สนุกกับภาษาไทย – ภาษาอัชฌาไศรย ๑๐. ประวัติศาสตร์กับการศึกษาวรรณคดีไทย (๙)


2.2 วรรณคดีวิจักษ์ในทัศนะของประวัติศาสตร์ : วรรณคดีเพื่อประวัติศาสตร์
         เนื่องจากนักประวัติศาสตร์มองว่า วรรณคดีเป็นหลักฐานเอกสารสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เข้าใจประสบการณ์ของมนุษย์ การศึกษาวรรณคดีจึงไม่แตกต่างไปจากการที่นักประวัติศาสตร์ศึกษาเอกสารอื่น นั่นคือ ผู้แต่ง อายุของเอกสาร ภาษาและศัพท์สำนวน ข้อมูลเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรม นักประวัติศาสตร์เอาข้อมูลที่ได้จากวรรณคดีเข้าสู่บริบทเฉพาะและบริบททั่วไป ผมและคณะนักวิจัยในโครงการ “กฎหมายตราสามดวง: ประมวลกฎหมายไทยในฐานะมรดกโลก” ได้ประโยชน์จากข้อมูลในวรรณคดีไทยมาก เช่นพระไอยการลักษณะต่อพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง ได้พูดถึงการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของคู่ความ ซึ่งไม่สามารถกำหนดได้ด้วยพยานเอกสารและพยานบุคคล พระไอยการนั้น ให้รายละเอียดเกี่ยวกับคำสบถ และขั้นตอนพิธีกรรมต่างๆ นั่นเป็นเอกสารชั้นต้นที่เป็นทางการ แต่นักประวัติศาสตร์ก็ยังคงต้องการได้ข้อมูลจากแหล่งอื่น วรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน มีเรื่องราวการด้ำน้ำอยู่ ซึ่งมีรสของวรรณคดีและมีบรรยากาศอย่างไม่เป็นทางการ ทำให้เราได้ทั้งข้อมูลตรวจสอบและรายละเอียดเพิ่มเติม

         อาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ได้นำเรื่องนี้มาเขียนอธิบายไว้อย่างน่าสนใจ (3) เมื่อผมขอให้คุณทวีพร ทองคำใบ ศิลปินที่โชคร้ายถูกคนขับรถร่วมในความสนับสนุนของ ขสมก. กระทำฆาตรกรรมบนท้องถนนเมื่อกว่าเดือนที่ผ่านมาวาดภาพจำ ลองการดำ น้ำ ลุยเพลิงประกอบสูจิบัตรที่มอบเป็นอภินันทนาการแก่ผู้รับเชิญมางานแนะนำหนังสือ กฎมณเทียรบาล ฉบับเฉลิมพระเกียรติ ผมได้แนะนำให้คุณทวีพร ศึกษาทั้งพระไอยการลักษณะต่อพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง และ ขุนช้างขุนแผน ด้วย คุณทวีพร เป็นนักแต่งกลอนฝีมือเยี่ยมและชอบเรื่องวรรณคดีอยู่แล้ว จึงมีความสุขกับการถ่ายทอดอารมณ์และการแปลงสื่อวรรณคดีไปเป็นวรรณศิลป์อย่างงดงาม

         ที่ผมเล่ามานี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการที่นักประวัติศาสตร์และคนในสาขาอื่นได้ประโยชน์จากวรรณคดี และสมกับที่ผมพูดว่า วรรณคดีส่องทางแก่ประวัติศาสตร์ ผมเชื่อว่า นักประวัติศาสตร์เข้าหาวรรณคดีพร้อมกับโจทย์และคำถามที่ทำให้วรรณคดีมีสีสันและเป็นเรื่องน่าสนใจมากขึ้น
-----------------------------------------------------------------------------------
3 จุลทัศน์ พยาฆรานนท์, “การพิสูจน์ความสัตย์ในโจทก์กับจำเลยโดยกระบวนการตามวิธีโบราณประเพณี”, วารสารนิติศาสตร์ (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 (มิถุนายน 2547) หน้า 194–232

วิจารณ์ พานิช
๑๘ ต.ค. ๕๐

 

 

หมายเลขบันทึก: 143447เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2007 09:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท