วิกฤตการณ์ทรัพยากรประมงไทย


ทำไมต้องปฎิรูปพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐
ทำไมต้องปฎิรูปพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐
ปัญหาสำคัญของทะเลไทยและชาวประมงพื้นบ้านคือ การลดลงอย่างรวดเร็วของสัตว์น้ำ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรชายฝั่ง และเครื่องมือประมงพื้นบ้านถูกทำลาย โดยเรือที่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมายทำการ ประมงในเขตหวงห้าม ปัญหาทั้ง ๓ มีอาการของปัญหาที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่หรือจังหวัด เช่น อวนรุนที่ จ.ปัตตานีเป็นสาเหตุสำคัญของการทำลายสัตว์น้ำและเครื่องมือทำการประมง จ.นครศรีธรรมราช กับ จ.สุราษฎร์ธานีมี ทั้งอวนรุน อวนลาก เรือปั่นไฟปลากะตักและน้ำเสียจากการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง จ.สงขลานอกจากเครื่องมือการประมง เช่น อวนรุน เรือปั่นไฟปลากะตัก แล้วยังเผชิญกับปัญหาการสร้างเขื่อนทะเลสาบ สงขลา การพัฒนา อุตสาหกรรมและเมืองซึ่งปล่อยน้ำเสียลงทะเลสาบสงขลา จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันมีการทำลายป่าชายเลนเพื่อเปลี่ยนสภาพเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง การสัมปทานทำถ่าน การทำประมงผิดกฎหมาย เช่น อวนรุน อวนลาก ระเบิดปลา และเมื่อยามคลื่นลมสงบก็มีกองเรือปั่นไฟปลากะตักเดินทางจากฝั่งอ่าวไทยเข้าร่วมกวาดจับสัตว์น้ำ และปัญหาได้รุกคืบไปสู่การประมงผิดกฎหมายในคลองและแม่น้ำที่เชื่อมต่อกับทะเล ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมานานโดยทวี ความรุนแรงขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๖ เป็นต้นมา การแก้ไขปัญหาสามารถดำเนินการได้เฉพาะพื้นที่และเป็นการชั่วคราว เนื่องจากกระบวนการแก้ไขปัญหาถูกกำหนดไว้โดย พ.ร.บ.การประมง ๒๔๙๐ ซึ่งบัญญัติให้ฝ่าย การเมืองกับข้าราชการประจำเป็นเจ้าของปัญหา และ เป็นผู้มีอำนาจอย่างเด็ดขาดในการแก้ไขปัญหา ด้วยเหตุนี้จังหวัดที่บังเอิญได้พนักงานเจ้าหน้าที่ดี กฎหมายก็ถูกเลือก ใช้ไปในทางที่ดี แต่จังหวัดที่พนักงานเจ้าหน้าที่เฉื่อยเนือย กฎหมายก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์ และจังหวัดที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประพฤติมิชอบ กฎหมายประมงก็ ถูกเลือกใช้ไปในทางเอื้อประโยชน์กับการทำลายทรัพยากรทางทะเล การที่กฎหมายศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ขึ้นอยู่กับพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัตินี่เอง ทำให้มีการอ้างกันว่า กฎหมายดีอยู่แล้วแต่การปฏิบัติแย่ ซึ่งเป็นความจริงเพียงบางส่วนเท่านั้น ทั้งนี้เพราะปรากฏการณ์ที่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ สามารถเลือกปฎิบัติตามกฎหมายประมงแตกต่างกันตามความชอบของบุคคล เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วไป และเป็นประสบการณ์ซ้ำซาก ได้สะท้อนให้เห็นว่า กฎหมายนั่นเองที่ต้องได้รับการแก้ไข
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทะเลและทรัพยากรชายฝั่งมีจำนวนมาก กฎหมายแต่ละฉบับต่างให้อำนาจหน่วยงานราชการแต่ละหน่วยงานมีอำนาจการจัดการเหนือพื้นที่ทะเล ชายฝั่ง และเกาะตลอดจนการควบคุมจำนวนเรือ และเครื่องมือการประมง เมื่อหน่วยงานราชการที่มีอำนาจต่างทำงานโดยกฎหมายต่างฉบับกัน แต่บังคับในพื้นที่เดียวกัน จึงเกิดความขัดแย้งและซ้ำซ้อนกันจนประชาชนโดยเฉพาะชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งต้อง อยู่ภายใต้บังคับ ของกฎหมายไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้ นอกจากนี้ความซ้ำซ้อนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดช่องโหว่ของกฎหมายและประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาลดลงโครงสร้างอำนาจและกระบวนการปฏิบัติ ตามกฎหมายนั้น รวมศูนย์อำนาจใหญ่อยู่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกรมประมง ในฐานะเจ้าพนักงาน แต่การดูแลรักษาทะเลเป็นกิจการสาธารณะ ซึ่งประชาชนควรเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนิน การ แต่รัฐกลับมองว่าเป็นกิจการของหลวงประชาชนไม่เกี่ยว ถ้าจะเกี่ยวต้องได้รับการอนุมัติหรือคำสั่งจากรัฐมนตรี สังคมไทยจึงไม่สามารถระดมพลังของคนในสังคมให้เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาของชาติได้อย่างเป็นจริง
ประการสำคัญการรวมศูนย์อำนาจดังกล่าว ทำให้กลุ่มหรือองค์กรชุมชนที่พยายามดูแลรักษาทรัพยากรชายฝั่งทะเล หรือแหล่งน้ำสำหรับทำการประมงต่างๆนั้น นอกจากไม่ได้รับการสนับสนุนแล้ว บางกรณีถูกตั้งข้อหาว่า
ทำเกินหน้าที่ของพลเมือง บางกรณีกลายเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย การอาสาของประชาชนเพื่อดูแลรักษาทะเล อาสาเพื่อทำความดีให้สังคม ระบบกฎหมายที่กีดกัน และให้โทษกับผู้อาสาทำความดี จึงไม่มีความชอบธรรม
และจะนำพาสังคมและประเทศไปสู่ปัญหา
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14009เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2006 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 17:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ตอนนี้หนูเรียนอยู่วิทย์ทางทะเล ของม.เกษตร บางเขน แล้วจบไปผมอยากเป็นนักฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล แต่เห็นข้อความนี้แล้วผมจะเป็นดีป่าว... อนาถ ไม่รุ่งไม่เป็นไรมีข้าวมีน้ำกินทุกมื้อเลี้ยงพ่อแม่ได้ก็พอ แต่ยังไงอยากให้มีคน 1คน 2คน หรือ มากกว่านั้น ที่เอาใจใส่ทะเลบ้าง เห็นข้อความนี้แล้วจะ เข้าคุก ก่อนเกษียรมั๊ยเนี่ย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท