BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

อสรพิษ


อสรพิษ

หลายวันก่อนมีข่าวว่า เจ้าหน้าที่ตรวจจับเิงินที่ซุกซ่อนไว้ในท่อ พี.วี.ซี ได้จำนวนหลายสิบล้านบาท... ผู้เขียนก็คิดเล่นๆ ว่า อีกไม่กิ่วันน่าจะมีข่าวเรื่องทุจริต หรือ "อมเงิน" ตามมา และแล้วก็เป็นจริงตามนั้น... ข่าวที่ออกมาจริงหรือเท็จนั้น มิใช่หน้าที่ของผู้เขียนจะเข้าไปตรวจสอบ แต่เมื่อเรื่องอมเงินดังขึ้นมา ทำให้ผู้เขียนนึกถึงนิทานธรรมบทตอนหนึ่งได้....

นิทานย่อว่า พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกผ่านไปตามคันนาโดยมีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ... เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นถุงเงินที่พวกโจรทำตกไว้ ก็ตรัสกับพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอเห็นอสรพิษหรือไม่ ? พระอานนท์จึงทููลว่า เห็น พระเจ้าข้า อสรพิษร้าย ... ฝ่ายชาวนาซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่นั้น ครั้นได้ยินพระสุรเสียงว่ามีงูร้าย จึงเข้ามาเพราะเกรงว่าจะขบกัดใครได้ เมื่อเห็นถุงเงินจึงเก็บไป......

สรุปว่า พระองค์ทรงเปรียบถุงเงินนั้นเหมือน อสรพิษ ... แต่เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป ผู้สนใจอ่านต่อที่   http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=15&p=8

................

คำว่า อสรพิษ ผู้เขียนเชื่อว่า น่าจะแปลงมาจากคำบาลีว่า อาสีวิสะ (สันสกฤตว่า อาศีวิษะ ) ดังนั้น จะนำคำนี้มาเล่าสู่กันอ่าน ...

อาสี แปลว่า เขี้ยว หรือ ดาบ

วิสะ แปลว่า พิษ 

อาสีวีสะ หรือ อสรพิษ จึงแปลว่า สัตว์มีพิษที่เขี้ยว หรือ สัตว์มีพิษเพียงดังดาบ ดังวจนัตถะว่า

อาสิยํ วิสํ ตสฺส อตฺถีติ อาสีวิโส = พิษ ของสัตว์นั้น มีอยู่ ที่เขี้ยว ดังนั้น สัตว์นั้น ชื่อว่า อสรพิษ (มีพิษที่เีขี้ยว)

อาสี อิว วิสํ เอตสฺสาติ อาสีวิโส  = พิษ ของสัตว์นี้ เพียงดังดาบ ดังนั้น สัตว์นี้ ชื่อว่า อสรพิษ (มีพิษเพียงดังดาบ)

...........

อนึ่ง ในภาษาบาลี มีคำที่แปลว่า งู หลายสิบศัพท์ เช่น อหิ สปฺโป อุรโค  อชคโร ทาโฐ อาสีวิโส ... เป็นต้น ส่วนการใช้ศัพท์เหล่านี้แตกต่างกันไป เช่น...

อุรโค แปลว่า สัตว์ไปด้วยอก หมายถึง งู และสัตว์เลื้อยคลานอื่นอีกบางชนิด

ทาโฐ แปลว่า สัตว์มีเขี้ยว หมายถึง งู และสัตว์มีเขี้ยวอื่นๆ

สปฺโป แปลว่า สัตว์เลื้อยไป หมายถึง งูทั่วไป

อชคโร แปลว่า สัตว์กลืนแพะ หมายเฉพาะ งูเหลือม งูหลาม

อาสีวิโส แปลว่า สัตว์มีพิษที่เขี้ยว หมายเฉพาะ งูพิษ หรือสัตว์มีพิษที่เขี้ยวอื่นๆ ก็ได้ 

..........

อย่างไรก็ตาม สำหรับเงินทอง นั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นประดุจดังอสรพิษ เพราะถ้าไม่ระมัดระวังแล้วก็อาจฉกกัด กล่าวคือ ก่อให้เกิดอันตรายหรือเรื่องเดือดร้อนในภายหลังได้ ดังเช่นตัวอย่างที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้   

 

คำสำคัญ (Tags): #อสรพิษ
หมายเลขบันทึก: 140438เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2007 05:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

กราบนมัสการพระอาจารย์

     อสรพิษที่พระพุทธองค์ท่านกล่าวถึงมันร้ายมากขอรับพระอาจารย์ ตร.ทบ. ชบ. มองหน้ากันไม่ค่อยจะติดแล้วขอรับพระอาจารย์ ถึงแม้อสรพิษนี้อยู่ท่ามกลางหมู่ญาติก็ตามเถอะ ถ้าไม่คุมมันให้ดี เท่งทึงมาหลายศพแล้วขอรับพระอาจารย์.

 กราบพระอาจารย์สามที.

ยุทธศักดิ์ ว.

ไม่มีรูป

ยุทธศักดิ์ ว.

เหตุการณ์ครั้งนี้ รับรองได้ว่า นิทานธรรมบทเรื่องนี้ ยังคงทันสมัยอยู่ ....

เจริญพร 

พระอาจารย์ครับ

ปกติผมเป็นคนเกลียด กลัว ไม่ชอบ งู เป็นที่สุด

แต่ตอนนี้กลับ อยากได้ อสรพิษของพระอาจารย์ ไว้เลี้ยงดูสักหลายๆตัว

ผมผิดปกติอะไรไหมนี่........แฮะ แฮะ

 

P

Boonchai Theeraka

อาจารย์หมอ ! คิดได้งัยเนียะ ?

งูพิษ นี้ เป็นความหมายที่สองของ เงินทอง

อาจารย์หมอคงใช้ความหมายที่สอง... ดังนั้น จึงไม่น่าจะผิดปกติ

เพราะเด็กเล็กๆ เขาให้กำ งูพิษ (ตามความหมายที่สอง) ก็จะกำไม่ปล่อยเลย... นั่นคือ คนมักจะชอบงูพิษ (ตามความหมายนี้)

เจริญพร 

อสรพิษร้าย4ตัว คือ ธาตุทั้ง4รึเปล่าครับ

คือ ผมต้องการทราบข้อคิดเรื่องนี้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท