรู้ที่ไม่สามารถถ่ายโอนจากองค์กรหนึ่งไปสู่อีกองค์กรหนึ่งได้โดยง่าย เช่นจิตสำนึก ความสัมพันธ์ทางสังคมของบุคคลและองค์กร
นอกจากนี้ บริษัท บัคแมน แลบอราทอรี ยังให้ความสำคัญกับความรู้ที่เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ของบริษัท ซึ่งได้แก่สิทธิบัตรและความลับในการผลิตสินค้า โดยความรู้เหล่านี้จะได้รับการลงรหัสและได้รับอนุญาตให้นำไปขายได้


ระบบการจัดการความรู้ของบริษัทมีโครงสร้างที่สำคัญ 3 ระดับ
1. โครงสร้างพื้นฐาน คือ ฮาร์ดแวร์หรือซอฟแวร์ที่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ระหว่างสมาชิกในเครือข่าย
ตัวอย่าง เรื่อง pitch-control หรือ การลดผลของ pitch (ยางมะตอยเทียม ผลิตจากของสีดำที่เหลือจากเหยื่อกระดาษ ที่ถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิตกระดาษหรือผลิตกาว หรือการนำกลับมาใช้ใหม่ของพลาสติก
Dennis Dalton กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมในเอเชีย ซึ่งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ได้เสนอข้อความผ่านระบบ K’Netix เพื่อขอความช่วยเหลือถึงวิธีการขั้นตอนการผลิต โดยเขาได้เขียนข้อความว่า “ผมชื่นชอบวิธีการ pitch-control ที่ทันสมัยและประสบความสำเร็จของบริษัทคุณ”
3 ชั่วโมงต่อมา เขาได้รับคำตอบแรกจาก Pill Hoekstra จากเมือง Memphis และได้แนะนำให้ใช้สารเคมีของบริษัท บัคแมน แลบอราทอรี และได้อ้างอิงถึงวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทเกี่ยวกับ pitch-control ของไม้เนื้อแข็งเขตร้อน ซึ่งเขียนโดยนักศึกษาชาวอินโดนีเซียจากมหาวิทยาลัย North Carolina State และจากที่อื่นๆรวม 11 คำตอบจาก 6 ประเทศ การขอความช่วยเหลือของ Dalton กระตุ้นให้มีการแสดงความคิดเห็นใหม่ๆ การสร้างความรู้ใหม่ และได้ทำให้เขาได้รับใบสั่งซื้อ 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากโรงงานผลิตเยื่อกระดาษในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงบทบาทของเครือข่าย K’Netix ที่เชื่อมต่อความรู้ของผู้ผลิตและความรู้ของผู้ใช้บนฐานปฏิบัติการทั่วโลก ค่านิยมและทัศนคติหลักขอลพนักงานสะท้อนในรูปของความตั้งใจที่จะแลกเปลี่ยนความรู้อย่างตรงไปตรงมาเพื่อที่จะแก้ปัญหาของบริษัท
บริษัท บัคแมน แลบอราทอรี ได้ตั้งฝ่ายถ่ายโอนความรู้(Knowledge Transfer Department : KTD) ซึ่งทำงานร่วมกับศูนย์ทรัพยากรความรู้(Knowledge Resource Center : KRC)รับผิดชอบในการออกแบบและบริหารเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ตรวจสอบและดูแลกระบวนการของความรู้ที่เกิดขึ้น การรวมเอาความรู้ของบริษัทไว้ทั้งหมดและอนุญาตสมาชิกของบัคแมน แลบอราทอรี สามารถเข้าไปใช้บริการได้ ระบบการสร้างสรรค์ความรู้และระบบการแลกเปลี่ยนความรู้ที่เรียกว่า K’Netix นี้เป็นหน่วยความจำขององค์กร ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือฐานข้อมูลในที่ประชุมแสดงความคิดเห็นขององค์กรและฐานข้อมูลที่ต้องใส่รหัสผ่าน พนักงานทุกคนสามารถใช้เครือข่ายในการติดต่อสื่อสารได้ทั้งภายในและภายนอกบริษัท
2. โครงสร้างข้อมูลข่าวสาร คือ กฎข้อบังคับที่เป็นทางการที่ควบคุมดูแลการโต้ตอบกันระหว่างผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมบนเครือข่ายการจัดหากลุ่มของแหล่งความรู้ที่บุคลากรเข้าถึงได้บนเครือข่าย K’Netix โดยมีการติดตั้งวงจรป้อนข้อมูลกลับในคำถามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ หรือในกรณีที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถตอบได้ ข้อมูลจะถูกส่งไปที่ประชุมแสดงความคิดเห็น (forum) หรือผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง
Sheldon Ellis หัวหน้าศูนย์การเรียนรู้ ของบัคแมน แลบอราทอรี กล่าวว่าปรัชญาการเรียนรู้ของบริษัทคือ “การปรับตัวไปข้างหน้าเพื่อให้เป็นองค์กรที่สนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ภายนอก” นอกจากนี้การเรียนรู้ยังรวมถึงการนำประสบการณ์มาปรับเป็นขั้นตอนการปฏิบัติด้วย
3. วัฒนธรรมข้อมูล บริษัท บัคแมน แลบอราทอรี มีลักษณะที่สำคัญมากอย่างหนึ่งที่เป็นวัฒนธรรมของบริษัทคือ เป็นองค์กรการเรียนรู้ที่สนับสนุนการถ่ายโอนความรู้กัน  วัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์คือ การจัดให้มีผู้ชำนาญการที่รอบรู้ที่สุดของโลกในทุกระดับขององค์กร ที่สามารถเข้าถึงได้ซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเป็นกลุ่ม และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความรู้ใหม่ๆภายในองค์กรระดับโลกนี้ วัฒนธรรมองค์กรการเรียนรู้ทำให้บุคลากรของ บริษัท บัคแมน แลบอราทอรี ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างใกล้ชิด โดยไม่ถูกจำกัด ทางด้านระยะทางและเวลา การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างเสรี ช่วยให้ บริษัท บัคแมน แลบอราทอรี ค้นพบนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ลูกค้าต้องการและผลิตผลิตภัณฑ์ที่คาดว่าลูกค้าต้องการในอนาคต


บทบาทของผู้บริหาร
1. สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้และการระดมสมอง สนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศและการไหลเวียนความรู้ทั่วไปในองค์กรและสร้างบรรยากาศในการแลกเปลี่ยนความรู้ในองค์กร
2. เป็นแบบอย่างในการแสดงบทบาทการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนความรู้ เพราะการเปลี่ยนแปลงขอบเขตของการถ่ายโอนความรู้ต้องได้รับการสนับสนุนจากระดับบน
3. ขจัดอุปสรรคในการติดต่อสื่อสาร ทั้งภายในองค์กรและระหว่างผู้บริหารในระดับต่างๆ
4. ออกแบบระบบ ในการวัดการประเมินผลจากกิจกรรมการแลกเปลี่ยนความรู้ เช่น กิจกรรมการดำเนินธุรกิจหลัก ผลที่เกิดขึ้นถูกวัดออกมาเป็นยอดขายผลิตภัณฑ์ใหม่

ข้อมูล : ผศ.ดร.ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ ; การจัดการความรู้ในองค์กร

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1503เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2005 23:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 20:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท