การจัดการแบบเรียนรวมในประเทศสกอตแลนด์


สิทธิในการศึกษานั้นเป็นสิทธิพื้นฐานของชาวสกอตทุกคนที่จะพึงมี ซึ่งทุกคนมีโอกาสที่จะได้เรียนรู้อย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะอยู่ในสภาพไหนก็ตาม
ในประเทศสกอตแลนด์นั้นได้ให้ความสำคัญของการจัดการศึกษาแบบแบบเรียนรวมอย่างจริงจัง มาตั้งแต่ปี 1978 ซึ่งข้อเขียนของศาสตราจารย์บอด์ย (Boyd) (2007) ในเว็ป Learning and Teaching in Scotland ได้อ้างถึงรายงานจากคณะกรรมการวอร์นอกซ์ (Warknock Committee) ในช่วงปีค.ศ. 1978 ที่ได้เรียกร้องให้มีการขยายแนวคิดของการขยายขอบเขตของความต้องการในการจัดการศึกษาพิเศษ การตีพิมพ์รายงานดังกล่าวทำให้เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงของการจัดระบบการศึกษาในสหราชอณาจักร รวมทั้งในประเทศสกอตแลนด์ ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดการออกกฏหมายสำคัญๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรวมในโรงเรียนต่างๆ ของสหราชอณาจักรและประเทศสกอตแลนด์ นอกจากนี้ยังมีความคิดเห็นจากนักการศึกษา นักการเมือง อีกมากมายที่สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวซึ่งจะเห็นได้จากบทความตีพิมพ์ของทางราชการไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Opportunity Scotland (1998), Opportunities For Everyone (A Strategic Framework for Scottish Further, Education,1999) and Opportunities and Choices (1999) (Cloonan and Turner, 2000) ซึ่งเป็นความพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่าสิทธิในการศึกษานั้นเป็นสิทธิพื้นฐานของชาวสกอตทุกคนที่จะพึงมี ซึ่งทุกคนมีโอกาสที่จะได้เรียนรู้อย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะอยู่ในสภาพไหนก็ตาม ซึ่งรัฐบาลของประเทศสกอตแลนด์นั้นต้องการที่จะส่งเสริมให้เกิดการการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับประชาชนของประเทศ

โดยรัฐบาลของสกอตแลนด์มีกำหนดเป้าหมายหลักของการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมของประเทศสกอตแลนด์ไว้พอสรุปได้ดังนี้

1. ให้ทางเลือกและเปิดโอกาสสำหรับเด็กทุกคนในการศึกษา เพื่อให้พวกเขาสามารถตระหนักได้ถึงขีดความสามารถที่อยู่ในตน

2. ให้อิสระกับครูและโรงเรียนในการจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของแต่ละบุคคล

3. สัมนาระบบช่วยเหลือส่วนบุคคลเพื่อให้เป็นหลักประกันว่า เด็กไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะใดก็ยังได้รับโอกาสในการศึกาเท่าเทียมกับผู้อื่น

4. สนับสนุนในให้เกิดกระบวนการยับยั้งแนวคิดของการแบ่งแยก หรือการกระทำที่ก่อให้เกิดความไม่เสมอภาค

การที่รัฐบาลสกอตแลนด์ได้มีเป้าหมายที่จะสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาทำให้ต้องออกกฏหมายเพื่อที่จะทำให้แนวนโยบายเป้าหมายนั้นเกิดเป็นรูปธรรม และสามารถใช้ปฏิบัติได้อย่างทั่วถึง สำหรับกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรวมนั้นมีจำนวน 3 ฉบับดังนี้

1. Standards in Scotland’s School Act 2000
สำหรับสาระสำคัญของกฏหมายคือการให้สถาบันการศึกษาส่งเสริมและสนับสนุนให้แก่ผู้เรียนทุกคนโดยไม่จำกัดขีดความสามารถ ไม่แบ่งแยกเพศ ภาษา เชื้อชาติ วัฒนธรรมถิ่น โดยต้องให้การยอมรับและให้เกียรติในความแตกต่างนั้นๆ โดยมีจุดประสงค์หลักคือการจัดการศึกษาในสังคมให้เกิดความเท่าเทียมกันและผู้เรียนได้รับความสำเร็จในการเรียนรู้ที่จัดขึ้น

2. Education (Disability Strategies and Pupil’s Educational Records) (Scotland) Act 2002
สำหรับกฏหมายฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระจายอำนาจให้ส่วนงานท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ซึ่งหน่วยงานท้องถิ่นต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของเด็ก และผู้เรียนในโรงเรียน โรงเรียนมีหน้าที่ที่จะต้องเตรียมความพร้อมโดยการจัดทำกลยุทธ์ที่เหมาะสม เพื่อใช้ในการสร้างพัฒนาการการเรียนรู้ของผู้บกพร่องหรือผู้ที่มีความผิดปกติให้สามารถเรียนร่วมกับผู้เรียนอื่นๆ ในชั้นเรียนได้

3. The Educaion (Additional Support for Learning) Scotland Act 2004
กฏหมายฉบับที่3 ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรวมมีแนวคิดที่จะสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางการศึกษาให้กับเด็กชาวสกอตแลนด์ทุกคน (Education for all) โดยการสร้างหลักประกันในการที่เด็กและวัยรุ่นที่มีความบกพร่องหรือมีความผิดปกติทั้งทางร่างการยและจิตใจ จะได้รับประโยชน์จาการศึกษาในระบบโรงเรียนปกติ (Mainstream) ให้ได้มากที่สุด

มิติในการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม
ในการจัดการศึกษาให้กับผู้มีความบกพร่องหรือมีความผิดปกติแบบดั้งเดิม (Traditional Approach) ความสำคัญกับมุมมองทางการแพทย์ที่มีต่อเด็กที่มีความบกพร่องหรือผิดปกติ ซึ่งมองว่าความบกพร่องหรือผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเด็กคนใดคนหนึ่งนั้น เป็นเรื่องที่เด็กผู้นั้นจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่ผู้ปกติใช้ชีวิตอยู่ ด้วยแนวคิดดังกล่าวให้เกิดการจัดการศึกษาให้กับเด็กผู้ผิดปกติหรือบกพร่องเป็นพิเศษแยกออกจากเด็กปกติธรรมดาทั่วไป (สำนักนิเทศและพัฒนการมาตรฐานการศึกษา 2545)

แต่ในมุมมองใหม่ของการศึกษาเป็นมุมมองทางสังคมวิทยาที่ปัจจุปันได้รับการยอมรับโดยมีแนวคิดต่อการในมุมมองใหม่ (Inclusionary Approach) คือแนวคิดที่ว่าอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการเรียนรู้นั้นไม่ใช่จากตัวเด็กแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่อุปสรรคนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้ผิดปกติหรือผู้มีความบกพร่องนั้นมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวของเขาเอง ไม่ว่าจะเป็น นโยบาย วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ดังนั้นการที่จะทำให้เด็กผู้ผิดปกติหรือบกพร่องเกิดการเรียนรู้ได้ จำเป็นที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องปรับสภาวะแวดล้อมให้เหมาะสมกับเด็ก และยังต้องสนับสนุนให้เกิดการเรียนรวมกันของเด็กปกติ และเด็กที่ผิดปกติหรือบกพร่อง (สำนักนิเทศและพัฒนการมาตรฐานการศึกษา 2545)

จากแนวคิดดังกล่าวทำให้ระบบการศึกษาและการจัดการเรียนรู้ที่มีต่อเด็กผู้ผิดปกติหรือบกพร่องเปลี่ยนไปจากเดิม ดังจะเห็นได้จากกฏหมายของประเทศสกอตแลนด์ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรวมทั้ง 3 ฉบับที่ต้องการที่จะผลักดันและส่งเสริมในเกิดการเรียนให้เกิดขึ้นในชั้นเรียนปกติ ด้วยความคิดที่ว่าสังคมควรสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ไม่แบ่งแยกว่าความผิดปกติหรือความบกพร่องนั้นเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของเด็ก

อุปสรรคในการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะมีการออกกฏหมายออกมาบังคับใช้ แต่การปฏิบัติให้เป็นไปตามกฏหมายนั้นก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการเอาใจใส่ดูแล เนื่องจาก

1. อุปสรรคด้านการออกแบบหลักสูตรสำหรับนักเรียนผู้ผิดปกติหรือมีความบกพร่อง
2. อุปสรรคด้านการสนับสนุนการเรียนการสอนให้กับนักเรียนผู้ผิดปกติหรือมีความบกพร่อง รวมถึงการสนับสนุนจากครอบครัวของนักเรียนผู้ผิดปกติหรือมีความบกพร่องเอง
3. อุปสรรคด้านการปรับหรือเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทางการเรียนที่จะเอื้อให้กับนักเรียนผู้ผิดปกติหรือมีความบกพร่อง
4. อุปสรรคด้านการปฏิบัติเพื่อปรับหรือเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทางการเรียนให้นักเรียนผู้ผิดปกติหรือมีความบกพร่องสามารเรียนรวมกับนักเรียนที่เรียนอยู่ในชั้นเรียนปกติโดยไม่แตกต่าง
5. อุปสรรคทางด้านการให้คำนิยามของคำว่า “แตกต่าง” ในการจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนผู้ผิดปกติหรือมีความบกพร่อง

การส่งเสริมการเรียนรวมในปัจจุบันของประเทศสกอตแลนด์
ในปัจจุบันรัฐบาลของสกอตแลนด์ได้ให้การสนับสนุนในด้านการเรียนรวม ซึ่งสถาบันการศึกษาเมื่อจะจัดการเรียนรวมจำเป็นต้องระบุความต้องการของนักเรียนผู้ผิดปกติหรือมีความบกพร่องได้ได้เสียก่อน คือต้องทราบว่าความผิดปกติหรือบกพร่องนั้นคืออะไร และจะสามารถจัดให้นักเรียนเหล่านั้นสามารถเรียนรู้ได้อย่างไรเมื่อนักเรียนผู้ผิดปกติหรือมีความบกพร่องจะเข้ารับการศึกษา ซึ่งผู้จัดการศึกษาต้องตระหนักว่าการสนับสนุนการเรียนรวมนั้นเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบตามแต่บริบทของสถานการณ์หรือปัจจัยเกี่ยวข้องที่มีความแตกต่างกันไป ซึ่งสามารถพิจารณาแยกความแตกต่างของปัจจัยได้เป็น 4 ปัจจัยใหญ่ดังต่อไปนี้

1. ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการเรียน
1.1 ความแตกต่างในความเป็นคนกลุ่มน้อย (Ethos)
1.2 การมีปฏิสัมพันธ์ (Relationships) ระหว่างครูกับนักเรียน หรือ นักเรียนกับนักเรียนด้วยกันเอง
1.3 การขาดความยืดหยุ่นในการจัดทำหลักสูตรที่เอื้อต่อการเรียนของนักเรียนผู้ผิดปกติหรือมีความบกพร่อง (Inflexible curricular arrangement)
1.4 การจัดการเรียนรู้ที่ไม่เหมาะสมต่อการเรียนนักเรียนผู้ผิดปกติหรือมีความบกพร่อง (Inappropriate approaches to learning and teaching)
1.5 การสะดุดหยุดชะงักของการเรียนรู้ของนักเรียนผู้ผิดปกติหรือมีความบกพร่อง (Disrupted learning)

2. ปัจจัยด้านครอบครัว
2.1 การที่เด็กเป็นเด็กเร่ร่อน (Homelessness)
2.2 การที่เด็กขาดผู้อุปการะดูแล (Bereavement)
2.3 การที่เด็กมีปัญหาด้านสารเสพติด (Substance abuse)
2.4 การมีปัญหาด้านจิตใจ (Mental health problems)
2.5 การที่เด็กเป็นผู้เจ็บป่วยในระยะสุดท้าย (Terminal illness)
2.6 การที่เด็กมีผู้ดูแลที่ขาดวัยวุฒิและวุฒิภาวะ (Young carers)
2.7 การที่เด็กขาดการเหลียวแลเอาใจใส่ (Looked after children)
2.8 การที่ผู้ปกครองถูกจองจำ (Parent in prison)

3. ปัจจัยด้านความผิดปกติของสุขภาพร่างกาย
3.1 ความผิดปกติด้านประสาทการรับรู้ (Sensory impairment) เช่นภาวะหูหนวก ตาบอด หูหนวกและเป็นใบ้ การได้ยินยาก เป็นต้น
3.2 ความผิดปกติทางด้านจิตใจ (Mental health) เช่นอยู่ในภาวะวิตกกังวล กลัว ออทิสติก ความผิดปกติด้านการรัปประทานอาหาร ความผิดปกติด้านระบบความจำ ความผิดปกติด้านบุคลิกภาพ ความผิดปกติจากภาวะจิต เป็นต้น
3.3 อุปสรรคการเรียนรู้ด้านภาษา (Specific language difficulties) เช่นอยู่ในภาวะพูดช้า ไม่สามารถอ่านได้ เป็นต้น

4.ปัจจัยด้านสังคมและอารมณ์
4.1 เด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวและเป็นนักเลง (Being bullied)
4.2 เด็กที่มีระดับความรับรู้ในคุณค่าของตนเองสูงหรือด้อย (Self esteem level)
4.3 เด็กที่อยู่ในภาวะพินิจ (Child protection issues)

การสนับสนุนด้านอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการเรียนรวม


1. ครูผู้สอนในชั้นเรียน
ครูผู้สอนถือเป็นการแรกในการที่จะพบเจอกับนักเรียนผู้ผิปกติหรือมีความบกพร่อง ดังนั้นรัฐบาลของประเทศสกอตแลนด์จึงได้จัดการฝึกอบรมเพื่อให้ครูมีความเข้าใจและสามารถส่งเสริมสนับสนุนหรือแก้ปัญหาในการเรียนรวม

2. นักจิตวิทยาทางการศึกษา
นักจิตวิทยาทางการศึกษาถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้การเรียนรวมเกิดประสิทธิภาพ นักจิตวิทยาทางการศึกษานั้นจะมีบทบาทเป็นผู้ช่วยเหลือให้คำปรึกษาแก่ครูผู้สอน และในขณะเดียวกับก็เป็นผู้ให้คำปรึกษาหรือบำบัดจิตใจของนักเรียนผู้ความผิดปกติหรือมีความบกพร่องหากเกิดปัญหาหรือตกอยู่ในสถานการณ์ที่ครูผู้สอนไม่สามารถรับมือได้เพียงลำพัง

3. ศึกษานิเทศก์
บทบาทของศึกษานิเทศก์นั้นเป็นเสมือนผู้ให้คำแนะนำแก่โรงเรียนทั้งด้านการจัดทำหลักสูตรและการสอนของครูในโรงเรียนให้เป็นไปตามความมุ่งหมายของการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม นอกจากนี้ศึกษานิเทศก์ยังเป็นผู้นำความรู้ใหม่ๆ มาแนะนำ จัดฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของครูผู้ปฏิบัติงาน

4. ส่วนสนับสนุนอื่นๆ
นอกเหนือจากส่วนสนับสนุนทั้ง 3 ที่กล่าวถึงแล้ว รัฐบาลของสกอตแลนด์ยังได้มีการสนับสนุนในเรื่องของการศึกษาวิจัยในเรื่องการเรียนรวมทั้งยังจัดสร้างและจัดหาอุปกรณ์เพื่อสนับสนุนในการเรียนเช่น ความผิดปกติด้านสายตาก็จะจัดให้มีคีย์บอร์ดที่แยกสีให้เห็นชัดเจนขึ้น เครื่องมือในการช่วยฟังสำหรับนักเรียนผู้มีความผิดปกติหรือมีความบกพร่องด้านการได้ยิน จัดทำพิพิภัณฑ์แหล่งการเรียนรู้สำหรับนักเรียนผู้มีความผิดปกติหรือความบกพร่องด้านการสื่อสาร การสอนจตัดการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนที่ใช้ภาษาเป็นภาษาที่สอง เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

สำนักนิเทศและพัฒนามาตรฐานการศึกษา (2545) การเรียนรวม: แนวคิดใหม่ในการจัดการศึกษาหน้า 7 โรงพิมพ์อักษรไทย กรุงเทพฯ

Boyd, B. (2007)
http://news.bbc.co.uk/2/hi/uk_news/education/4082350.stm
Cloonan, M. and Turner, E. (2000) The Past, Present and Future of
Further Education in Scotland: A research based guide to the
literaturefor practitioners, Centre for Research in Lifelong Learning
Education (Disability Strategies and Pupil’s Educational Records)
(Scotland) Act 2002,

http://www.scottish.parliament.uk/business/bills/billsPassed/b45bs1.pdf
Metal health, http://www.mentalhealth.com/,

http://www.nimh.nih.gov/

Sensory Impairment, http://www.shropshire.gov.uk/senseimpair.nsf
Specific language difficulties,

http://www.literacytrust.org.uk/talktoyourbaby/SLDs.html,

http://merrill.ku.edu/IntheKnow/sciencearticles/SLIfacts.html

Standards in Scotland’s School Act 2000,
http://www.opsi.gov.uk/legislation/scotland/acts2000/asp_20000006_en. pdf

The Educaion (Additional Support for Learning) Scotland Act 2004,
http://www.highlandschools-virtualib.org.uk/sfl/asfl/Education
(AdditionalSuppor.pdf

หมายเลขบันทึก: 136801เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2007 22:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท