BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ทส. บ


ทส. บ

บางคนลาสิกขา (สึก) ไปใช้ชีวิตนอกวัด... บอกว่า ผมก็จบ ทส.บ.  

บางคนได้ฟังแล้วก็รู้สึกขำๆ  ยิ้มๆ...  แต่บางคนสงสัยว่า ทส. บ ? เพราะไม่เคยได้ยิน... ได้ยินแต่เพียงว่า พวกที่บวชเรียนแล้วสึกออกไปนั้น ถ้าจบมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัยในระดับปริญญาตรีจะได้วุฒิการศึกษาว่า ศน.บ. (ศาสนศาสตร์บัญฑิต)... ส่วนผู้ที่จบมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยก็จะเป็น พธ.บ (พุทธศาสนศาสตร์บัญฑิต) ....

ทส.บ. แปลว่า เทศน์ สวด บังสุกูล ... เป็นสำนวนที่เรียกกันภายในวัด สำหรับผู้ที่เคยบวชอยู่นานๆ หรือผู้ที่ยังบวชอยู่ก็ตาม  มักถูกล้อว่า สำเร็จหลักสูตร ทส.บ. 

ที่ได้นำเรื่องนี้มาเขียน เพราะคืนนี้มีศพภายในวัด และผู้เขียนได้รับนิมนต์ให้เป็นธรรมกถึกเพื่อแสดงธรรม ซึ่งนานๆ ครั้งกว่าผู้เขียนจะขึ้นธรรมมาสน์แสดงธรรม...

................

ผู้เขียนหัดเทสน์และผ่านประสบการณ์ด้านนี้มานานแล้ว เพียงแต่มิได้จัดเป็นนักเทศน์อาชีพระดับแนวหน้าเท่านั้น...

สำหรับการเป็นนักเทศก์ จัดว่าเป็นแนวทางสำคัญที่จะก้าวไปสู่ความมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของสังคม และลาภผลอื่นๆ อีกหลายอย่าง...

เมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน ผู้เขียนเริ่มหัดที่จะเป็นนักเทศก์กับเขาบ้าง เวลามีโอกาสเทศน์จึงให้เพื่อนที่คุ้ยเคยคอยฟังแล้วช่วยวิจารณ์... ชอบใจคำสรุปของเืพื่อนรุ่นน้องรูปหนึ่งว่า ไม่ต้องแก้ไขอะไรแล้ว ต้องการประสบการณ์อย่างเดียว... แต่ผู้เขียนก็มีโอกาสสร้างสมประสบการณ์ด้านนี้น้อย...

จนกระทั้งประมาณสิบปีก่อน ผู้เขียนก็กลับไปอยู่วัดคอหงส์ หาดใหญ่ และเริ่มต้นการเป็นนักเทศก์อาชีพ... วัดคอหงส์เป็นวัดใหญ่มีเมรุเผาศพและมีศาลาเยอะ รวมทั้งนักเทศก์ในวัดก็ล้วนเป็นกัลยาณมิตรของผู้เขียน จึงช่วยกันสนับสนุนเพื่อให้ผู้เขียนเป็นนักเทศก์ให้ได้... ประสบการณ์นักเทศก์อาชีพของผู้เขียนเริ่มต้นที่นี้

โลกนี้ไม่มีของฟรี ใครว่าไว้ก็ไม่รู้... การเป็นนักเทศก์ก็เช่นเดียวกัน จะสูญเสียความเป็นส่วนตัว ซึ่งไม่ตรงกับจริตของผู้เขียนที่ต้องการความเป็นส่วนตัวยิ่งกว่าการเสนอหน้าตามสถานที่คนเยอะๆ ... เมื่อได้สัมผัสความเป็นนักเทศก์อยู่ระยะหนึ่ง ผู้เขียนจึงเริ่มเลี่ยง โดยการสนับสนุนรุ่นน้องหรือลูกศิษย์ให้ไปแทน...

...............

จากประสบการณ์เป็นนักเทศก์ ปัญหามีเยอะ เช่น เครื่องเสียงไม่เป็นไปตามความปรารถนา ผู้ฟังไม่พร้อมที่จะรับฟัง... หรือนักเทศก์ไม่พร้อมด้วยประการต่างๆ เช่น มีบางอย่างมากระทบอารมณ์ สุขภาพไม่ดี เป็นต้น

อีกอย่างหนึ่ง ตามที่เขียนเล่าไว้แล้วว่าแนวทางนักเทศก์จะมีผลประโยชน์บางอย่างอยู่เบื้องหลัง จึงมีมุมมืดบางอย่างอยู่ในวงการนี้ เช่น นักเทสก์ใหม่ ซึ่งมีแนวทางว่าจะโด่งดังได้ มักจะถูกปิดกั้นจากวงการ เพราะเกรงว่าส่วนแบ่งจะเสียไป... หรือพวกเจ้าพิธีซึ่งหากินอยู่ตามในวัด ก็มักจะนิมนต์หรือเชียร์พระนักเทศก์ที่ให้ผลประโยชน์บางอย่างแก่ตนเอง เป็นต้น

สำหรับนักเทศก์ระดับแนวหน้าที่ผู้เขียนรู้จัก โดยมากมักจะมีใจรักอย่างแรงกล้าเป็นพื้นฐาน จึงฝ่าฟันอุปสัคต่างๆ เหล่านั้นไปได้... ส่วนบางรูป แม้จะมีใจรัก แต่ความสามารถไม่ถึง ก็ไม่อาจก้าวไปยืนแนวหน้าได้...

............ 

ส่วนตัวผู้เขียน พื้นฐานเดิมก็มิใช่มีใจรักแนวทางนี้ เมื่อมาทดลองระยะหนึ่งก็พอไปได้ อาจเป็นเพราะความสามารถถึง แต่ยังไม่สามารถไปยืนอยู่แนวหน้าได้เพราะสาเหตุ ๒ ประการ กล่าวคือ

ผู้เขียนเสียงไม่ไพเราะชวนฟัง นี้เป็นประการสำคัญที่สุด... ซึ่งผู้เขียนมักจะบอกเพื่อนๆ ว่า เสียงตะกั่ว (คือถูกกว่า เสียงทองแดง) และเพราะใจไม่รัก จึงคร้านที่จะแก้ปัญหาด้านนี้... ประเด็นนี้ ผู้เขียนเคยเห็นพระนักเทศก์บางรูปเล่นแต่ไมโครโฟน เมื่อก่อนก็ไม่เข้าใจท่าน แต่เมื่อมาเป็นนักเทศก์จึงเข้าใจ นั่นคือ นักเทศก์ต้องแก้ปัญหาพื้นฐานเรื่องเสียงหรือสำเนียงให้ได้...

อีกประการหนึ่ง ก็คือการฝ่าด่านอุปสัคจากการปิดกั้นของผู้มีอำนาจและอิทธิพลด้านนี้... ซึ่งเมื่อผู้เขียนกลับมาอยู่วัดยางทอง สงขลา ก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้เทศน์ เพราะที่วัดไม่มีเมรุเผาศพ ศาลาตั้งศพที่มีอยู่ก็มักเป็นศพชาวไทยจีน ที่นิยมรับก่งเต๋กมาเล่นในคืนสุดท้ายก่อนที่จะนำไปฝัง... หลายๆ เดือน จึงจะมีการเทศน์ในงานศพสักครั้งหนึ่ง ซึ่งมีบางครั้งเท่านั้นที่นิมนต์ผู้เขียน....

ส่วนการไปเทศน์ในที่อื่นๆ นั้น มักจะไปตามเส้นสาย ซึ่งประเด็นนี้ ผู้เขียนก็อาจได้ไปบ้าง แต่ก็หลายๆ เดือนกว่าจะมีสักครั้ง... และที่ไปนั้น เกือบทั้งหมด ก็มักจะเป็นญาติใกล้ชิด หรือเพื่อนเก่าแก่ ซึ่งผู้เขียนมักจะทำบุญกลับไป หรือบางครั้ง นอกจากเทศน์ฟรีแล้วก็ต้องล้วงย่ามทำบุญเพิ่มอีกด้วย.... ทำนองนั้น

อนึ่ง พระเถระที่นับถือคุ้นเคยเป็นการส่วนตัว... ผู้เขียนก็มักจะบอกไปว่า ถ้านิมนต์รูปอื่นได้ ก็ให้นิมนต์รูปอื่น... ท่านเหล่านั้นจึงค่อนข้างจะเกรงใจ ไม่มักจะนิมนต์ ยกเว้นบางครั้งที่ขาดนักเทศก์นั่นแหละ จึงมาร้องขอให้ไปช่วยเทศน์... ประมาณนั้น

.............

อันที่จริง ผู้เขียนคิดจะเลิกเทศน์เด็ดขาดแล้ว ตอนที่อยู่วัดคอหงส์ เพราะไม่ชอบ... ส่วนสาเหตุที่ทำให้ผู้เขียนยังคงได้ชื่อว่าเป็นนักเทศก์อยู่บ้าง เพราะครั้งหนึ่ง ผู้เขียนไปงานศพคนคุ้นเคยกัน เขามีการแสดงธรรมหน้าหีบศพด้วย ผู้เขียนต้องทนนั่งฟัง นักเทศก์ที่ไม่มีความรู้ และชอบโอ้อวดอยู่เกือบชั่วโมง (ตอนนั้นนักเทศก์รูปนี้ไม่รู้จักผู้เขียน)

ผู้เขียนนึกว่า แม้ตอนที่ผู้เขียนเทศน์ไม่ได้เรื่องก็ยังพอฟังได้กว่านักเทศก์รูปนี้ ฉะนั้น ต่อไปถ้าใครนิมนต์เทศน์อีกก็จะไม่ปฏิเสธ (ถ้าว่าง) 

หมายเหตุ : เทศน์ ใช้กับกิริยาอาการ... ส่วน เทศก์ ใช้กับบุคล  

 

หมายเลขบันทึก: 147755เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2007 23:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2012 16:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า

  • เข้าใจแล้วครับ ทส.บ. (เทศน์ สวด บังสุกูล)
  • การแสดงธรรมในงานศพนี้ก็มีความสำคัญอยู่มาก"ฟังรู้เรื่องไม่รู้เรื่องก็ต้องทนฟัง"และคนส่วนมากจะไม่ใส่ใจฟัง
  • ยิ่งใช้เวลาเทศน์นานๆก็ยิ่งไปกันใหญ่จะอย่างไรก็ตามการเทศน์ในงานศพถ้าทำให้คนฟังหวนสติกับคำว่า"ตาย"
  • ให้ข้อคิดและนึกเห็นภาพตามสั้นๆ ก็น่าจะพอดีครับ
  • เลื่อมใสพระคุณเจ้าทุกองค์ที่ขึ้นธรรมาสน์แสดงธรรม
  • กราบนมัสการพระคุณเจ้า

นมัสการพระอาจารย์ครับ

สมัยผมบวชเข้าพรรษา ผมก็ถูกสอนให้เทศน์จากการอ่านใบลาน และทำเสียงให้เคลิบเคลิ้ม แต่ผมไม่ชอบเพราะถ้าผมไปวัดฟังพระอ่านใบลานให้ฟังผมจะง่วงมาก(เหมือนผมไปฟังบรรยายกฎหมายถ้าอาจารย์อ่านในหนังสือผมก็ไม่ฟังแล้วเพราะกลับไปอ่านเองที่บ้านก็ได้) นึกถึงชาวบ้านว่าถ้าฟังเทศน์ต้องได้ประโยชน์ จึงเทศน์โดยใช้ภาษาธรรมดา เอาสถานการณ์ปัจจุบันเปรียบเทียบให้ชาวบ้านฟังเข้าใจง่ายๆจะได้ประโยชน์มาก

นึกถึงพ่อพูดถึงย่า ย่าชอบไปฟังเทศน์ที่วัด แต่ย่าก็ไม่ค่อยเข้าใจธรรมะเพราะย่ามักจะนั่งหลับทุกครั้งที่พระเทศน์บางครั้งพระเทศน์เสร็จต้องปลุกย่า แต่พ่อบอกว่าช่างเหอะ เพราะการที่ย่านั่งหลับเพราะการได้ฟังเทศน์ย่ามีความสุขแล้ว

การฟังเทศน์ในงานศพ จังหวัดใกล้กันคือพังงากับภูเก็ต แตกต่างกันมาก ถ้าเป็นภูเก็ตพระสวดพระเทศน์ไมใก่ยว ข้าฯจะคุยกัน กินกันไปเรื่อยๆ ใครเป็นเจ้าภาพมีหน้าที่ไปนั่งฟังสวดฟังเทศน์ แต่ที่พังงาถึงเวลาพระสวดพระเทศน์เขาจะนั่งฟังเรียบร้อย เสร็จแล้วค่อยกิน หรือถ้ากินอยู่ก็หยุด

เพิ่งทราบเรื่อง ทส.บ.ครับ ขำดีครับ

P

อัยการชาวเกาะ

 

อันที่จริง การเทศน์ตามคัมภีร์ ถ้านักเทศก์อ่านถูกจังหวะและชัดถ้อยชัดคำก็น่าฟังเหมือนกัน โดยเฉพาะคัมภีร์โบราณจะมีสำนวนภาษาและเนื้อหาลุ่มลึกยิ่งนัก..... 

อนึ่ง เคยฟังมาว่า....

  • ฟังเอาความสงบอย่างเดียวก็ได้แต่เพียง บุญ
  • ฟังเพื่อความเข้าใจแจ่งแจ้งก็จะได้ กุศล ด้วย
เจริญพร
...ธรรมเทศนา..เป็นกระบวนวิธี..บางครั้งมีพิธีการประกอบ..ตามลักษณะชาวพุทธแบบไทยๆ..ใช้ในโอกาสใดๆที่มีผู้คนมารวมกัน..และบางครั้งมีการปรุงแต่งให้ผสมผสานคล้ายมหรสพทางธรรม..เพื่อดึงให้คนสนใจ..จึงอาจมีการพลิกแพลงทั้งกระบวนวิธี..ทั้งภาษาศิลป์..ทั้งองค์ประกอบอื่นๆ..คงเป็นเช่นเดียวกับกับการปราศรัยของนักการเมืองซึ่งต้องมีวิวัฒนาการต่อไป..แต่ต้องไม่ลืมถึงอรรถรสในธรรมะซึ่งเกิดประโยชน์แท้จริงแก่ผู้ฟัง..ใช่ไหม?ครับ...อ้อ..สงสัยคำ"อุปสัค"ที่พระอาจารย์ใช้ด้วยครับทำไมไม่ใช้"อุปสรรค"

P

ลุงรักชาติราชบุรี

 

  • อุปสัค มาจากบาลีว่า อุปสคฺโค
  • อุปสรรค มาจากสันสกฤตว่า อุปสรฺโค

ในภาษาไทยก็เห็นใช้กันอยู่ทั้งสองคำ... เหมือนกับคำว่า ปกติ กับ ปรกติ ... ธรรมะ กับ ธัมมะ ... หรือ กัมมะ กับ กรรม ... เป็นต้น

ร.เรือ จัดเป็นอัฑฒสระ คือเป็นพยัญชนะที่ออกเสียงได้กึ่งหนึ่ง... ในสันกฤตมักจะคงไว้ แต่พอเป็นภาษาไทยเราก็นิยมใช้เป็น ร.หัน (รร)... ส่วนในบาลีมักจะลบทิ้งแล้วก็ซ้อนพยัญชนะตัวหลังมาแทน เช่น

  • ธรมะ (ธรรม) ... ธัมมะ 
  • กรมะ (กรรม)... กัมมะ
  • อุปสรคะ (อุปสรรค) ... อุปสัคคะ  

อีกอย่างหนึ่ง ร.เรือ ในสันสกฤตเขียนได้ ๓ แบบ กล่าวคือ บางครั้งก็วางอยู่ข้างบน บางครั้งก็อยู่กลาง และบางครั้งก็ห้อยอยู่ด้านล่าง... นั่นคือ ร.เรือ มีประเด็นต้องทำความเข้าใจหลายอย่าง....  

เจริญพร 

 

...กราบขอบพระคุณครับ..ได้เข้าใจถึงที่มาของศัพท์แล้วน่าฉงนขอรับ..ภาษาไทยนี้..มีการผสมรวมคำและวิธีใช้จากหลายภาษาจริงๆ..บางคนเลย..คิดว่า..เมืองไทย..คงมีความพยายามในการผสมกลมกลืนกันมาแต่โบราณ(..นี่คงมิใช่ทำนองนิสัย..เฮไหน..เฮด้วย..หรือ..เป็นวิธีการสร้างอำนาจบารมีจากการอ้างอิง(reference power)ของราชสำนักสยาม.ในสมัยโบราณ..หรือเปล่าขอรับ?..)

ลุงรักชาติราชบุรี

ตามความเห็นส่วนตัว... การเกิดขึ้น เปลี่ยนแปลง และสูญหายไปของภาษาทุกชนชาติในโลกคงจะไม่แตกต่างกันนักในเรื่องรูปแบบ...

เสฐียรโกเศศ หรือ พระยาอนุมานราชธน เขียนไว้ในหนังสือชื่อ นิรุกติศาสตร์ ทำนองว่า...

  • ผู้ใดศึกษาภาษาหนึ่งภาษาใดแตกฉาน ถ้ามีความเพียรพอก็อาจศึกษาทุกภาษาให้แตกฉานได้...

.............. 

ส่วน ประเด็นที่คุณโยมว่ามานั้น ก็คงจะเป็นธรรมดาเช่นเดียวกันว่า ผู้ที่อยู่ห่างไกลจากแก่นอำนาจก็ต้องการความเป็นอิสระ คือต้องการเป็นใหญ่ในตัวเอง... ประมาณนั้น

อนึ่ง... วิชาโหราศาสตร์ เทียบ ให้ อาทิตย์เป็นผู้นำ ส่วนพุธเป็นที่ปรึกษา คราวใดที่พุธโคจรเข้าใกล้อาทิตย์แล้ว ที่ปรึกษาก็จะหมดอำนาจ แต่คราวใดที่พุธโคจรออกห่างไกลไปจากอาทิตย์แล้ว ที่ปรึกษาก็จะมีิอำนาจในตัวเองเพิ่มขึ้น

จาก ประเด็นโหราศาสตร์ก็นำมาทำนายว่า สำหรับผู้มีอำนาจนั้น ถ้าคราวใดที่พุธอยู่ใกล้อาทิตย์ ก็ให้ทำนายได้ว่า ลูกน้องหรือบริวารยังมีความจงรักภักดี... แต่ถ้าคราวใดที่พุธอยู่ไกลออกไปก็ให้ทำนายได้ว่า ลูกน้องบริวารจะกระด้างกระเดือง ระวังไว้ว่าลูกน้องจะทรยศหรืออาจถูกปฏิวัิิติ... ทำนองนี้

และนัย ตรงข้าม สำหรับผู้เป็นที่ปรึกษา ถ้าคราวใดที่พุธอยู่ใกล้อาทิตย์ ก็ให้ทำนายว่ามีความอึดอัดเพราะหัวหน้าหรือผู้มีอำนาจ... แต่ถ้าคราวใดที่พุธอยู่ไกลออกไปก็ให้ทำนายได้ว่า ตอนนี้มีความสุขสบายดี เพราะเจ้านายไม่มารบกวน หรือเจ้านายไม่อยู่... ประมาณนี้

ก็โม้เพิ่มเติมเล่นๆ เพราะไม่ได้คุยเรื่องนี้กับใครนานแล้ว (..........)

เจริญพร

P

นมัสการพระอาจารย์ค่ะ

เรื่อง เสียง ของพระที่ท่านกำลังเทศน์นี่ ตามความเห็นดิฉันว่า สำคัญมากค่ะ เพราะถ้าเบาไป คนก็ไม่ค่อยฟัง และก็ต้องเทศน์ให้มีจังหวะจะโคนด้วย

พระผู้ใหญ่ๆ ถ้าท่านกำลังเทศน์แล้ว คนคุยกัน ท่านจะดุเอานะคะ ดิฉันไม่ค่อยสบายใจที่เห็นคนคุยกันระหว่างพระเทศน์ค่ะ

กราบ3หนค่ะ

P

 sasinanda

 

สงสัยคุณโยมฟังเทศน์ของเจ้าประคุณสมเด็จทางโทรทัศน์อยู่ ?

อาตมาก็นั่งฟังไปด้วย ตอบผู้มาเยี่ยมไปด้วย (รู้สึกว่า วันนี้ผู้มาเยือนหลายท่าน ตอบไม่ทัน.... )

....

เห็นด้วยกับคุณโยม เสียง เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในเบื้องต้นสำหรับนักเทศก์ และศิลปินทุกประเภทที่จำเป็นต้องใช้เสียง...

เรื่อง ปมาณิกา คือ การถือเอาเป็นประมาณ หมายถึงการจะศรัทธาใครนั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ๔ กลุ่ม กล่าวคือ

  • รูปัปปมาณิกา ถือเอารูปร่างหน้าตาเป็นประมาณ
  • โฆสัปปมาณิกา คือเอาน้ำเสียงเป็นประมาณ
  • ลูขัปปมาณิกา ถือเอาความปอนๆ เป็นประมาณ
  • ธัมมัปปมาณิกา ถือเอาความถูกต้องเหมาะสมเป็นประมาณ

 ตามนัยนี้ จะเห็นได้ว่า คนดูบุคลิก รูปร่าง หรือหน้าตาก่อน ต่อไปก็ฟังเสียงว่าถูกใจไพเราะหรือไม่... ส่วนบางคนอาจชอบคนที่อยู่แบบง่ายๆ ธรรมดา ที่เรียกว่า ปอนๆ ... ขณะที่ธรรมะ คือความถูกต้องเหมาะสมอยู่หลังสุด เพราะรับรู้ได้ยาก เข้าถึงได้ยาก....

สาเหตุสำคัญที่อาตมาไม่ชอบเป็นนักเทศก์ เพราะน้ำเสียงไม่ไพเราะชวนฟัง สำหรับผู้มีเสียงดี ดัง และไพเราะชวนฟังนั้น อาตมาถือว่า มีเสียงเป็นทรัพย์  

.........

ผู้ที่สนทนาในขณะพระกำลังเทสน์ ก็น่าเห็นใจ เพราะบางครั้งพระก็เทศน์ไม่ค่อยได้ประเด็น รู้สึกเซ็ง...

ขณะที่ผู้ฟังเทศน์นั้น บางครั้งพวกเขาก็ไม่ค่อยได้เจอ ไม่ค่อยได้คุย พระเทศน์เสร็จก็ต้องแยกย้ายไปกันอีก ดังนั้น บางกรณี การคุยธุระช่วงพระเทสน์จึงเป็นโอกาสดีที่สุด...

ส่วนบางคนไม่ค่อยได้พักผ่อนทางจิต พอพระเทศน์ก็เริ่มหลับตาแล้วพักผ่อน ก็ได้แต่บุญ เพราะไม่ได้ส่งใจไปตามธรรมเทศนา...

คุณโยมมองดูเป็นละครที่เราก็เป็นนักแสดงด้วยคนหนึ่งก็น่าจะสบายใจขึ้น....

เจริญพร 

 

ขอแก้คำนะครับ พระเดชพระคุณ

พธ.บ (พุทธศาสนศาสตร์บัญฑิต) อันนี้ไม่ถูกครับ ที่ถูกคือ

พธ.บ. = พุทธศาสตรบัณฑิต

ใช้เรียกผู้ที่จบจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ศน.บ. (ศาสนศาสตร์บัญฑิต) ไม่ถูกเช่นกัน ที่ถูกคือ

ศน.บ. = ศาสนศาสตรบัณฑิต ใช้เรียกผู้ที่จบจากมหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย

ส่วนผม พธ.บ.41 ครับ

เราอยู่ที่นี่ http://www.mcu41.com

นมัสการมาด้วยความเคารพ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท