กระแสแห่งการพัฒนา


พัฒนาชุมชน
เกลียวคลื่นแห่งการพัฒนาบาว_นาคร           แนวทางการพัฒนาประเทศไทยที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งถ้าหากนับย้อนไป ตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นั้น มีทั้งหมด 10 ฉบับแล้ว แต่การพัฒนาประเทศยังไม่ได้เป็นไปในทิศทางที่ได้วางแผนพัฒนาประเทศไว้เลย เพราะอะไรหรือ? หรือว่า การพัฒนาประเทศที่ผ่านมา เป็นเพียงการทำตามกระแสของการพัฒนาจากต่างประเทศ ซึ่งหากจะรู้ถึงพัฒนาการของกระบวนการพัฒนาประเทศที่ผ่านมาแล้วนั้น ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ล้วนแต่ตามกระแสของต่างประเทศทั้งนั้น เปรียบเสมือนกับคลื่นแห่งการพัฒนากระทบชายฝั่งระลอกแล้วระลอกเล่า ซึ่งพัฒนาการพัฒนามีนักคิดหลายๆ สำนักได้ให้ความหมายและความสำคัญ ซึ่งสรุปได้จากแนวความคิดของแต่ละคน เช่น แนวคิดทฤษฎี คลื่นลูกที่สาม โดย อัลวิน ทอฟฟ์เลอร์ (Alvin Toffler) ผู้เขียนหนังสือ The Third Wave คลื่นลูกที่สาม และถือว่าเป็นนักพยากรณ์ อนาคต           ทฤษฎีคลื่นลูกที่สาม ตามแนวคิดของ อัลวิน ทอฟฟ์เลอร์ มองการพัฒนาว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงอารยธรรมของมนุษย์ ซึ่งวิวัฒนาการไปด้วยพลังคลื่นสามลูกด้วยกัน ซึ่งคลื่นแต่ละลูกจะทำให้ระบบสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม ของมนุษย์โดยรวมเปลี่ยนไป          คลื่นลูกแรก หรือคลื่นลูกที่หนึ่ง หมายถึง สังคมเกษตรกรรม ซึ่งเริ่มขึ้นมาเมื่อประมาณเกือบหมื่นปีมาแล้ว เมื่อมนุษย์คนแรก ตัดสินใจเพาะปลูกพืชอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เป็นที่เป็นทาง ก่อเกิดไร่นาขึ้นมา จนค่อยๆ คลี่คลายขยายตัวมาเป็นระบบสังคมเกษตรกรรม ในเวลาประมาณ 5,000 6,000 ปีมาแล้ว          คลื่นลูกที่หนึ่งของสังคมเกษตรกรรม ทำให้มนุษยชาติเลิกเร่ร่อน หันมาตั้งหลักรวมตัวกันเป็นครั้งแรก เกิดระบบการปกครองที่เชิดชูหัวหน้า  แบ่งเป็นพวกเป็นเหล่าแล้วพัฒนาเป็นระบบกษัตริย์  มีระบบศักดินา  มีภาษาและมีวัฒนธรรม  มั่นคงเป็นปึกแผ่น           ลักษณะเด่นที่เป็นปัจจัยชี้ขาดของสังคมเกษตรกรรมคือความมั่นคั่งอยู่ที่  ที่ดิน ใครมีที่ดินมากก็มั่งคั่งมากและคลื่นลูกที่หนึ่งที่อยู่ยงคงกระพันมาประมาณ  4,500  กว่าปีแล้ว  คลื่นลูกที่สองก็ไล่มาถึง  การปฏิวัติอุตสาหกรรม          คลื่นลูกที่สองหมายถึง  สังคมอุตสาหกรรม  นั่นก็คือ  เมื่อสังคมเกษตรกรรมได้รับการเปลี่ยนแปลงมาสู่ระบบการผลิต  ขึ้นอยู่กับเครื่องจักรและการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ผลิตสินค้าแบบเดียวกันมากๆ เพื่อความประหยัดและลดต้นทุนลงมาให้มากที่สุด  ซึ่งได้เฟื่องฟูขึ้นมาในยุโรปเมื่อ  300  ปีเศษ  และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบการเมือง   เศรษฐกิจและวิถีชีวิตของยุโรป ก่อนจะแผ่ขยายไปทั่วโลก          คลื่นลูกที่สองนี้ทำให้เกิดลัทธิการล่าอาณานิคมของประเทศตะวันตกทั้งหลายเพื่อการค้นหาวัตถุดิบ  และผลจากคลื่นลูกที่สองทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตกลายมาเป็นการที่คนต้องทำงานกันตามสบายมาเป็นการทำงานที่ต้องตื่นพร้อมๆ กันเพื่อเข้าทำงาน  พักงาน  เลิกงาน  กลับบ้านพร้อมเพรียงกัน  เปลี่ยนวิถีระบบการจัดจำหน่าย  เงินตรา  ใบหุ้น  ตลาดหุ้นและระบบประชาธิปไตย          ทอฟฟ์เลอร์  ได้พยากรณ์ว่า  เมื่อสังคม พัฒนา ก้าวมาถึงการเกิดคอมพิวเตอร์ ดาวเทียม  และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการสื่อสารมากขึ้นสังคมก็ก้าวมาถึง  คลื่นลูกที่สาม  ซึ่งเกิดขึ้นมาประมาณ  50  ปีเศษๆ มาแล้ว            คลื่นลูกที่สามหมายถึง  การพัฒนามาถึงอารยธรรมมนุษย์แห่งสังคมแห่งข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ  โดยจุดกำเนิดอยู่ที่สหรัฐอเมริกา  เมื่อคอมพิวเตอร์เริ่มก่อกำเนิดขึ้นในยุคคลื่นลูกที่สามได้พัฒนามาสู่สังคมความมั่งคั่งของสังคมอุตสาหกรรมในสังคมคลื่นลูกที่สอง  เปลี่ยนมาเป็น  ความรู้ หรือ ข้อมูลข่าวสาร เป็นหลักตามที่บางคนเคยพูดว่าใครสามารถคลุมข่าวสารข้อมูลคนนั้นสามารถครองโลกได้          ในยุคคลื่นลูกที่สามนี้ ทอฟฟ์เลอร์  อธิบายว่า  การผลิตสิ่งเหมือนกันจำนวนมากๆ ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า  Mass  ต่างจะหมดไป  ไม่ว่าจะเป็น  Mass  Production, Mass Media, Mass  Transit  ระบบรวมศูนย์จะเริ่มแตกสลายออก  เมื่อปัจจัยแห่งความมั่งคั่งคือ  ข่าวสารข้อมูลไปถึงทุกๆ คน  ไม่มีใครสามารถเก็บข่าวสารข้อมูลไว้คนเดียวได้อีกต่อไป  ประชาชนจะเลือกสิ่งที่เขาต้องการได้จากการเรียนรู้จากข้อมูลที่ได้รับ  ไม่จำเป็นต้องมีลูกจ้างอีกต่อไป  คนธรรมดาอาจจะมาเป็น  เถ้าแก่           ( Entrepreneurs)  ที่บ้านของเขาได้เอง  สื่อต่างๆ ต้องปรับตัวให้เข้ากับรสนิยมของกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน  เงินตราไร้ความหมาย  กลายเป็นยุคของบัตรเครดิต  รูปแบบการใช้ชีวิตจะเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน  และ  ทอฟฟ์เลอร์  ได้กล่าวเตือนว่า  การต้อนรับคลื่นลูกที่สามนี้  ประเทศกำลังพัฒนาควรรีบพัฒนาโดยเฉพาะการเร่งให้ความรู้แก่ประชาชนทุกระดับชั้น และต้องมีการวางรากฐานของโครงสร้างอุปกรณ์หลักๆ ไว้ให้พร้อม  เช่น  ระบบดาวเทียม  ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์เป็นต้น          แนวคิดทฤษฎีคลื่นลูกที่สามของ  อัลวิน ทอฟฟ์เลอร์ พอทำให้ทราบถึง การพัฒนา ว่าการพัฒนาเปรียบเสมือนพัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจากสังคมเกษตรกรรมมาเป็นสังคมอุตสาหกรรมและเป็นสังคมข้อมูลข่าวสารเทคโนโลยีสารสนเทศในคลื่นลูกที่สาม ซึ่งพอสรุปได้ว่า  คลื่นลูกที่หนึ่ง คือ สังคมเกษตรกรรมคลื่นลูกที่สอง คือ สังคมอุตสาหกรรมคลื่นลูกที่สาม คือ สังคมข้อมูลข่าวสาร  เทคโนโลยีสารสนเทศ           การพัฒนาในปัจจุบันได้ผ่านช่วงเหตุการณ์ที่สำคัญมามากมาย ซึ่งแต่ละยุคล้วนแต่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของการพัฒนาระบบโลกทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งเปรียบเสมือนคลื่นลูกแล้วลูกเล่าที่ถาโถมขึ้นมากระทบฝั่งแล้วก็ม้วนตัวกลับไปคืนสู่ท้องทะเลซึ่งเป็นธรรมชาติของทุกสิ่ง แต่ว่า มนุษย์ ซึ่งได้สร้างนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นมามากมายเพื่อสร้างสรรค์โลกและเพื่อความอยู่รอดของตนเอง จนมาถึงยุคปัจจุบันซึ่งได้มีการเปลี่ยนผ่านมาหลายยุคสมัย แต่ละช่วงล้วนผ่านบทเรียนที่สำคัญ ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไปทำให้ได้ทราบถึงกระบวนการพัฒนาที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะเห็นเป็นพลวัตมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่ง          เปรียบประดุจกับธรรมชาติของสรรพทุกสิ่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การพัฒนาประเทศถ้ายังไม่รู้จักทุนทางสังคมที่มีอยู่ในประเทศแล้ว แม้จะนำกระบวนการพัฒนาจากต่างประเทศมาใช้ก็ไม่สามารถที่จะพัฒนาให้เข้ากับประเทศไทยได้ นอกจากรู้จักตนเอง ค้นหาความเป็นวิถีชีวิตของตนเอง ว่า มีอะไรบ้างที่จะต้องพัฒนา ไม่จำเป็นจะต้องวิ่งตามกระแส หรือ ทำตามความทันสมัยของกระแสโลก ตลอดเวลา เพียงแค่ให้รู้เท่าทันและปรับตัวให้เข้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรวมทั้งคำนึงถึงทรัพยากรที่มีอยู่ภายในประเทศ นอกจากนั้น ย้อนมามองถึง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งหรือเป็นทางเลือกของการพัฒนาประเทศที่เหมาะสมกับสังคมไทย                ในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทย มีกระบวนการพัฒนาประเทศเพื่อให้แข่งขันเพื่อให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ แต่ไม่คำนึงถึงแนวทางการพัฒนาที่เป็นของตนเอง ซึ่งมีอยู่อย่างมากมายภายในประเทศ ทั้งทางด้านวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่น สังคมที่มีความเอื้ออาทรต่อกัน ซึ่งล้วนเป็น ทุนทางสังคม ที่เป็นรากฐานของการพัฒนาได้ มัวแต่หลงกระแสทางด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว ซึ่งเป็นความเจริญทันสมัยก็จริง แต่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาที่เป็นทางเลือกของสังคมไทย ที่สำคัญกระบวนการพัฒนานอกจากให้ความสำคัญกับทุนทางสังคมแล้ว คุณภาพของคนก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งนอกจากมีกระบวนการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนระหว่างกันแล้ว ต้องมีระบบการจัดการความรู้ที่มีอยู่ให้สามารถถ่ายทอดแลกเปลี่ยน รับรู้ข้อมูลข่าวสารได้อย่างสะดวก ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะทางสังคมซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ผ่านชุมชนเสมือนจริง โดยผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น คอมพิวเตอร์ สื่ออินเตอร์เน็ต เป็นต้น           ดังนั้น กระบวนการพัฒนาที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องหันมาพิจารณาถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสามารถพัฒนาได้บนพื้นฐานทุนทางสังคมที่มีอยู่ หรือว่าจะหลงทุนนิยมซึ่งหมุนไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ต่อไป นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา ประเทศไทยและคนไทยสามารถสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนาชุมชน และแนวทางการพัฒนาที่เป็นทางเลือกใหม่ของโลกได้โดยการปรับใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง 
คำสำคัญ (Tags): #พัฒนาชุมชน
หมายเลขบันทึก: 147491เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2007 21:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 20:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท