คุยสนุกกับนักศึกษา..เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง


การสร้างการยอมรับของแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่คนไทย ทางหนึ่งก็คือชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่สิ่งประหลาดที่เป็นไปไม่ได้ แต่เรามีเครือข่ายร่วมอุดมการณ์ในฐานะ "ทางเลือก" ที่มาจากภูมิปัญญาตะวันออก

เมื่อวานนี้  สอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงต่อจากเรื่องพุทธเศรษฐศาสตร์  ก็ไม่แน่ใจว่าเด็กฝรั่งกว่า 20 คนจะเข้าใจแค่ไหน  แต่ก็ดูเขาสนใจกันดี

สอนเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการบรรยายสามห่วงสองเงื่อนนั้นไม่สนุกแน่  ที่สนุกกว่า คือตั้งประเด็นให้ช่วยกันคิด

เราตั้งประเด็นไว้ว่า  สังคมไทยมีการตอบรับปรัชญานี้อย่างหลากหลาย เพราะพื้นฐานและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน  และความเข้าใจต่อปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงก็แตกต่างกัน

ประเด็นที่ยังสังคมยังเข้าใจไม่ตรงกันเช่น

  • ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดเชิงสถิตหรือเชิงพลวัตร
  • เป็นแนวคิดที่ไปด้วยกันหรือต้านกระแสโลกาภิวัตน์
  • และจะเป็นจริงในทางปฏิบัติได้หรือไม่

ก็ค่อยๆหาคำตอบกันไปทีละข้อ  ตามความรู้ความเข้าใจของผู้สอนเอง

ข้อแรกก็ยกตัวอย่างการเติบโตอย่างมีขั้นตอน

ข้อสองก็บอกว่า ในหลวงทรงพระราชทานคำเตือนเหล่านี้ไว้เป็น "ทางเลือก"  ให้พวกเราท่ามกลางปัญหารุมเร้าในโลกยุคโลกาภิวัตน์ (ให้ นศ.ไปคิดเอาเองว่า แนวคิดนี้ "ต้านโลกาภิวัตน์" หรือไม่)

ข้อสามก็บอกว่า  มีตัวอย่างครอบครัว  ชุมชนมากมายที่ปฎิบัติสอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

แล้วถามนักศึกษาว่า  ภาคส่วนไหนที่ค้นหาตัวอย่างได้ยากที่สุด

นักศึกษาไทยตอบว่า  ภาคธุรกิจ  เราบอกว่าไม่ใช่

นักศึกษาฝรั่งตอบถูกว่า ภาคราชการ  ... เป็นจริงเช่นนั้น เพราะเรายังไม่เห็นหน่วยราชการไหนกล้าประกาศตัวเองว่าเป็นองค์กรที่เจริญรอยตามเศรษฐกิจพอเพียง

********

นักศึกษาไทยบอกว่า   เศรษฐกิจพอเพียงใช้ได้แค่ระดับปัจเจก คือให้พอประมาณ  ไม่น่าจะใช้ได้ในระดับประเทศ

เราถามนักศึกษาว่า   ในทฤษฎีตลาด   อุปสงค์ของตลาดมาจากผลรวมความพอใจและการบริโภคในระดับปัจเจกใช่หรือไม่   เพราะฉะนั้นหากปัจเจกปฏิบัติตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงกันมากๆย่อมส่งผลต่อความพอประมาณในระดับประเทศแน่

***********

นักศึกษาไทยอีกคนก็เลยติงว่า  ประเทศไทยไม่น่าใช้เศรษฐกิจพอเพียงเพราะเรายังเติบโตแค่ 4-5 % ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงโตกัน 7-8%  เราใช้เศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจประเทศก็ชงัก

เราบอกว่า  เศรษฐกิจพอเพียงไม่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ  แต่เป็น "การเติบโตอย่างสมดุลในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม"   เราถามนักศึกษาเพิ่มเติมว่า  แล้วที่มันทำให้เศรษฐกิจเราโตและมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งได้  แข่งขันได้ มาจากสาขาการผลิตใด   คำตอบก็คือ ภาคบริการ และภาคเกษตร

เราถามว่า ...ภาคบริการและภาคเกษตร อาศัยฐานทรัพยากร (เพื่อการเกษตรและการท่องเที่ยว) วัฒนธรรม แรงงาน ใช่หรือไม่   อันนี้คือฐานรากของเศรษฐกิจใช่หรือไม่  และเศรษฐกิจพอเพียงเน้นการเติบโตจากพื้นฐานใช่หรือไม่   เกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมสิ่งทอ  รองเท้า รถยนต์ ที่นำเข้าวัตถุดิบมากมายเพียงเพื่อใช้ประโยชน์จากแรงงานราคาถูก และอาจสร้างมลพิษจากการฟอกย้อม

นักศึกษาไทยพยักหน้า

**********

นักศึกษาต่างชาติบอกว่า  เขารักสิ่งแวดล้อม วิธีปฏิบัติของเขาไม่ได้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง  แต่ผลอาจเหมือนกัน

เราตอบว่า  ด้วยเหตุนี้เศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นหนึ่งในแนวคิดทางเลือกที่มีอยู่อย่างหลากหลายในเวลานี้   การสร้างการยอมรับของแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่คนไทย  ทางหนึ่งก็คือชี้ให้เห็นว่า  เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่สิ่งประหลาดที่เป็นไปไม่ได้  แต่เรามีเครือข่ายร่วมอุดมการณ์ในฐานะ "ทางเลือก" ที่มาจากภูมิปัญญาตะวันออก

ถึงตรงนี้ก็คงต้องขอความเห็นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก้บท่านผู้อ่านบล็อกด้วยค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 146923เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2007 16:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2012 18:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • พี่ปัทครับ
  • ถ้าพาเขาไปสถานที่จริงๆๆไปดูของจริงๆๆน่าจะสนุกนะครับ
  • ขอบคุณครับ

ขอบคุณค่ะอาจารย์ขจิต

เสาร์อาทิตย์นี้จะพานักศึกษาไปสมุทรสงครามค่ะ  คงได้เห็นกลุ่ม ชุมชนทั้งที่เป็นเศรษฐกิจพอเพียงและที่อาจจะหลุดจากเศรษฐกิจพอเพียงไปบ้างแล้ว

หวังว่า นักศึกษาจะสามารถเข้าใจ "ลึก" มากกว่าสิ่งที่เห็นเป็น "วิธีปฏิบัติ"  หมายถึงได้ฟัง ได้เข้าใจวิธีคิดของชาวบ้านด้วยค่ะ

แต่คงไม่ได้พาไปดูธุรกิจสมัยใหม่ที่เป็นเศรษฐกิจพอเพียงค่ะ

ต้องขอโทษก่อนตั้งคำถามนะคะ...

รู้สึกเหนื่อยไม๊ค่ะ ที่สอนเรื่องเชิงลึกแบบนี้ . . . . . ลึกในความเข้าใจก่อนนะค่ะ ปฎิบัติยังไม่ต้องพูดถึง

เพราะโดยส่วนตัวแล้ว เข้าใจว่า การฝังพื้นฐานความคิดของคนไทย ไม่ค่อยจะ "พอเพียง" กันเท่าไรนัก

อย่าว่าแต่ นักเรียนรุ่นใหม่ๆ ที่อยู่ในสังคมไซเบอร์เลย แม้แต่นักเรียนเศรษฐศาสตร์รุ่นเก่า ก็ยังทำความเข้าใจหรือพยายามที่จะเข้าใจ ได้ยากอยู่

แต่รู้สึกตื่นเต้น และดีมากๆ ค่ะ ที่มีหัวข้อเรียนแบบนี้

ขอโทษนะคะ เขียนยาวไป(มาก)หน่อย

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท