ครูนอกระบบ
นาง ณัฐนิธิ อารีย์ อักษรวิทย์

เล่าสู่กันฟัง<10วิธีทำงานให้เจ้านายรัก>


เจ้านายรัก
10 วิธีทำงานให้เจ้านายรัก
รามเกียรติ์ตอน “พาลีสอนน้อง” บอก ๑๐ วิธีทำงานให้เจ้านายรัก
ในวรรณคดีเรื่อง “รามเกียรติ์”นอกเหนือไปจาก“หนุมาน” พญาลิงเผือกซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว ยังลิงอีกตัวหนึ่งที่ถูกกล่าวขวัญถึงอยู่เสมอ และเป็นลิงที่สมัยนี้ต้องเรียกว่าเป็นระดับ “บิ๊กลิง”ตัวหนึ่ง นั่นคือ “พาลี” ผู้ครองนครขีดขิน หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “พาลีสอนน้อง” อันเป็นเรื่องราวตอนหนึ่งในวรรณคดีเรื่องนี้อยู่บ่อยๆ แต่พาลีสอนน้อง น้องคือใคร พาลีมาจากไหน คำสอนว่าอย่างไร เชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยคงยังไม่ทราบ กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังดังต่อไปนี้

อันว่า“พาลี” นี้ เป็นลูกของพระอินทร์กับนางกาลอัจนา เดิมมีกำเนิดเป็นคน แต่เพราะถูกฤาษีโคดม สามีของแม่จับได้ว่าเป็นลูกชู้เลยถูกสาปให้เป็นลิง เช่นเดียวกับ “สุครีพ” ที่เป็นลูกของพระอาทิตย์ (ชู้อีกคนของแม่) ทั้งคู่มีศักดิ์เป็นน้าของหนุมาน เพราะเป็นน้องชายของ นางสวาหะ แม่หนุมานที่เป็นพี่สาวร่วมแม่ แต่ต่างพ่อกัน

โดยนางสวาหะเป็นลูกสาวแท้ๆของฤาษีโคดมและเป็นลูกคนแรกของนางกาลอัจนาลักษณะของพาลี เป็นลิงที่มีกายสีเขียว ส่วนสุครีพมีกายสีแดง ทั้งสองเมื่อถูกสาปก็ซัดเซพเนจรอยู่ในป่า พระอินทร์พระอาทิตย์ผู้พ่อ เกิดความสงสารลูกตัวจึงได้สร้างเมืองที่ชื่อว่า “ขีดขิน” ให้ลูกไปอยู่ โดยพาลีมีชื่อเดิมที่พ่อตั้งให้ว่า “พระยากากาศ” เป็นเจ้าเมือง ส่วนสุครีพน้องชายให้ดำรงตำแหน่งเป็นมหาอุปราช

ตามเนื้อเรื่อง พาลีนับว่าเป็นลิงที่ทั้งเจ้าชู้และเจ้าอารมณ์ไม่น้อย เพราะเมื่อทศกัณฑ์พานางมณโฑเหาะผ่านมา พาลีก็ไปแย่งชิงมาเป็นเมีย ต่อมาสุครีพได้ทำความดีความชอบโดยช่วยยกเขาพระสุเมรุที่ทรุดเอียงให้ตั้งตรงใหม่ได้ พระอิศวรก็เลยปูนบำเหน็จฝากผะอบแก้ว (ที่มีนางฟ้าดาราอยู่ข้างใน) ให้พาลีเอาไปให้สุครีพซึ่งไม่ได้มาด้วย ส่วนพาลีในฐานะพี่และเจ้านายก็ได้ชื่อใหม่ว่า “พาลีธิราช” พร้อมทั้งได้ตรีเพชรเป็นอาวุธ และพรที่ว่าหากสู้กับใคร ก็จะได้พลังของฝ่ายนั้นมาอีกครึ่งหนึ่ง

แต่กระนั้น เมื่อพาลีเปิดผะอบ เห็นนางดาราก็เกิดอาการ “ปิ๊ง” ยึดนางเป็นเมียทันที สุครีพก็พูดไม่ออก ครั้นต่อมาทรพี ควายจอมซ่าส์ ฆ่าทรพาผู้พ่อได้ ก็เกิดอาการฮึกเหิมท้ารบไปทั่ว จนมาเจอกับพาลี ก็ไปสู้กันในถ้ำ ปรากฏว่าพาลีชนะ แต่บังเอิญฝนตกทำให้เลือดทรพีที่ไหลออกมาเจือจางเป็นสีใส สุครีพเข้าใจผิดคิดว่าพี่ตาย ก็ทำตามคำสั่งคือให้ปิดถ้ำ พอพาลีออกจากถ้ำได้ก็โกรธ คิดว่าน้องทรยศ จึงขับไล่ออกจากเมืองไป ครั้นต่อมาเมื่อหนุมานได้ไปรับใช้พระราม ก็มาชักชวนสุครีพน้าชายให้มารับราชการกับพระรามด้วย สุครีพก็เลยแนะว่า หากต้องการกำลังพลไปสู้กับทศกัณฑ์ต้องไปฆ่าพาลีเพื่อยึดเอาเมืองขีดขินมา พระรามก็ต่อว่าสุครีพว่าเป็นน้องชายคิดฆ่าพี่ชายได้อย่างไร สุครีพก็เลยท้าวความว่าที่ฆ่าได้เพราะพาลีผิดคำสาบานที่เอานางดารามาเป็นเมีย แทนที่จะนำมาให้ตน

ดังนั้น จึงต้องตายด้วยศรของพระรามตามคำสัตย์ที่ให้ไว้กับพระนารายณ์ตอนรับผะอบมา พาลีเมื่อต้องศรพระรามก็รู้ตัวว่าต้องตายแน่ ก็รู้สึกเสียใจที่ไม่มีโอกาสอยู่ช่วยพระรามปราบยักษ์ ส่วนพระรามเองก็เสียดายความสามารถของพาลี จึงแนะว่าให้เอาเลือดพาลีสักครึ่งหยดๆลงไปบนศรพรหมาสตร์ก็จะพ้นคำสาบานไม่ต้องตาย เพียงแต่จะมีแผลเป็นขนาดเส้นผมผ่าเจ็ดที พาลีคิดแล้วเห็นว่าแม้แผลจะเล็กน้อย แต่ก็ดูเสียศักดิ์ศรี เสียสัตย์สาบาน น่าอับอาย เลยยอมตายดีกว่า ว่าแล้วก็เรียกสุครีพ และองคตลูกชายมาสั่งลา พร้อมกับแนะนำสุครีพถึงการปฏิบัติตนในการรับใช้พระราม และคำสอนในตอนนี้เอง จึงเป็นที่มาของ “พาลีสอนน้อง” ที่เราพูดถึง

สำหรับ “พาลีสอนน้อง”นี้มีผู้แต่งหลายท่าน แต่ที่นำมาเสนอในที่นี้ เป็นตอนหนึ่งใน บทละครพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งเนื้อหาถ้าจะพูดแบบสมัยนี้ก็คือ “แนะวิธีทำงานให้เจ้านายรัก” ว่าต้องทำอย่างไรนั่นเอง สิ่งที่พาลีสอน พอตีความสรุปได้ว่า

๑.หมั่นเฝ้าเช้าเย็นเป็นนิจกาล อย่าเกียจคร้านแต่ตามอำเภอใจ คือ เป็นลูกน้องต้องหมั่นไปหาเจ้านายหรือผู้บังคับบัญชาอยู่เสมอ อย่าขี้เกียจตามใจตัวเอง อยากก็ไป ไม่มีอารมณ์ก็ไม่ไป แบบนี้ไม่รุ่งแน่ ไม่ว่าจะทำงานเอกชนหรือราชการ การไปพบเจ้านายบ่อยๆพูดคุยปรึกษาหารือ จะทำให้จำเราได้ และยังเป็นโอกาสเรียนรู้งานจากนายด้วย

๒.สิ่งใดพระองค์จะตรัสถาม อย่าเบาความพิดทูลแต่โดยได้ นั่นคือ หากผู้ใหญ่หรือเจ้านายจะพูดคุยซักถามอะไรก็ตอบให้ตรงประเด็น อย่าพูดมาก หรือเลือกพูดเอาแต่ได้(ประโยชน์เฉพาะตัว) เพราะผู้ใหญ่จะรู้เลยว่าเราเป็นคนเช่นไร และหากเพื่อนร่วมงานอื่นๆรู้ เขาก็จะรังเกียจไม่อยากทำงานด้วย

๓.อย่าแต่งตัวโอ่อวดพระทรงชัย ที่ในพระโรงรัตนา หมอบเฝ้าอย่าก้มอย่าเงยหงาย อย่าเตร่ตร่ายเหลือบแลซ้ายขวา หมายถึง เวลาพบผู้ใหญ่ ต้องแต่งกายให้เหมาะสม ไม่มากไม่น้อยถูกกาละเทศะ อย่าเว่อร์เกินงาม ในขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักสำรวมกิริยา ไม่ลุกรี้ลุกรน ล่อกแล่ก ทำให้ดูบุคลิกภาพไม่ดี ไม่น่าเชื่อถือ

๔.พระที่นั่งบัลลังก์อลงการ์ อย่าฝ่าฝืนขึ้นนั่งอิงองค์ แปลตรงตัวก็ว่าที่นั่งของเจ้านาย อย่าขึ้นไปนั่ง นั่นคือ สอนว่าอย่าตีตนเสมอผู้ใหญ่ เพราะเป็นการขาดสัมมาคารวะ และอาจเป็นเหตุให้ท่านหมั่นไส้และไม่เมตตาต่อเรา

๕.อันฝูงพระสนมนางใน อย่าผูกจิตพิสมัยใหลหลง ความนัยข้อนี้คือ อย่าไปยุ่งกับของรักของหวงของนาย ไม่ว่าจะเป็นคนหรือของ เพราะนายจะคิดว่าเรากำเริบเสิบสาน และโอกาสก้าวหน้าอาจจะดับ

๖.จงภักดีต่อใต้บาทบงสุ์ อย่าทะนงว่าทรงพระเมตตา เป็นสอนให้เรารู้จักจงรักภักดี ให้ความเลื่อมใสเคารพนับถือต่อผู้บังคับบัญชาอย่างจริงใจ ไม่โอ้อวดถือดี ตีเสมอ แม้ท่านจะมีเมตตาต่อเรา และอย่านำความรักความเมตตาที่ท่านมีต่อเรา ไปหาผลประโยชน์ส่วนตัว ถือว่าเป็นการไม่ภักดีต่อนายเช่นกัน


๗.แขกเมืองอย่าบอกความลับ อย่าสนิทคำนับคบหา หมายถึง อย่าเอาความลับของหน่วยงานไปบอกแก่ผู้อื่น หรือไปทำสนิทสนมกับฝ่ายตรงข้าม พูดง่ายๆคือ อย่าไปสาวไส้ให้กากิน เพราะนอกจากทำให้เราดูไม่ดี ไม่ซื่อสัตย์ต่อหน่วยงานแล้ว ยังทำให้ดูไม่น่าคบ เหมือนคนสองหน้า

.อันรางวัลให้ปันเสนา อย่ามีใจฉันทาทัดทาน เมื่อทำงานดีได้ปูนบำเหน็จความดีความชอบ ก็ควรจัดสรรปันส่วนให้ลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงานด้วย เขาก็จะรักในน้ำใจ หากเห็นแก่ตัว งกไว้คนเดียวนานไป คนก็จะถอยห่าง นอกจากนี้หากนายจะให้รางวัลคนอื่นๆบ้างก็ควรสนับสนุน ไม่ใช่คัดค้านขัดขวางความเจริญของเพื่อนฝูง เพราะหากเขารู้เข้าก็จะโกรธหรือผูกใจเจ็บเป็นการก่อศัตรูโดยใช่เหตุ

๙.แม้นกริ้วโกรธลงโทษผู้ใด อย่าใส่ใจยุยงจงผลาญ หมายถึง เมื่อเจ้านายเกิดโมโหลงโทษหรือดุว่าใคร ก็อย่าได้ร่วมวงทับถมเพื่อน หรือยุยงให้ลงโทษให้หนักขึ้น หากเขาผิดจริง ก็ควรวางเฉยให้นายพิจารณาเอง แต่ถ้าเขาไม่ผิด และเรารู้ ถ้าสามารถพูดจาช่วยเหลือได้ ก็ควรทำ เพราะนอกจากจะช่วยให้นายไม่ลงโทษคนผิด ทำให้นายดูดีขึ้นแล้ว ในอนาคต คนที่เราช่วยเหลืออาจเป็นกำลังสำคัญในการทำงานของเราก็ได้

๑๐.อย่าโลภลักราชทรัพย์ศฤคาร พระบรรหารสิ่งใดจงจำความ เป็นการสอนว่าอย่าโลภมาก อย่าริอ่านขโมยหรือยักย้ายถ่ายเทสมบัติของนายหรือของหลวงมาเป็นของตัว เพราะเป็นเรื่องผิดทั้งทางนิตินัยและพฤตินัย อีกทั้งหากนายสั่งงานสิ่งใด ก็ต้องจดจำเพื่อนำไปปฏิบัติให้ถูก หรือท่านสอนเราอย่างไร ก็จงจำไว้ประพฤติปฏิบัติ เพราะนั่นคือสิ่งที่นายต้องการจากเรา หรือคือสิ่งที่นายได้เรียนรู้มาก่อน แล้วนำมาสอนเราอีกต่อหนึ่ง

คำสอนของพาลีทั้งสิบข้อนี้ แม้จะเป็นเรื่องโบราณ แต่เราก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับปัจจุบันได้เช่นที่กล่าวมาแล้ว เพราะอย่าลืมว่า พาลีนั้นเป็นถึงเจ้าเมืองๆหนึ่ง ในฐานะเจ้านายที่ต้องปกครองคนมากมายย่อมต้องรู้ และมีประสบการณ์ว่าสิ่งใดจะเป็นที่พึงพอใจของผู้บังคับบัญชา จึงได้ประมวลวิธีผูกใจนายมาสอนน้องก่อนตายได้

ข้อสำคัญ คนที่สามารถขึ้นมาเป็น “เจ้านาย” ได้ไม่ว่าระดับไหน ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม ย่อมแสดงว่า เขาผู้นั้นย่อมมี “ความสามารถที่ดี ในทางใดทางหนึ่ง”เป็นแน่ มิฉะนั้นคงมิได้รับเลือก และหากความสามารถในทางนั้นๆของเขา ไม่เป็นที่ชื่นชอบของเรา ก็โปรดระลึกไว้ว่า เมื่อใดก็ตามที่เราได้เป็น “เจ้านาย” ก็อย่าเป็นแบบที่เราไม่ชอบนั้นๆด้วย อย่าเข้าทำนอง “ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง”

อมรรัตน์ เทพกำปนาท
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สวช. กระทรวงวัฒนธรรม
คำสำคัญ (Tags): #เจ้านายรัก
หมายเลขบันทึก: 142352เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2007 13:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • สวัสดีค่ะ
  • มาลงชื่อค่ะ

 

  • โห  ทำได้นายรักแน่ๆเลย
  • ถ้ามีเสื้อตัวนี้อีกตัว  รับรองไปโลด

           

สั่งได้ที่นี่  เงินเข้ากองทุนฯ  ครับ  ช่วยกันคนละเล็กคนละน้อย  อิอิ

  • ใช่แล้วครับถ้าเราทำดี ถึงบางครั้งเจ้านายอาจไม่เห็นความดี
  • แต่ในการทำงานในความดีนั้นจะทำให้เราประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริงครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท