ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง


การเลือกตั้งเป็นสิทธิพื้นฐานของพลเมืองในการเลือกผู้แทนไปทำหน้าที่แทนตน

          เป็นที่แน่นอนแล้วว่าประเทศไทยเราจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 นี้  เมื่อพูดถึงการเลือกตั้งจะเห็นว่า การเลือกตั้งเป็นสิทธิพื้นฐานของพลเมืองในการเลือกผู้แทนไปทำหน้าที่แทนตนในการจัดสรรทรัพยากร ผลประโยชน์และอำนาจของชุมชน สังคมและประเทศชาติแทนตน โดยการออกกฎหมาย การกำหนดนโยบาย การวางแผนตลอดจนการอนุมัติ อนุญาตให้ดำเนินการตามโครงการสัมปทานต่างๆ ของรัฐ

          จากการได้อ่านหนังสือ 9 ปี กกต.มิติใหม่แห่งการเลือกตั้ง เรื่อง การเลือกตั้ง : มิติใหม่การเมืองไทยหรือย้อนยุค ของ สุรณี  ผลทวี ได้พบปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน 3 ประการ คือ

          1. โครงสร้างทางสังคมไทย มีวัฒนธรรม ระบบอุปถัมภ์ ที่มีการพึ่งพาอาศัยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ผู้ที่เข้มแข็ง มีอำนาจ อิทธิพลสูงกว่าก็จะคอยช่วยเหลือให้การอุปถัมภ์ผู้ที่อ่อนแอไม่มีอำนาจขาดอิทธิพล   หรือผู้ที่อ่อนแอกว่าก็พึ่งพิงขอความช่วยเหลือผู้มีอำนาจอิทธิพลหรือผู้มีฐานะดีกว่า  ระบบอุปถัมภ์จึงมีอิทธิพลต่อการรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมือง แม้พรรคการเมืองจะรณรงค์หาเสียงด้วยกลยุทธ์หรือวิธีการใดๆ ที่ถูกต้องสอดคล้องตามกฎหมายก็ตาม ก็ไม่อาจได้ผลเท่ากับการใช้ระบบอุปถัมภ์

          2. การทุจริตซื้อเสียง ผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังขาดจิตสำนึกตระหนักต่อบทบาทความรับผิดชอบต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่จะร่วมกันสร้างสรรค์ให้การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เงินสำคัญหรือเป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองมากกว่าการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

          3. ผู้มีอิทธิพลทำให้ประชาชนไม่มีอิสระในการใช้สิทธิเลือกตั้ง  พรรคการเมืองหรือผู้สมัครมักจะอาศัยผู้มีอิทธิพลหรือผู้นำในท้องถิ่นที่เรียกว่า หัวคะแนน ช่วยหาเสียง  ผู้มีอิทธิพลจะเป็นผู้มีบทบาทในการจูงใจ ชักนำ ควบคุมกำกับ หรือใช้กลวิธีต่าง ๆ ให้ประชาชนลงคะแนนเสียงให้พรรคการเมืองหรือผู้สมัครที่ตนสนับสนุน ประชาชนจึงไม่มีอิสระในการใช้ดุลพินิจหรือตัดสินใจลงคะแนนเสียงด้วยตนเอง ประเทศไทยจึงไม่หลุดบ่วงของผู้มีอิทธิพล ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชนยังคิดว่าชาวบ้านเป็นอาหาร  ถ้าคนเหล่านี้ลดบทบาทลงปล่อยให้ชาวบ้านเขาใช้สิทธิเลือกตั้งโดยอิสระก็จะดีกว่านี้

          ขอให้ประชาชนไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนมีจิตใจที่มีความเป็นอิสระปราศจากการครอบงำ ถูกชักนำ แล้วใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจเลือกอนาคตที่ดีของเราต่อไป

 

คำสำคัญ (Tags): #การเลือกตั้ง
หมายเลขบันทึก: 141793เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2007 14:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท