จากวิกฤตน้ำมันสู่พลังงานทางเลือก


มีผู้เปรียบเทียบว่าน้ำมันคือ “ทองคำสีดำ” เพราะน้ำมันเป็นดั่งสายเลือดที่ไหลหล่อเลี้ยงทุกองคาพยพของโลกยุคใหม่ มันคือเชื้อเพลิงสำหรับการคมนาคมขนส่ง การผลิตในภาคอุตสาหกรรม การสื่อสาร สิ่งของทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่ปุ๋ยเคมีเพื่อการเกษตร พลาสติก เฟอร์นิเจอร์ เวชภัณฑ์ อาหาร ฯลฯ ล้วนพึ่งพาน้ำมันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตน้ำมันครั้งใหญ่ขึ้นคราวใด โลกทั้งโลกจึงต้องสั่นสะเทือน
 
 ในปี ค.ศ. ๒๐๐๑ ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่ในระดับต่ำกว่า ๒๕ ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปี ๒๐๐๓ ที่สหรัฐอเมริกาทำสงครามบุกอิรัก เป็นช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มพุ่งทะยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเดือนสิงหาคม ๒๐๐๕ ราคาน้ำมันก็ไต่ระดับไปถึง ๖๗ ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

บรรดานักวิเคราะห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมัน จากสถาบันต่างๆ ยังเชื่อว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะไม่ลดต่ำกว่า ๕๐ ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกแล้ว

ชาวโลกต่างตื่นตระหนกกันทั่วหน้า อะไรคือสาเหตุของวิกฤตน้ำมันรอบใหม่ล่าสุดนี้ นักวิเคราะห์ต่างเชื่อว่าความต้องการบริโภคน้ำมันทั่วโลกที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว คือปัจจัยหลักที่ส่งให้ราคาน้ำมันพุ่งทะยานจนฉุดไม่อยู่

จากปี ๑๙๘๖ ที่ทั่วโลกบริโภคน้ำมัน ๕๔ ล้านบาร์เรลต่อวัน ขยับขึ้นเป็น ๖๖.๒ ล้านบาร์เรลต่อวันในปี ๑๙๙๐ และ ๗๙.๗ ล้านบาร์เรลต่อวันในปี ๒๐๐๓ ก่อนพุ่งสูงขึ้นเป็น ๘๒ ล้านบาร์เรลต่อวันในปี ๒๐๐๔ และคาดว่าในปี ๒๐๐๕ ทั่วโลกจะบริโภคน้ำมันราว ๘๔-๘๕ ล้านบาร์เรลต่อวัน

สหรัฐอเมริกาคือประเทศผู้บริโภคน้ำมันอันดับ ๑ ของโลก ปี ๒๐๐๔ สหรัฐฯ ใช้น้ำมันประมาณ ๒๐.๗ ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็นสัดส่วนถึง ๑ ใน ๔ ของปริมาณน้ำมันที่ใช้กันทั่วโลก ขณะที่ประเทศนี้มีจำนวนประชากรเพียง ๕ เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งโลก

แต่ที่น่าจับตามองคือประเทศจีนและอินเดียที่มีประชากรมหาศาล และเศรษฐกิจกำลังขยายตัวอย่างมาก ทำให้อัตราการบริโภคน้ำมันของ ๒ ประเทศนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

การขยายตัวของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเร่งการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเพื่อตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกจำนวนมาก ทำให้อัตราการบริโภคน้ำมันทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทว่าน้ำมันเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด ถึงวันหนึ่งมันจะต้องหมดไป คำถามสำคัญก็คือ เมื่อใดน้ำมันจะหมดโลก ?

เอ็ม. คิง ฮับเบิร์ต นักธรณีวิทยาผู้มีชื่อเสียงชาวอเมริกันเคยกล่าวไว้ว่า การวางรากฐานพัฒนาการทั้งมวลของมนุษย์ไว้บนพื้นฐานของสิ่งที่ไม่ยั่งยืนอย่างน้ำมัน รังแต่จะยังผลให้เกิดอันตรายในระดับหายนะ เขายังเป็นผู้เสนอทฤษฎี “peak oil” ตั้งแต่ปี ๑๙๕๖ ซึ่งวงการน้ำมันกำลังให้ความกังวลสนใจอย่างมากในปัจจุบัน

วิกฤตด้านราคาน้ำมันครั้งล่าสุด อาจเทียบไม่ได้เลยกับวิกฤตการณ์พีกออยล์ที่จะมาถึงในอนาคต นั่นคือภาวะที่การผลิตน้ำมันทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุด จนไม่อาจผลิตเพิ่มมากกว่านั้นได้แล้ว และจะเริ่มลดน้อยลงในที่สุด

สิ่งที่นักวิชาการทั่วโลกยังถกเถียงกันอยู่ก็คือ วิกฤตการณ์พีกออยล์จะมาถึงเมื่อใด เพราะการคำนวณโดยใช้ชุดข้อมูลและตัวแปรแตกต่างกัน ทำให้ได้ผลลัพธ์ไม่เหมือนกัน ในรายงานของรัฐบาลฝรั่งเศสซึ่งคำนวณโดยใช้ชุดข้อมูลจากการมองโลกในแง่ดีที่สุด นั่นคือความต้องการน้ำมันของโลกไม่เพิ่มขึ้นเลย และมีการค้นพบแหล่งน้ำมันดิบใหม่ในปริมาณ ๕๐,๐๐๐ ล้านบาร์เรลต่อปี พบว่าภาวะพีกออยล์จะมาถึงในปี ค.ศ. ๒๑๒๕ หรืออีก ๑๒๐ ปีข้างหน้า

ทว่าจากการศึกษาของนักวิชาการหลายคน เช่น ดร. โคลิน แคมป์เบลล์ สอดคล้องต้องกันว่าภาวะพีกออยล์จะมาถึงในอีกไม่เกิน ๑๕ ปีข้างหน้านี้เท่านั้น !

หากภาวะพีกออยล์มาถึงอย่างรวดเร็วจนโลกรับมือไม่ทัน ปริมาณน้ำมันจะผันผวนลดลงอย่างเฉียบพลัน ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันไปทั่วโลก จนอาจเกิดสงครามแย่งชิงแหล่งน้ำมัน เกิดความหายนะอย่างรุนแรง การผลิตในระบบอุตสาหกรรม การเกษตร การคมนาคมขนส่ง และระบบสาธารณูปโภคทุกอย่างล่มสลาย สังคมมนุษย์อาจพลิกโฉมไปแทบไม่เหลือเค้าเดิม  

 

 
โลกจึงจำเป็นต้องดิ้นรนค้นหาพลังงานทางเลือกใหม่ๆ เพื่อปลดเปลื้องจากการเป็นทาสพลังงานน้ำมัน

พลังงานทางเลือกประเภทหนึ่งที่หลายประเทศเริ่มหันมาสนใจและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างจริงจังอีกครั้ง คือ พลังงานหมุนเวียน (renewable energy)

พลังงานหมุนเวียน หมายถึงพลังงานที่ใช้แล้วไม่หมดไป และเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานจากคลื่นน้ำทะเล พลังงานน้ำขึ้น-น้ำลง พลังงานชีวมวล พลังงานจากความร้อนใต้พิภพ

ส่วนพลังงานทางเลือกที่ไม่ใช่พลังงานหมุนเวียน ก็ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด เซลล์เชื้อเพลิง พลังงานนิวเคลียร์

ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตน้ำมันไม่ผิดกับส่วนอื่นของโลก ในบทความเรื่องนี้ สารคดี พยายามรวบรวมโครงการพลังงานทางเลือกหลายประเภทที่กำลังได้รับการพัฒนาหรือดำเนินโครงการอย่างเป็นรูปธรรมมานำเสนอเป็นตัวอย่าง เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก โรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ การผลิตไบโอดีเซลและแก๊สโซฮอล์ โครงการติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้า หรือการจัดการใช้ไม้ฟืนซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลในระดับชุมชน

แม้ทุกวันนี้การใช้พลังงานทางเลือกทั้งของไทยและประเทศอื่นๆ ทั่วโลกยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับการใช้น้ำมัน แต่การก้าวออกไปหาหนทางใหม่ๆ ย่อมดีกว่าหยุดรอหายนะมาเยือน และแน่นอนว่าเราย่อมมีสิทธิ์คาดหวังถึงความสำเร็จในอนาคตว่าอารยธรรมมนุษย์จะไม่ล่มสลายไปพร้อมกับการสิ้นยุคน้ำมัน

 
เรื่อง : จักรพันธุ์ กังวาฬ
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : http://www.sarakadee.com/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=415

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14266เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2006 17:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 21:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท