หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล กับคณิตศาสตร์ที่รัก


ตัวอย่างของบุคคลที่หลงรักคณิตศาสตร์เป็นชีวิตและจิตใจ นักคณิตศาสตร์ไทยที่ทุกคนไทยควรภูมิใจ

          คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักนักคณิตศาสตร์ที่เป็นคนไทยสักเท่าไร  ตอนนี้ไม่รู้ไม่ได้แล้วนะ  เพราะนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของประเทศไทยประจำปี 2550 เป็นนักคณิตศาสตร์ถึงสองท่าน  ได้แก่  .ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี  จากมหาวิทยาลัยมหิดล และ ศ.ดร.สมพงษ์ ธรรมพงษา จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ผมนึกว่าจะไม่มีรางวัลสำหรับนักคณิตศาสตร์ซะแล้ว  รู้ไหมว่าผู้ที่ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นคนแรกสุดคือใคร  .ดร.วิรุฬห์ สายคณิต  ครับ  ไม่รู้ด้วยเหตุนามสกุลนี้หรือเปล่า  นักคณิตศาสตร์จึงเพิ่งจะมาได้รับรางวัลกับเขาบ้าง  
          ถ้าเพื่อนฝรั่งหรือลาวของผมถามว่า
  นักคณิตศาสตร์ที่มีผลงานโดดเด่นของประเทศไทยมีใครกันบ้าง  คนแรกที่ผมจะบอกเขาไม่ใช่อาจารย์ทั้งสองข้างบน  แต่ผมจะแนะนำให้เขารู้จัก หม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล  (อ่าน นักคณิตศาสตร์ไทยที่ไม่ธรรมดานามประดิสมิด ในอัพเดทฉบับที่ 166 หรือจะค้นอ่านจาก google ก็เจอ) 

                 

          หลักฐานแสดงผลงานสำคัญทางคณิตศาสตร์ของหม่อมหลวงปิ่นคือหนังสืออัตชีวประวัติฉบับย่อที่เขียนไว้เป็นภาษาอังกฤษชื่อว่า MISCELLANEOUS PROBLEMS or AN AUTOBIOGRAPHY OF A WOULD-BE MATHEMATICIAN ซึ่งตีพิมพ์ในปี พ.. 2515  หนังสือเล่มนี้ไม่ทราบว่าใครมีอยู่ในมือบ้าง หม่อมหลวงปิ่นเขียนเล่าเรื่องชีวิตของท่านในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ที่ท่านรักและมีความถนัด                  
          เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมได้ค้นคว้าเพิ่มเติมและได้พบเอกสารสำคัญอีกชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับหม่อมหลวงปิ่น ที่พอจะช่วยให้เรารู้จักนักคณิตศาสตร์ที่สำคัญของไทยท่านนี้ได้  ในวัย 85 ปีครึ่ง หม่อมหลวงปิ่นได้เริ่มเขียนเรื่องราวชีวิตของท่านตั้งแต่เกิดไว้ มีความยาวสองร้อยกว่าหน้า ท่านเขียนจดบันทึกเป็นนิสัยและสามารถเก็บรายละเอียดของเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือได้อย่างดีเยี่ยม  ผมอ่านบางเรื่องบางตอนที่ท่านเขียนเทียบกับหนังสือ MISCELLANEOUS PROBLEMS และพบว่าได้เข้าใจอะไร ๆ ผิดไปบ้าง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องใหม่ที่ผมรู้  จึงอยากนำมาเล่าอีก               
          ปัญหาคณิตศาสตร์ข้อแรกของหม่อมหลวงปิ่นในวัยเด็ก  ท่านเล่าไว้ว่า
          “...วันหนึ่งคุณแม่ต้องการพลูที่มีคนจีบแล้ววางไว้ในห้อง ท่านเรียกข้าพเจ้าแล้วบอกให้ข้าพเจ้าไปหยิบพลูนั้นมาให้ท่าน ข้าพเจ้าโตพอที่จะเข้าใจคำสั่ง แต่ก็ยังไม่เคยเรียนวิชาคณิตศาสตร์และดูเหมือนยังนับ 1-2-3 ไม่ได้ด้วยซ้ำไป ข้าพเจ้าถามคุณแม่ว่า จะให้หยิบพลูมาให้หมดหรือ คุณแม่ตอบว่าครึ่งเดียวก็พอ เมื่อทราบคำสั่งแน่ชัดแล้ว ข้าพเจ้าก็ไปทำตามคำสั่ง แต่คงจะล่าช้าไปบ้าง พี่สาวของข้าพเจ้าสงสัยว่าเหตุใดข้าพเจ้าจึงใช้เวลามากนักก็เดินเข้าไปดู เห็นข้าพเจ้าหยิบพลูด้วยมือซ้ายจีบหนึ่งพร้อมกับหยิบด้วยมือขวาจีบหนึ่ง แล้ววางแยกเป็น 2 กอง ในที่สุดข้าพเจ้าก็ได้พลูจำนวนครึ่งกองใหญ่แล้วนำไปให้มารดา นี่เองเป็นโจทย์เลขข้อแรกที่ข้าพเจ้าได้ทำ และทำถูกเสียด้วย               
          หม่อมหลวงปิ่นเป็นคนหัวดี  ท่านสอบไล่ได้วุฒิ ม.5 ตอนที่อายุยังไม่ครบ 13 ปี  ท่านไม่ได้ถนัดแต่วิชาเลข  ท่านถนัดไปหมดก็ว่าได้  สมัยนี้ถ้าจะเรียกว่าเด็กอัจฉริยะก็น่าจะพอได้  ตอนที่ท่านเข้ามารับใช้ในวังหลวงและเรียนอยู่ในโรงเรียนกินนอน  ท่านมีเพื่อนสนิทชอบพอกันมากอยู่หลายคน  คนหนึ่งคือหม่อมเจ้าดุลภากร   วรวรรณ หม่อมหลวงปิ่นเล่าว่า
          “…ท่าน[หม่อมเจ้าดุลภากร]วางผังต่อสายไฟฟ้าจากห้องนอนของท่านมายังห้องที่ข้าพเจ้านอนซึ่งต้องฝังลงไปใต้ถนน เวลากลางคืนคนอื่น ๆ หลับแล้วเรายังคุยกันได้ โดยใช้สัญญาณทางไฟฟ้าซึ่งเราสร้างขึ้นใช้แทนตัวอักษร  เห็นไหมล่ะ เด็ก ๆ สมัยโน้นไม่ธรรมดาเลยทีเดียว               
          ปัญหาเด่นข้อหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลต่อชีวิตของหม่อมหลวงปิ่นอย่างยาวนานกว่า 60 ปี เป็นปัญหาที่หม่อมหลวงปิ่นเรียกว่า  The King’s Problem  King พระองค์นี้หมายถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หม่อมหลวงปิ่นเล่าว่า
          “…[พระองค์]จะทรงเขียนรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งพระภูษาจะต้องเป็นสีตามวัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าไปค้นมาว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จฯ ออกจากอยุธยาวันอะไรก่อนที่จะได้ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา…”พระองค์รับสั่งว่า ปิ่น ไปค้นมาดูว่า พระนเรศวรเสด็จออกจากอยุธยาวันอะไรของสัปดาห์ ก่อนชนช้างกับพระมหาอุปราชแห่งประเทศพม่า    
          ปัญหานี้เล่นเอาหม่อมหลวงปิ่นจนมุมเพราะใช้เวลาค้นคว้าจากหนังสือพงศาวดารต่าง ๆ ก็แล้ว ไถ่ถามใคร ๆ ก็แล้ว แต่ไม่ได้คำตอบ  จึงไม่ทันสองวันตามที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งให้เวลาหาไว้  ในวันเข้าเฝ้า  หม่อมหลวงปิ่นแปลกใจที่พระองค์ทรงเขียนรูปเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ความจริงเป็นว่าพระองค์ทรงทราบอยู่แล้วว่าสีนั้นคือสีใด  การที่ทรงรับสั่งงานให้นั้น  พระองค์ทรงสอนให้หม่อมหลวงปิ่นรู้จักการค้นคว้าและลองทดสอบความเป็นนักคณิตศาสตร์ของหม่อมหลวงปิ่นเท่านั้นเอง  พระองค์รับสั่งว่า
          ไม่ต้องค้นต่อไปดอก ฉันรู้แล้ว อยากจะลองให้ค้นดูเล่นเท่านั้น
      
อย่างไรก็ดี  หม่อมหลวงปิ่นติดใจอยู่กับปัญหาข้อนี้มาก  ท่านคิดค้นคว้าเรื่องวัน เดือน ปี ตามระบบจูเลี่ยน (Julian System of Calendar) และระบบเกรกอเรียน (Gregorian System of Calendar) อย่างละเอียดลออ ต้องอดตาหลับขับตานอนหลายคืนต่อมาอีกหลายสิบปีจนในที่สุดก็สำเร็จ เมื่อกำหนดวันที่ เดือน และปีมาให้  สูตรคณิตศาสตร์อย่างง่ายสำหรับคำนวณหาวัน  ของหม่อมหลวงปิ่นเป็นดังนี้ 

สูตร1         

ตอนที่คิดสูตรสำเร็จนี้ได้ หม่อมหลวงปิ่นกำลังศึกษาวิชาภาษาสันสกฤตและบาลีอยู่ที่มหาวิทยาลัยออกฟอร์ดในประเทศอังกฤษ [ทำไมท่านไม่เรียนเป็นนักคณิตศาสตร์  อ่าน นักคณิตศาสตร์ไทยที่ไม่ธรรมดานามประดิสมิด] ท่านเขียนบทความเกี่ยวกับสูตรนี้ลงไว้ในวารสารของนักเรียนไทยในอังกฤษที่ชื่อว่า สามัคคีสาร มีผู้ที่พยายามหาจุดบกพร่องของสูตรนี้ เช่น หม่อมเจ้ารัชฎาภิเษก โสณกุล แต่ก็ไม่พบ 
          เท่านั้นยังไม่พอ  สูตรแรกที่ได้มา  แม้จะแม่นยำอยู่ก็จริงแต่ต้องคูณต้องหารกันหนักจนเมื่อยมือ  ท่านจึงพัฒนาอีกสูตรขึ้นมาใช้  โดยสูตรใหม่นี้เป็นสูตรที่สะดวกต่อการคิดในใจ  ตัวเลขไม่เกินหลักสิบ  หน้าตาของสูตรใหม่เป็นแบบนี้   

สูตร2

         เอกสารสองเล่มที่ผมมีอยู่เขียนสูตรนี้แตกต่างกัน ฉะนั้นสูตรจริง ๆ หน้าตาเป็นอย่างไร ผมต้องขอเวลาศึกษาก่อนนะครับ J แล้วจะมาอธิบายอีกครั้ง  อาจารย์สิงห์โต ปุกหุต  เรียกปฏิทินของหม่อมหลวงปิ่นว่า ปฏิทินล้านปี  หม่อมหลวงปิ่นเล่าว่า  เมื่อทางราชการมีปัญหาเกี่ยวกับปฏิทิน  ก็มักมาถามหาคำตอบจากท่าน
          หม่อมหลวงปิ่นเป็นนักประดิษฐ์คนเก่งด้วย  เกี่ยวกับสูตรที่ค้นพบนี้  ท่านประดิษฐ์ไม้บรรทัดเลื่อน (slide rules) ขึ้นแทนการคิดคำนวณด้วยมือ  เพียงเลื่อนไม้บรรทัดเลื่อนไปมา 4 ครั้ง  ก็ได้ปฏิทินของเดือนที่ต้องการ  สิ่งประดิษฐ์ที่น่าสนใจของหม่อมหลวงปิ่นยังมีอีกหลายชิ้น เช่น ตอนที่ท่านเล่าว่า
         
“…ที่แม่โจ้ปลูกผักได้มาก แต่คนซื้อน้อย ที่เหลือเน่าหมด ผู้เขียน[หม่อมหลวงปิ่น]จึงได้สร้างตู้เย็นขึ้นเป็นแห่งแรกในเชียงใหม่
      
ตู้เย็นที่กล่าวถึงนี้แท้แล้วนั้นเป็นแบบไหน สงสัยไหมครับ วันหลังจะพยายามค้นเรื่องอื่น ๆ เกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ของท่านมานำเสนอกันอีกนะ ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มค้นที่ตรงไหน ตื่นเต้นดีจังเป็นที่ทราบกันดีว่าหม่อมหลวงปิ่นมีความสามารถทางด้านภาษาเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากผลงานอันเป็นที่ประจักษ์จำนวนนับไม่ถ้วน  ในผลงานจำนวนนับไม่ถ้วนนี้  ผมเพิ่งทราบว่ามีผลงานที่เป็นคณิตศาสตร์ในรูปแบบละครรวมอยู่ด้วยจำนวน 5 เรื่อง  ผมจะต้องหามาอ่านให้ได้ว่าเป็นอย่างไร  บทประพันธ์และบทละครที่เรียกว่า ละครคณิตศาสตร์ ทั้ง 5 เรื่อง คือ 
          1. สามมากกว่าห้า 
          2. เงินหาย (มีหลายสำนวน)  
          3. ไฉไลไม่เฉลียว  
          4. ง่ายนิดเดียว  และ
          5. เบญจพรรณปัญหา 
          ผมคิดว่าจะไปลองค้นดูจากหอสมุดแห่งชาติ  หากผู้อ่านท่านใดจะช่วยชี้ช่องทางจะขอบคุณมาก

หมายเลขบันทึก: 149947เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2007 16:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เป็นนักคณิตศาสตร์เหมือนกันค่ะ แต่ตอนนี้เริ่มไม่เป็นเต็มร้อย  อาจารย์เขียนเรื่องคณิตศาสตร์มาก ๆ นะคะ จะเข้ามาติดตามอ่านบ่อย ๆ

ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นแรกครับ ถ้ารักคณิตศาสตร์เสียแล้ว ก็จะรักไปตลอดชีวิตครับ

ภูมิใจครับ ที่ท่าน ม.ล. ปิ่น ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง รร. เตรียมอุดมศึกษาที่ผมศึกษาอยู่ เป็นผู้ที่มีความสามารถด้านคณิตศาสตร์มาก

ไม่ทราบมีนักคณิตศาสตร์ที่สำคัญท่านอื่น ๆ อีกหรือไม่

ขอบคุณมากเลยค่าที่บอกให้ทราบ

สวัสดีค่ะ

  • เคยเจอกันมาก่อนที่..บ้านครูไผ่หรือเปล่าคะ
  • ถ้าใช่ก็ขอขอบคุณแทนเด็ก ๆ และคุณครูสอนคณิตฯ ที่โรงเรียนด้วยค่ะ

ทำไมนามสกุลเหมือนผมเลยคับ

หนูเข้าอ่านของอาจารย์ตลอดนะคะ จะติดตามผลงานอาจารย์คะ คิดถึงอาจารย์นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท