"จิตอาสาเด็ก" ในโรงเรียนแห่งความสุข "บ้านน้ำลัด"


ปลูก "จิตอาสาเด็ก" ความยั่งยืนของสังคมเอื้ออาทร

รอยยิ้มในโรงเรียนแห่งความสุข “บ้านน้ำลัด”

เสียงเพลงพ่อของแผ่นดิน “....อัครศิลปินกรองศาสตร์ กรองศิลป์การดนตรี ร้องกรองบทกวีซึ้งกมล ตราบฟากฟ้า ครึ้มฝนต้นไม้ทุกต้นพลอยยินดี รู้รักสามัคคีเพื่อพ่อแห่งไทย......”แว่วให้ได้ยินทันทีที่เข้าสู่บริเวณโรงเรียนบ้านน้ำลัด  อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย  เป็นเสียงประสานของเหล่านักเรียนหลายชนเผ่ารวมกว่า 200 คน ที่กำลังเปล่งเสียงร้องอยู่หน้าเสาธงหลังเคารพธงชาติ

 

 

“โรงเรียนของเราไม่สวย   แต่น่ารัก  ...ที่สำคัญคือ  เน้นเรื่องความสะอาด...”    อาจารย์วิวัฒน์    พิทักษ์สุจรรยา  ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำลัด  พูดถึงนโยบายโรงเรียนแห่งความสุข พร้อมกับบอกว่า เพราะเด็กคือผ้าขาวที่ครูมีหน้าที่แต่งแต้มสิ่งดีให้เขามีภูมิคุ้มกันชีวิตยามจบออกไปใช้ชีวิตนอกรั้วโรงเรียน

ดังนั้นแม้จะเป็นโรงเรียนเล็ก ๆ ในเขตเทศบาลที่มีครูเพียง 20 คน แต่กลายเป็นที่พึ่งของเด็กด้อยโอกาส ที่บ้างกำพร้า บางอยู่กับญาติ บ้างอยู่กับสถานสงเคราะห์หรือมูลนิธิต่าง ๆ  ที่พยายามสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กเหล่านี้ โดยโรงเรียนช่วยเติมในส่วนขาด และกิจกรรมหนึ่งที่ริเริ่มและปลูกฝังนิสัยดี ๆ ให้เด็กปฏิบัติคือการมี “จิตอาสา” กับงาน “อาสาสมัคร” ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  จนอาจกล่าวได้ว่าได้เกิดระบบบริหารจัดการงานจิตอาสาที่เด็ก ๆ รุ่นพี่รุ่นน้องดูแลจัดการกันเอง โดยมี “ครู”เป็นผู้ชี้แนะอยู่ห่าง ๆ และชื่นชม ภูมิใจกับผลงานที่เกิดขึ้นนั่นคือ แม้เด็กที่นี่จะอ่อนด้อยด้านวิชาการกระแสหลักด้วยข้อจำกัดบางอย่าง แต่ที่ทุกคนเห็นตรงกันคือ  เด็กที่นี่ต่อให้จบ ป.6 ไปแล้วไม่ได้เรียนต่อ เขาก็ไม่อดตายแน่ ๆ เพราะเด็ก ๆ ทุกคนทำงานเป็นและมีความคิดสร้างสรรค์

 

ทุกเช้าก่อนเข้าชั้นเรียน กิจกรรมอาสาได้ถูกจัดแบ่งตามความสนใจของนักเรียนตั้งแต่น้องเล็กอนุบาลจนถึงพี่ใหญ่ชั้นป.6  เช่น  เก็บใบไม้และเศษขยะ  ช่วยภารโรงทำความสะอาดโรงเรียน  ห้องน้ำ โรงอาหาร ภายในบริเวณโรงเรียนจึงสะอาดแทบไม่เห็นเศษใบไม้สักใบให้รกตา บางคนไปช่วยแม่ครัวเตรียมอาหาร เป็นต้น ล้วนเป็นกิจกรรมที่เด็ก ๆ ทำกันด้วยความสนุก  และมีความสุข เป็นกิจกรรมสร้างสุขที่ทำให้เด็กอยากมาโรงเรียน แม้เด็กบางคนต้องเดินเท้ามาจากบ้านที่อยู่ไกล บางคนไม่เคยมีสตางค์มาโรงเรียน บางคนมีแต่ข้าวเปล่า บางคนใส่เสื้อซ้ำมาทุกวัน 

 

                ผอ.โรงเรียนบ้านน้ำลัด กล่าวว่า โรงเรียนบ้านน้ำลัดแม้จะอยู่เขตเทศบาลห่างตัวเองเพียง 1 กิโลเมตร แต่สภาพแตกต่างกันมาก นักเรียนส่วนใหญ่กว่า 80 % เป็นเด็กจากชนเผ่าต่าง ๆ และเด็กต่างด้าวที่ตามพ่อแม่มาทำงาน ขณะที่อีก 20% เป็นเด็กพื้นราบจากครอบครัวยากจน   ที่นี่จึงมีความแตกต่างด้านภาษาอย่างมาก แต่ก็อยู่กันอย่างกลมกลืน ความหลากหลายของชาติพันธุ์และภาษาของนักเรียนและปัญหาการอยู่ร่วมกัน บางครั้งก็ทำให้ครูรู้สึกเป็นทุกข์  มีการปรับตัวเพราะเป้าหมายหลักคือทำอย่างไรจะสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กเหล่านี้ อย่างน้อยแม้จะอ่อนด้อยทางวิชาการกระแสหลักด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง จึงเสริมด้วยการเรียนรู้ทักษะการดำเนินชีวิตในด้านต่าง ๆ สอดแทรกไปพร้อมกันทั้งในและนอกห้องเรียน ซึ่งกิจกรรมจิตอาสาก็เป็นส่วนหนึ่ง  เพื่อให้เขาสามารถดำเนินชีวิตต่อไป

 

ตัวอย่างเช่นในชั่วโมงภาษาไทยในวันหนึ่งที่เด็กเสนอว่าอยากทำการ์ดอวยพรให้กับครูอาสาสมัครชาวญี่ปุ่นที่กำลังจะกลับประเทศ พวกเขาบรรจงแต่งแต้ม ออกแบบการ์ดนั้นเป็นงานฝีมือหลากแบบแล้วแต่จินตนาการของแต่ละคน บ้างไปเอาใบไม้มาแปะหรือลอกเอาเส้นใยมาแปะเป็นรูปต่าง ๆ เป็นงานฝีมือที่แทรกไปด้วยวิชาวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และภาษาไทยไปด้วย และเด็ก ๆ ก็ภูมิใจกับผลงานของตัวเอง

 

ในช่วงกลางวัน ณ โรงอาหารหรืออาคารเอนกประสงค์จะมีกิจกรรมหลายอย่างรวมทั้งเรื่องราวของ“จิตอาสา”ก็เกิดขึ้นที่นี่  ตั้งแต่พี่ช่วยดูแลการรับประทานอาหารของน้อง ๆ การเก็บกวาดทำความสะอาดเมื่อเสร็จแล้ว กิจกรรมร้องเพลงที่รุ่นพี่ที่สนใจดนตรีและเครื่องเสียงก็ทำหน้าที่ควบคุมเครื่องเสียง จัดลำดับการขึ้นร้องเพลงตามที่มาลงชื่อไว้ในสมุด เรียกว่าที่โรงเรียนแห่งนี้ เด็กทุกคนจะได้ร้องเพลงที่ตัวเองอยากร้องอย่างน้อย 1 คน 1 เพลงต่อไป เป็นนโยบายของผู้อำนวยการเพื่อให้เด็กได้แสดงออก

 

ขณะที่ครูเปรมศรี ศรีแก้วขัน ประจำชั้น ป.1 และฝึกการทำของใช้ในครัวเรือนเพื่อลดค่าใช้จ่ายอาทิ น้ำยาล้างจาน  น้ำยาซักผ้า ฯลฯ ที่นอกจากเป็นกิจกรรมอาสาที่เมื่อจะทำเมื่อใดเด็ก ๆ จะอาสามาช่วยกันทำ และใช้ในโรงเรียนซึ่งสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ในโรงเรียนได้เพราะไม่ต้องซื้อจากข้างนอกเลย อีกทั้งเด็ก ๆ ยังนำความรู้นี้ไปถ่ายทอดให้กับผู้ปกครองทำใช้ที่บ้าน

 

ผอ.วิวัฒน์ กล่าวว่า  การที่จะทำให้เด็กมีความสุข  ครูต้องมีความสุขด้วย  มีปัญหาอะไรเราก็จะคุยกันเหมือนพี่เหมือนน้อง  3 ปีที่ได้อยู่ที่นี่ตนให้ความสำคัญกับครูทุกคน  ช่วยกันทุกเรื่อง   ทำงานเป็นทีม  ถึงแม้จะมีการแบ่งความรับผิดชอบตามงาน     แต่ทุกคนก็จะช่วยกันหมด    เพราะเราช่วยกันทั้งครูและเด็กบรรยากาศโรงเรียนแห่งความสุขจึงเกิดขึ้นที่นี่

 

 

สิ่งหนึ่งที่พบอยู่เสมอในโรงเรียนแห่งนี้ คือ อาสาสมัคร  ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ  (ส่วนใหญ่ผ่านทางมูลนิธิกระจกเงา)  รวมทั้งคนในชุมชนที่มีความสามารถด้านต่าง  ๆ ทั้งศิลปะ  วัฒนธรรม  หัตถกรรม  และงานช่าง     ทำให้เด็กที่นี่มีโอกาสได้เรียนรู้จากบุคคลภายนอกมาก  ซึ่งอาจจะมากกว่าเด็กในโรงเรียนอื่นๆ  อีกหลายโรงเรียน

 

อย่างไรก็ตามเพราะความหลากหลายทางชาติพันธุ์และภาษาของนักเรียน รวมทั้งปัจจัยเงื่อนไขอื่นที่บีบรัด แม้จะมีความตั้งใจดีแต่บางครั้งครูก็ทุกข์เช่นกัน โดยเฉพาะกรณีเด็กมีปัญหาในการอยู่ร่วมกันอย่างไร  ทีมสุขภาพจิตโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์  และแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่เข้าไปช่วยเหลือด้วยการให้มีเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับโรงเรียนอื่น ๆ ซึ่งโรงเรียนบ้านน้ำลัดก็เป็นหนึ่งในเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการทำงานช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาร่วมกัน และมีตัวอย่างดี ๆ ให้กับโรงเรียนอื่นและก็เรียนรู้ตัวอย่างดี ๆ จากโรงเรียนอื่นเช่นกัน

 

ครูจินตนา   พึ่งขยาย  โรงเรียนบ้านน้ำลัด เล่าประสบการณ์แก้ปัญหากรณีเด็กที่มีปัญหาในโรงเรียน ด้วยวิธีการง่าย ๆ แต่ทำสามารถทำให้เด็กเปลี่ยนพฤติกรรมได้ นั่นคือ ด้วยการใส่ใจ  ให้ความรัก  แทนการลงโทษ เป็นโดยเป็นเรื่องของเด็กผู้หญิงที่ทำตัวเป็นทอม  ห้าว  และชอบใส่กางเกงลายพรางทหารมาโรงเรียนแทนการใส่กระโปรง  ซึ่งจากการหาข้อมูลจากคนใกล้ชิด  และจากการชวนเด็กคุย  และชวนเด็กรับประทานอาหารเช้าที่ครูห่อมาจากบ้าน  เนื่องจากเด็กไม่ได้รับประทานมาจากบ้าน ด้วยฐานะทางบ้านที่ยากจน  ทำให้เด็กรู้สึกสนิทสนม และไว้วางใจ  จนในที่สุดเด็กก็เปลี่ยนแปลงเรื่องการแต่งตัว  ด้วยการพูดคุยเรื่องดังกล่าวของครูเพียงครั้งเดียว 

 

การแก้ปัญหาพฤติกรรมที่ทีมผู้รับผิดชอบระบบการช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาในโรงเรียนบ้านน้ำลัดใช้ในกรณีเด็กทะเลาะวิวาทกัน  คือ  การจับตัวคู่วิวาทมากอดและยิ้มให้กัน   ซึ่งเป็นการลงโทษที่ทำให้ทั้งผู้ที่ถูกทำโทษ และผู้ที่พบเห็นต้องอดยิ้มด้วยไม่ได้    พบว่าสามารถแก้ปัญหาเด็กทะเลาะวิวาทกันได้ผลจริง

 

การเข้าไปร่วมช่วยเหลือทั้ง ครูและนักเรียนในลักษณะ “อาสาสมัคร” ล้วนมีส่วนทำให้เกิดบรรยากาศโรงเรียนแห่งความสุขขึ้นในวันนี้เพื่อส่งต่อเยาวชนเหล่านี้สู่ประชาชนที่ดีต่อไป ดังเช่นเสียงสะท้อนของเด็ก ๆ ชนเผ่าอย่าง “อาเอาะ เฌอหมื่อ” นักเรียนหญิงชั้น ป.6 จากชุมชนอาข่า ที่บอกว่าได้ทำกิจกรรมอาสามาตั้งแต่อยู่ ป.1 ช่วยโน่นทำนี่กับเพื่อน ๆ จนมาอยู่ ป.6 ก็คิดว่าถ้าจบไปไม่ได้เรียนต่อก็น่าจะมีทักษะอาชีพไปหาเลี้ยงตัวได้ จึงอาสาไปช่วยงานแม่ครัวเตรียมอาหาร ทำให้รู้เคล็ดลับในการทำอาหารหลายอย่างชนิดแล้ว  ในห้องครัว “อาเอาะ” มีหน้าที่เป็นลูกมือช่วยแม่ครัวเตรียมส่วนประกอบในการทำอาหาร เช่น ล้างผัก หั่นผัก หั่นฟักทอง เพื่อให้แม่ครัวลงมือบรรเลงอาหารรสชาติโอชะสำหรับเด็กๆ ต่อไป  “อาเอาะ” บอกว่ารู้สึกดีใจที่ได้มีส่วนร่วมในการทำอาหารมื้อกลางวันสำหรับคุณครู เพื่อนๆ และน้องๆ ในโรงเรียน เมื่ออยู่ที่บ้าน “อาเอาะ” มีหน้าที่ทำความสะอาดบ้าน ทำอาหาร ตักน้ำ ล้างจาน ซึ่ง “อาเอาะ” บอกว่าเธอขยันและกระตือรือร้นในการทำมากขึ้น เช่นเดียวกันเพื่อน ๆ อีกหลายคนที่มาช่วยงานเช่นกัน

 โรงเรียนบ้านน้ำลัดเป็นตัวอย่างหนึ่งของการปลูก “จิตอาสา”ให้แก่เด็กในโรงเรียนและจะติดตัวเขาไปในอนาคต โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องชาติพันธุ์ใด ๆ ขณะเดียวกันการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันของครูนอกโรงเรียนทำให้ความเครียดและความทุกข์ของครูลดลง  ภูมิใจและมีกำลังใจตระหนักในหัวใจของความเป็นครูอย่างแท้จริง./// 

 บทความเผยแพร่จาก งานสื่อสารสาธารณะ แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์  สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขอภาพประกอบเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-22701350 ต่อ 113,105

คำสำคัญ (Tags): #จิตอาสาเด็ก
หมายเลขบันทึก: 140849เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2007 14:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 23:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท