สนุกกับภาษาไทย – ภาษาอัชฌาไศรย ๑๙. ประวัติศาสตร์กับการศึกษาวรรณคดีไทย (๑๘)


         ผมเคยสงสัยว่า เมื่อก่อนพระนครศรีอโยธยาจะเป็นเมืองหลวง ได้มีชุมชนอยู่ก่อนแล้ว ชุมชนนั้นคงมีความรุ่งเรือง ขนาดสร้างพระเจ้า “เจ้าพแนงเชอง” ผมไม่สู้แน่ใจว่า คำว่า พแนงเชอง เป็นนามของพระพุทธรูปหรือไม่   ได้มาเจอคำ “นิสีทิ” ใน มหาชาติคำหลวง ท่านแปลว่า “ธ จึ่งเสด็จพแนงเชอง” จึงได้ทราบว่า เจ้าพแนงเชอง คือ พระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ นั่นเอง มีคำหนึ่งคือ คำว่า “กรุง” หรือ “กุรุง” ซึ่งผมทราบว่า เป็นคำมอญโบราณ แปลว่ากษัตริย์ (เอกสารที่ส่งจากอยุธยาตอนต้นไปยังเมืองจีนก็ดูใช้คำว่า กรุง ในความหมายนี้) แต่ในสมัยหลังคำนี้กลายความหมายไปเป็นเมืองหรือนครหรือรัฐไป ผมตรวจดูพบการใช้คำนี้เช่นกัน ภาษาบาลีเขียนว่า “สุทฺโธทนมหาราชา” แปลว่า “จึ่งกรุงสุทโธทน” หมายความว่า ท่านแปลคำว่า “มหาราชา” ให้เท่ากับคำว่า “กรุง” ดังนั้น มหาชาติคำหลวง จึงเป็นเอกสารเก่าที่เก็บความหมายเก่าไว้ด้วย การศึกษาคำในวรรณคดีเรื่องนี้ จึงมีประโยชน์อย่างมหาศาลต่อการศึกษาคำยากในจารึกสุโขทัย เช่น “ผีฟ้า” ในจารึกหลักที่ ๒  ใน มหาชาติคำหลวง เขียนถึง “ผีฟ้าเกลื่อนกลางหาว” แปลว่า เทวดา ผีฟ้ายโสธรปุระ ในจารึกจึงหมายถึง พระมหากษัตริย์แห่งยโสธรผู้สวรรคตแล้ว คำใน กฎหมายตราสามดวง หลายคำสืบหาความหมายได้ใน มหาชาติคำหลวง เช่นกัน ตัวอย่างเช่น คำว่า บาแดง ซึ่งมีความว่า “อันว่า กูนี้เปน บาแดงแทรงไซ้ สารส่งให้มาทูลข่าวแล” หมายถึง ผู้ส่งสาร

         ในสมัยกรุงเทพฯก็ยังมีประแดงทำหน้าที่ทำนองเดียวกันนี้อยู่   ถ้าผมจะอภิปราย คำโบราณอื่นๆ เช่น ออกญา ออกนาง เจ้าพระยา  เจ้า ณ พัว แม่ ณ หัว พณหัวท่าน ศิลาบาตร คงไม่ต้องจบการบรรยายในวันนี้ เพราะจะสนุกสนานกับความรู้เรื่องภาษา ที่จะนำไปใช้เป็นข้อมูลประวัติศาสตร์

         นอกจาก มหาชาติคำหลวง แล้ว ยังมีวรรณคดีอื่นๆ เช่น โคลงยอพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์ ที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับรัชกาลนั้น ซึ่งช่วยเพิ่มพูนความรู้ที่ไม่มีในพระราชพงศาวดาร แต่เป็นข้อมูลสำคัญ เช่น  เรื่องเมืองขึ้นอยุธยา วรรณกรรมบางประเภทเป็นเรื่องพิธีกรรมแท้ๆ แต่ก็ให้ข้อมูลที่นักประวัติศาสตร์ต้องการ เช่น คำฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง ซึ่งเมื่อขึ้นต้นเรื่องต้องกล่าวยอพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดินและพรรณนาบ้านเมืองเสียก่อน ทำให้เราได้ทราบว่า ทิศใดทางใด ขอบเขตบ้านเมืองของสยามประเทศไปถึงไหน มีเมืองอะไรบ้าง

วิจารณ์ พานิช
๑๙ ต.ค. ๕๐

หมายเลขบันทึก: 146111เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2007 14:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 19:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • สวัสดีครับท่านอาจารย์
  • ผมเพิ่งเขียนบล็อกไม่นานเพิ่งได้เข้ามาศึกษา
  • ขออนุญาตนำเข้าแพลนเน็ตครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท