ยุทธศาสตร์ด้านทรัพยากรมนุษย์


4 ยุทธศาสตร์ด้านทรัพยากรมนุษย์ ของ อ.ธงชัย สันติวงษ์

แนวคิดการจัดกลยุทธ์ แบ่งออกได้เป็น 4 ด้าน คือ
1. แนวคิดแรกเป็นแนวคิดหลัก คือ Strategic Human Resource Management หรือ จัดการทรัพยากรมนุษย์เชิงกลยุทธ์ คือ
ต้องบริหารโดยถือเอา "คน" เป็นปัจจัยยุทธศาสตร์นำหน้าที่มีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด และต้องเชื่อมโยงกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ขององค์กรในกระบวนการบริหารกลยุทธ์เสมอ เมื่อโลกมีเทคโนโลยีก้าวหน้า และมีการเปลี่ยนแปลงมาก เยาวชนอันเป็นทรัพยากรกลุ่มหลัก จะต้องเกี่ยวข้องทั้งเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี และต้องดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ยาวนานที่สุด เยาวชนจึงต้องเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ โดยต้องมีความรู้ มีสติปัญญาที่ดี และมีความสามารถ รวมไปถึงการมีพลานามัยที่ดีผ่านระบบเรียนรู้ที่ดี จึงจะสามารถสร้างประสิทธิภาพโดยใช้ประโยชน์ และสิ่งมีคุณค่าจากเทคโนโลยีได้ ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนาสำเร็จผลแบบยั่งยืน มีการเจริญเติบโตอย่างสมดุล ทั้งทางวัตถุ จิตใจ และคุณภาพชีวิต ไม่เป็นทาสของเทคโนโลยี

2. แนวคิดที่สอง คือการสร้างคน ซึ่งต้องมีการลงทุนในคนอันเป็น "ทุนมนุษย์" ที่ถือเป็นทรัพยากรต่างกับวัตถุสิ่งของซึ่งจะต้องมีการทุ่มเททำโดยมีการลงทุนล่วงหน้า และไปรอเก็บเกี่ยวภายหลัง ในทัศนะของ อ.ธงชัย สันติวงษ์   "การแข่งสร้างเมือง" นั้นทำได้ง่าย เพราะเพียงมีถาวรวัตถุหรือทรัพย์สินเงินทองมาก แม้จะสามารถสร้างสิ่งต่างๆ  ขึ้นมาใช้ได้ในระยะสั้น แต่อาจเสื่อมสลายไปได้ง่ายในระยะยาว ต่างกับ "ปัญญาความรู้" ที่ได้สร้างและปลูกฝังไว้ในตัวคน ให้เป็นทรัพย์สินที่มีค่าไร้ขีดจำกัด ซึ่งจะสามารถใช้คิดค้นพัฒนาสิ่งใหม่ กับสร้างมูลค่าเพิ่มได้เรื่อยไปอย่างต่อเนื่อง กับการธำรงรักษาสิ่งมีคุณค่าไว้ใช้ยาวนาน โดยมีการสิ้นเปลืองน้อย ซึ่งจะทำให้องค์กรหรือสังคมมีคุณภาพ เจริญมั่งคั่ง และยั่งยืนได้ แต่การสร้างคนนั้นสร้างยาก เพราะเป็นงานที่ต้องเสียสละ อดทน ใช้เวลานาน ทั้งยังต้องใช้กุศโลบายที่ดีในการจูงใจ และเอาชนะคนให้ทำตาม นักบริหารคนใดที่มีพฤติกรรม "เขื่องสร้างคน" สนใจพัฒนาคนอย่างมุ่งมั่น จริงจัง และพิถีพิถันแล้ว ก็ย่อมเชื่อได้ว่า องค์กรและสังคมนั้นจะได้รับผลที่มีประสิทธิภาพ คุณภาพ พร้อมกับความยั่งยืนที่เหนือกว่า ในอดีต ตัวอย่างของผู้ใหญ่ของไทยที่สมควรได้ชื่อว่าเป็น "คนที่สร้างคน" คือ ท่าน ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ได้เอาใจใส่สร้างบุคลากรของประเทศ ทั้งนักเศรษฐศาสตร์ นักสังคมศาสตร์ และแขนงอื่นๆ รวมได้
นับเป็นร้อยคน ให้กับสังคมไทยได้ใช้ยาวนานจนถึงวันนี้

3. แนวคิดที่สาม คือ "วินัย" หมายถึง การมีวินัยในการประกอบกิจกรรม ซึ่งทำให้มีการประหยัดทรัพยากร และเวลาได้ผลผลิตหรือคุณค่าสูง โดยมีต้นทุนต่ำ ซึ่งส่วนสำคัญเกิดจากการต้องมีวิริยะ อุตสาหะ
มีความอดทน มีสติปัญญา ความคิดที่ดีกว่า ที่เก่งและเหนือกว่า ซึ่งทำให้ประหยัดแรงและทรัพยากร ทำให้คนเก็บเกี่ยวความรู้และองค์กรสามารถสะสมความมั่งคั่งให้เพิ่มพูนศักยภาพได้มากขึ้นตลอดเวลา
ความมีวินัยนี้ ในทางบริหารจัดการผมเคยให้ชื่อไว้เรียกว่า "วินัยการจัดการ" ก็คือการเป็น "นักบริหารมาดเข้ม" ที่เก่งสร้างประสิทธิภาพ นอกเหนือจากการปรับตัวตามทันการเปลี่ยนแปลงของโลกได้
ความหมายในที่นี้คือ นอกจากการมี "วิสัยทัศน์" เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้แล้ว ยังหมายความต่อไปถึงการเป็นนักบริหาร "เก่งปฏิบัติ" ที่สามารถบริหารการเปลี่ยนแปลง "องค์กร ระบบการทำงานกับคน" ให้มีความเข้มแข็งในการสร้าง และรักษาสิ่งอันมีคุณค่าให้มีอยู่ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับเงื่อนไขใหม่ๆ ความมีวินัยจะมีได้นั้น อยู่ที่สมาธิ ความตั้งใจ ความมีสติ อดทน และอดกลั้น ไม่ปล่อยตัวลื่นไหลไปตามกระแสแรงจูงใจ ใฝ่ต่ำ จนเกิดการสูญเสียสิ้นเปลืองมากกว่าผลตอบแทนที่ได้รับกลับคืนมา ความมีวินัยจะมีได้ต้องอยู่ที่ "ผู้นำ" ที่จะต้องเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ จูงใจพฤติกรรมให้เป็นไปในทางสร้างสรรค์ มีการปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี มีความอดกลั้น ไม่มักง่ายหาประโยชน์ใส่ตน จากความเสื่อมของส่วนรวม และทำสิ่งที่สร้างสรรค์เพิ่มคุณค่าให้แก่ทรัพยากรทุกด้าน โดยเฉพาะทรัพยากรคน ซึ่งก็คือ "การเรียนรู้" นั่นเอง

4. แนวคิดที่สี่ คือ "การเรียนรู้" หมายถึง การทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนไปตามที่ต้องการ อันสืบเนื่องจากการมีประสบการณ์ ได้รับข้อมูล หรือสาระกับเรื่องราวใหม่ๆ รวมถึงความรู้เข้ามา หรือเป็นการสร้างปัญญาความรู้ ซึ่งระบบการศึกษาและการอบรม จะต้องดีและน่าสนใจ คือมีเนื้อหาที่เป็นองค์ความรู้ที่จำเป็นทั้งเก่า-ใหม่ ที่มีการแยกแยะและสะสมเก็บเอาไว้ ซึ่งความลึกซึ้งจะเกิดขึ้นได้และมีมาก จะทำได้ด้วยการสร้างสิ่งที่เป็นทั้งเนื้อหา และสื่อเพื่อให้ความรู้กับผู้รับเกิดความสนใจ และมีการใช้ดุลพินิจพิจารณากับครุ่นคิดเข้ามามีส่วนร่วม ถึงตรงนี้ขอชี้ว่า นอกจากการชี้ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้แล้ว การต้องลงทุนจัดความพร้อมของสิ่งต่างๆ รวมทั้งสภาพแวดล้อมกับสื่อการเรียนรู้ กับการทุ่มเทกำกับโดยตัวผู้นำ จะสำคัญยิ่งต่อกระบวนการเรียนรู้และการสร้างความรู้

ฟ้าเป็นอมตะ.. ดินเป็นนิรันดร์..ฟ้า และดิน อยู่ได้เนื่องจาก.."อยู่เพื่อคนอื่น"

คำสำคัญ (Tags): #no tag
หมายเลขบันทึก: 142021เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2007 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 สิงหาคม 2013 08:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท