พอเพียงได้อย่างไรเมื่อยังมีไม่เพียงพอ


ข้อเขียนนี้มิได้มุ่งหวังที่จะตอบโต้หรือเห็นขัดแย้งกับแนวคิดความพอเพียง ที่กำลังรณรงค์กันอยู่อย่างกว้างขวาง หากแต่เป็นการมุ่งหวังที่จะให้สังคมที่กำลังโหมกระแสความพอเพียงหันกลับมาดูภาพความเป็นจริงที่เป็นอยู่ในสังคมทุกวันนี้แล้วหันมาให้ความสำคัญกับคนทุกกลุ่มทุกชนชั้นโดยเสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติ

พอเพียงได้อย่างไรในเมื่อยังมีไม่เพียงพอ 

บทนำ

ข้อเขียนนี้มิได้มุ่งหวังที่จะตอบโต้หรือเห็นขัดแย้งกับแนวคิดความพอเพียง ที่กำลังรณรงค์กันอยู่อย่างกว้างขวาง หากแต่เป็นการมุ่งหวังที่จะให้สังคมที่กำลังโหมกระแสความพอเพียงหันกลับมาดูภาพความเป็นจริงที่เป็นอยู่ในสังคมทุกวันนี้แล้วหันมาให้ความสำคัญกับคนทุกกลุ่มทุกชนชั้นโดยเสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติ อันจะนำไปสู่ความพอเพียงที่จริงแท้และยั่งยืนได้ในที่สุด โดยในข้อเขียนนี้พยายามจะสะท้อนภาพของสังคมที่ยังมีการมองข้ามมองผ่านคนอีกกลุ่มหนึ่งในสังคม ที่มีสภาพยิ่งกว่าชายขอบ แต่เขาอยู่ที่ขอบขอบชายขอบอีกทีหนึ่ง มุมที่คนไม่เคยคิดจะมองจะสังเกต แต่เมื่อใดที่จะทำความเรียบร้อยของเมือง คนเหล่านี้จะโดนกวาดล้างเยี่ยงสัตว์ข้างถนนอย่างไม่เปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด

 คนมี(โอกาส)ไม่เท่ากัน

จากบทความของ ศิริพร ยอดกมลศาสตร์   ได้เคยนำเสนอไว้ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อปี 2546 ว่า คนจนคนด้อยโอกาสในสังคมไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้รับการศึกษา หรือมีการศึกษาต่ำกว่าระดับมาตรฐาน (คือประถมศึกษา) และด้วยความจนทำให้ลูกหลานของคนเหล่านี้เกือบ 80% ไม่มีโอกาสศึกษาต่อ เนื่องจากครอบครัวไม่สามารถจัดสรรเงินมาใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษา นี่ยังไม่รวมเรื่องคุณภาพชีวิต และคุณภาพการศึกษาที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดของคนต่างชนชั้น ต่างฐานะทางเศรษฐกิจ นับตั้งแต่การดูแลบุตรในครรภ์มารดา การดูแลลูกเล็ก การเตรียมความพร้อมก่อนเด็กจะเข้าโรงเรียน คุณภาพของกระบวนการเรียนการสอนที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างโรงเรียนชั้นนำในเมือง ..ไล่เรื่อยไปถึงโรงเรียนเล็กๆ ในชนบท โอกาสในการเข้าถึงแหล่งกวดวิชาที่มีอาจารย์ดังเก็งข้อสอบแม่น ฯลฯ ที่ตอกย้ำถึงความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องโอกาสทางการศึกษาของเด็กต่างฐานะต่างชนชั้น อย่างไรก็ตาม คนจนคนด้อยโอกาสจำนวนมาก ยังคงมีความคาดหวังว่า ถ้าในครอบครัวมีลูกสักคนที่ฉลาดๆ เรียนเก่งๆ พวกเขาอาจจะมีโอกาสลืมตาอ้าปาก ก้าวพ้นปัญหาความยากจนได้ในอนาคต หลายครอบครัวพร้อมที่จะ "ลงทุน" ขายที่ดินทำกินหรือกู้หนี้ยืมสิน เพื่อส่งเสียให้ลูกที่ฉลาด และเรียนเก่ง ได้รับการศึกษาสูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

จากข้อเขียนข้างต้นสะท้อนภาพความไม่เท่าเทียมกันของสังคมอย่างชัดเจน ปราชญ์ของทุนนิยมมีคำกล่าวว่า คนจนมักตกเป็นเหยื่อของคนจนเสมอ แต่ อาดัม สมิธ นักปราชญ์เศรษฐศาสตร์ทุนนิยมก็กล่าวว่า คนในสังคมทุนนิยมจะรวยจะจนก็ขึ้นอยู่กับปริมาณแรงงานที่เขาควบคุมได้หรือซื้อหามาได้ เพราะฉะนั้น คนจนผู้ขายแรงงาน ก็คือเหยื่อของระบบที่คนรวยนำไปใช้สร้างความร่ำรวยให้ตนเอง ดังนั้น คนจนจึงตกเป็นเหยื่อของคนรวยมากกว่าตกเป็นเหยื่อของคนจนด้วยกัน ซึ่งนั่นเองทำให้คนจนคนด้อยโอกาสในสังคมไทยต้องประสบกับการเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่มีที่สิ้นสุด อนึ่งปัญหาความยากจนจึงไม่ได้จำกัดขอบเขตอยู่เพียงเรื่องรายได้ แต่มันมีปริมณฑลกว้างไกลไปถึง สิทธิและโอกาส อำนาจ และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ด้วย ประวัติศาสตร์สังคมจากทุกประเทศยืนยันในสัจธรรมว่า คนจนและคนด้อยโอกาสไม่เคยลดความยากจนลงได้โดยปราศจาการต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้กับตัวเอง และต่อสู้กับกลุ่มคนและชนชั้นที่ได้เปรียบและเอารัดเอาเปรียบ ตำนานการต่อสู้ของคนจนและคนด้อยโอกาสไทย มีประวัติมายาวนาน หลายยุคหลายสมัย และเพื่ออนาคตที่ดีกว่า คนจนและคนด้อยโอกาสทั้งหลายมีแต่จะต้องต่อสู้ต่อไป เพื่อความเป็นไท และปากท้องของคนจนเอง และนั่นเองจึงเป็นที่มาของการต่อสู้ดิ้นรนจากชนบทมาสู่เมืองใหญ่ ๆ รวมถึงกรุงเทพมหานครเอง เพื่อแสวงหาความเพียงพอเท่านั้นเอง แต่มาถึงวันนี้ เขากำลังโดนจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานไว้ด้วยความพอเพียง มีเท่าที่มีกินเท่าที่มีกิน แต่ในความเป็นจริง ที่จะกินประทังไปวัน ๆ ยังไม่มีแล้วจะให้เขาพอเพียงได้อย่างไร ???

 รัฐสวัสดิการความพอเพียงที่มีไม่เพียงพอ

                ต้องยอมรับกันก่อนว่าประเทศไทยมีการพูดถึงรัฐสวัสดิการที่เป็นรูปธรรมนั้นเริ่มต้นมาจากข้อเขียนของศาสตราจารย์ด๊อกเตอร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์  ที่ชื่อ คุณภาพแห่งชีวิต : จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน เป็นสำคัญจนผ่านมาเกือบ 30 ปี NGOs สายสุขภาพที่มีลูกชายคนสำคัญของอาจารย์ป๋วย ที่ชื่อ จอน อึ๊งภากรณ์ และ คณะ พยายามนำเสนอแนวคิดหลักประกันสุขภาพให้แก่พรรคการเมืองต่าง ๆ เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ทุกพรรคการเมืองปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่รู้จะเอาเงินจากไหนมาดำเนินการได้ แต่พรรคไทยรักไทยในขณะนั้น รับแนวคิดดังกล่าว และนำไปปรับเป็นนโยบายหาเสียงที่โด่งดัง 30 บาทรักษาทุกโรค หรือหลักประกันสุขภาพนั่นเอง แต่มาถึงวันนี้ก็ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมมากนัก เพราะ พรรคการเมือนักการเมืองที่พยายามแข่งขันกันเข้ามาบริหารประเทศมุ่งเน้นไปที่การขายฝันนโยบายเดินตามแบบที่พรรคไทยรักไทยได้เคยวางแนวทางเอาไว้หลังจากที่ ก่อนหน้านี้ บรรดาพรรคการเมืองทั้งหลาย ไม่ให้ความสำคัญกับนโยบายการหาเสียงเท่าใดนัก หากมองย้อมกลับไปดีดี จะพบว่า ความพยายามจัดการด้านรัฐสวัสดิการของรัฐไทยมักจะประสบกับความล้มเหลวเพราะมักจะใช้งบประมาณเป็นตัวตั้งแต่ เอาความสุขของประชาชนเป็นตัวรอง ทำให้ จะทำอะไรหรือขยับอะไร ก็ติดขัดไปหมด แม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงล่าสุด หรือแนวคิดธรรมาภิบาลที่พยายามจะนำเสนอขายฝันเพื่อให้คนไทยมีส่วนร่วมก็ยังนำข้อจำกัดนี้มาเป็นอุปสรรคในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อนำไปสู่รัฐสวัสดิการที่สมบูรณ์แบบ การคิดแบบแยกส่วน หรือแบ่งภาครัฐและเอกชนออกจากกันทำให้ความมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อความสุขลดน้อยลงไป รัฐมุ่งเน้นจะเป็นเจ้าของผลงานการสร้างความสุข หรือการให้การช่วยเหลือสงเคราะห์แก่ผู้ด้อยโอกาสเป็นหลัก สร้างระบบเจ้าขุนมูลนายให้ยั่งยืนในระบบสังคมไทย ยังมองว่าคนด้อยโอกาสเป็นภาระที่ต้องโอบอุ้มช่วยเหลือ แต่ไม่มองว่าทุกส่วนของพลังคือกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและนำพาประเทศชาติไปสู่ความสุขแบบยั่งยืนได้ในที่สุด

                การสร้างรัฐสวัสดิการที่เพียงพอ คือการสร้างความสุขความปลอดภัยให้แก่พลเมืองของรัฐและต้องมองว่าทุกคนคือพลเมืองไม่ใช่เพียงประชากร และต้องค้อนหาศักยภาพพร้อมกับดึงศักยภาพที่แต่ละคนแต่ละภาคส่วนมีอยู่มาร่วมกันสร้างสุขให้แก่สังคม รัฐเองมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้แก่ทุกภาคส่วนในสังคมที่มีความพร้อมจะแบ่งปันหรือเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสวัสดิการให้แก่สังคมโดยเริ่มตั้งแต่ สวัสดิการชุมชนที่จะเป็นกลไกในการบรรเทาภาระจากรัฐในการสร้างสวัสดิการอื่น ๆ ได้มากขึ้น และหากสวัสดิการชุมชนกระจายตัวลงไปอย่างทั่วถึงแล้ว รัฐสวัสดิการก็จะเป็นเพียงกลไกหนึ่งที่เกื้อหนุนให้สังคมเกิดสวัสดิการที่ทั่วถึงกันในที่สุด

 ความสุขมวลรวมอยู่ที่คนมีแบ่งปันได้มากแค่ไหน

 

                รัฐเองต้องเปิดโอกาสเปิดเวทีในสังคมให้ได้มีโอกาสแบ่งปันกันให้มากที่สุด และต้องสนับสนุนคนเล็ก ๆ องค์กรเล็ก ๆ ที่ริเริ่มและสม่ำเสมอในการกระจายโอกาส ในการสร้างความสุขในสังคม ให้เขาได้มีที่ยืนที่แลกเปลี่ยนที่นำเสนอเรื่องราวให้แก่สังคมได้รับรู้รับทราบให้มากที่สุด รัฐต้องสร้างแรงจูงใจที่หลากหลายเพื่อให้เอกชนหรือประชาชนที่มีโอกาสในสังคมได้เข้ามาแบ่งปันให้มากขึ้น  รัฐต้องยอมรับความแตกต่างและยอมรับความจริงว่า คนจนและคนด้อยโอกาสในสังคมไทยยังมีอยู่และมีอยู่เป็นจำนวนมาก ต้องยอมรับว่าทัศนคติของสังคมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและคนทั่วไปที่ยังมองว่า คนจนและคนด้อยโอกาสเป็นภาระของสังคมนั้นยังมีอยู่และมีเป็นจำนวนมากด้วย ซึ่งหากยอมรับได้แล้ว กระบวนการการปรับทัศนคติผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่รัฐจำเป็นต้องเสนอตัวเป็นเจ้าภาพต้องเกิดขึ้นอย่างหลากลายสม่ำเสมอและบ่อยครั้ง

                จากการทำงานต่อเนื่องกับคนในสังคมที่แวะเวียนเข้ามาเป็นอาสาสมัครพบว่า เสียงที่จะได้ยินอยู่อย่างสม่ำเสมอคือไม่รู้ว่ามีเรื่องราวเหล่านี้อยู่ในสังคม หรือบางคนก็ยอมรับว่ามีทัศคติที่ไม่ดีกับกลุ่มคนจนและคนด้อยโอกาสเพราะการสอนของสมาชิกในครอบครัวที่มักจะมองว่า คนกลุ่มนี้คือภาระของสังคม ทำให้คนจำนวนมากขาดโอกาสในการมองและเรียนรู้สังคมอย่างเข้าถึงและเข้าใจ แต่ถ้าหากรัฐเข้ามามีบทบาทในการเป็นเจ้าภาพในการจัดเวทีเรียนรู้โดยสมัครใจและมีแรงจูงใจให้มากกว่าที่เป็นอยู่ คนมีโอกาสแบ่งปันกันมากขึ้น ในที่สุดความสุขมวลรวมของสังคมไทยก็จะเพิ่มขึ้นเอง

 ความหวังที่จำต้องหวัง 

               ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ที่ต้องมีการเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปดูแลบริหารบ้านเมืองแทนประชาชน60 กว่าล้านคน ก็ยังคมต้องฝากความหวังไว้ที่ประชาชนที่จะมองการเมืองที่จะเข้ามาเอื้อประโยชน์แก่คนในสังคมได้อย่างไร พรรคไหน หรือใครที่มีแนวคิดการทำงานเพื่อประชาชนที่เท่าเทียมกันมากที่สุด และที่สำคัญประชาชนเองต้องใส่ใจถึงหน้าที่และสิทธิของตนเองทีพึงมีพึงได้จากรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ และกระตุ้นเตือนนักการเมืองที่แต่ละคนเลือกเข้าไปทำหน้าที่แทนตนเองอย่างสม่ำเสมอ นักการเมืองเองก็คงต้องปรับตัวขนานใหญ่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงหากจะล้มเลิกรัฐสวัสดิการแบบเจ้าขุนมูลนายที่มีมาแต่เดิมให้หมดไป และ สร้าง รัฐสวัสดิการ สวัสดิการชุมชนเข้ามาแทนที่ ถึงวันนั้นอาจจะเป็นวันที่ฟ้าในเมืองไทยมีสีทองขึ้นมาจริง ๆ ก็เป็นได้

หมายเลขบันทึก: 145616เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2007 09:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ครับเห็นด้วยอย่างมาก ในหลายๆสิ่ง  ในทุกสังคมไม่ว่ายากดีมีจน  หรือองค์กรใดก็จะมีคนด้อยโอกาสเสมอ  ผมก็เป็นคนด้อยโอกาสในองค์กรผม  แต่ผมมีความหวังแม้ไม่ได้ตามหวังนักแต่ผมไม่ท้อแท้ในชีวิต  ต่อสู้ดิ้นรนมาตลอด  แม้จะเหนื่อยกว่าคนอื่นในสังคมเดียวกันผมจะถือว่าเป็นกรรมของผม  ทำให้ผมสามารถต่อสู้กับสิ่งนี้

ผมขึ้นเวทีจะแตะเรื่องนี้เสมอ  ทำไมคนไกลต้องซื้อของแพง  น้ำมันแพง  ทำไมมหาวิทยาลัยดีๆมาอยู่เมืองหลวง  ทำไมสถาบันในเมืองหลวงได้เงินอุดหนุนมากกว่าท้องถิ่น

แม้เขาจะไม่ได้ยินก็เริ่มมีเสียงตอบรับมากขึ้น  ขอให้กำลังใจกับทุกๆคนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท