Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๒๑)_๑


Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๒๑)

การจัดการความรู้ที่เนียนอยู่ในเนื้องาน: บริษัท สแปนชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (๑)
ผู้ดำเนินรายการ           ดร.บุญดี   บุญญากิจ
ผู้อภิปราย                  ดร. ปรอง   กองทรัพย์โต
                               บริษัท สแปนชั่น (ประเทศไทย) จำกัด
วัน/เวลา   วันศุกร์ที่  2  ธันวาคม  2548    เวลา  09.00-11.45  น.

ดร.ปรอง  กองทรัพย์โต :
          สวัสดีครับทุกท่าน รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มีโอกาสได้มาแลกเปลี่ยนความรู้ในวันนี้ ผมเชื่อว่าหลาย ๆ ท่านได้ฟังคุณหมอประเวศพูดเมื่อวาน ผมอยากจะเริ่มว่าเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของท่าน  คือเราเข้ามามิได้เพื่อรับรู้ เราเข้ามาเพื่อเรียนรู้ ทุกคนก็บอกว่าเราจะไปเรียนรู้อะไร หนึ่งในวิธีการที่ผมอยากจะแนะนำไม่สามารถบอกให้ทุกคนทำได้ ผมเชื่อว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ดีก็คือ ท่านฟังผมหรือซีพีพูดในวันนี้แล้ว กลับบ้านลองพูดให้คนอื่นฟังดูครับว่าวันนี้ท่านได้เรียนรู้อะไรมา อย่างเมื่อวานผมฟังหมอประเวศพูด ผมประทับใจคำพูดของคุณหมอประเวศหลายส่วนมาก ผมกลับไปลูกน้องเดินมาพอดีก็เลยใช้เวลา 15 นาทีเล่าให้ลูกน้องฟังว่าได้ยินอะไรมา พอก่อนเที่ยงเจอลูกน้องอีกคนก็เล่าอีก 15 นาที กลับบ้านสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวครับเล่าให้ภรรยาฟังอีก 15 นาทีเรื่องเดียวกัน พบว่าทุกครั้งที่เล่าเราได้มีการกลั่นกรองความรู้มากขึ้นเรื่อย ๆ ผมเชื่อว่า ผมเข้าใจสิ่งที่คุณหมอประเวศได้ดีขึ้น เมื่อหลังจากผมเล่าให้ภรรยาผมฟัง เราได้กลั่นกรองความคิด ผมว่านี่เป็นวิธีคิดที่ดีอันหนึ่ง เราเรียนรู้ได้ยังไง เปลี่ยนจากการรับรู้เป็นการเรียนรู้ ก่อนอื่นผมขอเริ่มด้วย เนื่องจากบริษัทเป็นบริษัทที่ไม่ได้ทำการตลาดในเมืองไทยเป็นบริษัทที่เป็นผู้ผลิต หลายๆ ท่านอาจจะไม่รู้จัก ผมอยากใช้เวลาสัก 15 นาที ให้รู้จักกับบริษัทเราผ่านทางสื่อวีดีทัศน์ แล้วค่อยเข้าในส่วนของการจัดการความรู้ในองค์กร

(นำเสนอวีดิทัศน์ ประวัติความเป็นมาและกิจการของบริษัท โดยมีสาระพอสังเขปดังนี้
          “บริษัท สแปนชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทที่เกิดจากความร่วมมือของบริษัทเอเอ็มดี (AMD) และ บริษัทฟูจิซึ (Fujisu) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำของโลก โดยบริษัทสแปนชั่นประเทศไทย เป็นผู้ผลิตสินค้าประเภท flash memory โดยในจุดเริ่มต้นของบริษัทสแปนชั่นเกิดจากศูนย์อบรมเทคโนโลยี  ปัจจุบันบริษัทสแปนชั่น(ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 44.5 ไร่ ใน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ภายในบริษัทประกอบด้วยวิศวกรและพนักงาน 1,700 คน มีกำลังการผลิต flash memory ได้ 7 ล้านชิ้น/สัปดาห์ สำหรับสายการผลิตประกอบด้วย งานประกอบส่วนหน้า,  งานติดแผ่นวงจรกับฐานรองแผ่นวงจร, งานเชื่อมแผ่นวงจรกับฐานรองแผ่นวงจรด้วยลวดทอง, งานประกอบส่วนหลัง, งานเคลือบพลาสติกเข้ากับชิ้นงาน, งานติดเม็ดโลหะเข้ากับชิ้นงาน, งานตัดแต่งชิ้นงานให้เป็นผลิตภัณฑ์, งานทดสอบและบรรจุภัณฑ์,งานตรวจสอบระบบไฟฟ้า, งานพิมพ์ข้อมูลทางด้านการค้าด้วยแสงเลเซอร์, งานตรวจสอบ, งานบรรจุผลิตภัณฑ์, งานวิเคราะห์, งานตรวจสอบด้วยเครื่องจักรเอกซ์เรย์และเครื่องตรวจสอบกำลังขยายสูง, งานบรรจุภัณฑ์และจัดส่งผลิตภัณฑ์

         บริษัท  สแปนชั่น (ประเทศไทย) จำกัด มีวิสัยทัศน์ ที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศแห่งการสรรค์สร้างทุกคำตอบในประดิษฐกรรมหน่วยความจำ ”)
ผมว่านั่นเป็นวิดีโอที่ให้เห็นภาพคร่าว ๆ ของบริษัท หลาย ๆ ท่านอาจจะไม่คุ้นเคยกับโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเราหรือว่าโรงงานที่มีการส่งออกเป็นหลัก เราส่งออก 100 เปอร์เซนต์ เข้ามาสู่ช่วงของการนำเสนอ ผมขอใช้เวลาอีก 1 ชั่วโมง ถ้ามีคำถามอยากจะให้ทุกท่าน ช่วยจดไว้ก่อนเดี๋ยวจะให้มีคนเดินเก็บคำถามในช่วงเบรค หลาย ๆ อย่างในนี้จะเป็นการพูดถึงกรอบแนวคิดและเป็นวิธีการปฎิบัติที่เราทำ ถ้าถามว่าวิธีการจัดการเรียนรู้ของ Spansion นั้นเป็นแบบไหน เราก็คงบอกว่า เราก็ไม่รู้ มันคงไม่ใช่เป็นแบบของ Peter Senge หรือไม่ใช่เป็นแบบของ โนนากะ อย่าง 100 เปอร์เซนต์ เพราะผมก็เชื่อว่าแต่ละบริษัทต้องหาจุดสมดุลของบริษัทของท่าน ผมอยากจะย้อนกลับว่า ในหัวข้อที่เราจั่วกันไว้ว่าความเนียนในเนื้องานของเราเป็นอย่างไร  เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์เชิงองค์รวม ผมจะค่อยๆ อธิบายท่านไปตั้งแต่ภาพใหญ่เชิงปรัชญา จนกระทั่งถึงตัวการปฏิบัติที่เราได้ทำลงไป

         ผมอยากให้มองเรียกว่าเป็นกายวิภาคขององค์กร องค์กรทุกองค์กรมีแบบนี้เหมือนกันหมด องค์กรก็เป็นสิ่งมีชีวิตแบบหนึ่ง มีการเกิด แก่ เจ็บ ตายหรือล้มป่วยได้เหมือนกัน องค์กรที่เรามองในส่วนของเรา เรามองแบบนี้ครับ นี่องค์ประกอบขององค์กรที่เรามีคือ แน่นอนพื้นฐานหลักก็อยู่ที่รากของคน ถ้าเทียบกับมนุษย์คือราก เป็นสติสัมปชัญญะหรือเป็นกรอบความคิดพื้นฐานหลัก ซึ่งกรอบความคิดพื้นฐานหลักจะเป็นตัวกำหนดถึงพฤติกรรมของการทำงานของเราก็เหมือนกัน เราก็จะมีกรอบแนวคิดพื้นฐานหลักขององค์กรเหมือนกัน องค์กรต้องมีสมองแน่นอน มีจิตใจ มีหัวใจ มีที่จะไป หรือ destiny เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ มี life system มีการทำงาน มีเลือดไหลผ่านมีการทำงาน อันนี้เป็นเรื่องของบุคคล ก็ต้องมีร่างกาย มีแขน ขาต่าง ๆ
 
          ผมอยากจะเทียบเคียงให้เห็นนะครับว่า ถ้าสำหรับองค์กรของเราแล้ว อันนี้ล่ะครับคือสิ่งที่เทียบเคียง เรามีหัวใจ เรามีจิตสำนึก เราถูกกำหนดโดยวิสัยทัศน์ และพันธกิจ เรามีสิ่งที่เรามุ่งหวังที่เราอยากจะเป็น หรือเป็นเลิศทางผู้ให้คำตอบทาง memory solution กับ provider  ก็คือ destiny ของเรา เรามีระบบชีวิต life system ก็คือ business process หลายๆ ท่านอาจจะรู้จัก โดยเฉพาะท่านที่ทำระบบคุณภาพ ก็จะมีระบบ business process เรามีแขน ขาการทำงาน โดยก็คือ organization structure  เรามีจิตวิญญาณกำหนดสามัญสำนึกขององค์กร ก็คือ values หรือคุณค่า ที่เป็นคุณค่าขององค์กร อันนี้ที่เรามอง นั่นไม่แตกต่างกับชีวิตอื่น ๆ เลย แต่สิ่งที่ท่านหลาย ๆ คนสงสัยมักจะมองในเรื่องของสมอง แล้วอะไรคือสมองขององค์กร อันนี้เป็นสิ่งที่ผมขอตั้งคำถามเปิดไว้สักนิดหนึ่ง คนหลาย ๆคนที่เดินเข้ามาในงานนี้ อาจจะคิดว่าสมองขององค์กร คือ KM สำหรับเราไม่ใช่นะครับ สำหรับ Spansion สมองขององค์กรไม่ใช่  KM แล้ว KM อยู่ตรงไหน ที่เราเรียกกัน KM จะไปอยู่ตรงไหน สมองนะครับ สำหรับเรา เราเรียกว่า TCPI2 ท่านเห็นในวีดีทัศน์ที่ผ่าน สำหรับ TCPI2 คืออะไร เดี๋ยวผมจะอธิบายช่วงหลังว่าคืออะไร

         TCPI2 เป็นตัวย่อมาจาก Total Continuous Process Improvement and Innovation เป็นการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม เป็นเรื่องของการพัฒนากระบวนการและสมองของกระบวนการ อันนี้เป็นสมองขององค์กรใช่ไหมครับ ซึ่งเป็นปรัชญาหลักในการทำงานของเรา แล้วKM จะไปอยู่ตรงไหน ถ้าอย่างนั้น  KM สำหรับเรา ผมมองถ้าเทียบกับในเรื่องของมนุษย์ก็เป็นวิตามินครับ เหมือนเราทานวิตามินเข้าไป ถ้าเราขาดวิตามินเราก็คงไม่ตาย อาจจะร่างกายไม่แข็งแรง เจ็บออดๆ แอดๆ ตัวมนุษย์เราก็สามารถเดินทางเคลื่อนที่ไปไหนมาไหนได้ ถ้าอยากจะแข็งแรง มีร่างกายที่สมดุล เราก็ต้องมีวิตามิน ถ้าเรามองก็คือการจัดการความรู้นั่นแหละ  การแลกเปลี่ยนความรู้ในองค์กรนั้นภาพที่เราเห็นก็คือ สมองขององค์กรมี TCPI2 เรามีวิตามินที่เสริมความเข้มแข็งขององค์กร คือ knowledge management ถ้าสำหรับร่างกายมนุษย์ต้องมีการออกกำลังกาย ร่างกายต้องแข็งแรง ถ้าคุณเจ็บออดๆ แอดๆ ร่างกายไม่มีสุขภาพดี คุณทำอย่างอื่นไม่ได้แน่ ๆ เราใช้คำย่อ ๆ ว่า sharpen the saw ลับเลื่อยให้คมอยู่เสมอ แต่จริง ๆ คือการสะท้อนการบริหารบุคคล ซึ่งท่านได้เห็นคร่าวๆในวีดีทัศน์ที่ผ่านมา ซึ่งผมจะพูดเพิ่มเติมในนี้ด้วยเช่นเดียวกัน อันนี้คือ  สิ่งที่เราเรียกว่าเป็น กายวิภาคของ Spansion Thailand ไล่ตั้งแต่ หัวใจ จิตใจ สิ่งที่เราจะไป ราก หรือพื้นฐานของเรา แนวความคิด ระบบชีวิตของเรา การทำงานของร่างกายผ่านทาง organization structure มีวิตามินคือ KM   มี exercise ในการพัฒนาบุคลากรใน 4 มิติ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรามองว่าเป็นจุดเริ่มต้น ผมเชื่อว่าทุกๆ องค์กรอาจจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้ อันนี้เป็นแนวความคิดส่วนหนึ่งที่อาจจะไม่ถูก แต่อาจจะไม่ใช่ผิด แต่ว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนภาพในองค์กรเราออกมา จากกายวิภาคและเชิงปรัชญาลงมา แล้วจะทำอย่างไรจึงจะมาสู่ภาคการปฏิบัติ ผมขอคร่าว ๆมาในภาคของการปฏิบัติ ก็บอกว่าอันดับแรกคุณต้องมีต้องมี direction  ก่อน มีทิศทางก่อนว่าจะไปทางไหน มีทิศทางเสร็จแล้ว ถึงจะมี execution ว่าทำงานอย่างไร กลไกการขับเคลื่อนคืออะไร โดยการกำหนดกรอบทั้งหมดด้วย character หรือลักษณะเด่นขององค์กร จริง ๆ แล้วคือสะท้อนไปว่า อุปนิสัยนิสัยขององค์กรจะเป็นอย่างไร นิสัยของคนในองค์กรจะเป็นอย่างไร ผมให้ภาพทั้งไว้ในตรงนี้เพราะว่าค่อนข้างที่สำคัญ แล้ว vision เหมือนการให้เข็มทิศว่าจะไปไหน หลังจากนั้น execution ว่าเครื่องมืออะไรในการไป ไปด้วยเรือ หรืออะไร ต่อเรือเอง ไปเครื่องบิน บินไปลงที่ไหน ใช้เวลาเท่าไหร่ งบประมาณเท่าไหร่ นั่นคือ execution ทั้งสองอย่างต้องอยู่ในกรอบของความเชื่อ กรอบของอุปนิสัยขององค์กรว่าเราจะไปอย่างมีคุณธรรม อย่างที่หมอประเวศบอกเมื่อวานว่าเราจะไปอย่างเป็นธรรม หรือมีคุณธรรม หรือจะไปอย่างด้อยคุณธรรม เราก็อาจจะเห็นหลาย ๆ บริษัทในต่างประเทศที่ล้มหายตายจากลงไป เนื่องจากว่าการกำหนดทิศทางหรือ การ execution ถูกต้อง แต่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเหมาะสม อันนี้เป็นกรอบใหญ่ ถ้าแปลงอออกมาเป็นภาษาที่เราคุ้นเคยมากขึ้น ในเรื่องของ Direction ในเรื่องของทิศทาง กรอบของเรากำหนดด้วย จุดประสงค์ขององค์กร วิสัยทัศน์ พันธกิจ และก็ปรัชญาในการบริหารบุคลากร ไม่ว่าจะเป็น Purpose, Vision, Mission, HR, Philosophy ของเรา เพื่อเป็นการกำหนดทิศทาง
 
         หลังจากนั้นในการปฏิบัติ ก็มีการปฏิบัติอยู่ 4 เรื่องใหญ่ ๆ คือ อันดับแรกคือ business process ซึ่งสังคมไม่ได้พูดถึง อันนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กร แต่ละธุรกิจก็จะแตกต่างกัน อันที่ 2 คือการพัฒนาบุคลากรใน 4 มิติ คือผมต้องการจะเน้นการเรียนรู้ในส่วนตรงนี้เช่นเดียวกัน อันที่ 3 คือ ส่วนสมองขององค์กร คือ TCPI2 และก็วิตามินขององค์กร ก็คือ การจัดการความรู้ ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานของ value ความเชื่อของคนในองค์กร อันนี้คือกรอบใหญ่ที่เรามองค่อยๆ ถ่ายทอดลงมา ผมขอหยุดตรงนี้นิดหนึ่งเพื่อจะให้เรียงร้อย คุณหมอประเวศใช้คำว่าถักทอ ถักทอข้อมูลที่ผ่านมา คือเริ่มจากองค์กรเปรียบดั่งสิ่งมีชีวิตอย่างหนึ่ง ที่มีหัวใจ มีสมอง มีที่ที่เราจะไป มีร่างกาย มีวิตามิน มีรากฐานความเชื่อ พอแปลงออกมาครั้งแรกก็คือ การกำหนดทิศทาง ซึ่งรูปแบบของเราก็คือ เข็มทิศ การ execution เพื่อให้ถึงเป้าหมาย เราก็ใช้ตัว symbolic ของเราก็คือนาฬิกา อยู่บนพื้นฐานของ character ขององค์กร ทอนออกมาเป็นภาพที่ใกล้ตัวเราลงมาเรื่อย ๆ ก็คือ Direction ก็คือ Purpose, Vision, Mission, HR, Philosophy และ Execution ก็คือ Business Process การพัฒนาบุคลากรใน 4 มิติ TCPI2 ก็คือสมองและวิตามิน คือ KM โดยคำหลาย ๆ คำเริ่มคุ้นเคยสำหรับท่านแล้ว แน่นอน purpose ของเราอย่างที่ดูในวีดีทัศน์ ก็คือ เราจะเสริมสร้างศักยภาพในทุกแห่งหน เพื่อให้มนุษยชาติมีผลิตผลที่ดีขึ้น ผมขอไม่พูดถึงในรายละเอียด ขอไม่ขยายความ เรามี purpose อยู่ในหัวใจว่าการคงอยู่บริษัทSpansion เราอยู่เพื่ออะไร vision  หรือสิ่งที่เรามอง หรือเป้าหมาย destiny ของเรา เราจะเป็นผู้ผลิต ที่ไม่มุ่งที่จะผลิตอย่างเดียวแต่มุ่งที่จะให้คำตอบแก่ลูกค้าด้วย โดยกำกับด้วยปรัชญาการบริหารบุคลากร คือ บุคคลหรือพนักงานเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในองค์กร จาก วีดีทัศน์ที่ท่านเห็น ท่านอาจจะเห็นว่ากิจกรรมมากมาย มีห้อง fitness มีสนามฟุตบอล มีการผลิต มีเครื่องจักรเต็มไปหมด ช่วยเหลือสังคมในที่ทุรกันดารที่อื่น ๆ จากวีดีทัศน์ที่ตอนเปิดงานบอกว่าบุคคลสำคัญที่สุดยังไม่พอเพียง ต้องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสำคัญที่สุดเช่นเดียวกัน ผมก็รู้สึกว่านี่เป็นมิติใหม่ที่ผมต้องกลับไปมอง Spansion จึงอยากทำให้บริษัทเป็นเหมือนบ้านหลังที่ 2 คำว่าบ้านมีความหมาย ฝรั่งพูดว่า คำว่า home มีความหมายมากกว่าคำว่า house มันมีความอบอุ่น มีความเอื้ออาทร มีความเกื้อกูลกัน จึงเหมือนบ้านหลังที่ 2 mission ของเราคือเราจะดูแลลูกค้าเป็นอย่างดี ดูแลพนักงานเป็นอย่างดี เราจะดูแลผู้ถือหุ้นเป็นอย่างดีด้วยการทำงานอย่างโปร่งใสมีธรรมาภิบาล เราจะดูแลผู้ส่งมอบงานให้เราหรือ supplier เป็นอย่างดี และสังคมที่เราอยู่เป็นอย่างดี นี่คือ ภารกิจ ที่เราตั้งไว้ในเรื่องของ mission ของเรา เมื่อมี mission vision purpose แล้ว values เป็นสิ่งที่ผมขอใช้เวลาสัก 2-3 นาที พูดตรงนี้ ผมมองว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ผมยังไม่ได้พูดถึง KM เรายังไม่ได้พูดถึงการจัดการองค์ความรู้เลย แต่ว่าสิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น purpose, vision, mission, values เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เป็นการเตรียมคนครับ values ของเรามีความเชื่ออยู่ 7 ประการ ความเชื่อนั้น สำหรับเราสำคัญมาก ความเชื่อของคน กำหนดพฤติกรรมของคนในองค์กรได้  ถ้าเทียบในสังคม ถ้าคุณมีความเชื่อ ในเรื่องของความซื่อสัตย์ ยุติธรรม การโกงกินย่อมไม่มี ความเชื่อเป็นหลัก ความเชื่อเป็นหัวใจ คุณมีความละอายที่จะทำสิ่งเหล่านั้น คุณมีความเชื่อในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง คุณไม่หยุดยั้งที่จะเรียนรู้ ดังนั้นเราจึงต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ความเชื่อเหล่านี้ต้องมีอยู่ในใจทุกคนถึงจะกำหนดพฤติกรรมในการทำงานของคน ในการอยู่ในสังคมได้  ความเชื่อ 7 ประการของเราก็คือ อันดับแรก เคารพในความแตกต่าง เคารพในบุคคลทุกคนเท่าเทียมกัน ทุกคนมีความเชี่ยวชาญ มีความเก่งแตกต่างกัน แต่ทุกคนเท่าเทียมกัน   อันดับที่ 2 ทุกคนมีศักดิ์ศรีและมีความรับผิดชอบ อันดับที่ 3 ต้องรู้จัก สนุกสนาน ร่าเริง อันนี้เป็นความเชื่ออันหนึ่งเพิ่งเพิ่มเข้ามาเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้เอง คือเราเป็นบริษัทใหม่ ๆ คือเราไปเห็นตัวเลขอันหนึ่ง เราก็เริ่มมีความตระหนัก คือแต่ก่อนอายุเฉลี่ยของคนในองค์กรเราอยู่ที่ประมาณ 22 ปี ปัจจุบัน อายุเฉลี่ยของคนในองค์กรอยู่ที่ประมาณ 31 ปี 1,500 คน อยู่ที่ประมาณ 31 ปี อายุเริ่มสูงขึ้น ถ้าคนทำงานมากขึ้น ความสนุกสนานร่าเริง มันจะลดลง มันจะเป็นความคุ้นเคย ความเคยชิน

         ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนมุมมองว่า เราต้องสนุกสนานกับการทำงาน มองทุกอย่างเป็นด้านบวก และก็เชื่อมั่นในการแข่งขัน โดยการแข่งขัน เราไม่ได้แข่งกันเอง เราแข่งกับตลาด แข่งกับเป้าที่ตั้งไว้ เชื่อมั่นมีความเชื่อในเรื่องของความรู้ และก็เชื่อในการริเริ่มสร้างสรรค์แต่การริเริ่มสร้างสรรค์จะต้องมีความรับผิดชอบอยู่ด้วยกำกับดูแลอยู่ ความริเริ่มสร้างสรรค์ทุกคนมีได้ ผมเดินเข้าไปใน line การผลิต ผมบอกว่าเมื่อคืนผมมีนิมิตรฝันเห็นตัวเลขสวยมาก สามารถช่วยในการพัฒนากระบวนการผลิต สามารถเข้าไปเปลี่ยนตัวเลขในตัวเครื่องเลย นั่นเป็นความริเริ่มสร้างสรรค์หรือเปล่าผมไม่แน่ใจ บางคนมองว่าเป็นความริเริ่มสร้างสรรค์ แต่คุณไม่มีความรับผิดชอบ เพราะคุณไม่ได้พิจารณาถึงข้อดี ข้อเสียและแผนรองรับต่าง ๆ ให้ครบถ้วน แต่ถ้าคุณได้คิดทุกอย่าง อย่างครบถ้วนแล้วทุกมิติแล้ว คุณเดินเข้าไปเปลี่ยนตัวเลข ผลออกมาไม่ดีอย่างที่คุณ คาด บริษัทไม่ได้ลงโทษนะครับ บริษัทมองซะอีกว่านี่คือความริเริ่มสร้างสรรค์ ที่คุณได้พยายามดูอย่างเต็มที่แล้ว แต่อาจมีหลาย ๆ อย่างที่ดูไม่ได้ 100 เปอร์เซนต์ ชีวิตมนุษย์ไม่ได้ดูได้ 100 เปอร์เซนต์ แน่ ๆ แต่คุณได้คิดถี่ถ้วนแล้ว เรา OK สุดท้ายเราเชื่อในความสำเร็จของลูกค้า ลูกค้าต้องเป็นหลักในการทำธุรกิจ เป็นธุรกิจที่ต้องท้าทาย นั่นคือความเชื่อ  7 ประการ เดินเข้าไปในโรงงาน ไม่ว่าคุณจะเป็น น้องสมศรี คุณพ่อวิชัย ใครก็แล้วแต่ เดินเข้ามาคุณต้องมีความเชื่อ 7 ประการนี้ เป็นพื้นฐานหลัก นั่นก็คือให้เห็นว่า ทิศทางถูกกำหนดโดย Purpose, Mission, HR, Philosophy, และ Values  7 ประการ แล้วเราจะแปลงออกมาเป็นอย่างไร เราจะแปลง Direction ต่าง ๆ ออกมาเป็นนามธรรมออกมาเป็นรูปธรรมได้อย่างไร อย่างที่ผมเรียนยังไม่ได้พูดแตะถึง KM เลยนะครับ ถ้าเทียบก็คือการเตรียมคน เตรียมบุคลากร เตรียมพนักงานทุกคนให้เปิดใจกว้างให้พร้อมที่จะเป็นผู้ให้ พร้อมที่จะเป็นผู้อยู่ในสังคมแห่งการเรียนรู้ เข้ามาสู่การ Execution 4 กลไกหลักที่เราทำคือ Business Process การพัฒนาด้านบุคลากร สมองขององค์กรคือ  TCPI2 และการจัดการความรู้ business process กำหนดโดยการทำธุรกิจ ซึ่งผมไม่พูดถึงนะครับ ผมจะมาพูดถึงการจัดการเรื่องบุคคล เมื่อบุคลากรเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุด เมื่อเรามี values กำกับบุคคลเหล่านั้นเราจะดูแล เขาอย่างไร กลับไปที่ภาพของร่างกายก็คือ sharpen the saw ร่างกายพร้อมหรือยัง คุณจะลงแข่ง SEA Games ร่างกายคุณพร้อมหรือยัง อาหารคุณดีหรือไม่ คุณได้ศึกษากลยุทธ์อะไรบ้างในการแข่งขัน คุณได้มีการออกกำลังกาย เตรียมร่างกายเหมาะสมหรือไม่ คุณได้พูดคุยกับโค้ช เพื่อนร่วมทีมคุณดีหรือยัง คนต้องดีก่อน เรามองใน 4 มิติครับ หลายๆ ที่มักจะบอกในเรื่องบุคลากรเรียกว่าเป็น Human Resource Development พูดถึงการ training  แต่การ training  ไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง เพราะว่าชื่อมันก็บอก train ในภาษาอังกฤษ ning แปลเป็นไทย training นิ่งไปเลย ยิ่งเทรนมากยิ่งนิ่งมากนึกไม่ออกว่าจะทำยังไง ของเราถึงมองเป็น 4 มิติ คือ คุณต้องพัฒนาดูแลด้านร่างกาย (physical) ดูแลด้านสังคม (socio-emotional) สติปัญญา (mental) และทางด้านจิตวิญญาณ (spiritual) การถอดของเราออกมาในทางปฏิบัติ ก็คือว่า ถ้าดูแลด้านร่างกาย แน่นอนต้องกินดีอยู่ดี พนักงานต้องมีอาหารที่ดี   อาหารที่เราใช้ในโรงอาหารเฉพาะที่มีคุณภาพ ไม่มีสารปนเปื้อน อยากให้ร่างกายแข็งแรง อาหารต้องดี ต้องมีการออก exercise ใช้ชีวิตอย่างดี ท่านก็จะเห็นในวีดีทัศน์จะมีห้อง fitness ห้อง badminton มีการ relax มีการพักผ่อน  ห้องคาราโอเกะ ห้องสมุด ห้องอ่านหนังสือ สะท้อนให้เกิดการพัฒนาด้านร่างกาย ถามว่าทำไมพัฒนาการด้านร่างกายสำคัญ ผมยกตัวอย่างท่านมีเพื่อนที่เก่งมาก ๆ แต่เจ็บออดๆ แอด ๆ ตลอดเวลา เขาไม่มีวันใช้ความเก่งของเขาหรอก วันนี้เป็นวันที่จะต้องประชุม พูดคุยประชุมครั้งใหญ่มาไม่ได้ป่วย ถ้าบ่นปวดหัวตลอดเวลา แล้วจะไปคิดอะไรที่สร้างสรรค์ได้ ร่างกายต้องแข็งแรงก่อน หลังจากนั้นสติปัญญา  สติปัญญาต้องเฉียบแหลม นอกจากมุมมองทางด้านการพัฒนาเชิงความรู้ที่เรามีอยู่ เราต้องสร้างให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง คนเราไม่หยุดที่จะเรียนรู้ แต่เมื่อคนอยากจะเรียนรู้แล้ว สิ่งแวดล้อมต้องเอื้อต่อการเรียนรู้ ใจบอกอยากเรียนรู้แต่ต้องเดิน 5 กิโล ยกตัวอย่างเด็กอยากเรียน แต่ต้องเดิน 5 กิโลไปเรียน นักศึกษาอยากไปห้องสมุด แต่ต้องนั่งรถ ยกตัวอย่าง จากลาดกระบังนั่งรถมาหอสมุดแห่งชาติท่าวาสุกรี ผมจะมาไหมครับ ความท้อมันนำมาแล้วครับ learning environment ก็สำคัญ และสุดท้ายคือดีใจที่ได้แลกเปลี่ยน ผมรู้ผมก็ได้ไปแลกเปลี่ยน เมื่อคืนผมก็สบายใจผมนอนหลับ ผมเล่าให้ภรรยาผมฟัง ก็จะเป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมคน ความคิดหรือ framework การเตรียมด้านสติปัญญาของเรา แยกเป็น 9 มิติ แยกเป็นส่วนย่อยลงมา ในเรื่องของการพัฒนาสติปัญญาของเรา ยก A1-A4 ทุก ๆ พอจบ 4 ปี พอเข้ามาทำงานกับเราทุกคนมีหลักสูตร 3 ปี หลักสูตร 3 ปี ประกอบด้วย 4 ด้านคือ ทุกคนไม่ว่าน้องด้านสายการผลิตหรือผู้บริหารระดับสูง ทุกคนต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้านไอที ด้านภาษา ด้านการเป็นผู้นำ และด้าน functional ที่เขาต้องรับผิดชอบ ทำไมถึงจะต้องเน้นทางด้านภาษา ภาษาผมเรียนโดยตรง

         อย่างน้องที่จบปริญญาตรีมาตัวเลขที่เราใช้วัดอยู่คือค่า TOEIC อยู่ที่ 650 ถ้าท่านยังไม่ถึงท่านต้องพัฒนาทุกปีให้ถึง แล้วคงไม่ได้หยุดอยู่ตรงนั้น เพราะคะแนนเต็มอยู่ที่ 960 แต่ถ้าท่านอยากจะขึ้นเป็นระดับบริหาร 800 นะครับ manager 850 เป็นต้น เป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้เป็นการบล็อกทางด้านการเป็นผู้นำ สิ่งเหล่านี้เป็นตัวกำหนด life long learning สำคัญมากเราต้องถอดออกจากกรอบแนวคิดก่อนว่า คุณเก่งหรือเปล่ามาเป็นคุณเก่งอะไร อย่างที่คุณหมอประเวศพูดเมื่อวาน หลาย ๆ คนบอกว่าคุณหมอประเวศพูดเชิงนามธรรม ผมฟังโดยส่วนตัวผมเชื่อว่าเป็นปาฐกถาที่ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาดีที่สุดเท่าที่ผมฟัง เชื่อว่าคนทุกคนต้องเก่งก่อน life long learning คุณได้มีโอกาสเรียนรู้หรือเปล่า หลังจากนั้นเราก็ต้องจัดหาคนเก่ง ๆ มาทำงานกับเรา สร้างสิ่งแวดล้อมเอื้อต่อการเรียนรู้ และสุดท้ายร่วมมือ partnership จากนั้นกลไกการขับเคลื่อนทั้งหมดก็จะผลักดันผ่านการบริหารจัดการเนื้อความรู้ เดี๋ยวผมจะขยายความ อันนี้เป็นกรอบความคิด 2 มิติแล้วนะครับ ร่างกายแข็งแรง สติปัญญาเฉียบแหลม พอไหมครับ คนที่ร่างกายแข็งแรง สติปัญญาเฉียบแหลมอันตรายนะครับ พวกที่ทำความเสียหายให้กับสังคมมากมายเฉียบแหลมทั้งนั้น ถ้าสติปัญญาไม่เฉียบแหลมทำความเสียหายได้แต่ไม่มาก แต่ถ้าเฉียบแหลม มาก ๆ ถ้าจะเสียหาย เสียหายรุนแรง ไม่พอเพียง

          โดยจะเพาะบ่มคนของเราให้ดี ต้องมีจิตวิญญาณ จิตใจที่ดีงาม ถึงได้เห็นว่า ในวีดีทัศน์ที่เห็นเราเน้นในเรื่องของการให้ พอคนรู้จักให้ รู้จักเห็นใจ รู้จักเข้าใจสังคมที่เราอยู่ คนจะมีจิตใจดีงามขึ้น เรามีความซื่อสัตย์ เรามีศักดิ์ศรี เรารู้จักที่จะให้ เรารู้จักที่จะเอื้ออาทร สุดท้ายเมื่อคุณมีร่างกายแข็งแรง สติปัญญาเฉียบแหลม จิใจดีงามแล้ว ก็ต้องรู้จักที่จะอยู่กับสังคม ต้องมี social skill รู้จักอยู่ในสังคมเป็น ซึ่งเป็นพื้นฐานหลัก KM ของเราอยู่ที่การแลกเปลี่ยน คุณต้องมีสังคม คุณรู้จัก teamwork คุณรู้จักที่จะสนุกสนานร่าเริง เราก็มีกิจกรรมต่างๆ มากมายที่เป็นตัวสะท้อนการทำงานนี้ออกมา แต่สิ่งเล่านี้สำคัญมาก ผมได้บทเรียน ๆหนึ่ง อันนี้ผมเรียนอย่างไม่ปิดบังจากภรรยาผม ครั้งหนึ่งผมเคยเป็นวิศวกรที่มุ่งมั่นมากตั้งแต่สมัยเรียน ทุ่มเท ทำงาน 18 ชั่วโมงนี่เด็ก ๆ เลยนะครับ ทำงาน 7 วัน ๆละ 18 ชั่วโมง สุดท้ายก็มีคำพูด ๆ หนึ่งทักขึ้นมา ผมคิดว่าคำพูดนี้ทำให้เราคิด กรอบความคิดเราเปลี่ยนไป บอกว่าการประสบความสำเร็จเหมือนกับการปีนขึ้นยอดเขา ทุกคนอยากปีนยอดเขา คุณอยากปีนยอดเขา Everest ทุกคนอยากปีนยอดเขา Everest เป็นความท้าทาย แต่มีน้อยคนที่ปีนถึงยอดเขา วันที่คุณถึงยอดเขา Everest คุณภูมิใจ ดีใจ คุณมีความสุข คุณนี่คือตัวเรานะครับ แต่คุณเงยหน้าขึ้นแล้วก็มองรอบตัว แล้วคุณก็พบว่าไม่มีใครยินดีกับคุณเลย คุณอยู่คนเดียวบนนั้น เหมือนกับเรามีเพื่อน เรามีสังคม เราคงจะมุ่งมั่นทำไอ้นั่นให้สำเร็จ ทำโน่นให้สำเร็จ โดยลืมมองรอบข้างเราไป มองความสัมพันธ์ มองความเอื้ออาทรคนรอบข้างเราไป อันนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ขาดความสุขได้ 4 มิตินี้สำคัญมากสำหรับเรา เป็นการปูพื้นฐานหลักการทำ KM การทำกิจกรรมทุกอย่าง ถ้าเราเตรียมดิน ปูพื้นฐานคนอย่างดีแล้วการต่อยอดค่อนข้างจะง่าย ที่เราพูดถึงก็คือ Execution อันดับที่ 2 ของเรา อันดับที่ 1 คือ Business Process อันดับที่ 2 คือการพัฒนาบุคลากร แล้วมันสมองขององค์กรล่ะ คืออะไร KM ไม่ใช่ในสมองขององค์กรสำหรับ Spansion ผมขอเรียนย้ำ เราคือ  TCPI2 การพัฒนาอย่างต่อเนื่องและการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดย concept ถ้าจะอธิบายตัวนี้ให้เข้าใจจริง ๆ 3 วัน 3 คืน นะครับ แต่ผมจะอธิบายภายใน 5 นาที ให้ท่านเข้าใจได้ระดับหนึ่ง อันนี้คือ concept ผมเชื่อว่าหลาย ๆ ท่านในที่นี้ต้องรู้จัก Six Sigma ย้อนหลังประวัติไปหน่อยสมัยผมยังเป็นนักเรียนอยู่ที่อเมริกา พอดีมีโอกาสได้เข้าร่วมรับฟังในข้อต่อไปนี้ Six Sigma เริ่มโดยบริษัท Motorola ประมาณปี 80 กว่า ๆ ขณะเดียวกัน AMD ก็เริ่ม  TCPI2 เป็น concept นะครับ หลังจากนั้น Six Sigma ได้ขยับมาในเชิงสังคมมากขึ้น ทำให้คนรู้จัก แต่ TCPI2 ของเราก็ยังอยู่ภายใน พื้นฐานหลักของ TCPI2 คือ bottom up ทุกคนตั้งแต่น้องในสายการผลิตมีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 1,500 คน ทุกคนมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เราเชื่อว่าบางเรื่องที่คุณอยากจะพัฒนา อาจจะไม่มีผลกระทบทางด้านการเงินเลย อาจจะไม่มีผลกระทบต่อทางด้านผลิตภาพเลย แต่มันก็อาจจะช่วยการทำงาน ช่วยจรรโลงใจ ช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนได้

         ดังนั้นทำไปเถอะครับ  โครงการทุกโครงการและจิตวิญญาณของการพัฒนาอย่างต่อเนื่องสำคัญมาก เราจะต้องมองเสมอว่าถ้าตราบใดเราปลูกฝังจิตวิญญาณให้อยู่ในคน คนจะไม่หยุดนิ่ง คนจะ life long learning คนจะเรียนรู้ตลอดเวลา คนจะมีการใช้ไอทีอย่างต่อเนื่อง คนจะมีการนำ learning environment ที่เรามีอยู่ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นอยู่บนพื้นฐานของจิตใจที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

         กลยุทธ์การพัฒนาอย่างต่อเนื่องเราแยกเป็น  11 อย่าง เริ่มจาก การใช้ชีวิตจริงเข้ามาประกอบในการทำงาน อันที่ 2 คือ การดูแลเครื่องจักร เราเลือกเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด และมีกระบวนการตามมา เราเลือกวิธีการเทียบเคียงหรือ Benchmarking เข้ามาทำงาน แน่นอนเรามี 5 ส ของเราใช้ 7 ส เรามีการทำ Total Productive Maintenance เรามี Quality Management System ต่าง ๆ เข้ามาเป็นกลยุทธ์ไม่ว่าจะเป็น ISO9000, ISO14000 เรามี Total Supplier Quality เรามี Just In Time Manufacturing มี Error Free Performance หรือ Mistake Proven มี Total Employee Involvement คือ การมีส่วนร่วมของพนักงานทุกคนในการนำเสนอ ปีหนึ่งเรามีโครงการที่สำเร็จ 500 - 600 โครงการ มีข้อเสนอแนะ Suggestion Program เพื่อที่จะนำไปต่อยอดเป็นพัน ๆ โครงการ มีกิจกรรม Error Free มีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ปี ๆ หนึ่งเรามีสิ่งที่จับต้องได้หลายพันเรื่องต่อปี นี่คือมันสมองของเราที่เกิดขึ้นจาก TCPI2 ก็เกิดการ spin อย่างต่อเนื่องก็ออกมาเป็น 2 แบบคือ tangible จับต้องได้ ไม่ว่าจะออกมาในรูปของ สเปคการทำงานอย่างต่อเนื่อง เป็นโครงการ 500–600 เรื่อง Engineering 500–600 Engineering Department สิทธิบัตรทางปัญญาในกรุงเทพฯเราถือครองอยู่ 44 สิทธิบัตร ตีพิมพ์ของเราไม่น้อยหน้าที่อื่น ๆ เรามี 12-15 article ทุกปีในระดับโลก มี training document ต่าง ๆ ส่งมอบงานให้เรา ในขณะเดียวกัน สิ่งที่เป็นความรู้ต่าง ๆ ความสามารถในการแก้ไขปัญหา ความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหา ประสบการณ์ต่าง ๆ  ส่วน intangible มีอยู่ประมาณ 10-20 เปอร์เซนต์เท่านั้น ดังนั้น เราก็มาตั้งเป้าว่าการจัดการความรู้ของเราเน้นเรื่อง technical เราเป็นองค์กรที่ธุรกิจการแข่งขันสูงมาก ปีหนึ่งเราต้องผลิตอุปกรณ์  60 ชนิดใหม่ ๆ สู่ตลาด life time ของเรา 60 ชนิดต่อปี

มีต่อ        

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14101เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2006 09:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 20:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท