สนุกกับภาษาไทย – ภาษาอัชฌาไศรย ๙. ประวัติศาสตร์กับการศึกษาวรรณคดีไทย (๘)


2 วรรณคดีจากมุมมองของประวัติศาสตร์
         ความเป็นนักประวัติศาสตร์ทำให้ผมรัก ชื่นชม และ เห็นความสำคัญของวรรณคดีไทย ก่อนนั้นผมเคยมีความรู้สึกว่า วรรณคดีวิจักษ์เป็นวรรณคดีวิบากมาโดยตลอดเช่นกัน ทั้งที่ผมเล่นกลอนสดแข่งขันทั้งเมื่อเรียนอยู่ที่โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย และเมื่อเข้ามาเรียนที่คณะอักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว อีกทั้งยังเคยแต่งอาศิรวาท หากินมามากมาย     แต่ผมไม่ได้คิดว่า ชอบวรรณคดีไทยนัก เมื่อมองย้อนกลับไปถึงการเรียนวรรณคดีที่ผ่านมาและได้เห็นกันอยู่จึงได้เห็นปัญหาว่า วรรณคดีเป็นเรื่องมนุษยศาสตร์ ผู้สอนวรรณคดีสอนเพียงมุ่งเน้นให้เรารู้จักฉันทลักษณ์ของกวี   นิพนธ์ประเภทต่างๆ เรื่องราวและความงามของภาษา แต่ไม่เคยมุ่งเน้นให้เรารู้จักมนุษย์เลย การศึกษาเรื่องทางมนุษยศาสตร์นั้น ผู้ศึกษาต้องมุ่งเน้นทั้งสิ่งที่เป็น technical content และ intellectual content   เรื่องแรกเป็นเรื่องวิธีวิทยาเฉพาะสาขาวิชา ส่วนเรื่องหลังเป็นเรื่องการแสดง “สาร” หรือ message ที่อยู่ลึกในประเด็นที่ศึกษา ผมขอยกตัวอย่างความน่าเบื่อของการต้องฟังนักประวัติศาสตร์ศิลปะแจกแจงว่า เจดีย์นี้มีปล้องไฉนกี่ปล้อง เจดีย์นั้นมีกี่ปล้อง   หรือรูปลักษณ์ศิลปะเป็นอย่างไร   สิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องเทคนิคที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะต้องรู้อยู่แล้วเพราะจำเป็นในการวิเคราะห์ข้อมูลชั้นมูลฐาน แต่สิ่งที่วิชาทางมนุษยศาสตร์ต้องการรู้คือ ปรัชญาและภูมิปัญญาที่เป็นแรงดลบันดาลใจให้เกิดเจดีย์นั้นขึ้นมา รวมทั้งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อคติความเชื่อและวิถีชีวิตของคนในสังคม

      2.1 วรรณคดีและประวัติศาสตร์ : การส่องทางแก่กัน
         สำหรับนักประวัติศาสตร์แล้ว วรรณคดีเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เพราะสะท้อนให้เห็นโลกทัศน์ วัฒนธรรม ความเชื่อ พิธีกรรมและวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยที่เขาศึกษา เช่น ถ้าจะศึกษาประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก็ต้องศึกษาข้อมูลทางวัฒนธรรมจาก ขุนช้างขุนแผน  ซึ่งเป็นวรรณคดีที่แต่งในสมัยนั้น หรือ ต้องอ่านคำกลอน พระอภัยมณี ของพระศรีสุนทรโวหาร (ภู่) เป็นต้น แต่การใช้ข้อมูลจากวรรณคดีมีเงื่อนไขกำกับอยู่ เช่น นักประวัติศาสตร์ไม่ได้เข้าไปหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อยุธยาจาก ขุนช้างขุนแผน ทั้งที่ฉากของวรรณคดีเรื่องนี้อยู่ในสมัยอยุธยาก็ตาม ทั้งนี้เพราะ ขุนช้างขุนแผน แต่งในสมัยรัตนโกสินทร์ วรรณคดีเรื่องนี้จึงสะท้อนจินตนทัศน์อดีต (perception of the past) ของคนสมัยกรุงเทพฯ ยุคต้น สิ่งที่นักประวัติศาสตร์พยายามอธิบายก็คือ อะไรคือปัจจัยที่นำไปสู่ความเข้าใจดังกล่าวเมื่อผู้แต่งวรรณคดีได้สร้างฉากสมัยอยุธยาขึ้นมาจากสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมที่เขารู้จัก ข้อมูลทางวัฒนธรรมจึงเป็นข้อมูลของสมัยรัตนโกสินทร์ที่ผู้แต่งนำไปใส่ให้แก่สมัยอยุธยา     เนื่องจากนักประวัติศาสตร์ได้รับการฝึกหัดให้มองหาสาระสำคัญระหว่างบรรทัด และมองหา “สาร” ที่อยู่หลังภาษา สำนวน และเรื่องราวในวรรณคดีแต่ละเรื่อง ในแง่นี้วรรณคดีส่องทางแก่นักประวัติศาสตร์ในการเรียนรู้เรื่องราวที่ไม่ปรากฏในหลักฐานประวัติศาสตร์ประเภทอื่น เช่น พระราชพงศาวดาร หรือ ตำนาน หรือ แม้กระทั่งหลักฐานชั้นต้น แต่ในทางกลับกัน ประวัติศาสตร์ก็เป็นเครื่องส่องทางแก่วรรณคดีด้วย ในการศึกษาวรรณคดีสักเรื่องหนึ่ง ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ช่วยให้ผู้ศึกษาเข้าใจบริบทของวรรณคดีนั้นในทางสังคมได้ดีขึ้น และทำให้มองประเด็นของวรรณคดีออกไปนอกเหนือขอบเขตแคบๆ ของสุนทรียรสและฉันทลักษณ์

วิจารณ์ พานิช
๑๘ ต.ค. ๕๐

 

หมายเลขบันทึก: 143439เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2007 09:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 10:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท