ผมเคยเขียนบทความลงในมติชนรายวันหัวข้อ "แปลงสินทรัพย์เป็นทุนหรือหนี้สิน" ด้วยความรู้งูๆปลาๆเพราะไม่ได้เรียนมาทางด้านนี้ แต่ใช้ความเข้าใจสมการทางคณิศาสตร์อธิบายว่า สินทรัพย์จะเปลี่ยนเป็นทุนเมื่อทำให้เป็น รายรับ แต่จะกลายเป็นหนี้สิน เมื่อทำให้เป็น รายจ่าย
ในการทำงานเกี่ยวข้องกับองค์กรการเงินชุมชน ผมมักได้ยินคำว่า"หมุนหนี้" บ่อย เพราะการเติมเงินลงไปในชุมชน ก็เหมือนกับการให้ตุ่มน้ำ เมื่อมีหลายใบ ทั้งเงินมิยาซาว่าหมู่บ้านละ 1 แสนบาท เงินแก้ไขปัญหาความยากจนหมู่บ้านละ 2.8 แสนบาท เงินกิจกรรมจากโครงการปกติที่ผันเป็นกองทุนหมุนเวียน รวมทั้งตุ่มน้ำที่ชาวบ้านสร้างขึ้นเอง เช่น กลุ่มออมทรัพย์ และตุ่มนอกหมู่บ้านเช่น ธกส. เป็นต้น
ชาวบ้านย่อมยักย้ายถ่ายเทน้ำจากตุ่มนี้ไปตุ่มโน้นเป็นธรมดา เพราะไม่สามารถทำให้สินทรัพย์แปรเปลี่ยนเป็นรายได้มากกว่ารายจ่ายที่เกิดขึ้นได้ ทางแก้คือ ต้องเพิ่มตุ่มน้ำลงไปเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนต่อไป เพราะการเล่นเกมนี้ สุดท้ายแล้วน้ำจะรั่วไหลหรือถ่ายเทไปยังคนกลุ่มหนึ่ง ถ้าแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้ ก็ต้องผันเงินลงไป คราวนี้จะผันเงินSMLเพื่อให้เกิดสินทรัพย์สาธารณะที่เป็นรายจ่าย ไม่ให้เกิดภาระหนี้สินส่วนบุคคลขึ้น โดยคาดหวังเช่นเดียวกับนโยบายกองทุนหมู่บ้านว่า จะเป็นกระบวนการเรียนรู้การหมุนหนี้เพื่อลดรายจ่าย สร้างสินทรัพย์ให้เป็นทุนทั้งส่วนบุคคลและชุมชน (ทุนวัฒนธรรมการรวมกลุ่ม ทุนความรู้)เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดี แต่การนำแนวคิดที่ดีสู่ภาคปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย
อ.ไอศูรย์ ภาษยะวรรณ์ ได้สรุปกระบวนการไหลเวียนของเงินในเขตชุมชนเมืองและชนบทอย่างน่าสนใจและน่าทึ่ง
ผู้สนใจสามารถ downlode power point ที่อ.ฝากให้ผมได้ในข้อคิดเห็นในหัวข้อที่แล้ว
ต้องขอบคุณอาจารย์มากครับ
ประเด็นที่ผมกำลังดำเนินการคือ สนับสนุนให้ชุมชนใช้การจัดการความรู้เพื่อทำให้สินทรัพย์ของกลุ่มเปลี่ยนเป็นทุนขององค์กรและของสมาชิกโดยความหมายอย่างกว้างที่อ.ไอศูรย์สรุปไว้ด้วยคือ นอกจากเป็นทุนเงินตราแล้ว ยังเป็นทุนทางสังคม/วัฒนธรรม และทุนความรู้ด้วย ซึ่งทำได้ไม่ง่ายนัก
หวังว่าจะได้รับข้อแนะนำจากอาจารย์เพิ่มเติมครับ