เรื่องเล่าจากเกาหลี : กิมจิ..กิมจิ.. ตอนที่ 1 ก่อนบินไปเกาหลี


ข่าวของประเทศเกาหลีใต้ที่มักจะได้ยินเสมอในข่าวต่างประเทศมีอยู่ 2 ข่าว คือ ข่าวการประท้วงของชาวเกาหลีใต้ที่มักจะดุเดือดเลือดพล่าน ระหว่างนักศึกษา ประชาชนกับตำรวจ และอีกข่าวหนึ่งคือ การประท้วงประเทศญี่ปุ่นของชาวเกาหลีใต้ โดยเฉพาะตอนที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นไปคารวะหลุมศพในสุสานวีรบุรุษสงคราม
 หากจะถามว่าผมรู้จักเกาหลีใต้เมื่อไหร่ บอกตามตรงว่า รู้จักเมื่อประมาณตอน ม.2 (จะว่าไปก็เกือบ 15 ปีมาแล้ว) เพราะตอนนั้นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษให้เขียนตามคำบอก คำหนึ่งที่อาจารย์ท่านนั้นบอกให้เขียนก็คือ การเขียนชื่อประเทศเกาหลีใต้ เป็นภาษาอังกฤษ จำได้ว่าตอนที่เฉลยผมเป็นคนเดียวในห้องที่สามารถเขียนคำว่า “South Korea” ได้อย่างถูกต้อง ผมรู้ได้อย่างไรนะหรือ หากจำไม่ผิดตอนนั้นมีการแข่งขันกีฬาอะไรสักอย่าง (ไม่แน่ใจว่าเอเชี่ยนเกมส์หรือเปล่า) ทีมชาติเกาหลีใต้ลงแข่งขันพอดี ก็จำๆ มาจากตัวหนังสือที่ขึ้นบนหน้าจอโทรทัศน์นั่นเอง
หลังจากนั้นก็ไม่ได้สนใจประเทศนี่มากนัก แต่มาได้ยินเกาหลีใต้มากขึ้น จากข่าวต่างประเทศที่นำเสนอข่าวอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ที่มักจะขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นเสมอ ซึ่งมักจะพ่วงปฏิกริยาของเกาหลีใต้เข้าไปด้วยเสมอ ข่าวของประเทศเกาหลีใต้ที่มักจะได้ยินเสมอในข่าวต่างประเทศมีอยู่ 2 ข่าว คือ ข่าวการประท้วงของชาวเกาหลีใต้ที่มักจะดุเดือดเลือดพล่าน ระหว่างนักศึกษา ประชาชนกับตำรวจ และอีกข่าวหนึ่งคือ การประท้วงประเทศญี่ปุ่นของชาวเกาหลีใต้ โดยเฉพาะตอนที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นไปคารวะหลุมศพในสุสานวีรบุรุษสงคราม
แต่ช่วงหลังมานี้ เกาหลีใต้คงเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่คนไทยหลายคนอยากไปท่องเที่ยวสักครั้ง นั่นเพราะเรารู้จักเกาหลีใต้มากขึ้นจากละครทางโทรทัศน์ โด่งดังที่สุดในยุคแรกๆ คงเป็น ละครเรื่อง Winter Sonata หรือ Winter Love Song ที่ออกฉายทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ละครเรื่องนี้ผมก็ได้ดูบ้าง สารภาพตามตรงว่า ตอนติดละครเรื่องนี้ มันก็ใกล้จบแล้ว หลังจากนั้นก็ได้ติดตามละครเกาหลีทางไอทีวีบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่การติดตามละครเกาหลีจริงๆ จังๆ คงเป็นยอดภาพยนตร์ทางช่อง 7 ในวันเสาร์-อาทิตย์ ช่วงสายๆ
จนทำให้ผู้ชมคนไทยต่างเปิดรับวัฒนธรรมเกาหลีกันอย่างไม่เขอะเขิน ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนการเรียนภาษาเกาหลี สมัยที่ผมเรียนปริญญาตรี นักศึกษาไทยเรียนเกาหลีกันน้อยมาก ที่มหาวิทยาลัยก็เปิดภาษาเกาหลีเป็นวิชาโท ไม่มีวิชาเอก ผู้เรียนก็แทบจะนับคนได้ ตอนนั้นนักศึกษาส่วนใหญ่ชอบเรียนภาษาญี่ปุ่นกันมาก รองลงมา คือ ภาษาจีน หากใครเรียนภาษาญี่ปุ่นก็มักจะถูกมองด้วยสายตาชื่นชม ว่า “IN TREND” สุดๆ ตอนนี้ไม่ต้องพูดถึงครับภาษาญี่ปุ่นดูจะตกกระป๋องไปเลย วิชาเอกภาษาเกาหลีกลายเป็นที่ชื่นชอบกันมาก หลายมหาวิทยาลัยเปิดกันทั่วหน้า
 นี่คงเป็นผลจากละครเกาหลี!!! ที่เราคงปฏิเสธไม่ได้
ความซาบซึ้งกับความรักผสมผสานกับบรรยากาศอันงดงาม บวกกับเนื้อหาที่ไม่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนเหมือนละครไทย ทำให้คนไทย (และสังคมเอเชีย) น้อมรับวัฒนธรรมเกาหลีแบบไม่ยากนัก กลายเป็นคลื่นระลอกใหม่ ที่เรียกกันติดปากว่า “เกาหลีฟีเวอร์”
เมื่อปีสองปีที่ผ่านมานี้ ช่องไทยนำละครพีเรียด “แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง” ยิ่งทำให้คนไทยคลั่งไคล้เกาหลี โดยเฉพาะอาหารเกาหลีมากขึ้นตามลำดับ ตามมาด้วย “หมอโฮจุน” และ “จูมง วีรบุรุษกู้แผ่นดิน” นับเป็นการตอกย้ำกระแสกิมจิให้ผู้ชมชาวไทยจงรักภักดีต่อแบรนด์ Korea มากขึ้น
จึงไม่แปลกนักที่การท่องเที่ยวเกาหลีใต้จะบูมแบบสุดๆ ชาวไทยและหลายชาติในเอเชียใฝ่ฝันที่จะไปสัมผัสบรรยากาศแบบในละครเกาหลีกันสักครั้ง
รวมทั้งผู้อื่นบันทึกนี้ด้วยใช่มั๊ยครับ 
คำสำคัญ (Tags): #เกาหลีใต้
หมายเลขบันทึก: 144784เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2007 14:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีด้วยความระลึกถึงค่ะอาจารย์ภีรกาญจน์

          อาจารย์กำลังจะเดินทางไปประเทศเกาหลีใต้หรือคะ.....
          ดิฉันคิดถึงรสชาติของกิมจิขึ้นมาทันทีที่เห็นชื่อบันทึกของอาจารย์   ขอยืนยันว่าอร่อยแบบเผ็ดๆดีมากค่ะ
          ที่โรงเรียนดิฉันมีนักศึกษาลงเรียนภาษาเกาหลีอยู่พอสมควรเหมือนกัน   การถ่ายทอดวัฒนธรรมด้วยการเรียนรู้ภาษาให้ผลเร็วดีนะคะ    (โดยมีสถาบันการศึกษาเป็นแชนแนล)  : )   และประเทศเกาหลีก็ส่งผู้แสดงทางวัฒนธรรมมาแสดงให้ชมค่อนข้างบ่อย  ล่าสุดก็มีวงออเคสตร้าเป็นต้น  สนุกดีเหมือนกันค่ะ  ได้เห็นวัฒนธรรมที่หลากหลายดี
         ดิฉันออกจะห่างโทรทัศน์(ฟรีทีวี)หน่อย  ส่วนมากจะดูเคเบิ้ลทีวี    แต่ได้ดูแดจังกึม ชอบวิธีคิดที่"ลึก" ของเขา  คนดีก็ดีเนียนในเนื้อ  คนร้ายก็ร้ายได้ชั้นเชิง  ดูแล้ว "ได้คิด" ดี  ตอนนี้พ่อก็ติดใจ"จูมง"ค่ะ  อาจารย์ก็ชอบละครเกาหลีเหมือนกันเหรอคะ  : )

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท