การเขียนบทความทางวิชาการ: ชื่อผู้นิพนธ์ และผู้ร่วมนิพนธ์ 2


ต่อจาก การเขียนบทความทางวิชาการ: ชื่อผู้นิพนธ์ และผู้ร่วมนิพนธ์

          ในฐานะที่ผู้นิพนธ์ (ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเสริฐ  ทองเจริญ) ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการจดหมายเหตุทางการแพทย์ของแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์  มาตั้งแต่ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 ติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน  โดยมีการเว้นระยะประมาณ 6 ปีเศษ (ไปดำรงตำแหน่งผู้รั้งนายกแพทยสมาคมฯ และนายกแพทยสมาคมฯ รวม 4 ปี  หลังจากพักอยู่ร่วม 2 ปี  ก็ได้รับเชิญเข้าไปแก้ปัญหาความล่าช้าของวารสารและปัญหาด้านการเงิน จนจวบถึงปลายปี พ.ศ.2546)

          เป็นบรรณาธิการผู้ก่อตั้งแพทยสภาสาร ระหว่างปี พ.ศ. 2514 - 2520 เป็นเวลา 6 ปี  และได้รับหน้าที่เพื่อเข้าไปแก้ปัญหาอีก เมื่อปี พ.ศ. 2538 จนถึงปัจจุบัน 

          เป็นบรรณาธิการผู้ก่อตั้งวารสารโรคเอดส์ของกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 จนถึงปัจจุบัน

          และเคยเป็นบรรณาธิการวารสาร Asia Pacific Journal of Allergy and Immunology อยู่อีกถึง 4 ปี ได้อาศัยประสบการณ์ที่ผ่านมา ไปแก้ปัญหาต่างๆ ที่ได้ยกไว้ในตอนต้น (บันทึกที่แล้ว) ตามลำดับดังนี้

  1. (บางบทความมีชื่อผู้นิพนธ์มากเกินไป จนเกินความจำเป็น)  การที่จะให้มีชื่อผู้ใดอยู่ในคณะผู้นิพนธ์ขอให้ยึดหลักของ Uniform Requirement for Manuscripts Sumitted to Biomedical Journal ซึ่งจัดทำโดย International Committee of Medical Journal Editors ซึ่งตีพิมพ์ใน Ann Intern Med 1997; 126: 36-47.
  2. (บางบทความตัดชื่อผู้ร่วมวิจัยออกหมดเหลือชื่อตนเองคนเดียว  ราวกับว่าเป็นทศกัณฐ์สิบหน้า ยี่สิบมือ จึงวิจัยงานนั้นได้สมบูรณ์)   ถ้าบรรณาธิการพิจารณาเห็นว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ ก็มักจะลองปรึกษาคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขานั้นๆ ดูว่าเรื่องเช่นนี้  งานวิจัยในลักษณะ "one man show" หรือ "lone star" จะทำได้หรือไม่  ถ้าเห็นว่าสุดวิสัย อาจจะส่งคืนไม่รับตีพิมพ์  หรือขอให้ชี้แจงหรือปรับปรุงเพิ่มเติมแล้วแต่กรณี
  3. (เจ้าหน้าที่ที่ทำงานตามปกติ (พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ ฯลฯ) แต่ถูกเอางานที่ทำอยู่เป็นประจำ ไปศึกษาวิเคราะห์และรายงาน มาร้องเรียนว่าทำไมไม่มีชื่อของตนเอง มีปรากฎเฉพาะที่กิตติกรรมประกาศ  หรือบางครั้งไม่มีปรากฎ ณ ที่ใดเลย)  แก้ปัญหาโดยยึดหลักข้อหนึ่งที่กล่าวไว้แล้ว
  4. (ผู้นิพนธ์ชื่อแรก แอบขโมยเอาผลงานของทั้งคณะนักวิจัยไปเขียนเป็นบทรายงาน  ส่งไปตีพิมพ์ โดยผู้ร่วมคณะวิจัยไม่ทราบ  ไม่เคยได้เห็นมาก่อนเลย)   คนที่ขโมยบทความนั้นจะต้องได้รับการลงโทษ  ถ้าจับได้ต้องแจ้งให้หน่วยงานหรือผู้บังคับบัญชาหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้ได้รับทราบถึงการกระทำเยี่ยงโจรนี้
  5. (ชื่อของผู้ร่วมวิจัยขาดหายไปบางคน  ไม่ครบเหมือนในพิธีสาร (protocol) ที่ยื่นเสนอขอทำวิจัย จึงเขียนจดหมายมาประท้วง)   กรณีที่บางชื่อหล่นหายไป  อาจเกิดขึ้นได้ หากผู้ร่วมวิจัยบางท่านขอถอนตัวจากคณะวิจัย  หรือไม่เอาใจใส่ในงานวิจัย  โดยคณะนักวิจัยพิจารณาแล้วว่า ไม่น่ามีชื่อร่วม  ถ้าสงสัยก็ให้ชี้แจงได้  คงต้องพิจารณาเป็นแต่ละกรณีไป
  6. (ผู้ที่มีชื่อร่วมรายงานเขียนหนังสือมาประท้วงว่า บทความแย่ๆ อย่างนั้น ใส่ชื่อท่านไปทำไม  โดยที่ท่านไม่ทราบมาก่อน) 
    (ผู้ที่ได้รับการกล่าวคำขอบคุณในกิตติกรรมประกาศ  เขียนจดหมายมาต่อว่าว่า ไม่น่าเอาชื่อไปขอบคุณเลยว่าช่วยตรวจบทความ  หรือช่วยดูภาษาอังกฤษให้  อันที่จริงแล้วท่านผู้นั้นไม่เคยได้อ่านต้นฉบับครบตลอดทั้งเรื่อง  สุดท้ายบทความบทนั้นเป็นยทความที่คุณภาพต่ำ  สับสน  ภาษาอังกฤษสุดแย่  ทำให้ท่านเสียเครดิตไปเปล่าๆ)   ในกรณีที่แอบอ้างใส่ชื่อผู้อื่นลงไปในบทรายงานหรือกิตติกรรมประกาศ  ผมจะส่งจดหมายประท้วงนั้นให้คณะผู้นิพนธืได้ทราบ  แล้วให้ไปแก้ไข แก้ตัว หรือไปสารภาพผิดกันเอง  ผมคงเข้าไปเกี่ยวข้องมากไม่ได้  เป็นเอกสิทธิ์ส่วนบุคคลที่จะไปว่ากล่าวกันเอง  ผมเองเพียงบันทึกหรือจดจำพฤติกรรมน่าละอายอันนี้เอาไว้ว่ามีผู้ใดบ้างที่ชอบมีพฤติกรรมเช่นนั้น  อาจเพื่อเอาใจเจ้านายหรือเพื่อให้คนคิดว่าบทความของตนดีเพราะอาศัยเครดิตผู้อื่น  แต่ผลที่ได้กลับติดลบ ต้องลงบัญชีดำเอาไว้ด้วย
  7. (เรื่องที่ลงในวารสาร เมื่อมีการแบ่งการมีส่วนร่วมในรายงานนั้น  มีผู้ร้องว่าทำไมมีส่วนร่วมเพียงน้อยนิด 2% บ้าง 5% บ้าง น่าจะมีมากกว่านั้น)  การที่ได้ส่วนร่วม 2% หรือ 5% นั้นไม่น่าจะยินดีอะไร  บางนายที่ได้ 2% คงได้เพราะเคยเดินผ่านหน้าห้องวิจัยไป 2 ครั้งกระมัง  การที่ได้ชื่อร่วมในบทรายงาน เพื่อเอาไปเขียนชีวประว้ติโดยที่ตนเองไม่ได้ลงแรงอะไรนั้น  ไม่น่าจะเกิดความภาคภูมิใจอะไร  น่าละอายด้วยซ้ำไปที่เกิดการ "ละโมภ" จากการจับเสือมือเปล่า  หากท่านไม่ได้ร่วมงานอะไรมากมาย  ถึงจะไม่มีชื่อก็อย่าไปโกรธเคืองคณะผู้วิจัยเขาเลย  โอกาสที่ท่านจะมีชื่อในที่ต่างๆ นั้น ยังมีอีกมาก  
  8. (มีการนำเอาชื่อชาวต่างประเทศเป็นผู้ร่วมนิพนธ์  แต่ไม่สามารถติดต่อเจ้าตัวเพื่อลงนามในแบบฟอร์มที่จะส่งบทความไปตีพิมพ์ได้  จะให้ปฏิบัติอย่างไร)   การเอาชื่อผู้ที่ไม่สามารถจะติดต่อได้ไปร่วมในชื่อผู้นิพนธ์นั้นคงจะไม่เหมาะ  เอาไปไว้ในกิตติกรรมประกาศคงจะเหมาะกว่า  ถ้าเจ้าของบทความยืนยันที่จะให้ปรากฎเช่นนั้น  จะสอบถามกลับไปว่าจะให้ตัดชื่อนั้นออกเอง หรือจะให้ส่งบทความที่ไม่ถูกระเบียบไม่เข้าเกณฑ์ฉบับนั้นคืนไปโดยไม่รับตีพิมพ์  ให้ท่านเลือกตัดสินใจเอาเอง

ยังมีต่อบันทึกหน้า.....

หมายเลขบันทึก: 147140เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2007 13:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2012 14:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท