ป้องกันอันตรายจากไฟฟ้า


ไฟฟ้า

เราจะป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าได้อย่างไร

กระแสไฟฟ้าที่ไหลไปตามทางเดินไฟฟ้านั้น ถ้ามีทางไหลของกระแสมากกว่าหนึ่งทางแล้ว กระแสไฟฟ้าจะไหลไปในทางที่มีความต้านทานน้อยที่สุด ดังนั้นเพื่อให้ร่างกายมีความต้านทานมากมีกระแสไฟฟ้าผ่านน้อยหรือไม่ไหลผ่านเลย จึงพอจำแนกวิธีป้องกันได้ดังนี้

          1. การต่อสายดิน (Ground)

   เครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่จะมีโครงสร้างภายนอกเป็นโลหะ เช่น เครื่องซักผ้า ตู้เย็น เตารีด ปั๊มน้ำมัน สว่าน เป็นต้น อุปกรณ์ไฟฟ้าเหล่านี้เมื่อเกิดมีการชำรุดของวงจรไฟฟ้า เช่น ฉนวนเสื่อมสภาพหรือมีการแตกหักของฉนวน ทำให้สายไฟไปสัมผัสกับโครงโลหะของเครื่องไฟฟ้านั้นๆ กระแสไฟฟ้าก็สามารถรั่วไหลมายังโครงสร้างนั้นได้ และเมื่อมีผู้นำอุปกรณ์ไฟฟ้านั้นไปใช้งานหรือสัมผัสอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดนั้นๆในขณะที่ทำงานอยู่กระแสไฟฟ้าก็จะไหลผ่านตัวผู้ใช้งาน หรือผู้ที่สัมผัสอุปกรณ์นั้นลงสู่ดินทำให้ได้รับอันตรายได้

        วิธีการป้องกัน  คือ การต่อสายดินโดยใช้สายไฟฟ้าต่อกับโครงสร้างส่วนที่เป็นโลหะของอุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านั้นลงดิน เพื่อเป็นทางให้กระแสไฟฟ้าที่อาจจะรั่วไหลออกมาจากอุปกรณ์ไฟฟ้าเหล่านั้น (เพราะเหตุเนื่องจากฉนวนเสื่อมสภาพหรือฉีกขาด) ไหลลงสู่ดินโดยผ่านทางสายดินที่ได้ต่อไว้ แทนที่จะไหลผ่านตัวผู้ใช้งานหรือผู้ที่ไปสัมผัสอุปกรณ์เหล่านั้น ซึ่งวิธีการป้องกันโดยใช้สายดินนี้เป็นวิธีมาตรฐานที่นิยมใช้กันอยู่ทั่วไป อุปกรณ์ไฟฟ้าบางชนิดมีสายดินต่อมาให้เรียบร้อยแล้ว ปลั๊กไฟที่ใช้งานจึงมี 3 ขา ดังนั้นการนำมาใช้งานจึงควรจัดเตรียมเต้าเสียบที่มีสายดินพร้อมอยู่แล้ว คือ เดินสายไฟไว้สามเส้นโดยใช้เส้นหนึ่งเป็นสายเชื่อมต่อลงดินหรือเดินสายร้อยท่อโลหะ และใช้ท่อโลหะเป็นสายดินหรือถ้าเดินสายไฟฟ้าไว้เป็นชนิด 2 เส้นอยู่แล้ว ก็ให้เดินสายเพิ่มอีกเส้นหนึ่ง เพื่อใช้เป็นสายดิน โดยที่สายดินที่ใช้จะต้องโตไม่น้อยกว่า 1/3 ของสายไฟฟ้าทั้งสองเส้นที่ใช้งานอยู่หรือถ้าเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดที่ไม่มีสายดินผู้ใช้งานก็ควรจะต่อสายเดินจากโครงโลหะของเครื่องไฟฟ้านั้นลงดินโดยตรง ซึ่งอาจจะต่อสายดินเข้ากับท่อประปาที่เป็นโลหะหรือต่อเข้ากับแท่งโลหะไร้สนิม (Ground Rod) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ซม. ยาวไม่น้อยกว่า 150 ซม. และฝังลึกจากผิวดินอย่างน้อย 30 ซม. ก็จะได้ระบบสายดินที่สมบูรณ์ อันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นก็จะไม่มี

            2. การใช้ฉนวนป้องกันไฟฟ้า (Insulation)

  ฉนวนหุ้มสายไฟฟ้าหรือหุ้มสายอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ นั้น เป็นสิ่งที่ชำรุดฉีกขาดได้และฉนวนหุ้มสายจะชำรุดง่ายยิ่งขึ้นถ้าผู้ใช้งานใช้อย่างขาดการทะนุถนอมและไม่เอาใจใส่ เช่น การดึงหรือกระชากผ่านของมีคมหรือวัตถุที่มีขอบหรือมุมแข็งการวางไว้ในทางที่มีการเหยียบไปมาหรือมีวัตถุหนักๆ เคลื่อนทับอยู่เสมอ ก็เป็นเหตุให้ฉนวนชำรุดเสียหายได้ นอกจากนี้ การต่อสายไฟฟ้าใช้งานอย่างชั่วคราวมักจะใช้ตะปูตอกกดทับไว้ ทำให้ฉนวนชำรุด กลายเป็นสายเปลือยไป จุดต่อต่างๆ ที่ต่อไว้มิได้มีการพันฉนวนป้องกัน ซึ่งจะกลายเป็นจุดอันตรายไปด้วย สิ่งเหล่านี้ถ้าผู้ใช้งานละเลยไม่ให้ความเอาใจใส่ก็จะนำอันตรายมาสู่ตัวผู้ใช้งานได้เพื่อเป็นการป้องกัน จึงควรหมั่นตรวจสภาพฉนวนของสายไฟฟ้าหรือสายอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ เพื่อหารอยแตกปริ หรือฉีกขาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงขั้วต่ออุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ขั้วหลอด ปลั๊ก ถ้าพบว่ามีการชำรุดอย่าปล่อยทิ้งไว้ ควรรีบซ่อมแซมหรือเปลี่ยนทันที

          3. การใช้สวิตช์ตัววงจรอัตโนมัติ (Earth leakage circuit breaker)

  อุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดนี้ เป็นอุปกรณ์ที่สามารถตัดวงจรไฟฟ้าทันทีที่มีกระแสไฟฟ้ารั่วไหลออกจากวงจรการทำงานของอุปกรณ์นี้คือ ปกติในวงจรไฟฟ้าจะมีกระแสไฟฟ้าไหลในสายไฟทั้ง 2 สายเท่ากัน แต่เมื่อเกิดมีกระแสไฟฟ้ารั่วไหลลงดิน โดยผ่านร่างกายหรือผ่านตัวนำอื่นๆ ก็ตาม กระแสไฟฟ้าที่ไหลในสายทั้งสองจะไม่เท่ากัน เมื่อเกิดภาวะดังกล่าว อุปกรณ์ตรวจสอบการรั่วของกระแสไฟฟ้าจะส่งสัญญาณไปยังสวิตช์อัตโนมัติ ซึ่งทำหน้าที่ตัดวงจรทันทีก่อนที่จะมีผู้ได้รับอันตรายจากกระแสไฟฟ้า นับว่าเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ดังกล่าวยังมีราคาแพงอยู่มาก

  ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างไรจึงจะปลอดภัย

  เครื่องมือเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ที่เราใช้อยู่ประจำวันจนเคยชินถ้าเราใช้โดยขาดความระมัดระวังและไม่มีการบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่ดีและปลอดภัยแล้ว อาจจะนำภัยมาสู่ผู้ใช้ได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ดังนั้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งหลายพึงระวังและให้ความเอาใจใส่เสมอ เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง และบุคคลอื่นๆ

หลอดไฟฟ้า

  หลอดไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ ควรเป็นอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานหลอดที่มีความร้อนสูง ไม่ควรติดตั้งใกล้กับวัตถุซึ่งเป็นเชื้อเพลิงเช่น มุ้ง ผ้าม่าน หรือการใช้กระดาษทำเป็นโคมกันแสง เพราะความร้อนจากหลอดไฟอาจทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ หลอดไฟฟ้าที่ขาดแล้วควรใส่ไว้ตามเดิม จนกว่าจะเปลี่ยนหลอดใหม่ เพื่อป้องกันผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือเผลอเอานิ้วแหย่เข้าไป

ตู้เย็น

  ตู้เย็น ควรจะต่อสายที่โครงโลหะลงดิน โดยเฉพาะตู้เย็นที่ตั้งอยู่บนพื้นซีเมนต์หรือที่ชื้นแฉะ หลอดไฟภายในตู้เย็นถ้าขาดแต่ยังไม่มีโอกาสเปลี่ยนก็ควรปล่อยทิ้งไว้ ไม่ควรเอาหลอดออกเหลือแต่กระจุ๊บไฟ

เตารีดไฟฟ้า เตาไฟฟ้า 

  การใช้เตารีดต้องให้ความระมัดระวัง เพราะความร้อนจากเตารีดอาจทำให้สายไฟไปสัมผัสฉนวนเสียหาย ดังนั้น ควรใช้สายที่ทนความร้อนชนิดหุ้มด้วยผ้า และเมื่อเลิกใช้งานควรทิ้งไว้ให้เย็นก่อนเก็บเข้าที่ เตาไฟฟ้าควรใช้เป็นชนิดแผ่นเหล็กร้อน (Hot plate) จะปลอดภัยกว่าแบบขดลวดความร้อน เพราถ้าขดลวดความร้อนหลุดหรืองอขึ้นมาแตะกับภาชนะก็จะทำให้เกิดอันตรายได้

หม้อหุงข้าวไฟฟ้า

  เมื่อซาวข้าวและเติมน้ำตามกำหนดแล้ว ควรเช็ดทำความสะอาดหม้อชั้นในให้แห้ง ไม่มีเศษข้าวหรือสิ่งอื่นใดหลงเหลืออยู่ แล้วจึงวางลงในหม้อชั้นนอก เสียบปลั๊กและกดสวิตช์ เมื่อข้าวสุกแล้วจึ่งค่อยดังปลั๊กออก

เครื่องซักผ้า

   เครื่องซักผ้า เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องอยู่กับน้ำเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น เมื่อติดตั้งเครื่องเรียบร้อยควรต่อสายจากโครงโลหะของเครื่องลงดิน เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน และถ้าเครื่องเปียกน้ำควรเช็ดให้แห้งก่อนใช้งาน

วิทยุ ทีวี ซีวีดี

  อย่าเปิดหรือปิดในขณะที่ตัวเปียกชื้น โดยเฉพาะเสาอากาศทีวีและไม่ควรใช้อุปกรณ์เหล่านี้ในที่ชื้นแฉะ เช่น ห้องน้ำ สระว่ายน้ำ เพราะจะทำให้เกิดอันตรายได้ง่าย ในเวลาฟ้าคะนองไม่ควรใช้ ควรถอดสายอากาศและปลั๊กออกด้วย

สว่านไฟฟ้า กบไฟฟ้า เลื่อยไฟฟ้า

  ก่อนใช้เครื่องมือเหล่านี้ ควรตรวจเช็คสภาพก่อนเสมอ เพราะเครื่องมือเหล่านี้ถ้าใช้งานมามาก อาจมีการชำรุดเกิดขึ้นได้ง่าย และขณะใช้งานควรสวมถุงมือหนัง และถ้าเป็นสว่านชนิดมีสายดินก็ควรต่อสายดินให้เรียบร้อยก่อนใช้งานด้วย

เครื่องตัดหญ้าไฟฟ้า

  เครื่องตัวหญ้าไฟฟ้า ควรใช้ชนิดที่มีสายดินต่อเรียบร้อยแล้วเพราะต้องเคลื่อนไปมา แต่ถ้าเป็นชนิดที่ไม่มีสายดินไม่ควรใช้ในขณะเท้าเปล่า เพื่อความปลอดภัยควรใส่รองเท้าบู๊ตยาง และถุงมือยางหรือหนังจะทำให้ปลอดภัยขึ้น และถ้าตรวจพบว่ามีการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้าจะต้องส่งซ่อมทันที

โคมไฟสนาม

  บ้านที่มีโคมไฟสนาม ควรหมั่นดูแลตรวจสอบสภาพฉนวนให้ดีอยู่เสมอ ตัวเสาโคมควรต่อสายลงดิน เมื่อมีการรั่วขึ้น เพราะสนามหญ้าเป็นสนามที่เด็กๆ วิ่งเล่น อาจจะไปสัมผัสและได้รับอันตราย

กริ่งประตู

   กริ่งประตูเป็นอีกจุดหนึ่งที่ผู้อยู่อาศัยขาดความสนใจ โดยเฉพาะหน้าฝน น้ำฝนอาจซึมเข้าไปที่สวิตช์ เมื่อมีผู้ไปกดก็จะโดนไฟดูดได้ ดังนั้น การใช้กริ่งประตูไม่ควรใช้ไฟ 220 โวลต์ ควรจะใช้ชนิดที่มีหม้อแปลงลดแรงดันเหลือเพียง 8 - 12 โวลต์ เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านและบุคคลอื่น การกดสวิตช์กริ่งประตูหรือสวิตช์ทุกชนิด ควรใช้หลังนิ้วกดหรือเคาะ เพราะถ้าเกิดมีกระแสรั่วไหล กล้ามเนื้อจะกระตุกหดกลับ หลุดออกจากจุดสัมผัสนั้น ทำให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น

                                                    ด้วยความปรารถนาจากเด็กเทคนิค

เขียนใน GotoKnow โดย 
 ใน kob
คำสำคัญ (Tags): #ไฟฟ้า
หมายเลขบันทึก: 146608เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2007 13:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท