รายงานการติดตามสถานการณ์ทางสังคมไทย:การปรับปรุงการมัธยมศึกษา โดย DR. LUIS BENVENISTE(ตอนที่ 1)


1.ภูมิหลังของการศึกษาในประเทศไทย 2.การเข้าเรียนและความเท่าเทียมในระดับมัธยมศึกษา
     เมื่อวันที่ 21 ส.ค. ผมได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมรับฟังรายงานการวิจัยของ DR. LUIS  BENVENISTEจากThe world Bank ที่โรงแรมมิราเคิลแกรน กทม.ซึ่งท่านเลขาธิการ กพฐ.(คุณหญิงกษมา)เชิญมาโดยเฉพาะ  มีผู้บริหารจาก สพท. และจากโรงเรียนเข้าร่วมรับฟังเต็มห้องประชุม ซึ่ง Dr.Luis ได้ทำรายงานวิจัยเป็นเอกสารเผยแพร่ไว้ในเดือนสิงหาคม 2549 ตั้งชื่อเรื่องว่า "รายงานการติดตามสถานการณ์ทางสังคมไทย ซการปรับปรุงการมัธยมศึกษา"  ผมเห็นว่ามีสาระที่น่าสนใจจึงนำมาฝากกัน เนื่องจากรายงานฉบับนี้ค่อนข้างยาว  จึงขอนำเสนอเป็นตอนๆไป ดังนี้
    
1.ภูมิหลังของการศึกษาในประเทศไทย           
     
การศึกษาเป็นด้านที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้นมาตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2475  แผนการพัฒนาการศึกษาแห่งชาติทั้งหลายได้เป็นแนวทางในยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาสำคัญทางการศึกษาและกำหนดเป้าหมายและอันดับความสำคัญทางการศึกษาในระดับชาติ เมื่อไม่นานมานี้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ. 2542  และแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2545
2559  มีการขยายการศึกษาภาคบังคับจาก 6 ปี เป็น 9 ปีตามลำดับ  และมีการเน้นความสมดุลทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และด้านเศรษฐกิจ การกระจายอำนาจทางการบริหารจัดการการศึกษามีการนำมาปฏิบัติโดยการจัดตั้งเขตพื้นที่การศึกษา  ซึ่งมุ่งเน้นการเพิ่มการมีส่วนร่วมในระดับชุมชน         
     
ในช่วงทศวรรษ 2523 2533  รัฐบาลไทยได้มุ่งขยายการประถมศึกษา ความพยายามเช่นนั้น สะท้อนให้เห็นได้ในความสำเร็จในการจัดการศึกษาภาคบังคับระดับประถมศึกษาซึ่งครอบคลุมประชากรเกือบทั้งหมด โดยไม่คำนึงถึงรายได้ ท้องที่ หรือ เพศ  อย่างไรก็ดีในช่วงเวลาเดียวกัน การเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษากลับก้าวตามไม่ทันหลังจากนั้นความพยายามของรัฐบาลไทยในการขยายโอกาสการเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาได้เพิ่มจำนวนนักเรียนมัธยมอย่างรวดเร็วในทศวรรษ พ.ศ. 2533 2543  ในปี 2540  ร้อยละ 70 ของแรงงานไทยทั้งหมดได้รับการศึกษาเพียงระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่าเท่านั้น ขณะที่ร้อยละ 17 ได้รับการศึกษาระดับมัธยมศึกษา และร้อยละ 8  ได้รับการศึกษาระดับอุดมศึกษา อย่างไรก็ตามการลงทุนในการมัธยมศึกษา
     ในช่วงทศวรรษ พ.ศ. 2533
2543  ได้เริ่มเห็นผล จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2547  แรงงานที่มีการศึกษาสูงกว่าระดับประถมศึกษามีถึงเกือบร้อยละ 40  ในขณะที่ผลสัมฤทธิ์เหล่านี้ได้ทำให้ประเทศไทยล้ำหน้าประเทศส่วนใหญ่ในกลุ่มเอเชียตะวันออก ประเทศไทยยังคงตามหลังประเทศที่ได้ชื่อว่าเสือแห่งเอเชีย ( ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน และ เกาหลีใต้ ) และกลุ่มประเทศองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ในการทำให้ระบบการมัธยมศึกษาของไทยก้าวหน้าต่อไป จึงจำเป็นจะต้องมีการเข้าใจดีขึ้นเกี่ยวกับประเด็นปัญหาสำคัญ  เช่น โอกาสการเข้าเรียน  ความเท่าเทียม คุณภาพ  และประสิทธิภาพที่มีอยู่ในปริบทของไทยว่ามีบทบาทอย่างไร
2.การเข้าเรียนและความเท่าเทียมในระดับมัธยมศึกษา         
   
รัฐบาลไทยกำหนดเป้าหมายไว้ในรายงานเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษแห่งชาติ  (National Millennium Development Goals Report)  ฉบับแรกเพื่อบรรลุการศึกษาภาคบังคับระดับมัธยมศึกษาตอนต้นภายในปี 2549  และการศึกษาภาคบังคับระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในปี 2558  อัตราการเข้าเรียนสุทธิและเข้าเรียนจริงในระดับมัธยมศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญใน 15 ปี ที่ผ่านมา ในปัจจุบัน เด็กเกือบทุกคนมีโอกาสเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษา  ทั้งนี้เป็นผลมาจากความพยายามอย่างพร้อมเพรียงกันของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาความไม่ยุติธรรมในการมีส่วนร่วมในการศึกษา           
    
ความยุติธรรมในการเข้าเรียนมัธยมศึกษามีการปรับปรุงดีขึ้น อัตราการมีส่วนรวมในการมัธยมศึกษาแสดงให้เห็นว่าการเข้าเรียนของกลุ่มต่าง ๆ (ทั้งชายและหญิง ชุมชนเมืองและชนบท ภูมิภาค และกลุ่มสถานภาพทางเศรษฐกิจทุกกลุ่ม )ขยายตัวขึ้น อย่างไรก็ดี ขณะที่ช่องว่างระหว่างชุมชนเมืองและชนบทลดน้อยลง ช่องว่างระหว่างชายและหญิงกลับขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและนักเรียนหญิงได้รับผลประโยชน์มากกว่านักเรียนชาย นอกจากนี้ยังเป็นที่สังเกตว่าอุปสรรคการเข้าเรียนมัธยมศึกษาอันเป็นผลมาจากรายได้ของครอบครัวยังคงเป็นประเด็นน่าห่วงใยสำคัญในประเทศไทย ยังมีข้อแตกต่างอย่างมากในจำนวนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาระหว่างกลุ่มประชากรที่ยากจนที่สุดและร่ำรวยที่สุด ถึงแม้ว่าข้อแตกต่างเหล่านี้มีการทำให้แคบลงมาตลอดก็ตาม ช่องว่างในการเข้าเรียนระหว่างกลุ่มประชากรที่ร่ำรวยที่สุดกับยากจนที่สุด (เมื่อแบ่งประชากรทั้งหมดเป็นห้ากลุ่ม ) ในปี พ.ศ. 2537  เป็นร้อยละ 24  และ ลดลงมาเป็นร้อยละ 17  ในปี พ.ศ. 2545  ท้ายที่สุดการเปรียบเทียบระหว่างประเทศแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้พัฒนาขึ้นมากในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา  ในปลายทศวรรษ 2523
2533 ประเทศไทยเริ่มต้นด้วยการเป็นระเทศหนึ่งที่มีอัตราจำนวนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นสุทธิต่ำที่สุดในภูมิภาค แต่ในทศวรรษต่อ ๆ มาประเทศไทยได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งในอันดับสูง อันเป็นผลมาจากความพยายามอย่างพร้อมเพรียงของรัฐบาลไทยในการขยายโอกาสการเข้าเรียน           
     
ถึงแม้ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จหลายประการ แต่ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก ขณะที่เด็กร้อยละ 98.6 ของเด็กทั่วประเทศคาดว่าจะจบชั้นประถมศึกษาในปี พ.ศ. 2545 ก็ตาม  มีเด็กเพียงร้อยละ 85 ได้เรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และร้อยละ 69 ได้เรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย  การเข้าใจทั้งปัจจัยด้านอุปทานและอุปสงค์ในการได้รับการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อแก้ปัญหาช่องว่างการเข้าเรียนและความเท่าเทียมทางการศึกษาในประเทศไทย การวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์แสดงให้เห็นว่าเหตุผลหลักในการกีดกันเด็กไม่ให้เข้าเรียนหรืออยู่ในโรงเรียนคือการขาดการสนับสนุนทางการเงิน  ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาผลักภาระมากขึ้นแก่ครอบครัวยากจนซึ่งจะต้องมีสวนแบ่งปันรายได้ครัวเรือนมากขึ้นหลังการจ่ายเป็นค่าอาหารและสิ่งจำเป็นพื้นฐานอื่น ต้นทุนค่าเสียโอกาสสำหรับรายได้ที่จะได้หากส่งบุตรหลานไปทำงานก็เพิ่มขึ้นสำหรับครอบครัวยากจนเหล่านี้ด้วย  นอกจากนี้ ในขณะที่รัฐบาลไทยได้ตั้งปณิธานในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแบบให้เปล่า 12 ปี ก็ตาม ค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ค่าเล่าเรียน เช่น ค่าธรรมเนียมห้องสมุด  ค่าสอบ ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาโรงเรียนยังคงเป็นอุปสรรคทางการเงินที่สำคัญสำหรับครอบครัวยากจนจำนวนมาก  ทั้ง ๆ ที่อัตราผลตอบแทนทางการศึกษาของประเทศไทยอยู่ในระดับสูง ครอบครัวยากจนจำนวนมากยังไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายโดยตรงหรือค่าเสียโอกาสในการส่งบุตรหลานเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษา

            ประเทศไทยมีการนำมาตรการทางนโยบายสำคัญหลายประการมาปฏิบัติเพื่อเพิ่มจำนวนนักเรียนมัธยมศึกษา  มาตรการเหล่านี้ได้แก่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา  โครงการจักรยานยืมเรียนสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล  ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มการเข้าเรียนมัธยมศึกษาอย่างแท้จริง  อย่างไรก็ตามมาตรการเหล่านี้ยังไม่ได้สนองความต้องการของครอบครัวที่ยากจนมากซึ่งบุตรหลานของตนยังคงออกจากระบบการศึกษากลางคันอยู่ การมุ่งเป้าหมายไปที่กลุ่มนักเรียนด้อยโอกาสในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจะประกันอัตราการเรียนต่อจากระดับประถมศึกษาไประดับมัธยมศึกษาให้สูงขึ้นได้(โปรดติดตามตอนที่ 2)

 
หมายเลขบันทึก: 136737เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2007 18:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 09:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท