คิดแบบเด็ก ๆ ต้องดูเด็กคิด


และที่สำคัญผมคงไม่ลืมที่จะให้โอกาสและชื่นชมกับทุกความคิดและทุกคำตอบ ใช้พลังชื่นชมสร้างแรงบันดาลใจให้น้องได้ดึงศักยภาพของตัวเองมาใช้อย่างเต็มอกเต็มใจไม่ใช่การรีดเอาคำตอบ เค้นเอาความรู้ ที่ไม่ได้อยู่บนฐานความสุขของเด็ก ๆ อย่างสมวัย เมื่อเขาสนุกกับการเรียนรู้ แล้วเขาคงหยิบประเด็นที่ประสบอยู่มาเป็นการเรียนรู้อย่างสนุกสนาน

 

เย็นวันหนึ่งขณะที่ผมกำลังนั่งกินข้าวอยู่อย่างเอร็ดอร่อย น้องอาร์ม น้องชายตัวเล็กที่บ้าน วัย ๓ ขวบเดินเตาะแตะมาหาผม พี่อาร์ท ๆ หยิบกางเกงให้น้องอาร์มที พลางชี้มือไปที่กางเกงซึ่งแขวนอยู่บนราวตากผ้าซึ่งสูงเกินเด็กวัย ๓ ขวบจะหยิบด้วยตัวเองได้ สำทับด้วยเสียงแม่ ตะโกนมาจากในห้อง เร็วหยิบกางเกงให้น้องหน่อย ใจนึงตอนแรกจะลุกขึ้นไปหยิบให้เพราะอยู่ไม่ไกลมาก แต่แว๊บ!หนึ่งของความคิด (หรือความขี้เกียจเข้าครอบงำไม่รู้) ทำให้ผมชะงักแทนที่จะลุกไปหยิบกลับลองใช้คำถามกับน้องว่า เอ..น้องอาร์ทลองดูสิว่าต้องทำยังไงถึงจะหยิบกางเกงได้

ทีแรกก็ไม่ได้คาดเดาคำตอบสักเท่าไร แต่เสียงน้องอาร์มตอบกลับว่า ต้องหาอะไรมาต่อ ....โต๊ะ (หมายถึงเก้าอี้) โต๊ะอยู่ตรงไหน ว่าแล้วก็ไปลากเก้าอี้ตัวใหญ่มารองพาตัวเองขึ้นไปยืนหยิบกางเกงได้อย่างง่ายได้ ผมไม่รอช้ารีบปรบมือดังลั่น เก่งมากน้องอาร์ม น้องอาร์มปรบมือตามยิ้มแก้มแทบปริ ผมเองก็ยิ้มเหมือนกันแต่ยิ้มกับสิ่งที่ตัวเองทดลองกับเด็ก ๓ ขวบด้วยการฝึกให้เขาคิด ผมว่าการฝึกแบบน้อย ๆ แบบนี้ทำได้ง่ายกว่าการตั้งคำถามยาก ๆให้คิดตอนโตเสียอีกแล้วยิ่งเด็กวัยกำลังซนแบบนี้ความท้าทาย การชอบปีนป่ายเป็นเรื่องธรรมดาของเด็กวัยนี้เสียด้วย อย่างน้อยการเริ่มต้นเล็กๆที่ผมทำมันคือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต แม้ว่า สมศ.จะประเมินมาว่าเด็กไทยส่วนใหญ่ขาดกระบวนการคิดวิเคราะห์ แต่ก็มิใช่จะสิ้นหวังไร้หนทาง โดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ เช่นน้องอาร์ม การเริ่มให้น้องได้ลองคิดและทำในสิ่งที่ท้าทาย พร้อม ๆ กับความชื่นชมในความสำเร็จเล็กๆ น่าจะเป็นการช่วยเสริมทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์และความภาคภูมิใจในการคิด นำไปสู่การกล้าแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง มันนำให้ผมนึกถึงน้อง ๆ จากโรงเรียนอินทร์บุรี จ.สิงห์บุรีที่เรานั่งคุยกันชั่วโมงกว่า

น้องๆเขาเป็นแกนนำนักเรียนมัธยมต้นที่รวมตัวกันลดปัญหาการสูบบุหรี่ของเพื่อน ๆ ในโรงเรียนโดยการสนับสนุนจากโรงพยาบาลอินทร์บุรีซึ่งกำลังหาแนวทางการลดปัญหาสิ่งเสพติดในกลุ่มนักเรียนโดยการมีส่วนร่วมของนักเรียน ครูและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล

ผมใช้คำถามกับน้อง ๆ ไปเยอะมากแต่น้องไม่ค่อยตอบ แต่น้องเขาคิดนะ อันนี้ผมสังเกตสีหน้าและแววตาได้ อะไรทำให้น้องไม่ค่อยตอบคำถาม ก็ผมไม่ค่อยได้คิดหาคำตอบนี่ครับ คำตอบของน้องทำเอาผมอึ้ง และอีกอย่างขืนผมตอบไปไม่ถูกขึ้นมาอายเขาตายเลย คำตอบเหล่านี้สะท้อนอะไรบางอย่างสำหรับกระบวนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน การคิด การแสดงออก การตั้งคำถาม เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกันและเป็นสิ่งที่อาจผูกพันและสะสมมาตั้งแต่เด็ก (อันนี้เป็นความเชื่อส่วนตัว) เด็กที่ถูกฝึกให้คิดและแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ได้รับการชื่นชมและยอมรับในความคิดเล็ก ๆ ที่มีคุณค่าก็จะทำให้กล้าคิดกล้าแสดงออก ในทางกลับกันหากคิดแล้วไม่ได้รับการยอมรับ ตั้งคำถามแล้วโดนต่อว่า จะถามอะไรนักหนา บางทีคำพูดและการแสดงออกเหล่านี้ที่ท่านไม่รู้ตัวอาจเป็นปมที่ติดตัวเด็กน้อยไปจนโต ความกล้าคิดกล้าแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ที่เราจะบีบคั้นเอาตอนโตมันอาจฝังลึกเกินกว่าจะแก้ไขก็เป็นได้ ทางที่ดีเริ่มจากเรื่องเล็ก ๆ ที่เด็ก ๆ ก็คิดได้ ฝึกให้เด็กๆได้คิดจนติดเป็นนิสัย อีกประเด็นที่น่าสนใจคือการไม่ด่วนให้คำตอบเพื่อตัดความรำคาญ แต่อาจเป็นการชี้ชวนให้หาคำตอบ หรือถามนำเพื่อฝึกให้คิด ไม่หงุดหงิดกับการตั้งคำถาม ก็จะทำให้น้องๆ ไม่กลัวการถามกล้าตั้งคำถามและกล้าตอบคำถาม เชื่อมโยงไปกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ ผมคงได้เรียนรู้อะไรจากน้องนักเรียนที่อินทร์บุรีมากกว่านี้ ผมคงได้ความคิดดีๆอีกหลากหลายหากน้องเขาคิดว่า คำตอบที่ดีที่เราต้องการไมได้หมายถึงการตอบถูกเสมอไป การพบเจอกันครั้งต่อไปอาจต้องใช้ประสบการณ์จากน้องอาร์มสร้างกิจกรรมให้น้อง ๆ ได้ฝึกคิดและเล่าความคิดของตัวเองผ่านการเรียนรู้ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ และที่สำคัญผมคงไม่ลืมที่จะให้โอกาสและชื่นชมกับทุกความคิดและทุกคำตอบ ใช้พลังชื่นชมสร้างแรงบันดาลใจให้น้องได้ดึงศักยภาพของตัวเองมาใช้อย่างเต็มอกเต็มใจไม่ใช่การรีดเอาคำตอบ เค้นเอาความรู้ ที่ไม่ได้อยู่บนฐานความสุขของเด็ก ๆ อย่างสมวัย เมื่อเขาสนุกกับการเรียนรู้ แล้วเขาคงหยิบประเด็นที่ประสบอยู่มาเป็นการเรียนรู้อย่างสนุกสนานน้องอาร์มยังคงวิ่งไปวิ่งมาไม่ยอมแต่งตัวสักที เอ??อยากรู้จัง กำลังคิดอะไรอยู่น้าคงกำลังมีความสุขอยู่กับคิดและสื่ออะไรบางอย่างที่เรายังคาดไม่ถึงแน่เลย
หมายเลขบันทึก: 136535เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2007 11:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

        เรื่องใกล้ๆตัวก็ทำให้เรา "ปิ๊งแวบ" กับอะไรบางอย่างหรือคำถามที่ติดค้างในใจขึ้นมาได้เหมือนกันเนอะ

        เขียนงานแบบเชื่อมโยงกับสิ่งที่เห็นและที่เป็นอยู่ใกล้ๆตัว มันทำให้งานน่าอ่าน(อ่านง่าย+ได้ข้อคิด) โดยเฉพาะกับงานที่เราทำอยู่ เหมือนอ่านstoryสักเรื่อง...

       เวลาอ่านบทความของคนอื่นแล้วมีแรงบันดาลใจอยากเขียนก็เลยว่าจะเขียน จะเขียน(หลายครั้งหล่ะ) พอวันเวลาผ่านไปเรื่องราวที่อยากถ่ายทอดก็ค่อยๆจางหายไปกับรอยหยักในสมอง เฮ้อ....!!

       เขียนมาอีกน่ะจะตามอ่าน..

ปล.เอาคุณหลานมาหากินง่ายจังเลยคุณพี่!!!!

 

เขียนได้ดีจัง...ชอบมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท