เลือกคนมาเป็นอาจารย์


          คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร  โชคดีที่ยังมีโควต้ารับอาจารย์ใหม่ได้อีก (เล็กน้อย)  ปัจจุบัน เรามีระบบการคัดสรรอาจารย์ค่อนข้างจะเข้มข้น คุณสมบัติที่กำหนดไว้ ได้แก่

  1. ต้องจบตรงสาขาในทุกระดับ ตรี / โท / เอก (โดยเฉพาะ ป.ตรี )
  2. ต้องมีเกรดเฉลี่ย ป.ตรี ไม่น้อยกว่า 2.75  แต่ที่จริงถ้าได้เกียรตินิยมจะเอนเอียงทันที
  3. ต้องมีเกรดเฉลี่ย ป.โท ไม่น้อยกว่า 3.5  (ถือว่าไม่มากเลยค่ะ)
  4. ต้องมีหลักฐานผลคะแนนสอบภาษาอังกฤษมาโชว์ให้ดูด้วย ว่าเทียบเท่าโทเฟล 450 ขึ้นไป (จะได้ go inter ได้)
  5. ต้องมาสอบสอนให้คณาจารย์ในภาคพิจารณาดูก่อนว่า  มีความเป็นครู  สามารถถ่ายทอดได้ (บางคนเก่งแต่เรียน แต่ถ่ายทอดไม่เป็น ก็ใช้ไม่ได้)
  6. ถ้าจบมานานแล้ว  หรือมีประสบการณ์ในการทำงานในวิชาชีพ  ก็ต้องเขียนโครงการวิจัยที่สนใจมาให้พิจารณา  (ให้แน่ใจว่ามีพื้นฐานมากพอที่จะทำงานวิจัยได้ด้วย)
  7. ต้องผ่านการสอบสัมภาษณ์จากคณาจารย์ในภาควิชา (ใช้ความเป็นซินแสวัดด้วยว่า บุคลิกภาพดี  โหงวเฮ้งใช้ได้  เข้ากันกับพวกเราได้แน่นะ )
  8. ต้องผ่านการสัมภาษณ์จากคณบดี (คณบดีจบสาขารังสีเทคนิคสามารถใช้รังสีส่องทะลวงกลางใจได้...ซะเมื่อไหร่ ) 

          เห็นไหมคะว่าต้องฝ่าถึง 8 ด่านอรหันต์  บางท่านก็ถอดใจไปเลย  ดังนั้นจึงวัดความจริงใจได้อีกข้อหนึ่งไปในตัวว่า เป็นผู้มุ่งมั่นอยากจะมาเป็นอาจารย์ในถิ่นภูธรนี้จริงๆ

          ทั้งที่ทราบดีว่า  อาจารย์ก็มีไม่พออยู่แล้ว  การกำหนดกฎเกณฑ์เช่นนี้  แรกๆดูเหมือน จะทำให้เกิดความคับข้องใจแก่คณาจารย์ในภาควิชาต่างๆ  โดยเฉพาะท่านหัวหน้าภาควิชาอยู่ไม่น้อย  แต่ดิฉันก็จำต้องขัดใจ  ซึ่งเดี๋ยวนี้ทุกภาควิชาก็กระทำตามกฎจนเป็นประเพณีกันไปแล้ว   

          ครูบาอาจารย์ คือหัวใจของการผลิตบัณฑิต  นี่เองกระมังที่ทำให้ ก.พ.อ. เพิ่มมาตรการเข้มข้นขึ้นในการประเมินผลอาจารย์ที่จะขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการเป็น ผ.ศ.  รศ.  ศ.

          ทำให้ ก.พ.ร. สมศ.  สกอ. กำหนดตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษา  ด้านจำนวนอาจารย์ ป.เอก  และจำนวนอาจารย์ที่มีตำแหน่งทางวิชาการ ในสถาบันการศึกษา ที่มีเกณฑ์สูงขึ้นๆ

          แต่อีกด้านหนึ่ง  รัฐก็กำลังจะจำกัดอัตรากำลังบุคลากร ไม่ให้เพิ่มขึ้นอีก เพราะไม่มีสตังค์จะจ่ายค่าจ้าง เงินเดือนแล้ว....  หมายความว่าอัตราใหม่จะน้อยลงๆ จน....อาจไม่มีอีก...

          ทางรอดของการศึกษาไทยจะไปทางไหน.....

          ผู้บริหารการศึกษายุคใหม่  อาจต้องทำตัวเป็นแมวมอง และพ่อบุญทุ่ม ซื้อตัวอาจารย์เก่งๆ กันมาเลย....(ประโยคสุดท้าย คือคำตอบที่ อาจารย์สมหวัง  เจ้าพ่อ สมศ. ท่านบอกดิฉันค่ะ) 

หมายเลขบันทึก: 143402เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2007 23:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

กราบเรียน ท่านคณบดี

  • มีคนกล่าวว่า
  • "อาจารย์ เป็น อย่างไร ลูกศิษย์ ก็เป็นอย่างนั้น ครับ

เรียนท่านอาจารย์มาลินี

  • เป็นไอเดียที่ดีมากๆ เลย
  • สมัยก่อนเราคัดเลือกอาจารย์แค่สัมภาษณ์ เพียงครั้งเดียว (วันเดียว) แล้วก็บอกได้ว่า "จะรับ" หรือ "ไม่รับ"
  • แต่คนที่เรารับต้องอยู่เป็นอาจารย์ประมาณ ๓๐ กว่าปี (บางคนอาจอยู่ถึง ๔๐ กว่าปี เพราะว่าเกษียณแล้วก็ไม่ยอมจากลา)
  • เรียกว่า ดูกันวันเดียว อยู่กันไปอีกตั้งนาน
  • ขนาดคนเป็นแฟนกัน จะแต่งงานกัน เขายังมีเวลาคบกันอย่างน้อย ๒ เดือนขึ้นไปเลย..อิอิ
อยากได้อาจารย์รังสีเย้อออออๆๆ จะได้รับกับรุ่นน้อง ~80 คนได้คับ
  • เรื่องดูใจนี้ยากนัก
  • อีกอย่าง ลางเนื้อก็ชอบลางยา
  • สำหรับการเลือกอาจารย์
  • หากหยั่งได้
  • ดิฉันก็อยากได้คนที่มีหัวใจเป็นครู
  • ถ้าเรื่องเลือกแฟน (แต่ตอนนี้เลือกไม่ได้แล้ว)
  • คงต้องดูว่าเขาจะเป็น พ่อ เป็นแม่ ที่ดีได้รึปล่าว ?? (ตอนหนุ่มสาว ก็ดู สวย - หล่อ เป็นหลัก) 
  • อาจารย์ beeman เลือกด้วยวิธีนี้รึเปล่าคะ
  • เมื่อเราพยายามเลือก input อย่างดีที่สุดแล้ว  ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากที่มาเกี่ยวข้อง  เช่น กระบวนการสอน  ฯลฯ  อาจารย์ JJ บอกว่า "อาจารย์เป็นอย่างไร  ลูกศิษย์ก็เป็นอย่างนั้น"  ดิฉันขอเพียง 50% ที่เหมือนก็ชื่นใจแล้ว (อีก 50% ขอให้ดีกว่า....ล้อเล่นนน...)  เพราะแม้แต่คนที่เราเลี้ยงดูประคบประหงมมาแต่อ้อนแต่ออก อย่างลูกของเราเอง  ดิฉันก็ยังไม่แน่ใจเหมือนกัน
  • ดิฉันก็อยากได้อาจารย์รังสีเย้อออออๆๆ เหมือนกัน  ถ้าเจอที่ที่ไหนอย่าลืมคว้ามาให้ด้วยนะคะ....

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท